วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2567

“แบงค์ ศุภณัฐ” เปิดโปงแทคติคการทุจริตของกรมชลฯ เอาบัตรประชาชนรับเงินค่าแรงแล้วส่งส่วย เชื่อนักการเมืองบางคนรู้ดี แต่ยังไม่หาทางแก้ไข ปูดอีก ! งบกรมการข้าวส่อแววทุจริต-ล็อคสเปค เหตุฟอร์แมตใบเสนอราคาเหมือนกันเป๊ะ แถมทุนจดทะเบียนต่ำเพียง 5 ล้าน กลับเสนอโครงการ 543 ล้านบาท

 


แบงค์ ศุภณัฐ” เปิดโปงแทคติคการทุจริตของกรมชลฯ เอาบัตรประชาชนรับเงินค่าแรงแล้วส่งส่วย เชื่อนักการเมืองบางคนรู้ดี แต่ยังไม่หาทางแก้ไข ปูดอีก ! งบกรมการข้าวส่อแววทุจริต-ล็อคสเปค เหตุฟอร์แมตใบเสนอราคาเหมือนกันเป๊ะ แถมทุนจดทะเบียนต่ำเพียง 5 ล้าน กลับเสนอโครงการ 543 ล้านบาท


วันที่ 4 กันยายน 2567 ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระ 2-3 ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เขต 9 กทม. พรรคประชาชน อภิปรายการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมการข้าวและกรมชลประทานระบุว่า กรมการข้าวมี 2 โครงการที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยและสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต คือ การติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบบาดาล 13 จุด งบประมาณ 62 ล้าน ส่วนโครงการที่สองคือ โครงการระบบสูบน้ำแบบผิวดิน 480 ล้าน ซึ่งในชั้น กมธ.ปรับลดงบทั้ง 2 โครงการจาก 543 ล้านปรับลดเหลือ 447 ล้านบาท


ศุภณัฐจึงขอตัดทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากเห็นว่า มีพฤติกรรมที่ส่อทุจริตหลายอย่าง คือ การได้มาซึ่งราคากลางของกรมการข้าว ไม่ได้คำนวณราคากลางเอง แต่ใช้การสืบราคาทั้งโครงการ แล้วให้เอกชน 3 เจ้าเสนอโครงการมาแล้วเลือกเอาเจ้าที่ต่ำที่สุดมาตั้งคิดราคากลาง ซึ่งต้องบอกว่า ระบบสูบน้ำทั้ง 2 โครงการ มีส่วนงานโยธา คือ งานโครงสร้างและงานครุภัณฑ์ ปกติตามหน่วยงานทั่วไป อย่างกรมทางหลวง กรมโยธา กรมชลประทาน จะใช้การคำนวณงานโยธาด้วยตัวเอง ส่วนงานคุรภัณฑ์บางอย่างที่ไม่ทราบ ไม่เคยจัดซื้อมาก่อนเท่านั้น ที่จะใช้วิธีการสืบราคา แต่ครั้งนี้กรมการข้าวใช้การสืบราคาทั้งก้อน


วิธีนี้เสี่ยงที่จะปั้นราคาได้ง่ายโดยไม่ต้องหาผู้รับผิดชอบ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำราคา แต่ให้เอกชนเป็นคนทำเอง ไม่ต่างจากการคิดราคาลู่วิ่งของ กทม.ที่ราคา 7.5 แสนต่อตัว เพราะเอาราคาต่ำสุดมาใช้ แต่กลายเป็นว่า ราคาต่ำสุดที่นำมาใช้ กลับเป็นราคาที่แพงสุด ๆ”


พฤติกรรมที่สอง คือ ความน่าเชื่อถือของ 3 บริษัทที่กรมการข้าวไปสืบราคามา มีปัญหาร้ายแรง เพราะทั้ง 3 บริษัทมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทแต่กลับเสนอทำโครงการ 543 ล้านบาท


ที่สำคัญผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุดมีรายได้เพียงแค่ 2.6 ล้านบาทเท่านั้นในปี 65 คุณมีรายได้แค่ 2.6 ล้านบาททั้งปี แต่กำลังเสนอราคาให้ภาครัฐ 543 ล้าน มันเป็นไปได้เหรอครับ ต้องถามว่า กรมการข้าวใช้ดุลพินิจแบบไหนในการเลือกไปสอบถามบริษัทนี้ตั้งแต่แรก แค่ดูทุนจดทะเบียน แค่ดูรายได้ก็รู้แล้วว่า เขาไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว”


ผมไม่ได้ดูถูกเขา แต่จากประสบการณ์และกลไกของภาครัฐที่บริษัทเหล่านี้มีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะมีสิทธิในการประมูลงานของภาครัฐ แล้วทำไมพวกเขาต้องมาเสียเวลามาทำเสนอราคาให้ภาครัฐฟรี ๆ”


พฤติกรรมที่สาม น่ากลัวกว่านั้น คือ ใบเสนอราคาของทั้ง 3 บริษัทที่กรมการข้าวไปเอามาหน้าตาเหมือนกัน ทั้งรูปแบบและฟอนต์ จะต่างกันก็แค่โลโก้บริษัทและกรรมการผู้เซ็นต์


พฤติกรรมที่สี่ คือ ความชำนาญของหน่วยงาน เนื่องจากกรมการข้าวใช้งบประมาณในการทำระบบสูบน้ำแบบบาดาลตอนแรกจุดละ 4.8 ล้าน ซึ่งในชั้นอนุ กมธ. ตรวจพบว่า กรมทรัพยากรน้ำบาลที่เสนอทำโครงการคล้ายๆ กันเสนองบมาแค่ 2.4 ล้าน เมื่อ กมธ.ได้นำใบเสนอราคา (BOQ) ให้กรมการข้าวดู และได้แขวนงบประมาณไป 1สัปดาห์ เมื่อกรมการข้าวกลับมาได้บอกว่า “นอนคิดมาทั้งคืนแล้วสามารถปรับลดกรมตัวเองได้ 50% ของโครงการ” จากโครงการละ 4.8 ล้าน ปรับลดได้เหลือ 2.4 ล้าน ให้เท่ากับกรมทรัพยากรน้ำบาล


มันแปลว่าอะไร แปลว่าที่ผ่านมามีการบวกจนเกินเยอะแยะเต็มไปหมด และบังเอิญ กมธ.จับได้ใช่ไหม จึงขอปรับลดงบตัวเอง 50% แต่ก็ยังทำงานได้อยู่”


ที่สำคัญโครงการนี้มีการล็อคสเปคสินค้าหลายรายการ ทั้งถังเก็บน้ำ ปั้มน้ำ แผงโซล่าเซลล์ ซึ่งต้องบอกว่า โครงการนี้เสี่ยงทุจริตชัดเจน แม้สามารถปรับลดงบประมาณไปแล้ว 95 ล้าน แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธพฤติกรรมตั้งแต่แรกว่า สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตได้ ดังนั้นจึงขอตัดทั้งโครงการทิ้ง เพื่อไม่เป็นสารตั้งต้นของการทุจริต


ส่วนที่สอง คือ งบประมาณของกรมชลประทานที่ต้องขอเปิดโปงว่า การตั้งงบประมาณโครงการ โดยเน้นที่การใช้แรงคน แทนการใช้เครื่องจักร ถือเป็นแทคติคในการทุจริตงบประมาณของเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่างโครงการซ่อมแซม บำรุงราคา 15 ล้านบาท จะมีค่าแรง 4.6 ล้าน ถือว่ามีสัดส่วนสูงถึง 30% ของงบประมาณ


ถ้าสังเกตเรตโดยใช้แรงคน จะมีอัตราต่อหน่วยแพงกว่าการใช้เครื่องจักรถึง 10 เท่าหรือบางโครงการก็ 15 เท่า ส่วนต่างมหาศาลนี้ คือ ส่วนต่างในการทุจริต เพราะแม้จะของบโดยใช้แรงคน แต่ในทางปฎิบัติม กลับไม่มีการจ้างคนจริงๆ มีการไปเรี่ยไรบัตรประชาชนของแรงงาน แล้วก็จ่ายเงินเล็กน้อย จากนั้นก็ไปจ้างให้ผู้รับเหมาให้ใช้เครื่องจักรทำงานจริงๆ สำหรับส่วนต่าง 90 % ก็เป็นช่องทางในการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่และส่งส่วยให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ


ผมไม่ได้บอกว่า ทุกโครงการที่ใช้แรงงานคนต้องมีการทุจริตและไม่ได้บอกว่า โครงการที่โชว์ตรงนี้เป็นโครงการที่ทุจริต แต่คอนเซ็ปที่ใช้อยู่ตรงนี้เป็นสารตั้งต้นที่จะทำให้เกิดการทุจริต ผมเชื่อว่า เจ้าหน้าที่รู้และนักการเมืองบางคนก็รู้ แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขาให้ถูกต้อง”

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ประชุมสภา #งบ68