”ตากใบต้องไม่เงียบ“ ตัวแทน 49 เครือข่าย อ่านแถลงการณ์ หน้าหอศิลป์ กทม. เร่งนำผู้ต้องหามอบตัวสู้คดี ยุติการลอยนวลพ้นผิด ชี้หากคนผิดไม่ได้รับโทษ อาจส่งผลต่อกระบวนการการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 67 เวลา 19.00 น. ที่หน้าหอศิลป์ กทม. เขตปทุมวัน ตัวแทน 49 เครือข่าย นำโดย นายมูฮัมหมัดกัสดาฟี กูนา จากกลุ่ม The Patani พร้อมประชาชนประมาณ 60 คน ได้จัดกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ ตากใบต้องไม่เงียบ
นายมูฮัมหมัดกัสดาฟี กูนา จากกลุ่ม The Patani เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า วันนี้มาในฐานะเครือข่ายที่ชื่อว่า “ตากใบต้องไม่เงียบฃโดยพวกตนเดินทางมาไกล ประมาณ 1,000 กิโลเมตร เพื่อสื่อสารให้คนทั้งประเทศได้รับทราบว่าปัญหาดังกล่าวตากใบนั้น อยากให้ทุกคนรับทราบและการรับรู้ถึงความยุติธรรม เราจึงต้องเรียกร้องร่วมกัน เพราะการสร้างมาตรฐานด้วยความเชื่อมั่นของกลไกความยุติธรรม ตนจึงคิดว่ากรุงเทพจึงเป็นเสียงที่ดังกว่า แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งพื้นที่
วันนี้จึงมาสื่อสารให้คนใจกลางกรุงเทพว่าตากใบจะต้องไม่เงียบ แม้ว่าจะใกล้หมดอายุความอีก 10 วัน ประเด็นนี้ตนจึงอยากจะสื่อสารเพราะว่าผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบ พวกเขายังอยู่ในความทรงจำที่ไม่ควรเกิดขึ้น และสิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ความจริงจังในความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือจำเลยที่เป็นชนชั้นนำของประเทศ จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ถ้ารัฐบาล นำผู้ต้องหามาลงโทษไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาสันติภาพ พวกตนอยากเห็นว่ารัฐบาลจะต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้และนำผู้ต้องหามาลงโทษให้ได้
พวกตนหวังว่าจำเลยจะเข้าสู่กลไกกระบวนการยุติธรรมและกลไกศาล เพื่อสร้างบรรทัดฐานและความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าการกระทำหรืออาชญากรรมโดยรัฐ รัฐจะต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการสร้างสันติภาพ ในชายแดนใต้ด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ลาออกจากพรรคเพื่อไทยมีความคิดเห็นเช่นไร นายมูฮัมหมัดกัสดาฟี กูนา กล่าวว่า พวกตนได้ติดตามการทำงานของรัฐบาลตลอดเวลา ตนจึงเห็นว่า สส.ที่เป็นฝั่งรัฐบาลได้ลาออก ตนมองว่าการลาออกไม่ใช่การตัดความรับผิดชอบ ซึ่งคนของพรรคก็ต้องมีความรับผิดชอบและต้องมีการรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรม ตนอยากให้คนทั้งประเทศเรียกร้องให้จำเลยทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้กระทั่งฝ่ายการต่างประเทศหรือนายกรัฐมนตรีก็ต้องสื่อสารเรียกความเชื่อมั่นให้ได้ ซึ่งหมายถึงการเรียกความเชื่อมั่นในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ด้วย
ตนอยากให้กรณีตากใบเป็นบทเรียน การสูญเสียโดยโศกนาฏกรรมของรัฐ ไม่ควรเกิดขึ้น ในแต่ละยุคแต่ละสมัย สิ่งเหล่านี้ขอให้เคสตากใบเป็นกรณีกรณีสุดท้ายของประเทศเราเราคิดว่าไม่ควรเกิดขึ้น และหากมันเกิดขึ้นแล้วก็ควรจะมีนำคนผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อสร้างบรรทัดฐานในคนไทยประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรม
ถ้าหากคดีหมดอายุความและไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้นั้นทางแกนนำจะทำอย่างไรต่อไป นายมูฮัมหมัดกัสดาฟี กูนา กล่าวว่า ตนมองในฐานะส่วนตัว ถึงแม้ว่าคดีความหมดไปรายชื่อผู้เสียชีวิตจะเรื่องราวตากใบจะไม่สูญหายจากความทรงจำในพื้นที่และสิ่งเหล่านี้มันจะอยู่กับคนที่นี่เพื่อสร้างรอยแผล และมันจะเกิดปัญหาความขัดแย้งในอนาคตต่อไป สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องจริงจังสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการทำกิจกรรมในวันนี้ มีการนำรายชื่อผู้เสียชีวิต จำนวน 85 คน มาไว้วาง้ป็นสัญลักษณ์ สันติภาพ จากนั้น น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรเชิญชวนให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมวางดอกไม้บนรายชื่อผู้เสียชีวิต จากนั้นเข้ากลุ่มได้มีการอ่านแถลงการณ์ 49 องค์กร ก่อนจะยุติการชุมนุมในเวลา 19:30 น.
สำหรับ แถลงการณ์ "ตากใบต้องไม่เงียบ"
ฉบับที่ 1 วันที่ 15 ตุลาคม 2567
จากเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุมทางการเมืองของประเทศไทยที่มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรณีตากใบมีผู้เสีย ชีวิตรวมทั้งสิ้น 85 คน อันส่งผลกระทบอย่างมากต่อความรู้สึก ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและความเชื่อใจในระบบการเมืองไทยของผู้คนในพื้นที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้
โศกนาฏกรรมตากใบเหลือเวลาอีกเพียง 10 วันจะครบรอบ 20 ปี นั่นหมายถึงคดีความตากใบกำลังจะสิ้นสุดอายุความโดยที่ไม่มีผู้ใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาผู้เสียหายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบจำนวน 48 คนได้พยายามรวบรวมความกล้าหาญท่ามกลางความยากและซับซ้อนในการทวงคืนความยุติธรรมต่อเหตุการณ์ที่มีอำนาจรัฐเป็นผู้เกี่ยวข้อง ในบริบทปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ เพื่อเข้าไปร่วมแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุน ณ เวลานั้น
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ประทับรับฟ้องจำเลยจำนวน 7 คน แต่จำเลยทั้ง 7 คนไม่ได้มาตามนัด ศาลจึงพิจารณาออกหมายจับ
ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาส มีนัดสอบคำให้การในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ผู้เสียหายจะเข้าถึงความยุติธรรม ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดไม่ได้มาตามนัด ศาลจังหวัดนราธิวาสจึงไม่สามารถดำเนินการพิจารณาคดีต่อได้ ศาลจังหวัดนราธิวาส จึงนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เพื่อสรุปคดีหรือลงคำสั่งศาลในครั้งสุดท้าย
ผู้เสียหายและพี่น้องประชาชนรู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและตั้งคำถามถึงความพยายามในการจับกุมจำเลยทั้งหมดมายังศาลจังหวัดนราธิสส หากคดีต้องสิ้นสุดอายุความลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 นี้ โดยไม่สามารถจับกุมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำต่อประชาชน จะส่งผลด้านลบในระยะยาวต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงเป็นบรรทัดฐานสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยภาพรวม
เครือข่าย "ตากใบต้องไม่เงียบ" ขอร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเร่งดำเนินการประสานงานทางการทูตต่อประเทศญี่ปุ่น ประเทศอังกฤษและประเทศ อื่นๆที่คาดว่าจำเลยหลบหนีการจับกุม เพื่อนำตัวกลับมาดำเนินคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ทันก่อนคดีจะสิ้นสุดอายุความ รวม ถึงขอให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการดำเนินการเพื่อคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหายจากโศกนาฏกรรมตากใบต่อไป
"ยุติอาชญากรรมรัฐ ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด"
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คดีตากใบ #พิศาล #20ปีคดีตากใบ