เดี่ยวไมโครโฟน "มายด์ ภัสราวลี"
"แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" เก็บความโกรธแค้น เศร้าโศก เสียใจ
แปรเปลี่ยนเป็นพลัง พร้อมหยัดตรงต่อหน้าผู้กดขี่ อย่าละทิ้งความเชื่อว่า
"อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง" และเราคือเจ้าของอำนาจนั้น
วานนี้ ( 26 พ.ย. 2565) ที่สวนเงินมีมา
คลองสาน ได้มีการจัดมหกรรมดนตรี กวี การเมือง เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่
ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ โดยภายหลังที่ นายบารมี ชัยรัตน์ กล่าวเปิดงาน ทนายอานนท์
นำภา ได้ร่ายกวีและเป่าขลุ่ย พร้อมทั้งมีการแนะนำสินค้าจากนักเคลื่อนไหวกลุ่มต่าง
ๆ อีกทั้งยังมีการเดี่ยวไมโครโฟน โดย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์
ภัสราวลี ได้เริ่มต้นว่า
ประเด็นที่จะมาเดี่ยวไมโครโฟนในวันนี้ นั่นก็คือ "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์"
โดยระบุว่า การต่อสู้ของเรามันเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จริง ๆ ไหมหลาย ๆ
คนอาจตั้งคำถาม
ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่มีการเริ่มก่อตัวขึ้นของนักศึกษาได้ออกมาเพราะไม่พอใจที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ
แต่ละสถาบันก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด
ช่วงนั้นสิ่งที่สนุกมากคือการแข่งขันการคิดแฮชแท็ก
แต่ละมหาลัยจะมีแฮชแท็กเป็นของตัวเองที่แสดงถึงความสร้างสรรค์ของกลุ่มตัวเอง
และแฮชแท็กแต่ละมหาลัยก็ถูกรวบรวมให้มาอยู่รวมกัน
ความรู้สึกที่ได้เห็นแบบนี้มันทำให้รู้สึกว่าการที่บอกว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวนั้นไม่ใช่เรื่องจริง
และนี่เป็นจุดก่อเกิดอะไรบางอย่างที่ทำให้เราตื่นตัวตื่นเต้น อยากติดตาม อยากรู้ว่าแฮชแท็กนี้ของมหาลัยไหนหรอ
ก็เลยทำให้รู้จักกลุ่มเพื่อนที่มากขึ้น
ภัสราวลี กล่าวต่อว่า
ในช่วงแรกก็ร่วมจัดม็อบของม.เกษตรด้วย และขณะนั้นในมหาวิทยาลัยเอง ทุกการเขียนป้าย
ทุกการขอพื้นที่ในการจัดกิจกรรมมักจะไม่ได้รับอนุญาต ครั้งหนึ่งในปี 2562 เคยไปเดินแจกใบปลิวในม.เกษตร
เป็นรูปหน้าประยุทธ์ที่เป็น "พินอคคิโอ"
ภาพจำในตอนนั้นคือเวลาเดินแจกใบปลิวไป มีคนรับแล้วเขาก็โยนทิ้ง
และบางคนก็ไม่รับเลยและเมินหน้าหนีไปเฉย ๆ ก็ถูกมองว่าพวกนี้คือพวกบ้าการเมือง
ตอนนั้นมีความรู้สึกช้ำใจ
แต่พอปี 2563 การเมืองกลายเป็นเทรน
กลายเป็นเรื่องที่เป็นกระแส นี่แหละคือจุดเปลี่ยนสำคัญ
ใครก็ตามที่อยากอินเทรนด์ก็จะแหย่ขาเข้ามา
เพื่อแสดงออกถึงความเข้าใจกับการเป็นประชาธิปไตย ความเข้าใจกับการเป็นการเมือง
หรือการที่จะทำความเข้าใจกับการที่จะด่าประยุทธ์
เทรนครั้งนั้นที่มันเกิดขึ้นนอกจากจะเป็นการรวมกำลังพลในการต่อสู้แล้ว
อีกความรู้สึกหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นมาก็คือว่านี่คือความหวังจริง ๆ อุโมงค์ที่เราอยู่ภายใต้การกดขี่ของชนชั้นนำ
ของนายทุน ของรัฐเผด็จการ มีความรู้สึกว่าอยู่ ๆ ก็มีคนมาจุดเทียน เปิดไฟฉาย
ส่องไฟฉายอยู่ที่ปลายอุโมงค์ไกล ๆ ลิบ ๆ
และพอตื่นตัวมากขึ้นเป็นเทรนกันมากขึ้นวงขยายมากขึ้น อยู่ ๆ
ดวงไฟเหล่านั้นไม่ได้สว่างขึ้นจากดวงเดียว อยู่ ๆ ก็กระจายเหมือนดาว
สว่างขึ้นอยู่ที่ปลายอุโมงค์ เพิ่มขึ้นหลายจุดเล็ก ๆ จนมันรวม เป็นแสงวงใหญ่
ภัสราวลี เผยว่า
คือคนนึงที่ตื่นตัวทางการเมืองเมื่อปี 58 เคยถูกมองเป็นพวกบ้าการเมือง
อยู่ในจุดที่แจกใบปลิวแล้วไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครอยากฟังเรา
วันหนึ่งเราเห็นแสงสว่างแบบนี้จริง ๆ มันรู้สึกดีใจ
มันเกิดความสุขที่ว่าสิ่งที่เราคิดเรายึดมั่นมา ช่วง 2-3 ปี
นี้มีคนไปกับเราแล้ว มีคนเห็นเหมือนเราแล้วว่าสังคมมันบิดเบี้ยวแค่ไหน
แท้จริงแล้วตัวเรานั้นมีอำนาจมาก มากเกินกว่าที่เราเข้าใจมันอีก
เมื่อปี 2563 ก็คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
และแสงสว่างนั้นมันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ปี 2564 ไม่มีม็อบมากก็จริง
การชุมนุมทางกายภาพฝ่อตัวลงไป ซาไป ดูไม่เห่อเหมือนปี 2563 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ
ผู้คนไม่เคยหยุดพูดถึงเรื่องการเมืองเลย ไม่เคยหยุดพูดถึงเรื่องความไม่ถูกต้องที่ชนชั้นนำทำ
ผู้คนไม่เคยหยุดตั้งคำถามถึงภาษีทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายไป ไม่หยุดตั้งคำถามแม้กระทั่งเรื่องขบวนเสด็จที่ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมง
ๆ นี่แหละคือตัวชี้วัด ว่าเราไม่ยอมก้มหัวให้กับโครงสร้างอำนาจแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว
เราไม่เคยหยุดเลยกับการที่จะตั้งคำถามกับภาพมายาเหล่านั้น
ที่เขาพยายามครอบเรามาหลาย ๆ ปี ว่า ณ ตอนนี้มันดีกับเราจริง ๆ หรือมันถูกต้องจริง
ๆ หรือ
เราไม่ต้องการการอุปถัมภ์จากใคร
เราไม่ได้ต้องการการสงเคราะห์จากใคร เราไม่ได้ต้องการการพระราชทานการมีน้ำใจ
สิ่งที่เราต้องการอย่างเดียวนะตอนนี้คือ เราต้องการอำนาจอธิปไตยคืนมา
เพื่อที่เราจะได้กำหนดทิศทางของตัวเองได้จริง ภัสราวลี กล่าว
ในสภาวะที่ถูกจำกัดกรอบเราเองพยายามจะตั้งคำถาม
มันเป็นสัญญาณว่าแม้เราจะถูกกด ถูกครอบ ถูกกดขี่มากแค่ไหน แต่เราก็ไม่หยุดสงสัย
ซึ่งเราก็เริ่มเข้าใจว่า เราสงสัยได้ เราถามได้ เราจะตั้งคำถามภายใต้กรอบ มาตรา 112 แบบนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง
สิ่งที่เราพูดได้อย่างง่ายที่สุดเลยตอนนี้คือการพูดถึงโครงสร้างที่มันเป็นอยู่พูดถึงหลักการทางกฎหมาย
พูดถึงสิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าทรัพย์สินนี้เป็นของใคร อำนาจนี้เป็นของใคร กองทัพควรเป็นกองทัพเดียวไหม
นั่นคือสิ่งที่เราพูดได้ภายใต้มาตรา 112
หลายคนสงสัยว่าก็พูดแล้วก็โดนดำเนินคดี 112 ไง
หลายคนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเพราะ 112 นั่นเป็นเพียงการถูกกล่าวหายังไม่ได้พิสูจน์ว่าผิดจริง
ยังไม่ได้พิสูจน์เลยว่าการพูดถึงข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท
อาฆาตมาดร้ายหรือเปล่า
คำพูดเหล่านั้นเป็นสิทธิ์ที่พวกเราในฐานะเจ้าของอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
ตามระบอบประชาธิปไตย ต้องพูดถึงให้ได้
ภัสราวลี มองว่าสิ่งที่จะรับมือกับมาตรา 112 เพียงอย่างเดียว
คือการต่อต้านกฎหมายนี้และให้ยกเลิกกฎหมายนี้ กฎหมายที่ทำให้เราพูดไม่ได้
สงสัยไม่ได้ และทำให้ใครหลาย ๆ คนต้องสูญเสียอะไรไปหลาย ๆ อย่าง
ตอนนี้กฎหมายต่าง ๆ รัฐบาลที่นำโดยประยุทธ์
จันทร์โอชา เขาไม่ได้เปิดโอกาสให้เราพูดได้ขนาดนั้น
ไม่เปิดโอกาสให้เราได้ตั้งคำถามตามหลักที่เราได้มีอำนาจ แต่เราก็มีวิธีการสื่อสารช่องทางอื่น
มีวิธีการเปิดพื้นที่ถกเถียงพูดคุยกันในช่องการทางอื่นอีกที่ไม่ใช่แค่การปราศรัย
พบเจอหน้ากันแบบนี้
ปี 2564 แม้ว่าการชุมนุมทางกายภาพจะซาไป
แต่ประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้างโดยตรง เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างที่มันซับซ้อนมาก
ๆ ยังคงอยู่ ยังมีการตั้งคำถาม สงสัยเกี่ยวกับงบประมาณ ทำไมส่วนนี้ถึงได้เยอะ
ตรวจสอบก็ไม่ได้ มาอีกส่วนหนึ่งถึงได้น้อยจังเลย คำถามและประเด็นเหล่านี้ถูกพูดคุย
และถูกสร้างขึ้นในโลกออนไลน์
คนบอกว่าม็อบคงจุดไม่ติดแล้ว
หายไปแล้วแต่ตนกลับมองต่างกัน
ถึงได้มาพูดในประเด็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เพราะเห็นว่าทุกคนตื่นรู้หมดแล้ว
เราต่างตาสว่างจากการส่องไฟจ่อไฟหาซึ่งกันและกัน
คอยจับมือกันไว้และโอบกอดกันอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะถูกกดขี่มากขนาดไหน หรือเราต้องถูกต่อสู้กับสิ่งที่มันเลวร้ายมากขนาดไหน
ใครจะถูกขัง ใครจะหายไป เรายังพยายามย้ำเตือนอยู่เสมอว่าเรายังมีกันและกัน
การชุมนุมมีช่วงขึ้นและช่วงลง
แต่ที่เห็นตั้งแต่ปี 2563 จนถึงขนาดนี้คือการเพิ่มจำนวนมากขึ้นของวงสนทนา
เพิ่มจำนวนมากขึ้นของการค้นหาความจริงในประวัติศาสตร์ ประเด็นใหม่ ๆ
ในทางการเมืองที่เราพยายามขุดคุ้ย มันเกิดขึ้นต่อเนื่องขึ้นเรื่อย ๆ
ภัสราวลี ได้กล่าวอีกว่า
การต่อสู้ทุกครั้งย่อมมีการสูญเสีย
มีบางสิ่งที่เราถูกพรากไปเกินกว่าที่เราจะยอมรับได้ มีใครหลาย ๆ คนต้องหายไป
ลี้ภัยไป ต้องตายจากไป จากการออกมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
เพื่ออำนาจที่มันต้องเป็นของประชาชน
สิ่งที่เราต้องทำอยู่เสมอคือการย้ำเตือนว่าพวกเขาเสียสละแค่ไหน
ในช่วงที่มันบีบคั้นมาก ๆ เขากล้าหาญ แค่ไหนที่จะพูดถึงความจริง
ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมเมื่อปี 63 ก็มีการสูญเสียมาอยู่ก่อนแล้ว เยอะมากจนเราต้องกลับไปค้นหาว่าเราตกหล่นในเหตุการณ์ใดบ้างหรือเปล่า
จากเหตุการณ์ออกมาเคลื่อนไหวปี 63 ที่ผ่านมา
เราสูญเสียเด็กไฟแรงคนนึง "วาฤทธิ์ สมน้อย" จากเหยื่อกระสุนยาง
และอีกหลาย ๆ คนเขาจะต้องมีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตของเขา หลาย ๆ
คนต้องไปอยู่ต่างถิ่น
เพื่อนเราคนหนึ่งต้องเสียดวงตา
เพื่อนเราคนที่เขาไม่ใช่แค่ออกมาพูดถึงโครงสร้างเพียงอย่างเดียว
ยังเป็นคนที่เห็นความสำคัญของพื้นที่ดิน ทรัพยากร สิ่งที่พี่น้องชาวบ้านสู้มาตลอด
ก็คือ พายุ ดาวดิน
การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
หน้าที่ของเขาในการเดินขบวนวันนั้นก็คือ จัดระเบียบผู้ชุมนุมไม่ให้เกิดความวุ่นวาย
ควบคุมไม่ให้เกิดการปะทะกันเกิดขึ้น คอยบอกให้การ์ดคล้องแขนกันไว้
จะได้เป็นแนวเดียวกันแล้วเห็นชัดเจนว่าการ์ดวันนั้นมีใครบ้าง
ห้ามปรามอารมณ์ที่อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจชุดควบคุมฝูงชน
สิ่งที่พายุโดนวันนั้นคือการที่
กระสุนยางยิงที่เบ้าตาขวาและเขาต้องสูญเสียดวงตาข้างขวาไป
ภัสราวลี กล่าวต่ออีกว่า ภายหลังพายุโดนยิง
เห็นคลิปว่าเขายังมีสติในการตอบโต้กับพยาบาลทั้งที่เลือดอาบหน้า ในเวลาต่อมาไม่ถึง
4 ชั่วโมงได้ข่าวว่าพายุอาการโคม่าไม่รู้สึกตัว
ตอนนั้นในใจรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอและกังวลมาก ว่าจะต้องเสียพี่ชายคนนี้ไป กระทั่งพายุฟื้นขึ้นมาก็ใจชื้นขึ้น
และตอนนี้พายุเสียดวงตาไป 1 ข้าง รอดูแผลว่าจะติดเชื้อไหม
ถ้าติดเชื้อก็น่ากังวลมากเพราะจะส่งผลต่อระบบประสาทดวงตาข้างซ้าย สิ่งที่เพื่อน ๆ
ช่วยกันทำคือการพูดคุยให้กำลังใจ แม้เพื่อนจะเข้าไปเยี่ยมได้ไม่เยอะ
ใช้วิธีการผลัดเปลี่ยนกันเข้าไป พูดคุยกับเขาให้เขารู้ว่าเรายังอยู่ตรงนี้
ซึ่งพายุใจสู้มาก 2-3 วันนี้ก็ได้พูดคุยกันมากขึ้น
เราทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังสู้อยู่
มันน่ากลัวมาก มันมีอำนาจมาก มันมีปืน มันมีทรัพยากรมากกว่าเรา
แต่เมื่อเรารวมตัวกันแล้วเราต่างมองหน้ากัน และเราต่างบอกกันว่าไม่เป็นไรไม่กลัว
ช่างมัน เพราะวันหนึ่งคนเหล่านั้นนั่นแหละที่ต้องกลัวพวกเรา
พวกเขาไม่มีความชอบธรรม
ในสังคมประชาธิปไตยแบบนี้ ซึ่งในระบอบนี้ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยสูงสุด คนที่มาสร้างภาพมายาว่ามีอำนาจเหนือประชาชนเขาจะอยู่นานได้อย่างไร
ภัสราวลี เชื่อว่ามันอาจจะใช้เวลาสักหน่อย
สุดท้ายแล้วเวลาไม่เดินย้อนกลับ มีแต่จะเดินไปข้างหน้า
เราคือสิ่งที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าขณะที่กำลังของเขา ชนชั้นนำก็จะถดถอยลง
ถูกลดทอนไปด้วยความศรัทธาอะไรบางอย่างที่มันหล่นหายไป หลาย ๆกระบวนการในหลาย ๆ
หน่วยงาน ผู้คนก็หมดศรัทธาไปกันหมดแล้ว
เหตุการณ์สลายชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ภัสราวลี
ระบุว่า เก็บกระสุนยางไว้กับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าไปไหนจะพกไปด้วย
เป็นหลักฐานในการต่อสู้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจและแรงผลักดันให้เราจะต้องทำอะไรหลังจากตอนนี้ไป
เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าวันนั้นเพื่อนเราโดนอะไรบ้าง น้องเราโดนอะไรบ้าง
เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าในขณะที่เราตั้งใจเป็นอย่างมากในการใช้เสรีภาพของเรา
พูดถึงความหวัง ความฝัน ความจริง เราโดนอะไรบ้าง เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าเราถอยหลังกลับไม่ได้อีกแล้ว
แต่ต้องเดินไปข้างหน้าเท่านั้น
มันมีเรื่องราวที่เราต้องชำระเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรมให้ได้
มีความโกรธแค้นที่แปรเปลี่ยนมาเป็นกำลัง ตอนนี้เรายังคงมีแรง
ยืนตัวตรงต่อหน้าคนเหล่านั้นที่มันกดขี่เรา เชิดหน้าเข้าไว้ ทำหน้าให้ดูมีพลังที่สุดเข้าไว้
เพราะนี่คือสัญญาณหนึ่งที่เราจะบอกเขาว่าต่อให้เราเจออะไรที่หนักแค่ไหน
ระวังไว้เถอะค่ะพวกเรากำลังมา เรามาแบบขับเคลื่อนด้วยความแค้น (พร้อมชูกระสุนยาง)
เรามีแค้นที่ต้องชำระ ความแค้นครั้งนี้อาจทำให้ใครได้หลายคนใจฝ่อไปบ้าง เสียใจไปบ้าง
อาจจะต้องเว้นระยะให้กับการรักษาใจตัวเอง และกลับไปเก็บเกี่ยวกำลังใจของตัวเอง
และสุดท้ายเราต้องกลับมาคิดให้ได้ว่า เรายึดมั่นในอำนาจอธิปไตยที่เราพึงมี
ที่ระบอบประชาธิปไตยกำหนดให้เป็นแบบนั้น อย่าได้ละทิ้งความเชื่อนี้
ความเชื่อที่เราต้องยึดมั่นไว้ให้ได้ เตือนตัวเองเข้าไว้ว่าเราคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่สถาบันไหน
คุณค่าของความเป็นมนุษย์จะลุกขึ้นมาปลดแอกตัวเอง
เราประชาชนต่างติดอาวุธทางปัญญาให้กันและกัน บางคนอาจท้อ
รู้สึกแย่กับการสลายการชุมนุมครั้งล่าสุด ไม่มีจิตใจกลับมาทำอะไรอีกแล้วนั้น
ภัสราวลีกล่าวว่า เราท้อได้ เราเหนื่อยได้ แต่คำถาม ที่ต้องถามกับตัวเองก็คือว่า
จะทนอยู่แบบนี้ต่อไปได้อีกหรือ
แม้ว่าเราจะท้อเราจะเหนื่อยเราจะกลัวแต่เรายังจะทนกับการปกครองแบบนี้อีกหรือ
เราจะส่งต่อสังคมแบบนี้ที่บิดเบี้ยวให้กับคนรุ่นต่อต่อไปหรือ
ภัสราวลี เน้นย้ำว่า จะยืนหยัดไปต่อจนกว่าอำนาจอธิปไตยจะกลับมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
วันนั้นมันถึงจะจบเรื่องจบราวเราถึงจะสบายใจได้
เราจะได้ไม่ต้องมากังวลถึงการที่จะมีการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกแล้ว
ขอให้ทุกคนยังมีความหวังกับการสร้างสรรค์สังคมให้ยังดีกว่านี้ ขอให้ทุกคนยังมีกำลังใจและเอาความโกรธแค้น
โศกเศร้าเสียใจทุกอย่างนั้น
แปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้สังคมเราเปลี่ยนไปเป็นสังคมที่น่าอยู่
เพื่อให้การเสียสละของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า
เพื่อให้การสูญเสียทุกอย่างนั้นไม่สูญเปล่าประชาชนต้องไปต่อเพราะประเทศนี้เป็นของประชาชน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มายด์ภัสราวลี