วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ศาลยกฟ้อง “บอย ธัชพงศ์” คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง กรณีรวมชุมนุมม็อบ 18 ต.ค. 63 ศาลชี้! เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามปกติในระบอบประชาธิปไตย

 


ศาลยกฟ้อง “บอย ธัชพงศ์” คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง กรณีรวมชุมนุมม็อบ 18 ต.ค. 63 ศาลชี้! เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามปกติในระบอบประชาธิปไตย


เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “บอย” ธัชพงศ์ หรือ ชาติชาย แกดำ นักกิจกรรมทางการเมือง โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง


นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเหตุการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, ธัชพงศ์ หรือชาติชาย แกดำ และสมบัติ ทองย้อย โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง


ในชั้นสอบสวน ทั้งสามคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาล โดยฟ้องนักกิจกรรมทั้งสามคนแยกกันเป็นคนละคดี ซึ่งคดีของสมบัติ ทองย้อยเป็นคดีแรกที่ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาและยกฟ้องไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ในขณะที่คดีของชลธิชา แจ้งเร็วยังคงอยู่ในระหว่างการสืบพยาน


ทั้งนี้ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เป็นการชุมนุมในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตั้งเวทีปราศรัย และไม่ได้มีแกนนำชัดเจน เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำหลักที่ถูกจับกุมคุมขังในช่วงดังกล่าว รวมทั้งยืนยันข้อเสนอ 3 ข้อของการเคลื่อนไหว การชุมนุมมีเพียงการใช้ลำโพงขนาดเล็กหลายจุดในที่ชุมนุม และเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมร่วมกันขึ้นพูด


โดยศาลอ่านคำพิพากษาให้ฟังโดยสรุปว่า โจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยไปร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว แต่ในระหว่างการชุมนุมไม่ปรากฏว่าเกิดความไม่สงบเรียบร้อย ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ และไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ศาลจึงฟังไม่ได้ว่าการชุมนุมทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การกระทำของจำเลยจึงไม่ผิดข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามปกติในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษ “ยกฟ้อง”


ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR #พรกฉุกเฉินร้ายแรง