“พิธา” กล่าวสุนทรพจน์มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ดันอาเซียน-ออสเตรเลียจับมือบนพื้นฐานประชาธิปไตยสร้าง “อำนาจกลาง”
วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 (ตามเวลาท้องถิ่นของออสเตรเลีย) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับเชิญให้กล่าวสุรทรพจน์ “อนาคตประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เมืองเมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย
โดยพิธากล่าวว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับโอกาสและความท้าทายมากมาย ในด้านโอกาสมีการคาดการณ์ว่าอาเซียนจะเติบโตถึง 5.3% ในปี 2024 ประชากรวัยหนุ่มสาวหรืออายุต่ำกว่า 30 ปีของทั้งอาเซียนอยู่ที่ 50% ขณะที่ 6 ใน 10 ของประเทศอาเซียนเพิ่งได้ผู้นำใหม่ที่ดึงค่าเฉลี่ยอายุของผู้นำอาเซียนลงมาเกือบ 20 ปี
แต่ขณะเดียวกัน อาเซียนก็ต้องเผชิญหน้าความท้าทายที่มีอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยกว่า 82,000 คน ผู้พลัดถิ่นในประเทศเกือบ 3 ล้านคน ขณะที่ภูมิทัศน์ความขัดแย้งกำลังเปลี่ยนไป แต่วิกฤติมนุษยธรรมก็ยังคงดำเนินไปเคียงคู่กัน จากประชากร 56.6 ล้านคน ขณะนี้มีชาวเมียนมากว่า 18.6 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งความน่าเชื่อถือของอาเซียนต่อประชาคมโลกจะถูกตัดสินจากความสามารถของเราว่าจะรับมือสถานการณ์นี้ได้ดีเพียงใด
3 ปีหลังการรัฐประหารในเมียนมา เราได้เห็นแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของยาเสพติดที่ผลิตจากในประเทศเมียนมา การค้ามนุษย์ที่ขยายตัวมากขึ้น อาชญากรรมข้ามชาติที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือแม้แต่วิกฤติไฟป่าและหมอกควันข้ามแดนที่มีความรุนแรงขึ้น และนี่คือเหตุผลที่เหตุใดอาเซียนควรต้องมีบทบาทต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาอย่างแข็งขัน แม้ความท้าทายนี้จะมีความซับซ้อน แต่ด้วยเอกภาพและความมุ่งมั่นร่วมกัน เราสามารถสร้างความแตกต่างได้ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกับเมียนมามากที่สุด
พิธากล่าวต่อไป ว่าความท้าทายประการต่อมาคือกรณีความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะในกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งอาเซียนจะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเกิดความติดขัดในเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ เนื่องด้วยทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางการค้าทางทะเลกว่า 60% หรือคิดเป็น 22% ของการค้าของทั้งโลก โดยที่ประเทศอย่างน้อย 10 ประเทศต้องอาศัยทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางการค้าสำคัญ โดยแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้คู่กรณีแต่ก็เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่ควรจะมีบทบาทในการสร้างความมั่นคง สันติภาพ และหลักเสรีภาพในการเดินเรือ
ความท้าทายประการต่อมา คือกรณีอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่ง 4 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับความผันผวนของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ที่เป็นผลโดยตรงจากการสร้างเขื่อนจำนวนมากที่ต้นน้ำ และยิ่งขยายผลกระทบมากขึ้นจากสภาวะโลกร้อน
พิธากล่าวต่อไป ว่าประเทศออสเตรเลียมีความสัมพันธ์กับอาเซียนมาอย่างยาวนาน มีประชากรกว่า 1 ล้านคนที่มีรากเหง้ามาจากประเทศอาเซียน มีการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การย้ายถิ่นฐาน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และความร่วมมือทางการค้าการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่น่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ก็คือการบรรลุสันติภาพเอเชีย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์สงครามสองสงคราม ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และข้อพิพาทด้านดินแดนที่เกิดขึ้นทั้งในภูมิภาคและในที่อื่นที่ห่างไกลออกไป
พิธากล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามสถานการณ์นี้เองก็คือพื้นฐานสำคัญที่สามารถนำไปสู่ความร่วมมืออย่างแข็งขันระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียขึ้นมาได้ในฐานะ “อำนาจกลาง” ที่สามารถถ่วงดุลอำนาจของโลกได้ ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ด้วยการมีส่วนร่วมจากออสเตรเลียที่ยึดถือในคุณค่าทั้งทางด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
ขณะเดียวกัน ฝั่งประเทศอาเซียนเองก็ต้องมีการปฏิรูปและพัฒนากลไกหลายด้านเพื่อความร่วมมือที่มากขึ้นกับออสเตรเลีย ในการก่อตัวขึ้นเป็นพันธมิตรอำนาจกลาง อาเซียนมีจุดด้อยในด้านความน่าเชื่อถือในเวทีโลกมาโดยตลอด กฎบัตรอาเซียนที่ตกลงกันเมื่อปี 2008 ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิบัติอย่างมีความสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ตนจึงขอเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนกลับมาทบทวนสิ่งที่ตกลงกันในกฎบัตรอาเซียนร่วมกันอีกครั้ง ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติท่ามกลางความท้าทายที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
พิธากล่าวทิ้งท้าย ว่ามีสำนวนหนึ่งที่ประเทศไทยมักใช้ในการต่างประเทศมาเสมอ คือคำว่า “ไผ่ลู่ลม” หมายถึงการสามารถเบนตัวเองไปตามทิศทางของลมได้ แต่ในสภาวะที่กระแสลมพัดกระหน่ำมาจากหลายทิศทางอย่างในปัจจุบันนี้ คำตอบที่ดีที่สุดควรเป็นการทำตัวเป็น “กังหันลม” เพื่อดึงเอาพลังจากกระแสลมนั้นมาใช้ในการเติมเต็มความร่วมมือและความมั่งคั่งระหว่างเรา ซึ่งหากอาเซียนและออสเตรเลียสามารถรวมตัวกันได้ เราจะสามารถสร้างกังหันลมอย่างที่ว่านั้นได้
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์