วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

"มายด์-ภัสราวลี" แย้ม เช้า 18 พ.ย.เตรียมเคลื่อนมวลชนไปยื่นข้อเรียกร้องให้ใกล้เวทีเอเปคที่สุด เชื่อ กทม.ไม่ใจร้ายไล่ปชช.ที่ปักหลักนอนลานคนเมือง

 


"มายด์-ภัสราวลี" แย้ม เช้า 18 พ.ย.เตรียมเคลื่อนมวลชนไปยื่นข้อเรียกร้องให้ใกล้เวทีเอเปคที่สุด เชื่อ กทม.ไม่ใจร้ายไล่ปชช.ที่ปักหลักนอนลานคนเมือง

 

วันนี้ (16 พ.ย. 2565) เมื่อเวลา 17.30 น. ที่ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) กทม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่กลุ่มราษฎรได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟสบุ๊ค "ราษฎร" โดยนัดหมายชุมนุมตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป ภายใต้ชื่อกิจกรรม #ราษฎรหยุดAPEC2022 อย่างไรก็ตาม มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้ยืนยันว่าจะชุมนุมค้างคืน แม้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จะไม่มีการอนุญาตให้ค้างคืน โดยการชุมนุมต้องเป็นไปตามนโยบายและข้อตกลง ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

 

ต่อมาได้มีตัวแทนทยอยขึ้นเวทีปราศรัยตามกำหนดการของกิจกรรม ดังนี้

17.30 - 17.45 น. เปิดเวที ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ ประเด็นเครือข่ายพี่น้อง “เชื่อมโยงปัญหาจากทุนผูกขาด และรัฐเผด็จการ”

18.15 น. วิพากษ์ APEC2022 : ทำไมต้องค้านเอเปค? งานนี้เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร?

18.30 น. ดนตรีจากสหภาพคนทำงาน

19.00 น. วิพากษ์ APEC2022 : รัฐเผด็จการ+ทุนผูกขาด

19.10 น. เวทีวัฒนธรรม การแสดงดนตรี

19.50 น. “Stop Dictatorship, Stop monopoly and the up coming draw backs of APEC summit'

20.00 น. แถลงการณ์เชิญชวนประชาชนร่วม StopAPEC2022 โดย มายด์ ภัสราวดี 20.10 น. มีการแสดงดนตรีจากวงทะลุฟ้า

 

ส่วนบรรยากาศภายในงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วงบ่ายโมงเป็นต้นมา มีฝนตกปรอย ๆ ต่อเนื่อง แต่ผู้คนก็ยังทยอยเดินทางมาจับจองพื้นที่ในลานคนเมือง เพื่อติดตามฟังเวทีปราศรัย บ้างพกร่มมากาง บ้างนั่งบนสาดภายในเต๊นท์ที่ผู้จัดงานได้เตรียมไว้

 

ต่อมาเวลา 18.40 น. มายด์-ภัสราวลี ให้สัมภาษณ์ว่า การชุมนุมในวันนี้ ก็ได้มีการจัดเตรียมเต๊นท์สำหรับพี่น้องที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด เวทีเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. มีเนื้อหาการปราศรัยเกี่ยวกับ ความคิดเห็นที่ภาคประชาชนมีต่อนโยบาย BCG และการทำงานของนายกรัฐมนตรี สิ่งที่รัฐบาลผลักดันโดยไม่ได้ถามความคิดเห็นประชาชน ส่วนเวทีในวันนี้จะตั้งถึงเวลาประมาณ 21.00 น. และเราก็จะปิดเวที หากใครที่กำลังเดินทางมา ก็สามารถขนเครื่องนอนมาได้

 

สำหรับ 3 ข้อเรียกร้องในวันนี้ มายด์-ภัสราวลี กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของ “ราษฎรหยุด APEC 2022” ประกอบด้วย

1. ต้องการให้นายกรัฐมนตรียกเลิกนโยบาย BCG ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก รวมถึงยังเป็นนโยบายที่กระทบต่อทรัพยากรที่เป็นสิทธิ์ของประชาชนในชาติ แล้วพี่น้องในต่างจังหวัดเขาก็ไม่ยินยอมที่จะรับนโยบายนี้

2. ต้องการให้นายกรัฐมนตรียุติบทบาทการเป็นประธานการประชุมเอเปค เพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มีความชอบธรรมหลงเหลืออยู่แล้ว ในการที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนไปอยู่บนเวทีโลก ไปออกนโยบายหรือทำข้อตกลงต่างๆหลังจากนี้ และ

3. ต้องการให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการยุบสภา โดยที่มีเงื่อนไข คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีการวินิจฉัยกฎหมายลูกให้เสร็จเรียบร้อย และต้องให้ผ่านด้วย นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องมีการแถลงถึงหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณคะแนนของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงหลักเกณฑ์ในการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อพี่น้องประชาชนได้รับทราบ จึงจะมีการยุบสภาได้ จากนั้นการยุบสภาจะนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยเราต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยที่เราเป็นคนกำหนดเอง ซึ่งสิ่งสำคัญคือเราต้องการให้เปิดทางสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนจริง ๆ

 

ดังนั้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นข้อเสนอ 3 ข้อที่เราต้องการนำไปยื่นเรียกร้องต่อรัฐบาล

 

ส่วนแผนการชุมนุมหลังจากนี้นั้น มายด์-ภัสราวลี ระบุว่า การชุมนุมจะเกิดขึ้น 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-18 พ.ย. 65 โดยทั้ง 3 วันจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน ตนอยากให้ทุกคนรอติดตามว่าเราจะมียุทธวิธีเช่นไรในการนำข้อเรียกร้องไปให้ใกล้เวทีการประชุมเอเปคมากที่สุด รวมถึงยื่นข้อเสนอเหล่านี้ให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ด้วย ส่วนโอกาสในการเคลื่อนมวลชน ตนยอมรับว่ามี เพราะเราต้องการนำข้อเรียกร้องไปให้ใกล้เวทีการประชุมมากที่สุด และอยากให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงพลังของภาคประชาชนด้วยว่า พวกเราก็มีความเข้มแข็งมากพอในการงัดคานกับรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม และมีความเข้มแข็งมากพอที่จะนำเสนอบอกกล่าวถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดนี้ให้สังคมโลกได้รับรู้

 

เมื่อถามถึงความกังวลในการเคลื่อนขบวน มายด์-ภัสราวลี ระบุว่า ความกังวลขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย โดยเราต้องประเมินว่าเจ้าหน้าที่อยู่จุดใด แล้วมีความเข้มข้นในการกันไม่ให้เราเข้าใกล้มากน้อยแค่ไหน แต่สุดท้ายเรายังยืนยันคำเดิมว่า เรามีสิทธิเสรีภาพในการที่พูด ในการที่จะแสดงออก ดังนั้น ไม่ว่าจะในพื้นที่ใดก็ตาม ประชาชนมีสิทธิในการส่งเสียงได้ และรัฐเองก็ต้องรับฟัง ทั้งนี้ ถ้าหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากการปะทะในที่ชุมนุม คนเริ่มก็จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่เรา เจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลควรคิดให้ดี หากจะปราบปรามหรือสกัดกั้นการชุมนุม ต้องมองให้ดีว่ามันถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศหรือไม่ แล้วมันเป็นการจำกัดการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ แล้วต้องคิดให้ดีว่าหากสลายการชุมนุม เวทีโลกจะมองอย่างไร

 

มายด์-ภัสราวลี ยังกล่าวอีกว่า มีพี่น้องทั้งบนขบวนรถไฟและบางส่วนที่ถูกสกัดกั้นจากรถตู้ที่เคลื่อนมาจากอีสาน ซึ่งมันไม่ใช่แค่ครั้งสองครั้ง ขั้นต่ำที่เรารู้คือ 5 ครั้งแล้วในหนึ่งขบวน ซึ่งเราไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่รัฐต้องสกัดกั้นมากขนาดนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้ามาใช้สิทธิเสรีภาพในกรุงเทพมหานคร ทั้ง ๆ ที่ประเด็นในครั้งนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากร ซึ่งเกี่ยวกับปากท้องของพี่น้องโดยตรง ดังนั้น ตนขอฝากถึงตำรวจว่าจะทำอะไรก็ให้นึกถึงหลักการประชาธิปไตยให้มาก ๆ แล้วก็การที่พี่น้องขึ้นมา ก็อยากให้เห็นถึงปัญหาว่าทำไมเขาถึงต้องดั้นด้นมาถึงกรุงเทพฯ เพราะปัญหาที่เขาพบเจอ มันไม่เคยได้รับการพูดถึง หรือได้รับการรับฟังจากรัฐบาลเลย อย่างไรก็ตาม การสกัดกั้นไม่เป็นผลแน่นอน เพราะพี่น้องที่กำลังเดินทางมา เขาจะเดินทางมาและส่งเสียงเรียกร้องให้มากที่สุดเหมือนเดิม

 

เมื่อถามว่ากรณีที่ กทม. ไม่อนุญาตให้ค้างคืน จะทำอย่างไร มายด์-ภัสราวลี กล่าวว่า เราก็คงจะเจราว่ามีพี่น้องต่างจังหวัดที่เดินทางมาและไม่มีที่พัก เราคงไม่ให้พวกเขาไปอยู่ที่อื่นได้ ตนเชื่อว่า กทม. คงไม่ใจร้ายที่ไล่พี่น้องออกจากพื้นที่เพื่อไปหาที่นอนที่อื่น สุดท้ายแล้วถ้าหากมีการจะนำคนออกจากลานคนเมืองจริง ๆ เราก็คงยืนยันเจรจาถึงความจำเป็นที่ต้องให้พี่น้องพักที่นี่

 

มายด์-ภัสราวลี ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงการชุมนุมที่มีข้อครหาว่ากระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย ว่า การชุมนุมในครั้งนี้ ตนว่ามันกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่า เพราะพลเอกประยุทธ์ มีความต้องการใช้เวทีของเอเปคในครั้งนี้เป็นหนึ่งผลงานของรัฐบาลตัวเอง และนโยบายต่าง ๆ ที่นำเสนอไป เรามีความจำเป็นต้องบอกความจริงว่านโยบายเหล่านี้มันไม่ได้ก่อร่างสร้างตัวมาจากประชาชน ไม่ได้มีประชาชนออกแบบแต่แรก และกลุ่มคนที่อยู่ในรายชื่อของคณะกรรมการ BCG ก็ไม่ได้มีชื่อประชาชน นอกจากฝั่งรัฐบาลและนายทุน ดังนั้น จึงเป็นความจริงที่สาธารณะควรได้รับรู้ถึงผลกระทบระยะยาวจากนโยบาย BCG นี้ และถ้าบอกว่ามันเสื่อมเสียต่อประเทศหรือไม่ ตนยืนยันว่าไม่ใช่แน่นอน แต่รัฐบาลต่างหากที่เสื่อมเสีย อีกทั้งเราชุมนุมโดยสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อส่งเสียงถึงข้อเรียกร้องดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้ง บังแกน-สมบูรณ์ คำแหง และมายด์-ภัสราวลี ต่างยืนยันเหมือนกันว่า ในช่วงเช้าวันที่ 18 พ.ย.นี้ จะมีการตั้งแถวที่ลานคนเมือง (เสาชิงช้า) เพื่อเดินขบวนไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ACEP2022 #เอเปค2565