‘ไอลอว์’ ร้องกมธ.ความมั่นคงฯ ตรวจสอบกอ.รมน.
ใช้สปายแวร์ล้วงข้อมูลประชาชนจริงหรือไม่
วันที่
17 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.30 น.
ไอลอว์ นำโดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์
และเหยื่อที่เคยถูกหน่วยงานของรัฐไทยใช้เพกาซัสสปายแวร์ (Pegasus Spyware) เจาะระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ เข้ายื่นหนังสือต่อรังสิมันต์
โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย
ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (กมธ.ความมั่นคงฯ) สภาผู้แทนราษฎร ให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีละเมิดสิทธิมนุษยชน
รังสิมันต์ตอบรับหนังสือและร่วมแถลงต่อสื่อมวลชนว่า
ในอดีตที่มีการตรวจพบความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐไทยด้านการปราบปรามยาเสพติดกับบริษัท
เอ็นเอสโอ ผู้พัฒนาสปายแวร์สัญชาติอิสราเอล
นำไปสู่การปรับงบประมาณในรัฐบาลก่อนหน้า อย่างไรก็ตามในรัฐบาลปัจจุบันรังสิมันต์ย้ำว่าแม้จะยังไม่ตรวจพบการใช้งบประมาณกับเพกาซัสสปายแวร์ในเอกสารงบประมาณ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้มีการซื้อสปายแวร์ลักษณะนี้มาใช้งานผ่านการใช้ชื่ออื่นๆ
อีก
รังสิมันต์
เล่าด้วยว่า ในกรรมาธิการเองมีทั้งปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล และปกรณ์
อารีกุล เลขานุการกรรมาธิการ ซึ่งเคยตรวจพบว่าถูกเจาะระบบโดยสปายแวร์เพกาซัสด้วย
ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่กมธ. ให้ความสำคัญอยู่แล้ว
การสืบสวนข้อมูลการซื้อเพกาซัสสปายแวร์จะถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมของกมธ.ความมั่นคงฯ
ต่อไป
และจะมีการเชิญตัวแทนหน่วยงานรัฐมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อคลี่คลายปัญหาโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามหากเครื่องมือการทำงานโดยกมธ.ความมั่นคงฯ
ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ รังสิมันต์กล่าวว่ายังมีเครื่องมืออื่นที่ยังสามารถนำมาใช้ได้อยู่
เช่น การตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยตรง เป็นต้น
ในปี
2565 ไอลอว์ค้นพบว่า มีประชาชนชาวไทยรวม 35 คน
ประกอบไปด้วยหลากหลายที่มาและอาชีพ เช่น นักศึกษา นักกิจกรรม ภาคประชาสังคม
นักวิชาการ และนักการเมือง
ถูกเจาะระบบโทรศัพท์มือถือเพื่อขโมยข้อมูลโดยเทคโนโลยีที่ชื่อว่า เพกาซัสสปายแวร์
(Pegasus Spyware) ซึ่งเป็นอาวุธไซเบอร์ที่ผลิตโดยบริษัท
เอ็นเอสโอ จากประเทศอิสราเอล ที่ผลิตไว้สำหรับขายให้แก่รัฐบาลเท่านั้น
ช่วงเวลาดังกล่าวยังมีรายงานจาก CitizenLab อีกด้วยว่า
จากการตรวจสอบความเชื่อมโยงบนโลกอินเทอร์เน็ตพบว่าหน่วยงานของไทยชื่อ ISOC หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
มีกิจกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกับบริษัท เอ็นเอสโอ
ในปีเดียวกันนี้เอง
ไอลอว์เคยยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบข้อมูลและเคยตรวจพบเอกสารการซื้อขายเทคโนโลยีคล้ายกับเพกาซัสสปายแวร์โดยกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดมาแล้ว
แต่หลังจากมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่การตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎรก็หยุดชะงักลง
แม้ว่าการคุกคามโดยอาวุธไซเบอร์ลักษณะนี้จะไม่ได้หยุดชะงักลงไปด้วยก็ตาม
เดิมทีเพกาซัสสปายแวร์ถูกออกแบบมาเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและการค้ามนุษย์
เนื่องจากมีความสามารถในการเจาะและล้วงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือโดยที่เจ้าของโทรศัพท์มือถือไม่สามารถรู้ตัวได้
ข้อมูลทั้งหมดของโทรศัพท์เป้าหมายจะถูกเข้าถึงโดยผู้ควบคุมสปายแวร์ นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนให้โทรศัพท์มือถือที่ตกเป็นเป้าหมายกลายเป็นเครื่องดักฟังและเครื่องติดตามได้อีกด้วย
ทำให้การที่รัฐนำมาใช้กับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างร้ายแรง
ปัจจุบันจึงมีหลายรัฐบาลในโลกที่ถูกประชาชนฟ้องร้องฐานใช้งานสปายแวร์ชนิดดังกล่าว
ปัจจุบันในประเทศไทยมีคดีที่ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ
รวมถึงกอ.รมน. ต่อศาลปกครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งรับฟ้องจากศาล
ขณะเดียวกันคดีที่นักกิจกรรมไทยยื่นฟ้องบริษัท เอ็นเอสโอ
เป็นคดีแพ่งนั้นศาลแพ่งนัดสืบพยานวันที่ 3-6 และ 10 กันยายน
2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว