วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567

“อ.ธิดา” ไม่แปลกใจ รู้อยู่แล้ว ชี้ ภาพของการเป็นฮีโร่ในการต่อสู้เผด็จการ/ต่อสู้ทหาร มันฝังอยู่ในใจคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ "ณัฐวุฒิ" ต้องแลก

 


อ.ธิดา” ไม่แปลกใจ รู้อยู่แล้ว ชี้ ภาพของการเป็นฮีโร่ในการต่อสู้เผด็จการ/ต่อสู้ทหาร มันฝังอยู่ในใจคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ "ณัฐวุฒิ" ต้องแลก


จากรายการ สภาภาษาคน EP48 ตอน “เต้นกลับลำ”

ทางช่อง Friends Talk

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 67


ความรู้สึกที่ได้ชม “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เปิดใจในรายการ กรรมกรข่าวคุยนอกจอ ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อเช้า (8 ต.ค. 67)


อาจารย์ดู มันก็มีมุมมองเรื่องสื่อกับเรื่องผู้ถูกถาม สื่อก็ถือว่าคุณสรยุทธเขาก็ทำงานได้ดี คือพยายามตั้งคำถามแทนคนจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้คุณณัฐวุฒิมีเวลาเต็มที่ในการที่จะตอบทุกประเด็น แต่คำถามก็โหด ๆ อยู่เหมือนกัน มองในแง่มุมของสื่อก็ถือว่าเขาก็ทำงานโอเคได้ดี อันนี้ก็ชมคุณสรยุทธ


ในส่วนของผู้ตอบคำถาม คือเนื่องจากอาจารย์เข้าใจและรู้เรื่องเกือบทั้งหมด มันก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจ รู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น คือรู้ด้วยความเข้าใจทางการเมืองของเรา ข้อหนึ่งก็คือว่า คุณณัฐวุฒิต้องการเป็นนักการเมืองและเริ่มต้นก็มาทางสายนักการเมือง และเมื่อได้มาอยู่ในพรรคเพื่อไทย สิ่งที่เขาต้องการหวังคือเป็นรัฐมนตรีหรือเป็นสส. มันก็ได้ตามนั้น เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่าเขาประสบความสำเร็จที่นี่ ที่พรรคเพื่อไทย ควบคู่ไปกับการต่อสู้ด้วย


ต้องถามว่าอะไรคือหลัก? อะไรคือรอง? ยามที่พรรคเพื่อไทยถูกกระทำ กระแสการต่อสู้ประชาชนอาจจะเป็นด้านหลัก เรื่องพรรคอาจจะเป็นด้านรองเพราะพรรคถูกกระทืบ ว่างั้นเถอะ แต่พอเวลายามที่เข้าสู่กระแสเลือกตั้ง เรื่องของพรรคการเมืองก็จะกลายเป็นเรื่องหลัก และมันก็จะเป็นเรื่องหลักในชีวิตของผู้ที่อยู่ในเส้นทางนักการเมืองด้วย เราก็เข้าใจ


มันต่างจากเรา อย่างอาจารย์มันไม่ได้มาด้วยการต้องการเป็นนักการเมือง เราอยู่ในภาคประชาชน เราอยู่ในการต่อสู้มาตั้งแต่ต้น นับมามันนานมาก ตั้งแต่ 2516 มาถึงตอนนี้ก็ 50 กว่าปีแล้ว เพราะฉะนั้นผ่านสถานการณ์มามาก จุดยืนในการต่อต้านรัฐประหาร แล้วก็ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจเต็มในระบอบการเมือง มันเป็นจุดยืนที่มีมาตลอดไม่เคยเปลี่ยน แล้วก็ไม่เคยคิดที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองในระบบทุนนิยมซึ่งดำรงอยู่อย่างนี้ ดังนั้นเส้นทางเราคนละทางกัน เราก็เข้าใจเขา แล้วเราก็มองแล้วว่าเขาก็คงไปจากพรรคการเมืองนี้ไม่ได้ แม้เขาเคยจะพยายามตั้งพรรค แต่ว่าในที่สุดก็ต้องกลับมาอยู่ที่พรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้น ตอนที่เขามาเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย มันก็เป็นการแสดงออกแล้วว่าเขาเลือกเส้นทางที่จะทำงานต่อไปกับพรรคเพื่อไทย


ทีนี้เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นที่ว่ามีการตั้งรัฐบาล มีการข้ามขั้ว คนที่เคยเป็นแกนนำในการต่อสู้ด้วย มันก็มีส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาต้องรับผิดชอบกับคำพูดของเขาในการหาเสียงโฆษณา เพื่อให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียง เขาก็แสดงความรับผิดชอบในเวลาหนึ่ง ก็อาจจะสมควรแก่เวลาแล้ว เราก็พอรู้ว่าในที่สุดเส้นทางเขาก็หนีไม่พ้นที่จะต้องกลับมาอยู่ในสายพรรคการเมืองและพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้บนเส้นทางของประชาชนนั้นมันแปรเปลี่ยนจากคนในชนบท จากไพร่ทั้งหลาย มาเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ พูดตรง ๆ ว่าเวทีนอกรัฐสภาเป็นเวทีของคนรุ่นใหม่แล้ว มันไม่ใช่พวกแกนนำในอดีต


ดังนั้น บทบาทที่เขาจะต้องดำเนินก็มีแต่ในเวทีรัฐสภา แล้วก็มีพรรคเดียว การที่เขาจะหยุดพักไปสักพักหนึ่งแล้วก็กลับมา มันไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก เราพอทำนายได้ เพียงแต่เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่ที่เรามองก็คือมีความสัมพันธ์อันดีอยู่ แม้กระทั่งการพูดถึงการทวงความยุติธรรม เขาก็จะไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย ทำตามแนวทางที่พรรคเพื่อไทยทำได้ แต่มันไม่ใช่แนวทางแบบที่อาจารย์กับพวกญาติเสนอ มันคนละอย่างกันเลยนะ


ก็คือเขามีความสัมพันธ์กับพรรค พรรคทำได้แค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น เราเสนอแก้กฎหมายกองทัพ แก้กฎหมายให้ทหารมาขึ้นศาลพลเรือน พรรคเพื่อไทยจะกล้าทำเหรอ? มันก็ทำไม่ได้ เขาทำได้อย่างมากก็คือปัญหานักการเมือง เช่น เอา อภิสิทธิ์-คุณสุเทพ มาฟ้อง ซึ่งไปฟ้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ โทษมันเบามาก แต่ว่าเขาทำงานกับพรรคไปด้วยดี ก็แสดงถึงว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่ ที่อาจารย์พูดก็คือมาสู่คำตอบเมื่อกี้ที่ถาม ก็คือ เรามองเห็นความสัมพันธ์ที่ดีมา


ดังนั้น เมื่อถึงเวลาเขาก็มาเปิดตัว มาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าเรามองตามรอยเส้นทาง มันก็ดูออกแล้วว่าถนนที่เขาจะเดินมันจะเดินไปทางไหน? ทางหนึ่งดูเหมือนเป็นทางราบเรียบ มีการปูเอาไว้ค่อนข้างดี กับทางที่ภาคประชาชนมันรกร้าง ลำบาก และไม่ใช่ความหวังของเขา เขาก็ต้องมาเส้นทางนี้ ดังนั้นจึงมาสู่คำตอบว่าไม่แปลกใจ เพราะว่าเราสามารถทำนายได้ตั้งแต่ต้นว่าเส้นทางที่เขาจะเดินตามความฝันของเขาก็คือ เส้นทางสายพรรคการเมืองและนักการเมือง และพรรคที่เขาจะเดินมันก็ไม่มีพรรคไหนนอกจากพรรคเพื่อไทย


สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาปีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการข้ามขั้ว “พี่เต้น” เคยออกมาพูดเชิงว่า “มาส่งได้แค่นี้” อาจารย์ไม่คิดว่าจุดยืนตามรอยความฝันของพี่เต้นเขาอาจจะไม่ได้เปลี่ยน เขาอาจจะไปตั้งพรรคอื่นก็ได้หรือเปล่า ทำไมต้องเป็นพรรคเพื่อไทย?


เขาเคยตั้งแล้ว “พรรคเส้นทางใหม่” จดทะเบียนแล้วด้วย แต่เขาก็ยกเลิกไป การยกเลิกไปแล้วมาเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ด้วย มันก็เป็นคำตอบแล้วว่าเขาคิดว่านี่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด มันเป็นถนนที่น่าจะเดินไปมากที่สุด ไม่ได้เป็นทางรกร้างอย่างที่อาจารย์บอก เขาก็ต้องเดินอยู่ที่พรรคนี้ เพราะฉะนั้นอาจารย์ไม่แปลกใจ พอจะทำนายได้ตั้งแต่ต้น แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เขาก็มีความรับผิดชอบในช่วงเวลาหนึ่งไง ก็เป็นการแสดงออกว่า...ผมมาได้แค่นี้ ผมไปต่อด้วยไม่ได้ แต่ว่าลึก ๆ ในหัวใจ ความฝันที่ต้องการเดินเส้นทางการเมืองมันยังมีอยู่ คำถามคือเราจะไปคิดว่าเขามีทางเลือกอย่างอื่นมั้ย? อาจารย์ดูแล้วมันไม่มี เขาก็ต้องเลือกพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ


แต่ว่าคนที่มองเขาด้านหลักในฐานะแกนนำในการต่อสู้ของประชาชน ในฐานะที่เป็นแกนนำนปช.ที่ได้รับความนิยมชมชื่นมาก แล้วครั้งนั้นมันปลุกกระแสประชาชน มันไม่ใช่นับแสนนะ มันนับล้านนะ อาจจะมองด้านนี้เป็นด้านหลัก ด้านกระแสผู้นำการต่อสู้เป็นด้านหลัก แล้วก็เลยอาจจะผิดหวัง เพราะว่าอุดมการณ์ของนปช. แนวทางของนปช. ชื่อมันก็บอก แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ใส่แห่งชาติไปอีก แล้วคุณณัฐวุฒิเติม “แดงทั่วแผ่นดิน” อีก ชื่อมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ได้ต่อต้านเผด็จการ แต่คุณไปจับมือ หรือว่าเข้าร่วมกับเขา มันก็ไม่ใช่แนวร่วมต่อต้าน เป็น แนวร่วมเผด็จการแห่งชาติไปด้วยหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น คนเหล่านั้นจะผิดหวัง ว่าครั้งหนึ่งเป็นฮีโร่ในดวงใจ แต่ว่ามาครั้งนี้มันดูไม่ใช่เสียแล้ว ครั้งแรกก็รู้สึกว่าเขารับผิดชอบไปแล้วนะ คนเหล่านี้จะผิดหวังมาก เพราะว่าฮีโร่ในดวงใจทำไมกลายเป็นแบบนี้ ควรจะต้องรับผิดชอบคำพูด และในฐานะแนวคิดของนปช.ซึ่งปลุกคนเป็นล้าน ๆ


คนเสื้อแดงจริง ๆ ที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยในทัศนะอาจารย์นะ มีเกิน 10 ล้าน เราพูดรวมหมดว่าคนรักประชาธิปไตยซึ่งเราถือว่าเป็นอุดมการณ์แบบคนเสื้อแดง แบบนปช.นี่แหละ ไม่เอาเผด็จการ ในทัศนะอาจารย์ ดูจากตัวเลขที่โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านทุกครั้ง ซึ่งขณะนั้นถูกบีบกดดันมากนะ เขาก็ไม่รับรัฐธรรมนูญของเผด็จการ และการที่เราลงพื้นที่จำนวนมากในทุกจังหวัดเราพอประเมินได้ว่าผู้รักประชาธิปไตยมีเป็นจำนวนมาก ในส่วนนี้หลาย ๆ คนก็คงผิดหวังอย่างที่บอก ก็คือคนที่เป็นฮีโร่ในสนามการต่อสู้ แล้วเขาก็บอกตรง ๆ ว่าเขาก้าวข้ามมาแล้ว (พูดถึงที่ณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์กับ PPTV ว่าก้าวข้ามมาแล้ว) เขาก็ยอมรับเอง เขาก็คงต้องยอมรับว่ามีผู้คนที่ผิดหวัง มีผู้คนที่โกรธอีกเป็นจำนวนมาก


แต่ว่า อย่างอาจารย์มองคนก็มองที่แก่น ไม่ได้มองที่เปลือกนอกและคำพูด ก็ไม่ได้แปลกใจว่าความฝันของเขาเป็นนักการเมืองในวิถีทางรัฐสภา ความฝันของเขาที่เขาจะเดินไป กับความคิดของประชาชนที่คิดต่อเขา มันคงไม่ตรงกัน ภาพของการเป็นฮีโร่ในการต่อสู้เผด็จการและต่อสู้ทหาร มันฝังอยู่ในใจคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้เขาก็ต้องแลก เขาคงมองออก สถานการณ์อย่างนั้นสำหรับเขาคงไม่เกิดขึ้นแล้วในฐานะผู้นำการต่อสู้ ภาพที่เขาคิดว่าเขาควรจะเป็นก็คือมามีบทบาทในเส้นทางการเมืองมากกว่า มันก็เลยเป็นอย่างนี้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ณัฐวุฒิใสยเกื้อ #เพื่อไทย