วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

"วรเจตน์ " 1 ทศวรรษเพื่อการทบทวน ชี้ ม.112 จำเป็นต้องแก้ไขให้ได้สัดส่วน แนะคนรุ่นใหม่ใช้ความระมัดระวัง และขยายแนวร่วมส่งต่อความรู้ความเข้าใจ หวัง นักการเมืองช่วยกัน รับเป็นด่านหน้าผลักดันในสภาฯ

 


"วรเจตน์ " 1 ทศวรรษเพื่อการทบทวน ชี้ ม.112 จำเป็นต้องแก้ไขให้ได้สัดส่วน แนะคนรุ่นใหม่ใช้ความระมัดระวัง และขยายแนวร่วมส่งต่อความรู้ความเข้าใจ หวัง นักการเมืองช่วยกัน รับเป็นด่านหน้าผลักดันในสภาฯ


วันนี้ (13 พ.ย. 2565) เวลา 13.00 น. ที่ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิสิทธิอิศรา (กองทุนราษฎร์ประสงค์) นำโดยน.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ประธานมูลนิธิฯ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดบรรยายสาธารณะในหัวข้อ "112 กับสถาบันกษัตริย์ : 1 ทศวรรษเพื่อการทบทวน"


โดยมี ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์ เป็นผู้บรรยาย ได้กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่ง ระบุว่า เหตุผลสำคัญที่มาพูดวันนี้ คือวาระครบรอบ 10 ปี ของคณะนิติราษฎร์ และคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112  (ครก.112) ที่ออกมาเคลื่อนไหวในต้นปี 2555 จึงคิดว่าสมควรจะมาทบทวนว่าในช่วง 10 ปีนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ในมุมของรัฐที่บังคับใช้กฎหมายและในมุมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้


วรเจตน์ ระบุเหตุผลที่มาเล่าบรรยากาศบางส่วนของการเคลื่อนไหวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยว่าขณะนี้มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ม.112 รวมถึงมีการเสนอให้ยกเลิกมาตรานี้


หลายคนคงสงสัยว่าทำไมตนถึงลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 ทั้งที่เป็นอาจารย์และได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ หลายคนบอกมาตรานี้มีมานานแล้ว แล้วจะไปยุ่งทำไม จะเกิดผลกระทบทั้งในด้านส่วนตัวและหน้าที่การงาน แต่ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ และไม่อาจที่จะไม่ทำในสิ่งนี้ได้ 


ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีม.112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เนื่องจากอาจมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทและอำนาจของสถาบันฯ ในการที่เกิดรัฐประหาร 2549 ในตอนนั้น จากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของสถาบันฯ กับม.112 การดำเนินคดี และการเคลื่อนไหวของประชาชนจึงผูกติดกันเรื่อยมา


จึงมีแนวคิดที่จะทำให้เรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา โดยการเสนอเรื่องนี้ให้เป็นสาธารณะอย่างเปิดเผย และขอให้มีการเข้าชื่อแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ โดยคณะนิติราษฎร์ทำหน้าที่ช่วยยกร่างกฎหมายให้ และนำออกสู่สาธารณะให้มีการถกเถียงกัน เพราะเป็นกฎหมายที่มีปัญหาในหลายมิติ ทั้งการตีความกฎหมาย ลักษณะความผิด ขอบเขตอำนาจของกฎหมาย การที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำที่จำคุก 3 ปีในกลุ่มกฎหมายหมิ่นประมาท ลักษณะการกล่าวโทษที่เป็นผู้ใดเป็นผู้ร้องทุกข์ก็ได้ รวมถึงการใช้ดุลยพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทำให้กฎหมายนี้มีลักษณะไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ เกิดช่องว่างเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งและโจมตีผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทางการเมืองด้วย 


วรเจตน์ ระบุอีกว่า ข้อเสนอให้แก้กฎหมาย ม.112 ยังเป็นข้อเสนอที่ยังใช้ได้อยู่ แม้เมื่อ 10 ปีที่แล้วจะถูกกล่าวหาโจมตีอย่างหนักว่าเป็นกลุ่มล้มเจ้า เพราะคนบางกลุ่มมองว่าไม่ควรแตะต้องกฎหมายใดที่เกี่ยวกับสถาบันฯ แต่ตนมองว่าการแก้ไขเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้กฎหมายมีความเป็นสากล ได้สัดส่วน มีมนุษยธรรม และไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจแต่อย่างใด


แนวคิดของตนมองว่า แต่ละรัฐต้องมีผู้แทนหรือประมุขที่คุ้มครองระบอบ ดังนั้นถ้าการคุ้มครองประมุขของรัฐเป็นไปเพื่อการรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครอง ส่วนตัวไม่มีปัญหา ที่กฎหมายจะคุ้มครองประมุขรัฐต่างจากบุคคลธรรมดาบ้าง แบบที่ปรากฏในหลาย ๆ ประเทศในโลกนี้ แต่ประเด็นที่น่าจะมีปัญหาตอนนี้ คือการคุ้มครองที่ควบไปถึงตำแหน่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตำแหน่งประมุขรัฐ ซึ่งในร่างแก้ไข ม.112 ของคณะนิติราษฎร์ เมื่อ 10 ปีก่อน ก็มีการขอให้แยกการคุ้มครองกฎหมายระหว่าง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ออกจากกัน


วรเจตน์ ได้ให้ความเห็นว่า มีบทเรียนบางอย่างที่อยากจะบอกกับนักเคลื่อนไหวในปัจจุบันว่า เราต้องไม่ลืมว่า กฎเกณฑ์ของ ม.112 ขณะนี้ยังไม่ถูกแก้ และมีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้นยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่พูดในที่สาธารณะไม่ได้ การเคลื่อนไหวจึงต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง ตนเข้าใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่กำลังออกมาเคลื่อนไหวและถูกกดทับโดยบทบัญญัติของมาตรานี้ แต่ต้องพยายามเข้าใจว่า การต่อสู้เรื่องนี้เป็นการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระยะยาว เป็นเรื่องที่ต้องทำใจว่า อาจจะไม่จบในเจเนอเรชันเดียว ต้องส่งผ่านต่อ ๆ ไปในหลาย ๆ เจเนอเรชัน โดยไม่ต้องคาดหวังว่า จะต้องสำเร็จในรุ่นเรา เมื่อมีใครจุดไฟเอาไว้เราต้องหล่อเลี้ยงไฟนั้นไป ต้องการปริมาณของคนที่เห็นด้วยมากกว่านี้ แม้ 10 ปีที่ผ่านมาจะมีผู้คนเพิ่มขึ้นมากแต่ก็ยังไม่มากพอ


วรเจตน์ กล่าวว่า ทุกวันนี้อุดมการณ์ของผู้บังคับใช้ ม.112 ไม่เปลี่ยน บางคดีไม่เข้าข่ายการหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย เช่น การไม่แสดงความเคารพ แซะ เสียดสี เลียนแบบ แต่ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายกลับขยายจุดนี้ออกไปให้เข้าข่าย เท่ากับไปเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ตัวบท ให้เป็นการตีความตามความเชื่อ


ส่วนตัวหากจะทำแบบนี้ควรไปเสนอฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขกฎหมายให้กว้างขวางและครอบคลุม และมองว่าถึงอย่างไรก็ต้องแก้ มิฉะนั้นก็จะมีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะแบบนี้ต่อไป ทั้งอนาคตควรมีระบบการตรวจสอบความชอบธรรมของศาลในการวินิจฉัยคดีด้วย


สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่คือการพยายามทำความเข้าใจกับผู้คนต่อไป เพื่อให้คนในสังคมได้เข้าใจว่าต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎหมาย แต่การกระทำที่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทก็ยังเป็นความผิดต่อไป แต่โทษเปลี่ยนแปลงไปอย่างสมเหตุสมผล เป็นโทษที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น


สำหรับ ม.112 ด่านหน้าสุด คือ นักการเมืองที่จะผลักดันแทนประชาชนในสภาฯ ในระหว่างทางนั้นมีคนบาดเจ็บ มีคนได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวที่ต้องทำ ยังมีภารกิจอื่น ๆ ที่ต้องทำอีกในแง่ของการช่วยให้คนที่ถูกดำเนินคดีได้รับสิทธิ์ในการต่อสู้คดี  มาตรา 112 ก็ต้องได้รับสิทธิ์ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ในชั้นศาล ซึ่งมูลนิธิสิทธิอิสราก็เป็นส่วนหนึ่งที่พยายามจะทำเรื่องนี้ เป็นผู้ดำเนินการอยู่ในเบื้องหลัง สำหรับนักการเมืองก็น่าจะสามารถสนับสนุนบริจาคให้มูลนิธิฯ แบบเปิดเผยได้ ถ้าไม่พร้อมจะไปให้ประกันผู้ถูกดำเนินคดีโดยตรง ก็ช่วยผ่านทางมูลนิธิฯ และคงไม่น่าถึงขั้นถูกยื่นยุบพรรค เพราะมูลนิธิฯ ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย และทำทุกอย่างอย่างเปิดเผยตามกฏหมาย ซึ่งนี่ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยกันได้อีกทางหนึ่ง วรเจตน์ กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม112