เบญจา
แสงจันทร์ หัวข้อ ขุมทรัพย์ธุรกิจพลังงาน เสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย :
การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”
เมื่อวันที่
12 ตุลาคม 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรจัดงานเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย :
การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”
เบญจา
แสงจันทร์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และกรรมาธิการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ
ได้รายงานข้อมูลกิจการของกองทัพที่เกี่ยวกับพลังงานปิโตรเลียม โดยระบุว่า
ตามหลักกฎหมายไทย ทรัพยากรธรรมชาติใต้ดินไม่ได้เป็นสมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด
เจ้าของที่ดินมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์บนผืนดินเท่านั้น
รัฐบาลต้องเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรใต้ดินนั้น โดยมอบสิทธิให้เอกชนเป็นผู้สำรวจ
ผลิต และนำทรัพยากรมาใช้ รัฐยังต้องเป็นผู้ได้รับรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีต่าง ๆ
และยังมีกฎหมายปิโตรเลียม ที่ระบุว่า น้ำมันดิบเป็นของรัฐ
ผู้ใดจะสำรวจขุดเจาะไม่ว่าบนที่ดินของตนเองหรือบุคคลอื่นต้องได้รับสัมปทานจากรัฐ
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐเป็นคนกำหนด
แต่ที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ
มีแหล่งน้ำมันอยู่แห่งหนึ่งที่กองทัพไทยเป็นเจ้าของ คือ แหล่งน้ำมันลุ่มแอ่งฝาง
โดยเป็นบ่อน้ำมันที่กองทัพผลิตเอง สำรวจเอง ขุดเจาะเอง กลั่นเอง
และเก็บเงินไว้ใช้เองโดยไม่ต้องส่งคืนคลัง โดยอ้างว่า
เป็นการสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน
อยู่ในการดูแลของศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร
ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 6 จังหวัดในภาคเหนือ
เป็นพื้นที่นอกกฎหมายปิโตรเลียมที่รัฐไม่ต้องสัมปทานให้กับใคร
ให้เพียงแค่ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือเป็นผู้รับผิดชอบ
โดยไม่ต้องรายงานปริมาณที่ผลิตได้เหมือนเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจรายอื่น
เบญจา
กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการชี้แจงโดยศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ มีการระบุว่า
ศูนย์ฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2499 มีน้ำมันดิบหลายลุ่มแอ่งใน 6
จังหวัดภาคเหนือ
แต่แหล่งฝางเป็นแหล่งที่มีคุณภาพและศักยภาพมากที่สุด มีการขุดมาใช้แล้ว 16 ล้านบาร์เรลจากทั้งหมดประมาณ 300 แห่ง
โดยลุ่มแอ่งฝางยังผลิตน้ำมันไปได้อีก 11 ปี
และในอนาคตจะมีการสำรวจและขุดเจาะเพิ่มเติมต่อไปในพื้นที่
ลุ่มแอ่งฝางมีปริมาณสำรองน้ำมันอยู่
63 ล้านบาร์เรล มีกำลังผลิตอยู่ที่วันละ 800 บาร์เรลต่อวัน
จากการสืบค้นข้อมูลยังพบว่า
ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือเคยรายงานต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า
มีปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดเจาะได้ 3 แสนบาร์เรลต่อปี
เมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมน้ำมันดิบของทั้งประเทศ ที่ผลิตน้ำมันดิบได้ราว 29
ล้านบาร์เรลต่อปี หรือวันละ 80,000 บาร์เรล
จะเท่ากับว่าน้ำมันที่ผลิตได้ที่ฝางคิดเป็นเพียง 1% ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วประเทศเท่านั้น
เป็นสัดส่วนที่ผลิตได้น้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐวิสาหกิจและเอกชนรายอื่น
ทำให้ข้ออ้างที่กองทัพมักอ้างเสมอว่า
บ่อน้ำมันที่ฝางเป็นไปเพื่อสร้างหลักประกันความมั่งคงทางพลังงานให้แก่กองทัพและประเทศในยามวิกฤติแทบเป็นไปไม่ได้เลย
เบญจา
กล่าวต่อไปว่า หากนำเอาปริมาณน้ำมันดิบในปีที่ขุดเจาะได้น้อยที่สุด
มาคำนวณด้วยราคาค่าเฉลี่ยกลางด้วยระยะเวลา 68 ปี
น้ำมันดิบที่ผลิตจากแหล่งฝางจะมีมูลค่าอย่างน้อยที่สุด 34,000 ล้านบาท ค่าภาคหลวงที่ต้องเสีย 12.5% คิดเป็นเงินจำนวน
4,250 ล้านบาท ไม่รวมภาษีอื่น ๆ
นี่เป็นมูลค่าต่ำสุดที่รัฐต้องเสียไปกับการแลกให้กองทัพเอาทรัพยากรของประเทศไปแบ่งปันรายได้ภายในค่ายทหารเท่านั้น
คำถามคือ
รายได้เหล่านั้นได้ถูกนำไปจัดสรรสวัสดิการให้กำลังพลได้อย่างเป็นธรรมทั่วถึงมากน้อยเพียงใด
และเหมาะสมที่กองทัพจะเป็นผู้ลงทุนในธุรกิจนี้ต่อไปหรือไม่
นอกจากนี้กองทัพยังเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันขนาดกำลังกลั่นวันละ
2,500 บาร์เรล
โดยน้ำมันที่กลั่นได้ทั้งหมดถูกนำออกไปขายให้ลูกค้าที่เป็นหน่วยงานกองทัพด้วยกัน
โดยผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยังนำไปขายให้เอกชนที่เป็นคู่ค้าภายนอก
ที่เหลือขายออกไปยังต่างประเทศ เช่น ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้
โดยที่ต้องส่งน้ำมันไปขายยังต่างประเทศ ก็เพราะน้ำมันดีเซลของโรงกลั่นที่ฝางไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรับซื้อของประเทศ
เนื่องจากมีค่ากำมะถันสูงเกินไปเทียบเท่าได้กับยูโร 1 ทำให้ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือวันนี้ต้องการงบประมาณเพิ่มเพื่อนำไปสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่
และได้เสนอโครงการต่อรัฐบาลแล้ว เรื่องนี้ตนขอให้ทุกคนได้ติดตามอย่างใกล้ชิดว่า
รัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณถึง 400 ล้านบาทเพื่อสานต่อธุรกิจเดิมของกองทัพที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนต่อไปหรือไม่
เบญจา
ระบุว่า กองทัพเองไม่มีความจำเป็นใด ๆ
ต้องสร้างโรงกลั่นใหม่เพื่อรองรับปริมาณน้ำมันเพียงเท่านี้
ศูนย์ปิโตรเลียมภาคเหนือสามารถส่งน้ำมันดิบของตัวเองออกไปยังโรงกลั่นภายนอกที่มีขีดความสามารถและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
จะเป็นการไม่สิ้นเปลืองและคุ้มค่ามากกว่ามาก
นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมขนาด 10.4 เมกะวัตต์
ดำเนินธุรกิจขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
มีรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี
แม้จะปลดระวางไปแล้วแต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าเงินรายได้มหาศาลกว่า 20 ปีโดยเป็นเงินอุดหนุนที่ไม่ต้องส่งคืนคลังหายไปไหนหมด
แม้จะไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะอย่างแน่ชัดว่า
รายได้เหล่านี้ได้ถูกจัดสรรให้ใคร จัดสรรสวัสดิการให้กำลังพลเท่าไหร่ แต่ที่แน่ ๆ
มีการสะสมทุนนำเม็ดเงินนี้ไปสร้างโรงแรมสองแห่ง คือ Petro Hotel Chiangmai ที่แม้จะมีการอ้างว่า มีภารกิจเพื่อเป็นศูนย์ฝึกบุคลากร
แต่จากเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการพบว่า ใช้เป็นที่จัดอบรมจริยธรรมและศีลธรรม
ไม่ได้เกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านพลังงานอย่างที่กล่าวอ้าง
และยังเปิดขายแพคเกจทัวร์และห้องพักแบบทั่วไปด้วย และยังมีโรงแรมที่วิวดีที่สุดในจังหวัดระยองมูลค่ากว่า
770 ล้านบาท โดยใช้ที่ดินราชพัสดุติดริมชายหาด
ทำธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจรภายใต้ชื่อ Serene Phla Resort Rayong อ้างว่าเพื่อเป็นศูนย์ฝึกบุคลากรด้านปิโตรเลียมและพลังงานเช่นกัน
แต่ในเพจเฟซบุ๊กหลักมีการเปิดทำธุรกิจเป็นห้องพักโรงแรม ขายทัวร์
บริการท่องเที่ยวครบวงจร สวนสนุก สวนน้ำ ลานคอนเสิร์ต โดยบางห้องมีราคาสูงถึง 33,000
บาทต่อคืน โดยใช้เงินอุดหนุนจากบ่อน้ำมันที่ฝาง
เบญจา
กล่าวต่อไปว่า คำถามคือกองทัพมีความชำนาญเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจมากน้อยเพียงใด
ใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่าสมเหตผลหรือไม่
หลายกิจการเป็นการนำไปต่อยอดในธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของกองทัพ
โรงแรมสองแห่งนี้นอกจากใช้เงินอุดหนุนของกองทัพแล้วยังใช้ทรัพยากรของรัฐ
ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรจากกำลังพล รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน
ใช้ที่ดินที่ราชพัสดุที่ทำเลดีที่สุด แต่ที่น่ากังวลที่สุด
คือเม็ดเงินที่สร้างโรงแรมทั้งสองแห่งมีมูลค่ามหาศาล
แต่กิจการกลับขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้เกิดคำถามว่าในอนาคตจะกลายเป็นภาระทางงบประมาณที่รัฐและประชาชนต้องเข้าไปช่วยอุ้มหรือไม่
ถึงเวลาแล้วที่กองทัพต้องคืนสิทธิในทรัพยากร
คืนสมบัติของชาติให้รัฐนำไปจัดสรรและบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นธรรมต่อประชาชนทั้งประเทศ
เปิดสัมปทานให้เอกชนสำรวจ ผลิต นำทรัพยากรนี้ใช้พัฒนาประเทศ
รัฐจะได้รายได้จากค่าภาคหลวงและค่าภาษีต่าง ๆ เพื่อนำมาบริหารประเทศด้วย
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานของกองทัพ
กองทัพยังสามารถส่งบุคลากรมาฝึกงานและปฏิบัติงานร่วมกันได้ ส่วนโรงแรม
กองทัพควรเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เช่า
ให้เอกชนที่มีประสบการณ์เข้ามาบริหารแล้วแบ่งรายได้ส่งให้รัฐ จะสามารถนำไปสนับสนุนเป็นสวัสดิการให้กำลังพลและบริหารจัดการได้อย่างโปร่งใสคุ้มค่ามากกว่า
“เราทุกคนเชื่อว่า สมบัติของชาติเป็นของประชาชน
ธุรกิจกองทัพต้องถูกปฏิรูปเพื่อให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมต่อประชาชน
และนำไปจัดสรรเป็นสวัสดิการให้เหมาะสมต่อกำลังพลชั้นผู้น้อยได้ด้วย
ถึงเวลาแล้วที่ต้องคืนทหารให้ประชาชน คืนนายพลกลับไปทำงานในกองทัพ และคืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาลนำไปจัดสรรและกระจายทรัพยากรให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม
เพื่อสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้เศรษฐกิจของประเทศนี้” เบญจา กล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธกองทัพ #ธุรกิจกองทัพ