วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

“ประชาชนและเครือข่าย” อ่านแถลงการณ์ 2 ภาษาหน้าสถานทูตสหรัฐฯ หลังไปยื่นหนังสือที่สถานทูตแคนาดา-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ นัดหมาย 17 พ.ย. ที่แยกอโศก ยื่นหนังสือถึงผู้นำที่มาประชุมเอเปค

 


“ประชาชนและเครือข่าย” อ่านแถลงการณ์ 2 ภาษาหน้าสถานทูตสหรัฐฯ หลังไปยื่นหนังสือที่สถานทูตแคนาดา-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ นัดหมาย 17 พ.ย. ที่แยกอโศก ยื่นหนังสือถึงผู้นำที่มาประชุมเอเปค

 

วันนี้ (15 พ.ย. 2565) เวลา 10.30 น. กลุ่ม “ประชาชนและเครือข่าย” ทำกิจกรรม “What’s happening in Thailand” ยื่นหนังสือเกี่ยวกับการประชุมเอเปคและประเด็นที่ต้องการสื่อสารถึงผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่มาร่วมชุมนุม ต่อสถานทูตต่าง ๆ โดยเริ่มจาก สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา, สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย, สถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

เรียน เอกอัครราชทูตประจำประเทศแห่งระบอบประชาธิปไตย

 

และที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กลุ่ม “ประชาชนและเครือข่าย” ได้อ่านแถลงการณ์ 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

 

ในวันนี้เราเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปัจจุบัน และจุดยืนของเราที่มีต่อการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ประจำปี พ.ศ. 2565 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

ภายหลังการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในปี 2562 ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติส่งผลให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การกลับมาของรัฐบาลเผด็จการ นำไปสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ ในปี 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและองคาพยพ ต้องลาออก

2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ

3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

 

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ข้อเรียกร้องเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นข้อเรียกร้องเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและงบประมาณ เพื่อให้เป็นสถาบันกษัตริย์มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธุรกิจผูกขาดและยังมีบทบาทสำคัญในการผูกขาดธุรกิจจนส่งผลให้ประชาชนต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันหลักของชาติ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับ "การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตรา 112 กลายมาเป็นอาวุธสำคัญของรัฐในการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (SLAPPs) เนื่องจากการเคลื่อนไหวและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้นักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรงจากรัฐในรูปแบบต่างๆ ประการแรก รัฐใช้กำลังและความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมโดยสันติของประชาชน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 526 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น ประการที่สอง มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนเป็นจำนวนมาก อย่างน้อย 217 ราย ใน 236 คดี ซึ่งจำนวนนี้รวมไปถึงเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิทางการเมืองด้วย นอกเหนือจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีอื่น ๆ กับประชาชน เช่น มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประการที่สาม ผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองเผชิญกับความผิดปกติและไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมภายใต้ ICCPR รัฐบาลเผด็จการใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือสำคัญในการพิพากษาประชาชน ที่ผ่านมา ในการพิพากษาคดีทางการเมืองมักมีความผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น มีการปฏิเสธการให้สิทธิการประกันตัวในคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคี มีการบังคับผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองติดอุปกรณ์ติดตาม หรือ EM ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการประกันตัว ศาลมีการปฏิเสธไม่ให้จำเลยใช้หลักฐานของตนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่มีการพาดพิงในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และมีการปฏิเสธไม่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์ในการสืบพยานคดีมาตรา 112

 

มากไปกว่านั้น นักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย นักการเมือง และ NGOs ไม่น้อยกว่า 30 ราย ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน จากการใช้สปายแวร์ในเครื่องมือสื่อสาร และการแอบติดอุปกรณ์ GPS ในรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อสอดส่องข้อมูลส่วนตัว ดักจับสัญญาณ และติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนในทุกย่างก้าว

 

ดังนั้น เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะตัวแทนจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะมีการพิจารณาถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลไทยดังที่กล่าวมาในจดหมายฉบับนี้ เพราะเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมเอเปค ไม่ควรเป็นเวทีในการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำที่ได้อำนาจมาจากกระบอกปืน ไม่ใช่อาณัติของประชาชน

 

ด้วยความเคารพและความหวังเป็นอย่างยิ่ง

 

ประชาชนและเครือข่าย

 

ต่อมานักกิจกรรมแจ้งว่า วันนี้ในเวลา 14.00 น. จะเดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเพื่อยื่นหนังสือต่อไป

 

หลังอ่านแถลงการณ์จบ ได้มีการนัดหมายกิจกรรมครั้งต่อไปในวันที่ 17 พ.ย. เวลา 12.00 น. จะมีการเดินขบวนไปยื่นหนังสือถึงผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางมาร่วมประชุมเอเปค

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #KeepAnEyeOnAPEC2022 #APEC2022