#4ปี18กรกฎา จัดเสวนา ม.112 "ความผยองของอำนาจรัฐ" บอกเล่าที่มาของการถูกดำเนินคดี พูดคุยผลกระทบที่ได้รับ ชวนสังคมร่วมหาทางออก หวังนิรโทษกรรมรวมทุกคดี
เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2567 เวลา 14.00 น. ที่ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม ThumbRights ร่วมกับ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดงาน เสวนา “4 ปี 18 กรกฎา : เมื่อประชาชนมารวมตัว”
จัดกิจกรรมเสวนา วงแรกหัวข้อ 112 ความผยองของอํานาจรัฐ ร่วมพูดคุยโดย นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 จากการขายซีดีสารคดีของสำนักข่าว ABC และแจกเอกสารจากวิกิลีกส์ 9 ตุลาคม 2558, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 จากการเผยแพร่บทความ ชื่อ คมความคิด เขียนโดย "จิตร พลจันทร์", เพชร ธนกร เยาวชนที่ถูกดําเนินคดี 112 หรือดดีทางการเมือง และ นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน ผู้เสนอร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน ดำเนินรายการโดย ไม้โมก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมยศ ได้แต่งชุดนักโทษออกศาลและใส่โซ่ตรวนมาร่วมเสวนาด้วย
นายสมยศ กล่าวว่า มีนักการเมืองหลายพรรค บอกว่า มาตรา 112 ไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรม นี่คือความคิดที่ตนอาจจะพูดได้ว่าพวกเขาที่คิดแบบนี้คือตนไม่รู้ว่าเขาใช้สมองซีกไหนคิดถึงเขาคิดออกมาเช่นนี้ เพราะกฎหมาย 112 ไม่ได้โผล่ขึ้นมาทางอากาศ มันมีที่มาไปและถามว่าทำไมมันเกิดอย่างมากมายนับตั้งแต่ปี 2549 คือเป็นระยะเวลาที่เราอยู่ภายใต้การปกครองของ คณะรัฐประหารโดยอ้างเรื่องการปกป้องสถาบันกษัตริย์
ประชาชนที่ไม่เห็นด้วย กับการรัฐประหาร จึงต้องออกมาต่อต้านรัฐบาลและเครื่องมือที่ใช้ที่คณะรัฐประหาร ออกมาปราบปรามประชาชนก็คือกฎหมายมาตรา 112 นักการเมืองเหล่านี้ที่พูดแบบนี้ ถือว่าเป็นนักการเมืองเมื่อวานซืน และคิดไม่ถึงปลายเท้าของตัวเอง ซึ่งคดี ม.112 นั้น มีแรงจูงใจทางการเมืองแน่เพราะประชาชนไม่ชอบเผด็จการ
นายเอกชัย กล่าวว่า หลังการสลายการชุมนุมปี 2553 มีกลุ่มเสื้อแดงหลายคนเช่น กลุ่มแดนสยาม ของอาจารย์สุรชัย ตนจึงนำเอกสารรายการวิกิลีกส์ของออสเตรเลียไปจำหน่ายที่ม็อบแดงสยาม ปรากฏว่าโดนล่อซื้อ จะเห็นได้ว่าคนที่โดน 112 ในช่วงสมัยนั้น ถูกจับแบบเงียบ ๆ ไม่เป็นข่าว อยู่กันอย่างเงียบ ๆ ที่สน.ชนะสงคราม
นายเอกชัยกล่าวถึงเนื้อหาการนิรโทษกรรมทางการเมือง ว่าแทบไม่มีผลอะไร เพราะสุดท้าย คดีอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลก็จะยกฟ้องอยู่แล้ว ตอนนี้เหมือนถอยหลังยิ่งกว่าปี 2556 เข้าไปอีก
“ส่วนตัวผมว่า ล้างให้หมด รวม ม.112 ด้วย แต่ถ้าบางข้อหาไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะเปลี่ยนให้เป็นรอลงอาญา หรือลดโทษเหลือไม่เกิน 3 ปี ไม่ต้องล้างหมดก็ได้ ขอให้ลดโทษลงมา นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากขอ” นายเอกชัยกล่าว
ด้าน ธนกร หรือเพชร กล่าวว่า ในการโดนคดีครั้งแรกมาจากการปราศรัยที่แยกวงเวียนใหญ่ มีคนบอกให้ช่วยงาน ให้ขึ้นไปพูดบนเวที เลยโดนเป็นคดีแรก ซึ่งตัดสินคดีเรียบร้อยในศาลขั้นต้นเรียบร้อย และเป็นคดีแรกในประเทศไทย ที่ตัดสินคดี 112 ของศาลเยาวชน และศาลชั้นต้นพิพากษาออกมาไม่รอลงอาญาในปี 2565 โดยได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ต่อมาในคดีที่ 2 ตนไปชูป้ายที่ห้างสรรพสินค้า โดยโดนฟ้องร่วมว่าอยู่ในเหตุการณ์หนึ่งในชั้นตำรวจถูกแจ้งเป็นมาตรา 116 ถัดมาจึงมาแจ้งมาตรา 112 เพิ่มในการปราศรัยที่ท่าน้ำนนท์ โดยทุกคดีตัดสินเรียบร้อยแล้ว
ผลกระทบหลังจากโดนมาตรา 112 ในตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวครอบครัวยังดูแลได้อยู่ โดยฐานะทางบ้านก็ไม่ได้ดี พอเราโตขึ้นการรับผิดชอบชีวิตก็ต้องเยอะขึ้น นักกิจกรรมส่วนมากไม่สามารถทำงานประจำได้อยู่แล้ว สิ่งที่ชัดที่สุด ในปี 2566 ที่ไปสืบพยานคดีหนึ่ง เดือนเดียว 12 วัน รายได้ตอนนั้นคือไม่ได้เลย เราขาดความมั่นคงของชีวิตไป และไม่ได้ไปเรียนด้วย บางเดือนก็ขึ้นศาล 7-8 วันต่อเดือน จึงใช้ชีวิตไม่เหมือนคนปกติ ด้วยความโทษค่อนข้างสูงเราก็ต้องไปฟังในทุกครั้ง ๆ ธนกรต่อกล่าวว่า ปัจจุบันการตัดสินคดีความ เสร็จสิ้นเกือบหมดทุกคดีความแล้ว เหลือคดีเดียวที่ยังยื่นอุทธรณ์อยู่ เหลือแต่รายงานตัวตามกระบวนการของศาลเด็กและเยาวชนทุก 2-3 เดือน ตอนนี้ก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว การเป็นเยาวชน ก็เป็นสิ่งที่โดนครอบครัวกดดัน เวลามาศาลพ่อก็มาด้วยทุกวัน โดนตำรวจตามถึงบ้านบ้าง เราก็ต้องออกมาเพื่อความสบายใจของครอบครัว ในข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ ข้อในเรื่องของการเขียนรัฐธรรมนูญ เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเราควรแก้กฎหมายได้ทุกข้อ” ธนกรทิ้งท้าย
ต่อมา 15.00 น. เป็นเวทีเสวนา ที่ 2 ความยุติธรรมหลังการเคลื่อนไหว : อดีต ปัจจุบัน อนาคตโดย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ตัวแทนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ นักวิชาการอิสระ ดำเนินรายการโดย อันเจลโลว์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มาร่วมฟังเสวนาได้ถามคำถาม โดยน.ส.ปนัสยา หรือ รุ้ง กล่าวว่า ตนถูกดำเนินคดี ม.112 ถึง 10 คดียังไม่รวมคดีอื่น ๆ อยากถามว่า ในการนิรโทษกรรม จะมีการเปิดวงพูดคุบกับนักกิจกรรมที่มีคดีการเมืองตอนนี้หรือไม่
“คดีของรุ้ง คืบเข้ามาเรื่อย ๆ คนธรรมดาอย่างพวกเรา ต้องไปรอการนิรโทษกรรมในคุกหรือไม่และอยากถามว่า ทั้ง 3 ท่าน ท่านมีความเห็นว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดี ม.112 ควรได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ เพราะอะไร” โดยขอถามวิทยากรทั้ง 3 ท่าน น.ส.ปนัสยากล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานยังเปิดให้ชมนิทรรศการที่ชวนย้อนเวลาไปพบกับความหวัง ความฝันและความเจ็บปวด “4 ปี 18 กรกฎา : เมื่อประชาชนมารวมตัว“ กับ 3 ข้อเรียกร้อง 1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
จาก 3 ข้อเรียกร้องในวันนั้น วันนี้ยังมีภารกิจอะไรที่ต้องสานต่อบ้าง? โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนผู้ร่วมงานได้เขียนข้อความร่วมกันผ่านนิทรรศการ
และยังมีบูธกิจกรรมจากองค์กรต่าง ๆ อาทิเช่น Thumb Rights กับเกมส์โยนห่วงตอบคำถาม เป็นต้น
#ม็อบ18กรกฎา #3ข้อเรียกร้อง #นิรโทษกรรมประชาชน #UDDnews #ยูดีดีนิวส์