“สามก๊ก” ใน “มุมมองของหมอหวาย” ชี้ สองก๊กใหญ่ในสามก๊กล่มสลายเพราะ “ผิดคำพูด” และ “ไม่จำแนกมิตรศัตรู”
วันที่ 9 ตุลาคม 2567 นพ.สลักธรรม โตจิราการ หรือ หมอหวาย ได้เผยมุมมอง ข้อสรุปจากการอ่าน“สามก๊ก” มีใจความว่า
สองก๊กใหญ่ในสามก๊กล่มสลายเพราะผิดคำพูดและไม่จำแนกมิตรศัตรู
ก๊กแรกคือวุยก๊ก ที่การผิดคำพูดเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ แต่เดิมโจโฉจะอย่างไรก็มีนโยบายไม่ล่มราชวงศ์ฮั่น และโจโฉเองก็ยังรักษาสัจจะวาจา จึงครองอำนาจได้ 25 ปี แม้จะแพ้ศึกใหญ่อย่างศึกเซ็กเพ็กก็ยังฟื้นมาได้ โจโฉรู้ถึงความสำคัญของการรักษาคำพูดที่จะไม่ทำลายราชวงศ์ฮั่น ชั่วชีวิตของตนเองไม่เคยสถาปนาตัวเองเป็นฮ่องเต้ แต่หลังจากโจผีลูกโจโฉปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้ล้มราชวงศ์ฮั่น อำนาจก็เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ หลังจากนั้นตระกูลโจก็มีอำนาจได้แค่อีก 30 ปี ก็ถูกตระกูลสุมาชิงไปโดยไม่มีใครสนใจลุกขึ้นมาปกป้อง เพราะเมื่อผิดคำพูดก็ปราศจากความชอบธรรม
อีกก๊กคือจ๊กก๊กของเล่าปี่ ในตอนแรกขงเบ้งชี้แนะยุทธศาสตร์หลงจง “คบซุนกวนต้านโจโฉ” เพราะโจโฉถือเป็น “ศัตรูราชสมบัติ” แต่ว่ารอบแรกเล่าปี่ก็ “ยืมเก็งจิ๋วไม่ยอมคืน” แถมกวนอูยังดูถูกซุนกวนอย่างรุนแรง เมื่อซุนกวนไม่สามารถคิดกับจ๊กก๊กอย่างมิตรได้แล้ว จึงทำให้ตอนที่กวนอูยกทัพไปตีโจโฉ ซุนกวนจึงตัดสินใจยึดเก็งจิ๋วประหารกวนอู อีกรอบหนึ่งเล่าปี่ก็ใช้ข้ออ้าง “แก้แค้นกวนอู” ยกทัพใหญ่ไปบุกแคว้นง่อ เอาเรื่องอารมณ์ความต้องการส่วนตัวเหนือกว่าความชอบธรรมของการขับเคลื่อน สุดท้ายเล่าปี่ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้และป่วยตายหลังจากศึกกับง่ออีกไม่นานนัก แม้หลังจากที่เล่าเสี้ยนขึ้นครองราชย์และขงเบ้งเป็นผู้บัญชาการตัวจริงจะพยายามสานสัมพันธไมตรีกับง่ออีก แต่ก็ไม่สามารถไว้ใจกันในระดับที่จะร่วมเปิดศึกต่อต้านวุยก๊กในระยะยาวแบบศึกเซ็กเพ็ก
ข้อสรุปจากการอ่านสามก๊กของผมคือถ้าไม่รักษาคำพูด และไม่จำแนกมิตรศัตรู แม้จะทำการใหญ่ก็ยากที่จะสำเร็จอย่างยั่งยืนครับ