วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

"กลุ่มราษฎร" ร้อง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ สอบปมสลายชุมนุม เมื่อ 18 พ.ย. ด้านกมธ.รับเรื่อง จ่อเชิญผู้เกี่ยวข้อง ถก 24 พ.ย. นี้ อานนท์ เผย เดินหน้าเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนในการสลายชุมนุมอย่างถึงที่สุด ทั้งทางวินัย อาญา และแพ่ง

 


"กลุ่มราษฎร" ร้อง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ  สอบปมสลายชุมนุม เมื่อ 18 พ.ย. ด้านกมธ.รับเรื่อง จ่อเชิญผู้เกี่ยวข้อง ถก 24 พ.ย. นี้ อานนท์ เผย เดินหน้าเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนในการสลายชุมนุมอย่างถึงที่สุด ทั้งทางวินัย อาญา และแพ่ง


วันนี้ (21 พ.ย. 2565) เวลา 14.00 น. ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย นายอานนท์ นำภา ทนายความ, นายบารมี ชัยรัตน์ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค ได้นำพยานหลักฐานจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังขัดขวางและสลายการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC 2022"  จนเกิดเหตุความรุนแรงมีผู้บาดเจ็บและถูกจับหลายราย โดยบางรายอาจสูญเสียการมองเห็น จึงเรียกร้องให้กรรมาธิการและพรรคร่วมฝ่ายค้านช่วยตรวจสอบทั้งข้อกฎหมายในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ รวมถึงหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยมีนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.ก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ และตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นตัวแทนรับหนังสือ

 

ด้านนายบารมี ชัยรัตน์ ตัวแทนผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค2022  ระบุว่า การชุมนุมวันดังกล่าว แกนนำได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังขัดขวางไม่ให้เดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย

 

อีกทั้งได้พยายามเรียกร้องให้ตำรวจถอนกำลังออกไปและพร้อมเจรจา และขณะที่เกิดเหตุชุลมุนนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่การปะทะ แต่เป็นการที่เจ้าหน้าที่ทุบตีเอาเพียงฝ่ายเดียว และในครั้งที่ 3 มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่จากตำรวจคุมฝูงชน (คฝ.) เป็นอีกชุดหนึ่ง ที่ใส่ผ้าพันคอสีเขียว เข้ามาสลายการชุมนุม

 

นายบารมี ยังระบุว่า ถ้าเห็นว่าการชุมนุมไม่ชอบก็ต้องไปร้องต่อศาลให้มีคำสั่งยุติการชุมนุม แต่นี่เป็นการใช้กำลังและอำนาจเถื่อนเข้ามาทำร้ายมวลชน จนกระทั่งมีคนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นอาจเสียดวงตา ซึ่งเป็นสิ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ มองว่าเป็นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของฝั่งผู้ชุมนุม

 

ในวันนี้จึงมาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานจัดการประชุมเอเปค เข้ามาชี้แจง

 

ด้านนายณัฐชา อินไชยบุญสวัสดิ์  กรรมาธิการพัฒนาการเมือง กล่าวว่า  เหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่อแววไปในความรุนแรง เป็นเพียงการออกมาเรียกร้องสิทธิเท่านั้น ซึ่งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจรุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่มีมาตรการจากเบาไปหาหนัก

 

ดังนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 24 พ.ย. 2565 จะนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระการพิจารณาของกรรมาธิการและจะเสนอเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลกับกรรมาธิการ  และในวันเดียวกันในเวลา 11.00 น. สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่อยู่ในเหตุการณ์จะนำหลักฐานมายื่นต่อคณะกรรมาธิการฯด้วย

 

ขณะที่ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์  โฆษกพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีภาพปรากฏชัดมีการยั่วยุจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ  จนสถานการณ์บานปลาย มีการใช้กำลังทำให้มีผู้บาดเจ็บ  อย่างไรก็ตามมองว่ารัฐบาลที่ดีควรที่จะเปิดหูเปิดตารับฟังความเห็นจากประชาชนไม่ใช่อยู่กดอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุม

 

ซึ่งหลังจากนี้ทางกรรมาธิการและพรรคฝ่ายค้าน ก็จะร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการกระทำที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐ

 

นอกจากนี้ อานนท์ นำภา ได้เปิดเผยภายหลังการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าจะต้องมีการดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางแพ่ง อย่างถึงที่สุด ด้วยเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่รัฐต้องร่วมกันรับผิด ตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาจนถึงระดับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้ร่วมกันประพฤติผิดกฎ ต้องรับผิดทั้งในระดับส่วนตัวและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องมีส่วนรับผิดด้วย

 

สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ คิดว่าเจ้าหน้าที่ล้ำไปเยอะ ส่งผลกระทบทั้งผู้ชุมนุม ผู้ไม่ได้ร่วมชุมนุมและสื่อมวลชน อีกทั้งการทำร้ายสื่อมวลชนทั้งที่แสดงตัวแล้ว อาจแฝงเจตนาต้องการคุกคามสื่อในการนำเสนอข่าวการชุมนุม ซึ่งสื่อมวลชนควรเรียกร้องและแสดงความจำนงเอาผิดร่วมด้วย เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมโดยเฉพาะในกรณีนี้ที่มีหลักฐานชัดเจน

 

นายอานนท์ ยังได้ระบุอีกว่า ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อเจ้าหน้าที่ ที่คาดว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้กว่า 170 คนแล้ว ทั้งระดับผู้บังคับบัญชาและระดับปฏิบัติการ รวมถึงอยู่ระหว่างการตามหาและพิสูจน์ทราบบุคคลที่ลั่นไกยิงกระสุนยางในระยะประชิด และในระดับเหนือเอวซึ่งผิดหลักยุทธวิธี

 

และจากพฤติกรรมในเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หลายคนในสังคมตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่ใช่ตำรวจธรรมดาที่กระทำแบบนี้ ซึ่งต้องเอาผิดกันต่อไป ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บก็ต้องกระทำอย่างเต็มที่ต่อไป นายอานนท์ กล่าว

 

นายอานนท์ ยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะเดินทางไปยังองค์กรอื่น ๆเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เพื่อให้แสดงบทบาทในการตรวจสอบเรื่องนี้ และเรียกร้องให้สื่อนำเสนอข่าวเรื่องนี้ต่อไป

 

นายอานนท์ กล่าวต่อไปว่า คาดว่าหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะทำงานในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดจริง ๆ ก็ต้องเอาผิดตามกฎหมาย เพื่อแสดงบทบาทการเป็นเสาหลักของประเทศ ถึงแม้ที่ผ่านมา จะมีกรณีที่ประชาชนเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐจากการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการชุมนุมได้นั้น เกิดขึ้นน้อยมาก และฝากถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 18 พ.ย. ว่า "เตรียมหาทนายไว้ เจอกันชั้นศาลแน่นอน"

 

จากนั้นกลุ่มราษฎร ได้ถ่ายรูปร่วมกัน โดยปิดตาข้างขวา เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อส่งกำลังใจให้"พายุ ดาวดิน" ที่ถูกตำรวจ คฝ.ยิงดวงตาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา #คฝยิงพายุ

 

#ราษฎรหยุดAPEC2022 #UDDnews #ยูดีดีนิวส์