วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

วงเสวนา“คนชาติพันธุ์ที่ถูกรัฐผลัก เป็นคนชายขอบ” ซัด โครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำ มองคนไม่เท่ากันทำให้คนบางกลุ่มถูกผลักเป็นคนชายขอบ ทั้งที่มีศักยภาพในการร่วมพัฒนาประเทศและสังคมได้

 


วงเสวนา “คนชาติพันธุ์ที่ถูกรัฐผลักเป็นคนชายขอบ” ซัด โครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำ มองคนไม่เท่ากันทำให้คนบางกลุ่มถูกผลักเป็นคนชายขอบ ทั้งที่มีศักยภาพในการร่วมพัฒนาประเทศและสังคมได้ 


วันนี้ (3 พ.ย. 2565) ที่ The Jam Factory เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ในส่วนของบริเวณ Cartel Artspace กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ร่วมกับพรรคไฟเย็น, สถาบันปรีดี พนมยงค์, มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่าย จัดนิทรรศการ "คืนยุติธรรม : Dawn Of Justice" เพื่อเรียกร้องความเป็นคน ให้ผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและผู้สูญหายจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเรียกร้องให้มีการคืนความยุติธรรม ตามกระบวนการทางกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน 


สำหรับเวลา 17.00 - 18.30 น. มีการเสวนาเรื่อง #เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย หัวข้อ คนชายขอบ ประเด็น "คนชาติพันธุ์ที่ถูกรัฐผลักเป็นคนชายขอบ"

.

โดยวงเสวนานี้จะพูดคุยเพื่อหาทางออก ยุติการผลักเพื่อนร่วมสังคมให้ไปเป็นคนชายขอบ เพื่อสังคมที่เท่าเทียม รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น สะท้อนโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการมองคนไม่เท่ากัน และไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานตามที่ควรจะเป็น ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้ต่อสู้เคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าว ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ พชร คำชำนาญ ภาคีSaveบางกลอย, อาหมื่อ มาเยอะ ชาติพันธุ์อาข่า-ลีซู บ้านรินหลวง จ.เชียงใหม่ และดำเนินรายการโดยแทนฤทัย แท่นรัตน์ ภาคีSaveบางกลอย

.

ด้าน"ฮาหมื่อ" ระบุว่า เพราะโครงสร้างที่กดทับเป็นชั้น ๆ ลงมา โดยที่ทำให้เห็นชัดเจน คือเจ้าหน้าที่ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน จึงประสบปัญหาที่ดินทำกินอย่างมาก ทุกวันนี้หลายครัวเรือนเข้าที่ทำกินตัวเองไม่ได้ ต้องรับจ้างไปวัน ๆ หนี้ที่เป็นอยู่มีแต่ทวีขึ้นทุกปี ลูก ๆ ที่ต้องเรียนหนังสือ บางคนก็ต้องกลับมาช่วยพ่อแม่ กลับมาอยู่ชุมชนดิ้นรนช่วยกัน 


"ชายขอบ" คือวาทกรรมที่ชนชั้นนำพยายามทำให้เราเป็น ด้วยการแบ่งแยกชัดเจน ยอมรับว่าตนเป็นคนหนึ่งที่บ้านติดชายแดนไทย-พม่า อยู่ชายขอบจริง ๆ แต่ในทางปฏิบัติเราเป็นคนไทยคนหนึ่ง ทำไมเข้าถึงโครงการต่าง ๆ ที่นำมาพัฒนาชาวบ้านไม่ได้


ฮาหมื่อ ยังระบุอีกว่า การที่กำหนดกฎเกณฑ์ กรอบให้คนที่ถูกจัดให้อยู่ชายขอบ อย่างผมเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน อยากถามว่าในฐานะประเทศประชาธิปไตย ทำไมการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน ทำไมเอาตำรวจมาสอน เขาไม่ใช่ครู เป็นตำรวจรับใช้ประชาชนไป เป็นทหารปกป้องประชาชนไป เป็นการแบ่งแยก กันคนชาติพันธุ์ออกอย่างชัดเจน โดยที่ลืมไปว่าชาติพันธุ์คือ 1 คน 1 สิทธิ 1 เสียงที่สร้างรัฐ ผมอยู่ตั้งแต่ก่อนที่รัฐไทยจะเกิด


สำหรับการที่ต่อสู้มาหลายปี ทุกวันนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้าก็ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ แต่ผม ชาวบ้าน และชุมชน จะยืนหยัดและต่อสู้ เพื่อให้ได้ซึ่งเสรีภาพขั้นพื้นฐาน


ฮาหมื่อ ได้ทิ้งท้ายว่า ขอบคุณทุกคนที่เข้าใจ คนที่ยังไม่เข้าใจ อยากให้มาสัมผัสคำนิยามต่าง ๆ วาทกรรมที่ได้รับ ลองมาสัมผัสดูว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเป็นอย่างที่รัฐไทยตราหน้าหรือไม่ เป็นภัยความมั่นคงของประเทศชาติ หรือไม่ ? 


ขณะที่ พชร ระบุว่า ไม่รู้จะจบวันไหน แต่จะจบได้ด้วยการปลดแอกมรดกสงครามเย็น เอาแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติออกไป เพราะชาติไม่เคยรวมพี่น้องชาติพันธ์ุอยู่แล้ว มันเป็นวงจรอุบาทว์ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารจอมพลสฤษดิ์ มันต่อเนื่องยาวนานซึ่งการตัดวงจรการทำรัฐประหารออกไปก็จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของพี่น้องชาติพันธุ์ได้


พชร กล่าวอีกว่า รัฐไทยและชนชั้นนำช่วยมองคนทุกคน (ในที่นี่ไม่ใช่แค่กลุ่มชาติพันธุ์) แต่ช่วยมองคนทุกคนให้เป็นพลังสร้างสรรค์ แทนที่จะมองเป็นศัตรูหรือผลักเป็นคนอื่น หมายถึงแทนที่จะมองเป็นคนชายขอบ แล้วกดขี่เขาเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง หรือรักษาความเป็นชนชั้นนำของตัวเองไว้ 


พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มีศักยภาพในการเป็นพลังสร้างสรรค์สังคม จะบอกว่าอาหารแทบทุกมื้อที่เรากินกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ ไข่ หรือไก่ (ถ้าซื้อของซีพี) อาหารในทุกมื้อของเรา ไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั้งนั้น ที่ดินของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ นั่นแหละ มันมีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 


แต่ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ แทนที่จะมองเป็นพลังสร้างสรรค์ แต่กลับยิ่งทำให้เรื่องความเหลื่อมล่ำในการกดขี่ และวิกฤติด้านที่ดิน ทรัพยากร และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้หยั่งรากลึกในสังคมมากขึ้น ซึ่งปัญหาทั้งหมดจะยุติเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ก็จะสู้ต่อไป พร้อมเคียงข้างพี่น้อง


หลายครั้งที่กลุ่มคนถูกเบียดไปเป็นชายขอบ และถูกรัฐใช้เป็นความชอบธรรมในการจัดการ วันนี้ศตวรรษที่ 21 แล้ว หลาย ๆประเทศที่พัฒนาแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์เป็นพลังสร้างสรรค์ เขายอมรับกันหมดแล้ว ด้วยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศและสังคม พชร กล่าว 


สำหรับวงเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ นิทรรศการ "คืนยุติธรรม" นิทรรศการที่เรียกร้องความเป็น "คน" ให้แก่ผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและผู้สูญหาย โดยจัดให้เข้าชมในวันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน 2565 ที่ The Jam Factory (คลองสาน) ตั้งแต่ 12.00 - 20.00 น. 


นอกจากนี้ยังมีบูธสินค้าเพื่อสนับสนุนประชาชน และการรณรงค์เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยมากมายหลายบูธ ให้ได้เลือกจับจ่ายใช้สอยกัน 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คืนยุติธรรม #DawnOfJustice #โมกหลวงริมน้ำ