“ธนาธร” กล่าวรำลึกเหตุ 6 ตุลา 2519 ยกกรณีพลทหารถูกซ้อมจนตายในค่ายทหาร-คดีตากใบ สะท้อนความลอยนวลพ้นผิด ชวน ปชช. เดินหน้าต่อเพื่อ ”เสรีภาพ อิสรภาพ ภราดรภาพ”
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะก้าวหน้า บรรยายในหัวข้อ 48 ปี 6 ตุลาฯ กระจกส่องสังคมไทย ว่า ตอนแรก ตนมีอาการ 2 จิต 2 ใจ ไม่อยากจะมา เพราะสิ่งที่ต้องพูดได้เคยถูกพูดไปหมดแล้ว สิ่งที่พูดไม่ได้ก็ยังพูดไม่ได้เหมือนเดิม แต่ท้ายที่สุดก็คิดว่ามาเติมความหวังมาเติมกำลังใจให้กันและกันได้ดีกว่า
นายธนาธร เล่าว่า เมื่อหลายปีที่แล้ว ได้มีโอกาสไปเยือนอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง จ.พัทลุง เป็นครั้งแรกที่ตนได้รับฟังเรื่องราวโหดร้ายจากประสบการณ์ตรงเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ทหารเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพื่อกวาดล้างคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มีการจัดคนมาสอบสวน ซ้อมร่างกายจนหมดสติ จับยัดใส่ถังแดงแล้วเผา จึงเป็นที่มาของชื่ออุทยานถังแดง ตัวเลขดังกล่าวระบุไว้ว่ามีจำนวนถึง 3,000 คน จะน่าสนใจว่ารัฐเลือกใช้วิธีจัดการกับผู้เห็นต่างโดยสร้างความหวาดกลัว โดยหวังลึกๆ ว่าประชาชนจะหวังก็ออกห่าง ไม่สนับสนุนการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เหตุการณ์กลับพลิกกลับ เมื่อประชาชนโกรธ และเกิดเหตุการณ์สังหารขึ้น
“ผมอยากให้ลองจินตนาการดูครับ ถ้าพ่อแม่พี่น้องของเราเป็นคนที่ถูกเผาในถังแดง น้ำมันร้อนๆ ท่านจะรู้สึกอย่างไร ปัจจุบันครอบครัวของผู้สูญเสียยังไม่ได้รับการเยียวยา มีเพียงอนุสาวรีย์ที่ประชาชนก่อสร้างกันเอง เป็นที่เตือนความจำให้กับผู้พบเห็นและเป็นตัวแทนของผู้สูญเสีย ประวัติศาสตร์ถังแดงไม่เคยถูกบรรจุในวันที่เล่าหลักของชาติ ไม่เคยปิดเลยคดีกับผู้มีส่วน” นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร ระบุต่อว่า 1 ในข้อเรียกร้องของนักศึกษาแห่งประเทศไทย คืออยากให้ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตนมองว่าข้อเรียกร้องยังทันสมัยจนถึงทุกวันนี้ จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีผู้ก่อเหตุในเหตุการณ์ถังแดงถูกลงโทษเลยสักคนเดียว ยังไม่มีประชาชนได้รับการเยียวยาจากรัฐ
นายธนาธร เล่าเรื่องที่ 2 ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีช่วงหนึ่ง ที่ตนทำงานไม่ได้ ตนรู้สึกโกรธ ตนรู้สึกคับแค้น เมื่อได้ยินข่าวของ ศิริวัฒน์ ใจดี พลทหาร สังกัดสารวัตรทหารเรือ อายุ 21 ปี ที่เสียเมื่อ 2 ก.ค. แต่เพิ่งเป็นข่าวเมื่อช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเพื่อนออกมาเปิดเผยว่าฝึกหนักมาก มีการสั่งให้วิ่งหลายรอบ ครูฝึกเตะขาด้วยรองเท้าคอมเแบทเข้าที่หน้า เพราะมองว่าสำออย นอกจากนี้ยังให้เพื่อนเอาไปวางไว้ที่กลางสนาม ไม่มีการปฐมพยาบาล จนพลทหารศิริวัฒน์เสียชีวิต จากการบอกเล่าของพี่สาวพลทหารศิริวัฒน์เป็นคนเรียนดี แต่ที่บ้านไม่มีเงิน จึงไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์ หวังว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้ด้วยการรับราชการทหาร พี่สาวบอกด้วยว่าจากการชันสูตรของแพทย์ พบว่ากระดูกซี่โครงหัก และเพื่อนทหารหลายคนก็พร้อมเป็นพยานว่าเสียชีวิตจากการฝึก
“การจะเลี้ยงคนคนหนึ่งให้มีอายุถึง 21 ปี ท่านคิดว่าครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ใช้เงินไปเท่าไหร่ครับ สังคมทั้งสังคมใช้เงินไปเท่าไหร่ ผมเป็นพ่อคนเหมือนกัน ผมนึกไม่ออกว่าถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดกับลูกของผม ผมจะทำใจได้อย่างไร ผมจะมีแรงมีกำลังจิตกำลังใจใช้ชีวิตต่อไปหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นกับตัวผมเองผมไม่แน่ใจ” นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร เล่าเรื่องที่ 3 คือเหตุการณ์ตากใบ ว่า เรื่องนี้เริ่มต้นจากการชุมนุมเพื่อประท้วง กรณีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 8 คน ที่ถูกจับกุมในข้อหาส่งปืนให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คน มาชุมนุมด้วยมือเปล่า แต่รัฐกลับใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ทหารผู้บังคับบัญชาให้ผู้ชุมนุมนอนทับกันไปบนรถกว่า 3 ชั่วโมง มีคนเสียชีวิตกว่า 70 ราย ศาลชี้ให้เห็นว่าเกิดจากการขาดอากาศหายใจ ขณะอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่ภาคประชาชนเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่า กลับไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งคดีใกล้หมดอายุความ กลุ่มผู้สูญเสียจึงฟ้องใหม่อีกครั้ง มีการออกหมายจับทหารและตำรวจระดับสูง 7 คน แต่จนถึงวันนี้ อีก 19 วันจะหมดอายุความ ยังตามจับจำเลยมาขึ้นศาลไม่ได้แม้แต่คนเดียว 1 ในจำนวนนั้นคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ซึ่งส่งหนังสือลาประธานสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. ถึง 31 ต.ค. อ้างว่าไปรักษามะเร็งที่ต่างประเทศ
นายธนาธร กล่าวว่า ตนยกตัวอย่าง 3 เรื่องนี้มาพูด เรายอมรับเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร 3 เหตุการณ์นี้มีความเหมือนกัน คือการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลในสังคมไทย คนที่ทำผิดไม่เคยถูกดำเนินคดีเลยสักครั้ง
“ผมคิดว่านี่เป็นความล้มเหลวทางสามัญสำนึกครั้งใหญ่ของสังคมไทย เจ้าหน้าที่รัฐที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน จนเข่นฆ่าชีวิตประชาชน ดำเนินคดีไม่ได้ นี่เป็นความล้มเหลวทางสามัญสำนึกครั้งใหญ่มากของสังคม” นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบ แต่เป็นความจำเป็นที่ระบบจะต้องมีวัฒนธรรมแบบนี้อยู่ ตนพยายามอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยที่มีสิทธิเสรีภาพ มีความเจริญก้าวหน้า มีความเสมอภาค เท่าเทียม ที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา วันนี้ถูกตัดสิทธิ์ไปแล้ว ตนเป็นจำเลยคดี ม.112 จำนวน 2 คดี แต่นี่ไม่ใช่เวลาของการท้อถอย
“สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2564 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเพดานความคิดของประเทศไทยก้าวหน้าไปมาก การเลือกตั้งปี 2566 ชัดเจนว่าเรื่องการแก้ไข ม.112 กลายเป็นเรื่องที่พูดกันได้อย่างแพร่หลายในสื่อหลัก ในการดีเบตครั้งสำคัญของการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าสังคมมันขึ้นไปไกลมาก มีความก้าวหน้า ดังนั้น นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนในประวัติศาสตร์ ที่วาระก้าวหน้าแบบนี้จะถูกพูดอย่างแพร่หลายและถูกทำให้เป็นเรื่องสามัญ” นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวทิ้งท้ายว่า หลายคนผ่าน 6 ตุลาฯ มาแล้ว หลายคนผ่านอีกหลายเหตุการณ์ ถ้าที่ผ่านมาคิดว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว ตนคิดว่ายังไม่พอ ตนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจะมาถึง ตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในวันนี้ไม่สามารถลบเลือนออกไปได้ง่ายๆ อยากให้ทุกคนเข้มแข็งและมีกำลังใจเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างสังคมที่มีเสรีภาพ มีอิสรภาพ มีภราดรภาพ