วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ศาลให้ประกัน “ไดโน่ ทะลุฟ้า” หลังอสส.มีคำสั่งฟ้องคดี จากกรณีร่วมชุมนุม “ม็อบ 19 สิงหา ไล่ล่าทรราช” เมื่อปี 2564

 


ศาลให้ประกัน “ไดโน่ ทะลุฟ้า” หลังอสส.มีคำสั่งฟ้องคดี จากกรณีร่วมชุมนุม “ม็อบ 19 สิงหา ไล่ล่าทรราช” เมื่อปี 2564


เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดา มีนัดฟังคำสั่งประกันตัวในคดีของ “ไดโน่” หรือ นวพล ต้นงาม นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า หลังพนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องคดี จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้แจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผู้ร่วมชุมนุมและผู้ปราศรัยจากกลุ่มทะลุฟ้าร่วมกว่า 10 ราย (3 ราย ยังเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี) โดยทั้งหมดได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว โดยกรณี “ไดโน่ นวพล” ได้ถูกตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ทั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, มาตรา 360 ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย, มาตรา 220 ร่วมกันทำให้เกิดเพลิงไหม้ จนอาจเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น


ต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีของผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้า 6 คน เฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลแขวงดุสิต ไปเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 แล้ว ขณะที่ “ไดโน่” เนื่องจากถูกกล่าวหาในข้อหาที่มีอัตราโทษสูงกว่า จึงได้ถูกแยกฟ้องมาที่ศาลอาญา


หลังการสั่งฟ้องต่อศาลในวันที่ 28 พ.ย. 2565 ศาลอาญากลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้จะขอยื่นประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ขอประกันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลย หากประสงค์จะขอประกัน ให้ผู้ขอประกันมีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นญาติ และเป็นผู้กำกับดูแล เห็นควรกำหนดเงื่อนไขว่า หากจำเลยผิดเงื่อนไข ผู้ร้องประกัน ยินยอม ว่าเป็นการผิดสัญญา และยินยอมให้ปรับนายประกันได้ จึงจะพิจารณาสั่งต่อไป” ทำให้คืนที่ผ่านมา “ไดโน่” ถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที


ทั้งนี้ อัยการบรรยายฟ้อง โดยมีใจความสรุปได้ว่า จำเลยและพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ม็อบ 19 สิงหา ไล่ล่าทรราช” โดยเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยนำป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “ทรราชในคราบ (คนดี)” ไปแขวนบริเวณอนุสาวรีย์ และจำเลยกับพวกได้นำหุ่นฟางและภาพของคณะรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภามาวางรวมกันบนพื้นถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นกิจกรรมมั่วสุมของกลุ่มคนจำนวนมาก


อัยการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยและพวก เป็นการจัดกิจกรรมชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคและไม่มีการเว้นระยะห่าง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคติดต่ออันตรายได้


นอกจากนี้อัยการได้บรรยายฟ้องว่า “ไดโน่” และพวกได้ร่วมกันวางเพลิงเผาหุ่นฟางและภาพคณะรัฐบาล และ สว. บนพื้นถนนจนเกิดเพลิงไหม้ เป็นการทำให้ถนนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะเสียหาย และมีค่าเสียหายรวมเป็นเงินประมาณ 157,000 บาท


ศาลอนุญาตให้ประกันตัว “ไดโน่” หลังยื่นผู้กำกับดูแลและนายประกันเป็นคนในครอบครัว วางเงินหลักทรัพย์กว่า 90,000 บาท


ต่อมา ในเวลา 13.00 น. ทนายยื่นคำร้องขอประกันตัว “ไดโน่” เป็นครั้งที่ 2 โดยขอให้ศาลแต่งตั้งผู้กำกับดูแลและนายประกันเป็นบุคคลในครอบครัว


ก่อนที่ในเวลา 14.46 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยกำหนดเงื่อนไข ดังนี้


ให้ติดอุปกรณ์กำไล EM และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00 น. - 06.00 น. ของวันถัดไป


1. ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง

2. ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่มีปฏิบัติการที่ใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อทรัพย์สินสาธารณะ และทรัพย์ราชการ

3. ห้ามกระทำการที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

4. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร


ศาลกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 30 ม.ค. 2566 เวลา 9.00 น.


ข้อสังเกตที่น่าสนใจในคดีนี้ พบว่าการตั้งเงื่อนไขประกันของศาลอาญา มีลักษณะของคำสั่งที่คล้ายคลึงกับคดีของแซม, แม็ก และมิกกี้บัง นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ที่เพิ่งได้รับการประกันเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 โดยในคดีดังกล่าวของแซมและพวก ศาลได้กำหนดเงื่อนไขให้เปลี่ยนแปลงผู้กำกับดูแลจำเลยทั้งสามคนเป็นบุคคลในครอบครัว และให้ใช้หลักทรัพย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้กำกับดูแล


ส่วนของไดโน่ ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในครั้งแรก และปฏิเสธเงื่อนไขที่ทนายความยื่นคำร้องขอใช้นายประกันเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัว แต่ไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องหลักทรัพย์ ว่าจะต้องเป็นเงินของครอบครัวและญาติเท่านั้น


ขณะเดียวกันคดีนี้ยังไม่ได้มีข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งตัว “ไดโน่” เองก็ไม่เคยถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์มาก่อนทั้งในคดีนี้และคดีอื่นๆ แต่ศาลกลับกำหนดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”


ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


ภาพ : มติชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR #ทะลุฟ้า