วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2567

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ : ภาพรวมที่ดินและธุรกิจกองทัพ เสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”


รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ : ภาพรวมที่ดินและธุรกิจกองทัพ เสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”


เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรจัดงานเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”


รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมาธิการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ กล่าวในหัวข้อ “ภาพรวมที่ดินและธุรกิจกองทัพ” ระบุว่า แม้กองทัพจะดูเหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงมีการบริหารจัดการธุรกิจอย่างต่างคนต่างทำสูง หน่วยงานหลักทั้ง 5 มีอาณาจักรธุรกิจของตัวเอง ถือคนละบัญชี ไม่มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างดูแลผลประโยชน์ของตัวเองไป ปัญหาของการมีอาณาจักรธุรกิจที่แยกกันทำคือบางครั้งเกิดความซ้ำซ้อนกัน

 

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพูดถึงธุรกิจกองทัพก็คือที่ดิน เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้กองทัพสามารถทำธุรกิจสารพัดชนิดได้ ทั้งสนามกอล์ฟ ปั๊มน้ำมัน โรงแรม รีสอร์ท การขายน้ำไฟให้ประชาชน ฯลฯ คำว่าที่ดินของกองทัพนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ของกองทัพเองแต่เป็นที่ดินราชพัสดุในการดูแลของกรมธนารักษ์  กระทรวงการคลัง โดยที่ราชพัสดุนี้อยู่ในความครอบครองกองทัพมากที่สุดถึง 5.8 ล้านไร่ ผู้ครอบครองมากที่สุดคือกองทัพบก คิดเป็นจำนวนถึง 45.5% และเมื่อรวมกับที่ดินส่วนอื่น ๆ ทั้งที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และที่ดิน ส.ป.ก. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยเข้าไปด้วย กองทัพก็จะมีที่ดินรวมกันถึง 6.5 ล้านไร่

 

รศ.พวงทอง กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจของกองทัพนั้นสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ 3 หมวดใหญ่ด้วยกัน คือ กองทุนสวัสดิการ เงินนอกงบประมาณ และการลงทุนในบริษัทจำกัด โดยในส่วนของกองทุนสวัสดิการสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ 1) สวัสดิการภายใน ที่มุ่งเน้นให้บริการกำลังพลหรือครอบครัวของกองทัพโดยรายได้ทั้งหมดไม่ต้องส่งคืนกระทรวงการคลัง ภายใต้กฎหมายที่กำกับดูแลคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และ 2) สวัสดิการเชิงธุรกิจ ที่ผู้ใช้บริการมากกว่า 50% เป็นบุคคลภายนอกไม่แตกต่างจากที่เอกชนทำ เป็นส่วนที่ตามกฎหมายต้องแบ่งรายได้ให้กรมธนารักษ์ โดยสวัสดิการภายในมีทั้งหมด 277 กิจการ สวัสดิการเชิงธุรกิจมี 161 กิจการ รวมทั้งหมดเป็น 438 กิจการ

 

แม้กองทุนสวัสดิการภายในจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ก็มีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าสวัสดิการ สหกรณ์ออมทรัพย์ ร้านตัดผม ร้านอาหาร ฯลฯ ไว้บริการบุคลากรภายในในราคาถูก แต่สิ่งที่กองทัพแตกต่างจากหน่วยงานอื่น คือ มีธุรกิจแบบนี้จำนวนมาก หลายรายการมีการถือครองทรัพย์สินมูลค่าสูง โดยเฉพาะที่ดินและธุรกิจที่หน่วยงานอื่นไม่มี


กมธ.ทหาร กล่าวต่อว่า แม้สวัสดิการเชิงธุรกิจจะเป็นส่วนที่ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องแบ่งรายได้ให้กรมธนารักษ์ แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีการปฏิบัติตามกฎหมายจริงเลย จนกระทั่งเมื่อสี่ปีที่แล้วหลังเหตุกราดยิงที่นครราชสีมา จึงทำให้มีการปรับปรุงการบริหารงานกองทัพให้เป็นไปตามกฎหมายยิ่งขึ้น แต่ 4 ปีผ่านไปก็ยังเหลืออีกกว่า 87 กิจการที่ยังทำข้อตกลงไม่เสร็จเสียที

 

สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของกองทุนสวัสดิการ คือ กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบก ไม่เคยให้ข้อมูลตัวเลขรายรับรายจ่ายและกำไรขาดทุนกับคณะกรรมาธิการฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว เท่ากับว่ากองทัพกำลังทำกิจการเอง ทำบัญชีเอง ตรวจสอบบัญชีเอง โดยที่การจัดทำงบประมาณการเงินและหมายเหตุประกอบงบประมาณการเงินที่ได้รับจากกองทัพบางส่วน มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามมาตรฐานการสอบบัญชีทั้งของสำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือบริษัทเอกชน

 

สำหรับกรณีเงินนอกงบประมาณของกองทัพนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือประเภทที่ 1 ที่ไม่ต้องส่งเงินให้กระทรวงการคลัง แต่ยังมีสถานะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ประกอบด้วยกิจการ 9 กลุ่ม เช่น ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ โรงงานแบตเตอรี่ทหาร โรงงานเภสัชกรรมทหาร เงินทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โรงงานผลิตวัตถุระเบิดทหาร โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพ สถานศึกษาในสังกัดกองทัพ และยังมีรายได้จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเมืองการบิน ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือด้วย


เงินนอกงบประมาณประเภทนี้มีตัวเลขที่สูงมาก ตัวเลขรวมปี 2565 มีจำนวนสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นมาในปี 2568 เป็น 4.9 หมื่นล้านบาท โดยเป็นตัวเลขรวมของเงินที่ยกมาจากปีก่อนหน้านี้บวกกับรายได้ที่ได้ในปีนั้นๆ โดยหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณมากที่สุดคือกองทัพบก ซึ่งเป็นตัวเลขที่การใช้จ่ายค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ไม่อาจทราบได้ว่าใช้จ่ายอะไรบ้างเนื่องจากไม่ยอมเปิดเผย

 

เงินนอกงบประมาณประเภทที่สอง กระทรวงการคลังอนุญาตให้กองทัพสร้างเงินนอกงบประมาณประเภทใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งหน่วยงานอื่นไม่มี โดยกองทัพสามารถตั้งงบประมาณเอง อนุมัติเอง ทำบัญชีเอง สอบบัญชีเองได้โดยไม่ต้องรายงานคนนอก

 

มีตัวอย่างสำคัญ คือ กิจการวิทยุและโทรทัศน์ ททบ.5 ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีปัญหาที่สุดทั้งในแง่กฎหมายและความโปร่งใส ซึ่งไม่ได้มีแค่สถานีโทรทัศน์ แต่ยังเป็นเจ้าของ MUX sinv สถานีที่ทำการส่งสัญญาณดิจิทัล 2 สถานีที่ให้บริษัทเอกชนมาเช่าคลื่นความถี่ หลายบริษัทโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงก็อาศัยการเช่าจาก ททบ.5 นี้ และยังมีจำนวนคลื่นวิทยุ FM/AM รวมกันถึง 196 คลื่น เป็นของกองทัพบกถึง 122 คลื่น ซึ่งไม่มีตัวเลขรายรับรายจ่ายเช่นกัน

 

สำหรับกรณีการลงทุนในบริษัทจำกัดนั้น กองทัพมีการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ถึง 8 บริษัทใหญ่ มีมูลค่ารวมกันถึง 1,400 ล้านบาท เช่น ธนาคารทหารไทยธนชาติ ธนาคารกรุงเทพ บริษัทเกียรตินาคิน และบริษัททางด่วนและรถไฟกรุงเทพ โดยสัดส่วนส่วนใหญ่ 82% อยู่ที่ธนาคารทหารไทย-ธนชาติ และยังมีการลงทุนในบริษัทจำกัดที่มีนัยสำคัญสองบริษัท คือ บริษัท อาร์ทีเอเอ็นเตอร์ไพรซ จำกัด และบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ในกรณีหลังมีปัญหาประสิทธิภาพ 20 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้เลย

 

ปัญหา คือ การที่กองทัพลงทุนกับบริษัทเอกชนเหล่านี้ ไม่มีกฎหมายอนุญาตหรือรองรับให้กระทรวงกลาโหมหรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมไปดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์หรือถือหุ้นบริษัทเอกชนได้ ถ้าจะทำต้องทำด้วยการจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจในการควบคุมของกลาโหม หรือให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้น แล้วให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานเหล่าทัพไปควบคุมกำกับดูแล แต่ที่ผ่านมาเราพบว่ากองทัพและหน่วยงานในสังกัดกองทัพเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเอกชนและตลาดหุ้นจำนวนมาก และเวลาที่มีกำไรปันผลขึ้นมาก็ไม่มีใครทราบได้ว่ากำไรไปอยู่ที่ไหนและบริหารจัดการอย่างไร

 

เรื่องความโปร่งใสเป็นปัญหาใหญ่นำมาสู่คำถามเรื่องประสิทธิภาพและความไม่เป็นธรรม กองทัพมักอ้างว่า รายได้เหล่านี้นำไปเลี้ยงดูกำลังพล บางครั้งก็อ้างว่ากิจการบางอย่างทำให้กองทัพสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ความเป็นจริงกิจการเหล่านี้ดำเนินงานโดยใช้ทรัพยากรพื้นฐานของชาติ คือที่ดิน อาคารสำนักงาน กำลังพล น้ำ ไฟ บางกิจการเข้าไปดูรายละเอียดจริงๆ แล้วขาดทุน ที่ระบุว่าไม่ขาดทุนก็เพราะเอาเงินงบประมาณที่ตั้งขอจากรัฐมาบวกเข้ากับรายรับด้วย


นี่คือการขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีข้อจำกัดโดยอาศัยทรัพยากรของชาติ พอไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเราก็ตั้งคำถามได้ว่ารายได้ที่เป็นจริงน่าจะสูงมากกว่านี้หรือไม่ แล้วกองทัพต้องใช้เงินมากเพียงใดในนามของสวัสดิการภายในของกำลังพล แต่เราก็ได้ยินข่าวบ่อยๆ ว่าทหารชั้นผู้น้อยถูกเบียดบังอย่างมาก แล้วรายได้พวกนี้มันหายไปไหน” รศ.พวงทอง กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธทหาร #ธุรกิจกองทัพ