ธิดา ถาวรเศรษฐ : “เพื่อไทย” จับมือร่วมรัฐบาลกับ “ประชาธิปัตย์”
ตอกย้ำความเจ็บปวดและการสูญเสียของ “คนเสื้อแดง”
ถอดจากรายการ TODAY LIVE สำนักข่าวทูเดย์
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567
ลิ้งค์ยูทูป : https://www.youtube.com/live/7GquMJ1oCsg
ความรู้สึกแรกที่อาจารย์เห็นว่า
“เพื่อไทย” จับมือกับ “ประชาธิปัตย์” ในฐานะคนเสื้อแดง อาจารย์มองอย่างไร?
ถ้าตัวอาจารย์เอง
อาจารย์ไม่แปลกใจ เพราะว่าการข้ามขั้วตอนที่ไปจับมือกับพรรคสองลุง พรรคภูมิใจไทย
ก็คือเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจเดิม พรรคเพื่อไทยตัดสินใจครั้งสำคัญในการข้ามขั้ว
การข้ามขั้วไปแล้ว อย่าลืมว่าประชาธิปัตย์ก็อยู่ที่เดิม เพราะฉะนั้นเพื่อไทยก็ข้ามขั้วไปอยู่พวกเดียวกันกับประชาธิปัตย์และพรรคอื่น
ๆ ที่เคยร่วมรัฐบาลกับสองลุง
นั่นเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่บอกถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยและสถานะทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว
ก็คือเปลี่ยนจากสถานะของพรรคผู้นำในฝ่ายประชาธิปไตย
มาเป็นพรรคผู้นำในอีกระบอบหนึ่ง ก็คือในกลุ่มพรรคที่สืบทอดอำนาจฝั่งจารีตอำนาจนิยม
ฉะนั้น
เพื่อไทยเปลี่ยนสถานะ แต่ประชาธิปัตย์ก็เปลี่ยนเหมือนกัน
แต่ว่าเปลี่ยนสถานะจากผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายจารีตมากลายเป็นพรรคเล็ก
แต่ก็ยังอยู่ในขั้วเดิม
หลายคนที่พูดกันก็คือแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์รุ่นเก่าเขาก็จะมองไปว่าทำไมมาจับมือกับพรรคเพื่อไทย
ความจริงมันต้องคิดใหม่นะว่าพรรคเพื่อไทยเขามาจับมือกับฝั่งนี้ทั้งหมด
คุณก็อยู่ฝั่งนี้อยู่แล้ว อยู่ตั้งแต่รอบแรก แล้วในอดีต พรรคประชาธิปัตย์คือผู้นำ
เป็นพรรคแกนนำจริง ๆ ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีพรรคการเมืองขึ้นมา
พรรคเขาอายุยาวนานที่สุด และเขาได้รับชัยชนะ แต่ว่าสูงสุดก็ 100 กว่าเสียง
ในฐานะที่พรรคเป็นพรรคที่มีกระแสระดับชาติ เป็นตัวแทนของฝั่งอนุรักษ์นิยม
แล้วก็สู้กับพรรคของกองทัพที่เขามาทำรัฐประหารบ้าง เช่นพรรคทหาร พรรคมนังคศิลา
แล้วก็พรรคของนายทุนท้องถิ่น พรรคประชาธิปัตย์ก็ดูได้เปรียบ
แต่ก็อยู่ในฐานะผู้นำของฝ่ายจารีตอำนาจนิยม
แต่ว่าตอนนี้ไม่ใช่แล้ว
ในความคิดของอาจารย์นะ ก็คือว่าฐานะผู้นำเขาก็ล่มสลายไปแล้ว
ฐานะผู้นำของพรรคเพื่อไทยฝ่ายประชาธิปไตยก็ล่มสลายไปแล้ว คุณมาอยู่พวกเดียวกันน่ะ
แต่คนที่เคยยึดติดว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย
และยึดติดว่าพรรคประชาธิปัตย์ (ฝั่งกองเชียร์เขานะ) เป็นคนดี
ระบอบทักษิณนี่มันชั่ว แฟนคลับแบบเก่า
ยังคิดแบบเก่าก็โมโหว่าทำไมมาจับมือกับคนชั่ว
แล้วฝั่งที่เป็นกองเชียร์พรรคเพื่อไทยบอกแล้วไปจับมือกับพวกแมงสาบ (ขอโทษนะ)
ได้ยังไง พรรคนี้มันฆ่าพี่น้องประชาชน แต่ว่าวันเวลาที่เปลี่ยนเขาได้เปลี่ยนแล้ว
เพื่อไทยก็เปลี่ยนจุดยืนไปแล้ว ดังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ว่าความที่มันมีปัญหากันมายาวนาน
โดยเฉพาะจากปี 2553
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นซึ่งต้องรับผิดชอบทั้งพรรค
คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ
และร่วมกับทหารในการปราบปรามประชาชน แล้วทหารเขาก็เขียนในบทความของเขาเลยว่า
พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการจะยุติด้วยการเจรจาการเมือง เขาบอกเลย
เพราะฉะนั้นมันสอดคล้องกันคือเขาตั้งใจจะใช้การปราบปราม
และในการปราบปรามนั้นก็มีข่าวที่สร้างความชอบธรรมให้เขาว่าเรามีกองกำลังอาวุธ
ความแค้นเหล่านี้มันแค้นที่พรรคประชาธิปัตย์กับกองทัพก็เป็นสัญลักษณ์ของผู้ปราบปราม
ถึงแม้ว่าพรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปแล้วก็จริง แต่ความรู้สึกดั่งเดิมที่ยังเจ็บแค้นมันก็ยังเจ็บแค้นอยู่
ในส่วนเสื้อแดงนะ
แต่ว่าอาจารย์เข้าใจแล้วแหละว่าเขาเปลี่ยนขั้วไปแล้ว
อาจารย์ก็เลยไม่ได้ตกใจ เพราะว่าอาจารย์นึกแต่แรกว่าเผลอ ๆ
เขาจะจับกันตั้งแต่ตอนแรกแล้ว มันมีข่าวอยู่
เพราะว่าเขาก็ต้องพยายามดูว่าจะได้เสียงเป็นยังไง
ในตอนนั้นพลังประชารัฐยังเป็นเอกภาพ (ตามความเข้าใจของอาจารย์)
ผู้กองธรรมนัสก็ยังเป็นแกนนำที่สามารถควบคุมเสียงได้ทั้งหมด ประชาธิปัตย์ก็เลยเป็นส่วนเกิน
แต่พอตอนนี้พลังประชารัฐมีปัญหา ก็เลยมีพื้นที่ให้ประชาธิปัตย์เข้ามา
เพราะว่าเขาต้องการเสถียรภาพจำนวนคะแนนผู้ยกมือในสภา เขาจะต้องให้มากกว่า 300
เพราะว่าอาจารย์มีความเข้าใจว่าพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ต้นรับปัญหาในอดีตที่คนจะชอบกินกล้วย
แล้วต้องไปแจกซองตามห้องน้ำ ดังนั้นจะต้องมีเสียงไว้เยอะ ๆ
เมื่อสักครู่อาจารย์บอกว่าแฟนคลับประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้ชอบหรอก
การจับมือกันครั้งนี้
แฟนคลับโบราณบอกว่า...พรรคนี้คนเลว
ทุนสามานย์ ไปจับมือคนชั่วได้ยังไง
แฟนคลับพรรคเพื่อไทยก็บอก
เขาก็ไม่ได้รู้สึกชอบเท่าไร บางส่วน
ไม่ ไม่ชอบเลยแหละ
ต่อให้จะเป็นแฟนคลับหรือเป็นคนเสื้อแดง ก็คือสัญลักษณ์ของประชาธิปัตย์คือพรรคการเมืองที่ปราบปรามประชาชน
แล้วว่าไปตอน 6ตุลา19 เขาก็เป็นรัฐบาล แต่ก็ปล่อยให้มีการปราบปรามประชาชนได้ แล้วพอมาปี 2553 อันนี้เขาร่วมมือกับทหารเต็มเหนี่ยวเลย ทหารเขารอต้องเซ็นคำสั่งมาทั้งหมดเป็นลายลักษณ์อักษร
ไม่อย่างนั้นเขาไม่เข้าไป
เพราะฉะนั้นถือว่าเขาได้รับความร่วมมือเป็นอันดีจากฝ่ายการเมือง
เวลาผ่านมาตั้งกี่ปี จาก 2553 มา 2467
(14 ปี) คดีความก็ยังแช่แข็งอยู่
การฆ่ากันตายกลางถนนก็ยังไม่มีใครรับผิดชอบ
พรรคเพื่อไทยอาจจะมองว่าก็จ่ายไปแล้ว
7 ล้านกว่าในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์
แต่นี่ไม่ใช่นะ อันนี้มันเป็นเรื่องการเมืองของประชาชนและประเทศชาติ
เราจะให้มีการฆ่าประชาชนกลางถนนซ้ำแล้วซ้ำอีกได้อย่างไร
อันนี้เป็นสิ่งที่อาจารย์ไปพูดที่ ICC คนตายอาจจะน้อย
ไม่เหมือนกับประเทศในละตินอเมริกา หรือในแอฟริกาที่ฆ่ากันเป็นพัน ๆ
แต่ของเรามันเป็นอาชญากรรมซ้ำซาก คือฆ่าแล้วก็ลอยนวล ครั้งหนึ่ง 100 คน 70 คน 80 คน อย่างครั้งนี้
99 ศพ ก็มีคนมาต่อว่า ใช่! เรารวมทหาร-เจ้าหน้าที่รัฐด้วย เพราะเราถือว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือนไม่ควรตาย
ไม่ควรจะมีการตายเกิดขึ้น แล้วการตายของทหารจำนวนมากก็เกิดจากฝั่งทหารด้วยกันนั่นแหละ
ด้วยอาวุธของเขา อาจารย์ยังต้องไปจัดงานให้พลทหารหลายคน ยิงผิดกันก็มี
นั่นก็คือการใช้กระสุนจริง
ดังนั้น
การเรียกร้องทวงความยุติธรรมของประชาชนก็เลยไปสัมพันธ์กับความโมโหและเกลียดพรรคประชาธิปัตย์ไปด้วย
ในฐานะที่เป็นรัฐบาล อาจารย์ขอย้อนไปเมื่อครั้งปี 2535 ครม.ของ อานันท์ ปันยารชุน
เขามองเห็นเลยว่ามันมีการฆ่ากันตาย เขาก็เลยออกคำสั่งครม.ว่า
กองทหารที่มีสำหรับเอามาประจำอยู่กรุงเทพฯ ในการปราบปรามต่าง ๆ ไม่ให้มีแล้ว
การปราบปรามจลาจลหรือเกิดเรื่องราวในเมืองให้ใช้ “ตำรวจ” อย่างเดียว
หลังจากนั้นรัฐบาลต่าง ๆ ก็ใช้ตำรวจ แต่มีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้ “ทหาร”
คือไม่ปฏิบัติตามมติครม. ทหารตั้ง 6-7 หมื่น แล้วมีตำรวจอีก
เรื่องการฆ่าประชาชนมันเลยสัมพันธ์กับความรับผิดชอบของพรรคประชาธิปัตย์
จึงเป็นอะไรที่ตอกย้ำอยู่ในหัวใจของคนเสื้อแดงและคนรักความยุติธรรม
แม้นจะรู้ว่าประชาธิปัตย์ก็ล่มไปแล้ว อาจารย์คิดไม่ถึงเลยว่าจะเหลือ 25 ที่นั่ง เรารู้ว่าจะน้อยลง
แต่ไม่นึกว่าจะล่มขนาดนี้ ฉะนั้นคุณประมาทประชาชนไม่ได้
ก็คือพรรคประชาธิปัตย์ได้สูญเสียในฐานะผู้นำของฝ่ายระบอบเก่า
แล้วกลายเป็นว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ (เลือกตั้งปี 2566)
หรือพลังประชารัฐ (เลือกตั้งปี 2562) ได้คะแนนเยอะนะ
คือในช่วงเวลานั้นพลังประชารัฐ ต่อมาก็เป็นรวมไทยสร้างชาติ กลายเป็นแกน/ผู้นำ ของพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ฉะนั้นประชาธิปัตย์สูญเสียสถานะ
แต่ว่าความทรงจำของประชาชนในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้
ที่คุณทักษิณพูดว่าอยากจะอยู่กับปัจจุบัน/อนาคต
อันนั้นมันถูกสำหรับเรื่องส่วนตัว
แต่ในเรื่องการต่อสู้ประชาชนและในเรื่องยิ่งใหญ่ระดับประเทศ คุณจะลืมอดีตไม่ได้ ไม่งั้นคุณจะเรียนประวัติศาสตร์ทำไม?
เพราะว่าอดีตคือบทเรียน อาจารย์ถึงใช้คำพูดว่า ถ้าคุณลืมอดีตของศัตรูที่เคยทำร้ายคุณ
คุณก็ลืมอดีตของมิตรที่เคยอุ้มชูช่วยเหลือกันต่อสู้ด้วยกันมายามยากลำบาก
คุณลืมศัตรูได้คุณก็ลืมมิตรได้ แต่ฝ่ายประชาชนลืมไม่ได้
ในวันที่นักการเมือง/พรรคการเมืองเขาจับมือกันแล้ว
พี่น้องคนเสื้อแดง ญาติผู้สูญเสียยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
มันตอกย้ำอยู่ในใจคนเสื้อแดงมั้ยครับ
ตอกย้ำและตอกมาก
แม้นว่าเขามองว่าพรรคประชาธิปัตย์ถูกลงโทษโดยประชาชนผ่านการเลือกตั้งไปแล้วด้วย
ปัจจุบันเหลือ 20 กว่า
แต่ว่าเรื่องราวในอดีตมันยังอยู่ในความทรงจำและเขาถือว่ามันเป็นความรับผิดชอบของพรรคประชาธิปัตย์
ไม่ว่าตัวการจะอยู่หรือไม่
แต่นี่คือประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ในทัศนะของคนเสื้อแดงและเหยื่อที่ถูกปราบปราม
ถูกจับกุมเข่นฆ่า ต่าง ๆ เหล่านี้ เขาเจ็บปวด ญาติวีรชนก็ต้องเจ็บปวด ถึงแม้ว่าองค์กรนปช.ไม่ได้มีภาวะในการนำในการขับเคลื่อน
แต่ภารกิจในการทวงความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชนในอดีตจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์ก็เลยยังต้องทำอยู่ ที่อาจารย์ทำ “คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553”
อาจารย์ทวงความยุติธรรมทุกวัน
ทำงานอยู่ตลอด เราคิดว่าพรรคเพื่อไทยคือหนึ่งหนทางที่เข้าไปหาเพื่อทวงความยุติธรรม
ณ วันนี้ทำแบบนั้นได้มั้ย?
ในอดีตบางครั้งมีการพบปะพูดคุยกันในระดับนำ
เราสังเกตดูว่าอะไรที่เขาไม่ได้ประโยชน์หรือเขาไม่เห็นชอบเขาก็ไม่สนับสนุน
แต่ถ้าอะไรที่เป็นผลประโยชน์ด้วยก็อาจจะทำร่วมกัน มันมีหลายเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน
เขาก็ไม่ได้ทำตามที่เราแนะนำ
อาจารย์เชื่อว่าอาจารย์เข้าใจสภาวะของสังคมไทยมากกว่านะ อาจารย์ขอพูดอย่างไม่ใช่จะคิดว่าอวดตัว
แต่วันเวลาที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตในการต่อสู้มาจนถึงบัดนี้ อาจารย์จำเป็นต้องค้นคว้าทั้งข้อมูลทั้งทฤษฎีและผ่านการปฏิบัติ
ผ่านการถกเถียงกับทั้งนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานในระดับสูง ๆ ของฝ่ายต่อสู้มา
อาจารย์คิดว่าปัญหาของประเทศไทยนั้น พรรคการเมืองและนายทุนจำนวนหนึ่งอาจจะเข้าใจไม่เพียงพอ
คือมองโลกแบบของนายทุน คือมองเห็นหญ้าเขียวขจีข้างหน้า ไม่ได้มองเห็นทะเลทราย
ปัญหาอยู่ว่าในความเป็นจริงถ้ามันเป็นทะเลทรายมันก็จะต้องเป็นทะเลทราย
แล้วคุณจะไปมองเห็นเป็นหญ้าได้อย่างไร ในความคิดของอาจารย์
ดังนั้น
การนำของนปช.ในอดีตก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีเรื่องที่ไม่เห็นด้วยหลายอย่าง
ไม่ว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเขาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแบบที่เรานำเสนอ
ก็เหมือนปัจจุบันนะที่ให้มีสสร. แล้วให้สสร.มาตั้งคณะกรรมการในการร่างฯ
ไม่ใช่ตัวตั้งคณะกรรมการร่างฯ ก่อน แล้วให้สสร.ยกมือ ตามแบบของพรรค เขาก็ไม่เอา
นอกจากไม่เอาแล้วยังเตะขัดขา กว่าอาจารย์จะได้ 6 หมื่นเสียงต้องใช้เวลาเป็นเดือน
ซึ่งปกติอาจารย์คิดว่ามันต้องเร็วกว่านั้น เพราะคนเสื้อแดงมันเยอะ
ก็พากันแยกสลายมวลชน มีผู้นำขึ้นมาเยอะแยะ
มีความไม่ลงรอยกันในหลายเรื่อง
เรื่องหลัก ๆ คือเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องนิรโทษสุดซอย เรื่อง ICC อย่างนี้เป็นต้น คือไม่ได้เห็นด้วยกัน นอกจากนั้นแกนนำนปช.ก็ถูกปรามาสจากทางพรรค
เพราะพรรคเขาก็ใช้วิธีไปหามวลชนเองเหมือนกัน แล้วก็มีแกนนำที่พูดตรง ๆ มันไม่ใช่แกนนำจริง
แต่ก็สามารถทำให้คนในพรรคเชื่อได้ หรือคนสำคัญในพรรคเชื่อได้ว่าเป็นแกนนำจริง เมื่อเขาสังคมกับแดงประเภทที่เป็น
FC พรรค บางคนก็เรียก “แดงเติมเงิน”
คือถ้าไม่เติมเงินก็ทำงานไม่ได้ คือเวลาพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลทีไร สมัยก่อนนะ
เราจะทำงานยากลำบาก เพราะว่ามันก็จะเกิดความแตกแยกในหมู่คนเสื้อแดง
อย่างตอนนี้ก็เหมือนกัน ส่วนหนึ่งก็วิ่งเข้าหาพรรคโดยตรง คุณจะเห็นแกนนำแปลก ๆ
ชื่อแปลก ๆ เยอะแยะ
ที่อาจารย์พูดก็คือว่าต้องอยู่บนความเป็นจริง
ทุกอย่างจะสำเร็จได้ก็คือเราต้องทำให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
ถ้าเรามองความเป็นจริงนั้นไม่ตรง เช่นเรามองเป็นสนามหญ้าเขียว
แต่ที่จริงมันเป็นทะเลทราย เราก็วางแผนและปฏิบัติการไม่ตรงแล้ว
เรามีความไม่ลงรอยกันหลายเรื่อง ทีนี้เมื่อตอนที่เขาเป็นฝ่ายค้านและก่อนจะเป็นรัฐบาล
อาจารย์มองแล้วว่าเขาคงอยากหาเสียงแหละ ก็เลยไปหาพรรคฝ่ายค้านอย่างเดียวนะ
ไม่เอาฝ่ายรัฐบาล เพราะอาจารย์ถือว่ารัฐบาล (ขณะนั้น) เป็นฝ่ายสืบทอดอำนาจ อาจารย์ก็ไปแล้วนำเสนอข้อเสนอที่อาจารย์เคยบอก
อย่างน้อยที่สุดคือจัดการทุกอย่างที่แช่แข็งให้ถูกต้องตามกฎหมาย
จะเป็นการไต่สวนคดีอะไรต่าง ๆ การแก้กฎหมายให้ทหารที่ฆ่าประชาชนมาขึ้นศาลพลเรือน
อย่างน้อย 2 ข้อ ส่วน
ICC ไม่มีทางทำ อย่างน้อยได้ 2 ข้อก็ยังดีให้มีการขับเคลื่อน
ช่วงนั้นเป็นช่วงหาเสียงไง ก็โอเคหมด แต่พอเวลาเป็นรัฐบาลจริงเข้า เขากลับไปทำอีกเรื่องแล้วก็ทำไม่ได้ก็ต้องถอนออก
ก็คือไปออกกฎหมายที่คิดว่าให้ญาติฟ้องโดยตรงเมื่อป.ป.ช.ไม่ฟ้อง มันก็ติดเหง็ก ป.ป.ช.เขาก็ต้องค้านมาซิว่าทำไม่ได้
แต่ขอโทษนะ พอเวลายุบพรรค คน ๆ เดียวนะ ไม่ต้องผ่านอัยการนะ
ฟ้องตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญได้นะ มาตรา 49 ที่ยุบพรรคก้าวไกลไง!
มันแล้วแต่ ๆ ละเรื่อง อันนั้นเอาไว้ควบคุมรัฐบาล/นักการเมือง แต่ว่าในกรณีอย่างนี้ที่ว่าจะไม่ผ่านป.ป.ช.
เขาอาจจะมีความเชื่อมั่นว่าป.ป.ช.เป็นองค์กรที่อยู่ในเครือข่ายเขา
ดังนั้นทุกอย่างต้องผ่าน แต่ว่าอัยการอาจจะไม่แน่ใจหรือเปล่า
ดังนั้น
เราก็มีการพูดคุยเจรจาตั้งแต่ตอนช่วงเป็นฝ่ายค้าน แต่พอได้เป็นรัฐบาลแล้วพรรคเพื่อไทยก็ไปทำคนละอย่างกัน
อาจารย์เข้าใจนะว่าเขาเผชิญปัญหามากในการจัดตั้งรัฐบาล ก็คือไม่มี respond ด้านบวกเลย
มีแต่กลายเป็นว่าไปจับมือข้ามขั้วกับคนที่มีส่วนฆ่าประชาชน
ไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็มีส่วนสำคัญ
คือมันมีแต่เรื่องที่ทำด้านลบและด้านช้ำใจมากกว่าด้านบวก ไม่มีด้านบวกเลย
ไม่มีการตอบสนองอะไรดี ๆ กลับมาเลย แต่เขาบอกว่าเขาจะทำตามแบบที่คุณณัฐวุฒิเสนอ
ก็คือให้ญาติฟ้องโดยตรง แต่ก็ถอนไปแล้ว
คืออย่างนี้นะ
ในความคิดของอาจารย์ เวลาเราอยู่นปช.เราเสนอยุทธศาสตร์ 2 ขา คือฐานะหนึ่งเป็นนักต่อสู้นอกเวทีรัฐสภา
อีกฐานะหนึ่งก็คือสู้ในเวทีรัฐสภา เขามีสิทธิ์ที่จะสนับสนุนพรรคการเมือง
แต่ขอให้เป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย อันนี้ก็คือยุทธศาสตร์ 2 ขาของนปช. ซึ่งอาจารย์เป็นคนจัดสอนในโรงเรียนการเมืองนปช.ตลอด
นโยบายเราก็ชัดเจนว่านโยบายของเราก็คือต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง
ถ้าไม่ใช่แท้จริงก็เป็นประชาธิปไตยไทย ๆ ปลอม ๆ
เราชัดเจนเรื่องถนนเส้นทางที่เราเดิน
วิธีการเดินด้านหนึ่งก็คือโหวตให้พรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย
ส่วนในการต่อสู้ก็คืออยู่บนถนนสายนี้แหละ แต่ “สันติวิธี” เพราะเราเดิน 2 ขา บางคนก็เดินขาเดียวคืออยู่พรรคการเมืองอย่างเดียว
ไม่ใช่นักต่อสู้ อย่างอาจารย์ก็ขาเดียวแต่อาจารย์ขานักต่อสู้
อาจารย์ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับทางพรรคการเมือง
แต่เราก็ใช้สิทธิโหวตเตอร์ได้เหมือนกับมวลชน ไม่ใช่ในฐานะแกนนำ ถ้าในเวทีรัฐสภาเราเหมือนมวลชน
แต่ในเวทีการต่อสู้เราอาจจะเป็นแกนนำ
มันจึงอยู่ที่ว่าคนเสื้อแดงนั้นเป็นคนเสื้อแดงแบบไหน
ถ้าเป็นคนเสื้อแดงแบบอุดมการณ์ของฝ่ายประชาธิปไตย
เขาก็จะต้องเลือกพรรคการเมืองและโหวตให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย
แต่ถ้าเป็นคนที่เคยต่อสู้ ในความคิดของอาจารย์นะ ไม่ใช่แบบอุดมการณ์แล้วล่ะ
แต่ก็ไม่อยากจะเรียกว่าเป็นพวกเติมเงินหรือไม่
เพราะบางคนเขาก็มีความจงรักภักดีจริง ก็คือไม่ว่าพรรคจะพาไปทางไหนก็เอาทั้งนั้น
มันก็มีส่วนหนึ่ง แต่มันน้อยลงเรื่อย ๆ และถ้ายิ่งจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์
แดงพวก Loyalty นี่แหละก็จะยิ่งเจ็บปวดไปเรื่อย ๆ
แต่แดงพวกที่ไม่เอาแล้วเขาก็บอก...นี่ไงฉันก็ว่าแล้ว พวกที่ไปแล้วไปเลย แต่พวกที่ยังคารังคาซัง
ยังรักยังห่วงอยู่ก็จะเจ็บปวด เพราะว่าแม้นพรรคประชาธิปัตย์จะล่มสลายไปแล้ว
แต่ว่ามันเป็นความทรงจำที่เจ็บปวด
เหมือนอย่าง
นพ.สลักธรรม ลูกชายอาจารย์ที่เขียนว่า
เขายังจำภาพที่เขาเข้าไปอยู่ในห้องในการชันสูตรพลิกศพ
เพราะเขาเป็นหมอผู้ช่วยที่เข้าไปอยู่ด้วย
เขาบอกอาจารย์ว่าเขารู้สึกเหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้
มันเหมือนเป็นความรู้สึกใหม่ แผลสด มันไม่ใช่แผลตกสะเก็ดแล้วหายจนลืมไปแล้ว
นี่ขนาดว่าเขาไม่ได้ไปอยู่ในม็อบตลอดนะ เพียงแต่มาช่วยบ้างในฐานะที่เป็นแพทย์
แต่ตอนที่ไปผ่าชันสูตรพลิกศพ เขาอยู่ด้วยในวันที่ 10 เมษายน 2553 ทุกศพเลย
แล้วคนเสื้อแดงคนอื่น ๆ มันก็รู้สึกเหมือนมันเกิดขึ้นเมื่อวานเหมือนกัน
คือมันยังเจ็บปวดและยังไม่ได้มีการทุเลา คนที่ยังไม่ได้รับการลงโทษ
คุณฆ่าคนมาตลอดแล้วพวกคุณไม่เคยรับผิดชอบ คุณลอยนวลพ้นผิด
แล้วประเทศนี้จะอยู่กันอย่างนี้หรือ? อีกหน่อยก็อาจมีรัฐประหารอีก
ก็ยิงกันอย่างนี้อีก เพราะมันก็ลอยนวลพ้นผิด
ในอดีตบางทีเขาจะใช้นิรโทษสองข้าง
อย่าง 6ตุลา19 นิรโทษนักศึกษาด้วย แล้วก็นิรโทษตำรวจ
เพราะอันนั้นขึ้นศาลพลเรือนไม่ใช่ศาลทหาร ตอนนั้นมันเป็นตำรวจพลร่มนเรศวรที่เข้าไปในม.ธรรมศาสตร์
กรณี 6ตุลา19 เขานิรโทษทั้งสองข้าง
แปลว่าทวงความยุติธรรมไม่ได้ แต่ในกรณีของคนเสื้อแดงเขาไม่ต้องนิรโทษเลย
ฆ่าตายลูกเดียว เขาเชื่อว่ามันเป็นความชอบธรรม
แล้วที่เขาไม่นิรโทษเพราะเขาต้องการลงโทษคนเสื้อแดง-แกนนำเสื้อแดงข้างเดียว
เพราะเขาเชื่อว่าอะไรก็ทำอะไรเขาไม่ได้ นี่คือความจริง ไปดูได้ที่ก่อนหน้านี้จะนิรโทษสองฝั่งตลอดเลย
นิรโทษทหารด้วย นิรโทษประชาชนด้วย แต่มากรณีของคนเสื้อแดง เป็นครั้งแรกที่ไม่นิรโทษใคร
เพราะต้องการจัดการกับคนเสื้อแดง แต่เมื่อก่อนรัฐประหาร 2557
คดีมันเริ่มคืบหน้าบ้าง พอรัฐประหาร 2557 หยุดเลย
คดีที่กำลังสาวไปถึง พอจะดำเนินคดีกับทหารซึ่งรู้ตัวหมดเลย เขาบอกว่าต้องไปศาลทหาร
พอเป็นนักการเมืองบอกต้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ป.ป.ช.ก็หยุด
แล้วคดีที่ยังไม่ได้ชันสูตรพลิกศพตั้ง 62 ศพ ก็อยู่อย่างนั้น
ไม่ทำตามกฎหมาย
คำถามก็คือว่า
ทำไมลอยนวลพ้นผิด
ทำไมประเทศนี้ถึงไม่สามารถที่จะเอาผิดกับคนที่ฆ่าคนมือเปล่าตายกลางถนนฟรี ๆ ได้
แล้วเขาลำพองใจมากนะ ไม่นิรโทษกรรม เพราะถ้านิรโทษกรรม แปลว่าคนเสื้อแดงจะไม่โดน
มันต้องนิรโทษสองข้าง แล้วตอนที่คุณทักษิณเสนอนิรโทษสุดซอยช่วงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์
ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ฝั่งกองเชียร์เสื้อเหลืองเขาก็ไม่ต้องการนิรโทษให้คุณทักษิณ
ฝั่งคนเสื้อแดงก็ไม่ได้ต้องการนิรโทษให้กับทหารและคุณอภิสิทธิ์-สุเทพ อาจารย์ไปถามทุกคนพวกเสื้อแดงนะในกรุงเทพฯ
เขตละ 100 คน 200 คน 300 คน 50 เขตเลย
ไม่มีใครต้องการนิรโทษสุดซอยสักคนเดียว แต่พรรคเพื่อไทยไม่เชื่ออาจารย์
เขายังมีความเชื่อมั่นว่านิรโทษสุดซอยเป็นอานิสสงส์คุณทักษิณก็ได้ด้วย
ต้องนิรโทษให้ฝั่งโน้นด้วย แต่กองเชียร์สองข้างก็ไม่เอา ฝั่งกปปส.เขาก็ออกมากองทัพเลย
มันก็กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้เขา ฝั่งคนเสื้อแดงก็ไม่ได้ออกไปทำอะไร เพียงแต่ในใจไม่เห็นด้วย
แต่ก็ไม่ได้มีผลคือไม่ได้ไปปะทะกับกปปส.ด้วย แล้วก็ไม่ได้ไปว่าอะไรเพื่อไทย
บอกเขาแล้ว เขาไม่เชื่อ แล้วเขาก็ต้องเจอดี
ในทัศนะอาจารย์ก็คือ
ความเข้าใจต่อสังคมไทย พรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณเขาเผชิญกับความเกลียดกลัวจากฝั่งอนุรักษ์นิยมมากนะ
มากเกินกว่าที่เขาคิด แต่เราเข้าใจได้
เพราะตอนนั้นประชาธิปัตย์เขาก็มีเสียงพอสมควรนะ
แล้วถามว่าเขาจะระดมคนสักแสนทำไมจะระดมไม่ได้
ถึงแม้ว่าโหวตแล้วเขาจะแพ้เพื่อไทยก็ตาม พูดง่าย ๆ
ว่าสังคมไทยยังมีลักษณะพิเศษที่เราต้องเข้าใจความเป็นจริง
แล้วต้องจัดการให้ถูกต้อง แต่ในส่วนของคนเสื้อแดง
ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับคุณทักษิณหรือเพื่อไทย เขาก็ไม่ชอบประชาธิปัตย์อย่างมาก
สิ่งที่อาจารย์กำลังทำในทุกวัน
รวมถึงเรียกร้องทวงความยุติธรรมทุกช่องทาง การที่ “ประชาธิปัตย์” จับมือกับ “เพื่อไทย”
แล้ว ความหวังดูลดน้อยลงไปมั้ย?
มันลดลงตั้งแต่ข้ามขั้วแรกแล้ว
“ประชาธิปัตย์” ตอนนี้อ่อนแรงแล้ว เหลือแต่เป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความเกลียดชังให้กับคนเสื้อแดงเท่านั้น
เพราะว่าตัวการเขาอาจจะไม่อยู่และพลังเขาน้อย
แต่มันไม่ได้หมายความว่าคนจะไม่จดจำสิ่งที่ได้ทำมา
และตัวพรรคจะต้องรับผิดชอบในสิ่งนั้น เพราะเป็นรัฐบาล เขาไม่ได้หยุดยั้ง
แต่เขากลับทำให้มีการปราบปรามเข่นฆ่าอย่างรุนแรงที่สุด คนไม่ลืม เสื้อแดงที่เป็น FC พรรคเพื่อไทย หรือว่าเป็นเสื้อแดงแบบอุดมการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการข้ามขั้วและหันไปสนับสนุนพรรคใหม่
ทั้งหมดก็ไม่ชอบประชาธิปัตย์ทั้งนั้นแหละ
การกลับมาของ “ทักษิณ”
และบทบาทที่มากขึ้นเรื่อง ๆ อาจารย์มองยังไง?
อาจารย์ว่าเขาจะเป็นเหตุทำให้ไม่รู้ว่าคุณอุ๊งอิ๊งจะอยู่กันยังไง
น่ากลัวอยู่นะ เพราะว่าคุณอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ แต่คนที่มาพบกับคุณทักษิณ
ข้างหลังถือมีดถือดาบยาว ๆ ทั้งนั้นเลย อย่าเผลอตรงไหน? มีช่องว่างตรงไหน? เสียบดาบเลย
ต้องเจอเยอะ เพราะว่าคุณทักษิณความจริงเขาไม่ได้ตั้งใจเป็นศัตรูกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม
แต่ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยทำความหวาดกลัวและเกลียดชังให้กับอนุรักษ์นิยม
เพราะเท่ากับว่าดึงมวลชนมา จะเป็นใหญ่กว่าระบอบเก่าดั้งเดิม มันสะสมมาตลอด
นอกจากนั้นก็เหมือนพรรคการเมืองทั่วไปซึ่งมีจุดอ่อนอยู่จำนวนมาก
ซึ่งก็มีคดีความได้หลายอย่าง ซึ่งเขาก็ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม
หลายเรื่องเลยไม่เป็นธรรม ตรงนี้มันยาวนาน แต่ในขณะเดียวกัน ฝั่งที่ไม่ต้องการให้คุณทักษิณขึ้นมามีอำนาจครอบครองประชาชนทั้งประเทศก็มีทั้งวาทกรรมแห่งความเกลียดชังอะไรต่าง
ๆ ออกมา มันมาก ยาวนาน จนกระทั่งทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนมาก
แม้กระทั่งประชาชนทั่วไป มีความเกลียดชังและกลัวคุณทักษิณมาก
เมื่อคุณทักษิณเข้ามาอยู่ฟากนี้เป็นความจำเป็นของเขา มี “บิ๊กดีล”
แบบไหนไม่รู้ก็ต้องดึงมา แต่มันไม่ได้หมายความว่าความเกลียดกลัวคุณทักษิณจะหายไป
ฉะนั้น ที่เขาจะอยู่นี้
อยู่ลำบาก ต้องทำตัวเป็นผ้าพับไว้ตามที่ฝ่ายจารีตอำนาจนิยมอนุญาตให้ทำ
ทำเกินก็ไม่ได้ “ดิจิทัลวอลเล็ต” อย่างที่โฆษณาอย่ามาทำนะ ทำเป็นโดนแน่เลย
จะทำอะไรก็ต้องขอใบอนุญาตจากระบอบที่เป็นระบอบดั้งเดิมก่อนว่าทำได้แค่ไหน
มากไปก็ไม่ได้ ข้อสำคัญก็คืออาจจะเป็นความเคยชินของคุณทักษิณซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุ
เห็นว่าเขาฟ้องร้องกันเยอะใช่มั้ย ครอบงำ/ครอบครอง มีเยอะแยะ เราก็ยังไม่ได้มองคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรู
สำหรับอาจารย์ถือว่าเป็น Transitional Period เดี๋ยวเขาก็ต้องเรียนรู้ว่าแล้วมันจะเป็นยังไง?
ที่ข้ามขั้วไปจะเป็นยังไง?
ถ้าต้องทำทุกอย่างในฐานะหางเครื่องและเครื่องมือของระบอบเก่า
หรือระบอบอำมาตย์พวกเครือข่ายจารีตอำนาจนิยม
คุณก็สูญเสียโหวตเตอร์ที่เป็นพลังประชาธิปไตย
เพราะว่าโหวตเตอร์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาก็ไม่ได้ชอบคุณ คุณจะไปชิงเสียงพวกอนุรักษ์นิยมมาได้ยังไง?
ขนาดประชาธิปัตย์เขาก็ยังเลิกเลย
และจำนวนมากหลายคนคือคนชั้นกลางก็หันมาเลือกพรรคใหม่
มวลชนชั้นล่างก็เหมือนกันก็มาเลือกพรรคใหม่ เสียงของคุณที่เป็นฐานเสียงดั้งเดิมก็คือเสียงของฝ่ายประชาธิปไตย
ซึ่งเวลา 17
ปีที่คุณทักษิณไม่อยู่ มันยาวนานเกือบ 20 ปี
คนถูกบ่มเพาะทางการเมืองจนกระทั่งถึงบัดนี้
เขากลายเป็นคนที่เข้าใจการเมืองอย่างลึกซึ้ง
และความต้องการประชาธิปไตยมันมีพลังสูงยิ่ง
ถ้าคุณต้องการโหวตเตอร์ทางนี้
คุณก็ต้องทำปัญหาทางการเมือง เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือนิรโทษกรรม
และการแก้กฎหมายที่ล้าหลังต่าง ๆ แต่อาจารย์ดูว่าเขาก็ทำได้เท่าที่ฝั่งอำมาตย์อนุญาต
เช่น นิรโทษก็คือไม่เอา 112
แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังไม่รู้จะแก้ได้เท่าไร โอกาสที่จะได้เสียงฝั่งประชาธิปไตยก็ยาก
โอกาสที่จะได้เสียงฝั่งอนุรักษ์นิยมก็ยาก แต่เขาต้องใช้ยุทธวิธี “บ้านใหญ่”
ไม่ใช่เป็นกระแสระดับชาติแบบในอดีตอีกแล้ว เป็นเรื่องที่เขาต้องยอมรับความเสี่ยง
เพราะว่าการร่วมมือกับฝั่งจารีตอำนาจนิยมทำให้คุณทักษิณกลับมาได้
ทำให้เป็นรัฐบาลได้
ขณะที่ฝ่ายจารีตอำนาจนิยมเขาก็ไม่ไว้ใจคุณทักษิณหรอก
ในความคิดอาจารย์นะ เขาไม่ไว้ใจ คือคุณต้องทำตามนะ ต้องเดินตามร่อง
ออกไปนอกร่องไม่ได้ หน้าที่ของคุณก็คือชิงคะแนนเสียงมาจาก “ก้าวไกล”
เพราะลำพังพวกจารีตนิยมมันก็หดไปทุกวัน
พอมันหดไปทุกวันก็ต้องเอาคุณทักษิณเข้ามาเป็นแกนนำ ฉะนั้นสถานะของคุณทักษิณมาแทนที่พรรคประชาธิปัตย์แล้ว
เป็นแกนนำฝ่ายระบอบเก่าจารีตอำนาจนิยม เมื่อก่อนเขาเคยเป็นแกนนำฝั่งโน้น
ตอนนี้ย้ายข้ามมาแล้วและเป็นแกนนำฝั่งนี้ แล้วเป็นได้จริงหรือเปล่ายังไม่รู้
อาจารย์ก็เลยบอกว่าอย่าไปถือว่าเขาเป็นศัตรู ก็นั่งดูไปซิว่าเป็นยังไง
อาจารย์เชื่อว่าเขาอาจจะย้ายกลับมาฝั่งประชาธิปไตยได้?
คงยาก! เพราะว่าในฝั่งประชาธิปไตย ผู้นำเปลี่ยนไปแล้ว
จากเมื่อก่อนก็เป็นผู้นำนะ มากลายเป็น “ก้าวไกล”
เพราะเลือกตั้งครั้งที่แล้วเสียงได้มากกว่า “เพื่อไทย” แต่อนาคตก็ไม่รู้นะ
ทุกอย่างมันมีลักษณะชั่วคราวและมีการเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอดเวลา
แล้วการที่ “เพื่อไทย”
ไปจับกับ “ประชาธิปัตย์” ถามว่าใครได้?
ก็ได้เป็นรัฐบาลไง! หมายความว่าได้มีเสถียรภาพ เพราะพรรคเพื่อไทยกับพรรคไทยรักไทยเขาถือว่าตัวเลขต้อง
300
บางคนวิเคราะห์ว่าเป็นการแก้แค้นของคุณทักษิณ
ในการเขี่ยลุงป้อม
เขาไม่ได้ไปถึงขนาดนั้น
เขาต้องการเสถียรภาพ ไม่ใช่หรอกเพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องไปทำอะไรเขาก็ล่มของเขาเองอยู่แล้ว
เพราะสถานภาพของการที่เป็นแกนนำฝ่ายจารีตอำนาจนิยมไม่ได้เป็นแล้ว คนเขาก็เบื่อ
เขาไม่ไว้ใจ เพราะว่าประชาธิปัตย์ไม่สามารถเอาชนะเพื่อไทยได้ เขาพูดเองนะ 26 ปีมาแล้วที่สู้กับพรรคเพื่อไทย
เพราะเสียงที่มากที่สุดคือ 169 แล้วตอนนั้นเพื่อไทยได้ 200 กว่า ประชาธิปัตย์ไม่เคยขึ้นถึง 200 ในขณะที่เพื่อไทยนั้นไปถึง
ฝั่งอำมาตย์พยายามจะแก้ทุกอย่าง มาเป็นบัตรใบเดียวบ้าง แบ่งเขตใหม่บ้าง แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่ชนะ
ดังนั้นคนที่เป็นประชาชนและพลังฝ่ายจารีตเขาก็เลยตั้งพรรคเองคือพรรคพลังประชารัฐ
บังเอิญว่าสองลุงมาแตกกัน แต่ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้เสียงเยอะนะ
เสียงออกมาเป็นบัญชีรายชื่อเยอะมาก ขณะที่เขตได้เสียงน้อย
ประชาธิปัตย์เขาสูญเสียไปแล้ว ความรู้สึกเจ็บปวดของประชาชนที่มีต่อยุคที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
มันรู้สึกเหมือนเพิ่งผ่านมาเมื่อวานนี้
ก้าวต่อไปทางการเมืองของ
“ทักษิณ” อาจารย์วิเคราะห์อย่างไร
สำหรับตัวคุณทักษิณเอง
เขาก็พยายามที่จะเรียกคะแนนคืนมา ตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรใบเดียว เราจะเห็นว่าเพื่อไทยได้
7-8 ล้านเสียงเอง มันหายไปมาก พอปี 2566 เขาถึงทำโครงการ “ครอบครัวเพื่อไทย” แล้วเอาสีแดงมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อจะดึงคนเสื้อแดงกลับ
ก่อนหน้านี้ไม่มี แต่ขอโทษ ไปแล้วไปเลย เพราะเขาเป็นพวก Active Citizen แล้ว เขามาต่อสู้การเมือง เขาไม่ได้ต่อสู้เศรษฐกิจ
โมเดลไทยรักไทยเมื่อก่อนมันแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพราะขณะนั้นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย
เราเพิ่งมีรัฐธรรมนูญ 2540 เข้าสู่โหวตการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่
แล้วคุณทักษิณแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งขณะนั้นปัญหาของประเทศเป็นปัญหาเศรษฐกิจ แต่ 17 ปีมานี้ เป็นปัญหาทางการเมือง แน่นอนเศรษฐกิจก็ถดถอยและมีความเหลื่อมล้ำสูง
แต่การที่เศรษฐกิจถดถอยและมีความเหลื่อมล้ำสูงเพราะการเมือง
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทัศนะของประชาชน
ความคิดของอาจารย์นะ เขาให้ความสำคัญมากกว่า นี่คือเหตุผลที่ทำไมพรรคก้าวไกลชนะ
อาจารย์มองว่าการกลับมาของ
“ทักษิณ” คะแนนอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น
เขาก็พยายาม แต่เขาใช้โมเดลเดิมก็คือจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ซึ่งโมเดลว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจนี้ฝั่งอำมาตย์โอเค
จะได้ไม่มายุ่งเรื่องปรับโครงสร้างการเมือง แต่ว่าทำเศรษฐกิจมากไปก็ไม่ได้นะ “ดิจิทัลวอลเล็ต”
ทำไม่ได้ บอกให้ทำแค่กลุ่มเปราะบาง สุดท้ายก็ต้องทำแค่กลุ่มเปราะบางและใช้ช่องทางบัตร
“ลุงตู่” สุดท้ายไม่มีหรอก “ดิจิทัลวอลเล็ต” มันก็ยากที่จะทำได้
คือคุณจะทำอะไรก็ทำตามได้เท่าที่เขาอนุญาต นี่ความคิดของอาจารย์ จึงจะทำให้การที่จะเกิดพายุหมุนเศรษฐกิจเป็นไปไม่ได้เพราะเขาไม่อนุญาต
คือแค่ลมโชย ๆ ได้ แต่พายุหมุนไม่ได้
แต่ประมาทไม่ได้
คุณทักษิณเขาก็เป็นคนเก่งคนฉลาด แต่อย่างที่บอกว่าสังคมไทยมันซับซ้อน
ลักษณะสังคมของเราโดยเฉพาะโครงสร้างชั้นบนที่อาจารย์พูดอยู่เสมอ ก็คือเศรษฐกิจเราเป็นทุนนิยมจริง
เรามองประเทศต่าง ๆ ได้จริง
แต่เมื่อเราหันมาดูโครงสร้างชั้นบนที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี การศึกษา วัฒนธรรม
กระทั่งวรรณกรรม ทุกอย่างโครงสร้างในเชิงนามธรรมนะ ก็ล้าหลัง แล้วในเชิงรูปธรรม
มีโครงสร้างทางอำนาจขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ หรือว่ากองทัพ
มันไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และไม่ขึ้นต่อ และอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้บุคลากรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเหล่านี้มีอำนาจการปกครองและมีอาวุธในการจัดการกับพรรคการเมืองที่ไม่พึงประสงค์มากมาย
เหมือนที่มาตรา 49 ยุบพรรคได้ด้วยคน ๆ เดียว
เพราะเขาเตรียมไว้แล้ว อาจารย์มองรัฐธรรมอาจารย์รู้ว่า อ๋อ...อันนี้เตรียมไว้ให้นักร้องมาร้องยุบพรรคโดยตรง
คุณทักษิณก็เก่งในฐานะนายทุนที่มีวิสัยทัศน์ แต่มันยากตรงที่ว่าเหมือนกับที่แกเคยพูด “ผมก็คิดว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว ผมก็ทำเต็มที่” คือเหมือนพรรคการเมืองที่อื่น แต่ว่าเอาเข้าจริงมันไม่ใช่
พรรคก้าวไกล-พรรคประชาชน อาจารย์มองพรรคการเมืองแบบนี้อย่างไร
ที่เขาไปแตะโครงสร้างทางการเมือง และเมื่อแตะแล้วเขาก็ถูกยุบพรรค
ยุบพรรคเขาก็ขึ้นใหม่
เรื่องที่น่าเสียดายก็คือ มันก็ควรเป็นบทเรียนว่า พรรคประชาชน พรรคก้าวไกล
ก็ต้องเรียนรู้ว่าสังคมไทยนั้น โครงสร้างชั้นบนมันแข็งแรงมาก แข็งแรงทั้งนามธรรมและรูปธรรม
และไปกันไม่ได้กับเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของเราก็เลยยิ่งฟุบหนักเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนโดยตรง
เมื่อก่อนสิงคโปร์เขาบอกเขากลัวประเทศไทยมากในช่วงคุณทักษิณนะ แต่ตอนหลังไม่ใช่ละ
พัฒนาการของประเทศ
ประชาชนตกผลึกแล้วว่าต้องแก้ปัญหาการเมือง แต่มันต้องเป็นบทเรียนว่า 1) พวกไม่แก้เลย กับ 2)
พวกแก้ จะทำอย่างไรให้สอดคล้องความเป็นจริงและให้เดินหน้าได้ ทีนี้พรรคประชาชนและพรรคอนาคตใหม่
ต้องสังเวยแกนนำไปทีละคนไง ไล่มาตั้งแต่รุ่นที่ 1 รุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 อาจารย์ไม่ได้เป็นสมาชิกเขา
ไม่ได้สังสรรค์อะไรกับเขา แต่ก็เสียดายบุคลากร
แต่พรรคเพื่อไทยเสียดายที่เขาควรจะทำได้ดีกว่านี้ พรรคประชาชนนั้นอาจจะเล่นเหมือนกระโดดสูงเกินไป
หรือถ้ายกน้ำหนัก มันไม่ได้เท่ากับความเป็นจริง
เรียกน้ำหนักมากเกินไปกว่าที่ตัวเองจะยกได้
แต่เขาบอกว่าถ้าไม่เรียกน้ำหนักสูงแบบนี้ก็ขยับไม่ได้
ต้องค่อย ๆ ไป เขาไม่ต้องการแบบนั้น
แต่มันต้องมีวิธีการ
ประชาชนไทยไม่โง่นะ คุณเรียกน้ำหนักสูงทีเดียวแล้วคุณตกเลย มันก็ไม่ได้
การต่อสู้ของประชาชนเพื่อที่จะให้ได้อำนาจมาเป็นของประชาชนแท้จริงมันเป็นระยะยาวนานและยืดเยื้อ
ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถที่จะเดินต่อกันได้อย่างแข็งแรงและมีแนวร่วมมากขึ้น ณ บัดนี้ต้องถือว่าทำสำเร็จพอสมควรเลย
ทำสำเร็จจนกระทั่งพรรคเพื่อไทยก็มีปัญหา คือควรจะเป็นที่ 1 แต่ก็น้อยกว่าเพียง 10 ที่นั่ง แต่พอเอามารวมกัน (เพื่อไทย+ก้าวไกล)
เราก็ดีใจในฐานะฝ่ายประชาธิปไตย
ในพรรคเพื่อไทยหรือในพรรคประชาชนก็ตามต้องสนใจรายละเอียดความเป็นจริง
ไม่ได้อยู่ที่ความประสงค์ต้องการ เราต้องทำให้สอดคล้องความเป็นจริง แล้วคุณรู้หรือเปล่าว่าความเป็นจริงคืออะไร
มันถึงจะสำเร็จ ถ้ามันเกินกว่าความเป็นจริงมันก็เสียหาย
ต้องดูว่าความเสียหายยอมรับได้แค่ไหน ขณะพรรคประชาชนเหมือนกับพลีชีพไปทีละคน ๆ
แล้วยังไม่รู้ว่าเขาจะเล่นเรื่องจริยธรรม 44
คนอีกหรือเปล่า อันนี้ตลอดชีวิตเลยนะ แบบคุณช่อ นี่คือเครื่องมือ
ซึ่งฝั่งจารีตอำนาจนิยมมีเครื่องมือมากมาย
สุดท้ายอยู่ที่ว่าเป็นคนดีมีจริยธรรมวิญญูชนตัดสินได้ กลายเป็นอย่างนั้นไป
ซึ่งไม่รู้มาตรฐานอยู่ตรงไหน? อาจารย์คิดว่าต้องละเอียด
ต้องมองว่าความเป็นจริงคืออะไร ไม่ใช่ความฝันอย่างเดียว ความฝันต้องมี
พรรคการเมืองคิดว่าถ้าทำแบบเดิม
ผลลัพธ์ก็อาจจะเป็นแบบเดิม เขาก็เลยแบกน้ำหนักให้มากกว่าเดิม
ถูก ๆ ๆ แต่ว่าเราเสียดายไง
เสียดายบุคลาการ คือมันไม่จำเป็นต้องพลีชีพ แต่ถ้าพูดถึงในภาพรวมนะ ถ้าเราไม่พูดถึงบุคคลนะ
ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่พูดอย่างนี้มันเหี้ยมโหดนะ
คือแปลว่าเรายอมให้มีคนพลีชีพจำนวนหนึ่ง แต่ทำให้ประชาชนตื่นรู้เป็นจำนวนมาก
อาจารย์มองว่าเป็นการเสียสละเลยมั้ย?
เขาไม่ได้ตั้งใจมาเสียสละ
เขาตั้งใจเป็นส่วนแห่งความสำเร็จ แต่ไป ๆ มา ๆ
มันกลายเป็นการพลีชีพซึ่งอาจารย์ก็เสียดาย และสิ่งที่ฝั่งจารีตอำนาจนิยมต้องการไม่สำเร็จหรอก
เพราะว่า “คน” สำคัญที่ “ความคิด” ถ้าความคิดประชาชนเปลี่ยนไปจนเกือบหมดแล้ว
จะใช้กลเม็ดอะไร หรือจะเด็ดหัวเขาไปทีละคน แต่จะเด็ดหัวคนทั้งประเทศ มันไม่ได้!
คนบางส่วนเขาบอกว่าเขาเสียดาย
“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ในมุมมองของอาจารย์เสียดายมั้ย?
ก็เสียดายทุกคนแหละ
ข้อสำคัญก็คือมันไม่ถูกต้อง คนที่ถูกจัดการเขามาจากเสียงตั้ง 14 ล้านกว่าเสียง แล้วคนไม่กี่คนที่ถูกแต่งตั้งมา
ไม่ยึดโยงกับประชาชน มาจัดการและค้านกับสายตาคนดู ภายหลังยังออกมาพูดจาเสียดสีเยาะเย้ยอีก
อาจารย์ไม่อยากจะไปก้าวล่วงนะ แต่เราต้องรู้ที่มาที่ไปและต้องเตือนด้วยว่า
แม้กระทั่งฝั่งจารีตเขาก็คงไม่อยากให้ประเทศเสียหายพังทลาย อาจารย์ก็ไม่ต้องการ เพราะฉะนั้นที่เราอยู่กับคนเสื้อแดงมายาวนาน
เราใช้สันติวิธีตลอด ถ้าตอนนั้นเราเกิดบอกว่าไม่ไหวนะ แล้วเอามันทุกวิธีนะ
มันก็ยุ่งนะ แต่พอเราเอาสันติวิธี เราเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว
แล้วพอพวกเราเป็นรัฐบาล อ้าว...เมินเฉยอีก อยากไปทำเป็นมิตรกับคนที่มาฆ่าพี่น้อง
นี่ไม่ใช่เรื่องอาฆาตมาดร้าย
แต่เป็นเรื่องมองไปในอนาคตว่า จะมาฆ่าประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีกแล้วลอยนวลพ้นผิดไม่ได้
ถ้าไม่ทำตอนนี้ ตอนหน้ามันก็ฆ่าคนอีก อาจารย์คิดอย่างนั้น
เขาถือว่าตายไปแล้วก็ตายไป แล้วคำถามว่าคราวหน้าจะมีอีกไหม?
มันมีมาตลอดเลยในการฆ่าคน ฉะนั้นการต่อสู้ของประชาชนจึงต้องเดินต่อไป ถึงแม้เขาบอกว่าสลายขั้วไปจับมือ
อันนั้นเป็นพรรคการเมือง ไม่ใช่การต่อสู้ประชาชน อย่างพรรคเพื่อไทย 10 กว่าปี ก็ควรจะมีบทเรียนนะ ว่าถ้าภาคประชาชนไม่เข้มแข็ง
เอาพรรคการเมืองมาเป็นหลักอย่างเดียว มันไม่ได้!
ในที่สุดคุณจะสูญเสียโหวตเตอร์
พรรคประชาชนเขาก็ต้องเติบโตต่อไป
แล้วเขาจะมี Generation ใหม่ แต่อาจารย์ก็อยากให้เขาพยายามทำอะไรให้สอดคล้องความเป็นจริง
นี่เป็นหลักทฤษฎีนะ อาจารย์เป็นคนที่ศึกษาทฤษฎีประสานกับการปฏิบัติ
ไม่ใช่นักทฤษฎีอย่างที่นั่งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นนักวิชาการอิสระ
ควบคู่ไปกับการทำงาน เขาจะยอมรับหรือไม่ยอมรับอาจารย์ไม่สนใจ
ข้อสำคัญก็คือเราต้องการให้ได้ความรู้และความจริง
สนับสนุนให้การต่อสู้ประชาชนได้บรรลุ
ทำงานการเมืองอยู่บนหลักความเป็นจริงคืออะไร
อันนี้เรียกว่า “ภววิสัย”
ถ้าเราทำตามความคิดของเราเขาเรียกว่าเป็นพวก “อัตวิสัย” เช่น
เราตั้งเลยว่าเราอยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
อันนี้ใช้เป็นหลักส่วนตัวก็ได้นะ คุณมีสิทธิ์ที่จะฝันอยากจะเป็น Miss Universe
หรือว่าอยากจะเป็นเศรษฐีเท่าไหร่ ถามว่าแล้วความเป็นจริงมันได้มั้ย?
ต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริง แล้วพยายามทำให้ก้าวหน้ารุดหน้าไป แต่ต้องมีเป้าหมาย
พอเริ่มต้นจากความเป็นจริงมันก็สอดคล้อง สมมุติว่าเป็นการเงินธุรกิจ
ถามว่าเรามีเงินอยู่เท่าไหร่ ถ้าเราจะกู้ เรากู้ได้เท่าไหร่ กู้แล้วเรามีสิทธิที่จะคืนได้เท่าไหร่
นี่ยกตัวอย่าง
ในทางการเมืองต้องเข้าใจสังคมไทยว่าสังคมไทยประกอบด้วยคนภาคส่วนต่าง
ๆ แล้วสังคมประเทศไทยเป็นสังคมที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้น
ความล้าหลังของโครงสร้างชั้นบน ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม แม้กระทั่งวรรณกรรม
การศึกษา ยังเอามาจากยุคโบราณทั้งหมด บางทีแย่กว่ายุคโบราณ เหมือนโทษ 112 ยุคโบราณเขาไม่มีโทษชั้นต่ำ โทษขั้นสูง 7
ปี ตอนนี้ที่เขาบอกไม่ให้แก้นะ โทษขั้นต่ำ 3
ปี โทษขั้นสูง 15 ปี แย่ยิ่งกว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เราอยู่ในยุคทุนนิยม
เศรษฐกิจเป็นทุนนิยมจริง แต่สังคมของเราเป็นสังคมที่ระบอบที่ล้าหลังไม่เคยถูกอันตราย
ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการล่าเมืองขึ้น
ถ้าประเทศที่เขาถูกล่าเมืองขึ้น
พวกความคิดแบบเก่าหรือกฎหมายแบบเก่าจะต้องถูกจัดการโดยเจ้าอาณานิคม
แม้กระทั่งญี่ปุ่น เวลาอเมริกาไปเขาเขียนรัฐธรรมนูญให้นะ
แล้วญี่ปุ่นก็ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นเขาเรียกว่าซากเดนของระบอบเก่ายังมีอยู่เยอะมาก
หนาแน่นมาก จึงจะเทียบกับพม่า/มลายู/เวียดนาม/อินโดนีเซีย ไม่ได้
เราภาคภูมิใจที่เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร
อาจารย์เคยไปเห็นข้อสอบเด็กมัธยมของสิงคโปร์แล้วอาจารย์งง?
เขาถามว่ามีข้อดีอะไรบ้างสำหรับการที่คุณตกเป็นประเทศอาณานิคม อาจารย์ก็งง?
ออกข้อสอบแบบนี้ได้ไง? เป็นอาณานิคมมันจะดียังไง? ทุกคนก็ต้องตอบเหมือนกันหมด
ก็เลยทำให้อาจารย์ฉุกใจคิดขึ้นมา เพราะเราอยู่ในช่วงของการวิเคราะห์สังคมตลอดมา
นั่นก็คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ล้าหลัง สิ่งที่ยังให้คนส่วนน้อยมีอำนาจในการปกครองไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยจริง
มันยังดำรงอยู่
สำหรับพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนเขาก็พอเข้าใจนะ
แต่ว่าการแก้ไขก็ต้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ตอนนี้ก็ทำได้มากแล้วนะ
ก็คือการที่เขาใช้เวลาเพียง 2 ปี
เขาสามารถได้เสียงเลือกตั้งขนาดนี้ ในทัศนะอาจารย์นะ ถือว่าเขาประสบความสำเร็จมากเกินคาด
มองการเลือกตั้งครั้งหน้า
พรรคการเมืองอันดับ 1 ที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ?
น่าจะเป็นพรรคประชาชน
การยุบก็ยิ่งทำให้คนยิ่งสงสาร แต่ผลสำเร็จของเขามันเป็นการยืนยันว่าคนต้องการแก้ปัญหาการเมือง
ปัญหาโครงสร้างทางการเมือง โดยเฉพาะสิ่งที่ล้าหลังที่ครอบงำสังคมไทย
อันนี้คือผลของการพิสูจน์และเป็นสิ่งที่คนเลยหนีจากพรรคเพื่อไทยมาพรรคประชาชน
ถ้าพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนได้มาอันดับ
1 จริง
เขามีโอกาสเป็นรัฐบาล เข้าสู่อำนาจบริหารมั้ย?
ก็อาจจะเจอรัฐประหาร
เพราะโครงสร้างเก่ายังแข็งแรงอยู่ อาจจะเจอรัฐประหารหรืออะไรต่าง ๆ ก็ได้ แต่ครั้งนี้พูดตรง
ๆ ว่า กลยุทธ์ที่ดึงเพื่อไทยข้ามขั้วไปนะ แล้วให้พรรคต่าง ๆ
ไม่ให้ความร่วมมือกับพรรคประชาชนก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่เยี่ยมยอดนะ
ประสบความสำเร็จ คือทำให้พรรคที่ชนะที่ 1 ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประเทศทางแถบตะวันตกเขาถือเป็นเรื่องธรรมดานะ
ว่าพรรคอันดับ 1 อาจจะตั้งรัฐบาลไม่ได้
แต่นั่นมันคนละบริบทกับสังคมไทย เพราะของเขามันเป็นเสรีประชาธิปไตย เป็นเสรีนิยมเต็มที่
มันขึ้นอยู่กับการรวมเสียง แต่ที่มาของเรามันมาจากการทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นสว.
ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือการสืบทอดอำนาจ คนละบริบทกัน
การที่พรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับ
1 และไม่ได้เป็นรัฐบาล
มีความหมายต่อการเมืองการปกครองของสังคมไทยมาก
แปลว่าชุดอำนาจเก่าจารีตอำนาจนิยมทำอย่างไรเสียก็ต้องสกัดกั้นพรรคก้าวไกลให้ได้
จะเกลียดจะกลัวคุณทักษิณยังไงก็เลยต้องดึงมา เป็นความจำเป็นที่จำเป็นต้องมาเพื่อที่ว่าให้ทำเศรษฐกิจไป
ทำอยู่ในกรอบ ขณะที่คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยเป็นตลาดร่วมกันกับพรรคก้าวไกลในฝ่ายประชาธิปไตย
มันถึงเป็นภาพแบบนี้ แต่ว่าฝั่งจารีตอำนาจนิยมไม่เป็นเอกภาพ และไม่ต้องรอถึง 2570 ภายในไม่กี่วันนี้นะ เพื่อไทยจะอยู่ยังไง มันจะตื่นเต้นมาก
ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย เตรียมตัวรับรู้สถานการณ์ที่คาดไม่ถึง!