“ณัฐชา” ตั้งกระทู้ รมว.เกษตรฯ จี้ปัญหาปลาหมอคางดำระบาดหนัก รัฐต้องเร่งหาต้นตอ ตรวจสอบดีเอ็นเอต้นทาง พร้อมประกาศให้ชัดจัดการอย่างไร มีมาตรการช่วยเหลือหากพบปลาในบ่อประชาชน
วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 27 พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตั้งกระทู้ถามสดกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำทั่วประเทศ ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ธรรมนัส พรหมเผ่า มอบหมาย อรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ ตอบแทน
ณัฐชากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเดิมที่ตนเคยตั้งคำถามเมื่อ 26 ตุลาคม 2566 หลังจากนั้น รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ 5 จังหวัดเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อมา 11 มีนาคม มีการออก 5 มาตรการเร่งด่วน จากนั้น 6 พฤษภาคม รมว.เกษตรฯ ประกาศว่าเรื่องนี้ต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ วันนี้ตนกลับมาถามท่ามกลางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำทั่วประเทศ 13 จังหวัด ทุกบ่อของพี่น้องประชาชนก่อนหน้านี้ที่เรียกว่าเจ๊ง หลังจากวันนี้เรียกว่าสิ้นเนื้อประดาตัว เกษตรกรกำลังประกาศขายที่นาที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของตนเอง
จึงตั้งกระทู้ถามไปยังฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารราชการแผ่นดิน แม้ว่าเรื่องปลาหมอคางดำจะเกิดมานานแล้วตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการอนุมัติ และนำเข้ามาในประเทศเมื่อปี 2553 และปี 2555 ที่มีการพบครั้งแรก ต่อมามีการแก้ไขปัญหาแบบผิดๆ เมื่อปี 2561 มีการประกาศรับซื้อจนทำให้เกิดการระบาดหนักขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนจนถึงปัจจุบัน
ขอถาม รมช.เกษตรฯ ถึงต้นตอในการนำปลาชนิดนี้เข้ามา เข้ามาโดยวิธีการใดบ้าง รวมถึงผู้ที่นำเข้าได้แสดงความรับผิดชอบอย่างไรหลังการระบาด และการแก้ไขปัญหาของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ในการยุติการระบาดของปลาหมอคางดำใช้งบประมาณไปแล้วเท่าไร ใช้ไปกับค่าอะไรบ้าง
คำถามที่สอง ณัฐชาได้ทวนคำตอบของ รมช.เกษตรฯ ว่าหากพบเห็นหลักฐานและต้นตอของการระบาด ก็จะนำผู้กระทำผิดมารับผิดชอบนั้น ตนได้นั่งอยู่ใน กมธ.การอุดมศึกษาฯ ได้รับเอกสารวิชาการ 2/2565 จากกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ ในหน้าสุดท้ายมีการระบุว่า มีการสืบค้นข้อมูลพร้อมทั้งสุ่มตัวอย่างจากปลาหมอคางดำจาก 6 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และ ระยอง พร้อมรายงานว่า ปลาทั้งหมดที่จับได้จากทั่วประเทศมีสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน มีพันธุกรรมที่อาจเชื่อได้ว่ามาจากพ่อแม่เดียวกัน นี่คือการพิสูจน์ปลายทาง มี DNA ปลายทางเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียง DNA จากต้นทางเท่านั้น หากนำมาตรวจสอบและพบว่าตรงกัน ก็สามารถอนุมานได้ว่าปลาที่ระบาดอยู่ทุกวันนี้ เป็นความผิดพลาดของใคร
พร้อมกันนี้ณัฐชาได้แสดงเอกสารจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 25 เมษายน 2561 ที่มีการเข้าตรวจสอบศูนย์วิจัยของเอกชนแห่งหนึ่งในสมุทรสงคราม มีการสอบถามไปยังผู้จัดการศูนย์วิจัยฯ ว่ามีการทดลองปลาหมอคางดำหรือไม่ ก็ได้คำตอบกลับมาว่า ปลาที่นำเข้ามาอ่อนแอและตายหมด มีการเก็บซากส่งกรมประมงตามขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตนอยากทราบข้อมูลที่ชัดกว่านั้น จึงขอข้อมูลจากกรมประมงในนาม กมธ. เชิญครั้งแรกไม่มา ถามอะไรก็บอกว่าขอกลับไปเอาเอกสาร วันนี้เชิญเป็นครั้งที่สาม อธิบดีกรมประมงบอกว่าไม่สะดวกเนื่องจากติดภารกิจชี้แจงงบประมาณ ซึ่งก็อยู่ที่รัฐสภาเหมือนกันกับตน จึงอยากให้ รมช.เกษตรฯ กำชับดูแลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเดินทางมาให้ข้อมูลด้วย
ณัฐชากล่าวว่า วันนี้เวลา 9.47 น. ตนนั่งเป็นประธานในคณะอนุกรรมธิการฯ ได้รับเอกสารจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่มีข้อมูลทราบว่ามีการขออนุญาตนำเข้าปลาดังกล่าวอย่างถูกกฎหมาย คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้ส่งเอกสารชี้แจง กมธ. ว่าในปี 2553 มีการนำเข้าปลาหมอคางดำจากกาน่า 2,000 ตัว สุขภาพไม่แข็งแรง ตายไปเหลือเพียง 600 ตัว จนท้ายที่สุดเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยเรื่องนี้และทำลายซากตามมาตรฐาน แจ้งต่อกรมประมงพร้อมส่งตัวอย่างซากปลาซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดส่งไปยังกรมประมงในปี 2554
“เหตุใดหน่วยงานภาครัฐในความดูแลของรัฐมนตรีกลับไม่รู้ไม่เห็นไม่ทราบ วันนี้เราใกล้จะรู้แล้วว่าปลาสายพันธุ์นี้มาได้อย่างไร แต่หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบชัดเจนอย่างกรมประมง ไม่ดำเนินการต่อ รายงานฉบับนี้เสร็จตั้งแต่ปี 2565 ท่านทำอะไรอยู่ กรมประมงประกาศจับปลา อายเขาหรือไม่ ท่านต้องประกาศจับต้นตอให้ได้ หลังจากมีรายงานชัดเจนแบบนี้ กรมประมงในการกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการอย่างไรต่อบ้าง เพื่อให้พี่น้องประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน”
จากนั้นณัฐชา ลุกขึ้นถามคำถามสุดท้าย ย้ำว่า ตนไม่ได้กล่าวว่าบริษัทเอกชนเป็นผู้กระทำความผิด แต่สิ่งที่ตนต้องการคือ DNA ของปลาที่ระบาดอยู่ทั่วประเทศตรงกันกับ DNA ต้นทางหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วเป็นคนละ DNA เป็นเรื่องของการลักลอบนำเข้า ก็สามารถประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ว่าไม่ได้ผิดที่บริษัทเอกชน แต่ผิดที่กรมประมงที่ปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าปลาสายพันธ์ุนี้
10 กว่าปีที่ดำมืด หาต้นตอไม่เจอ และไม่มีใครเยียวยาช่วยเหลือประชาชน สิ่งที่จะเยียวยาได้คือการประกาศให้ชัดว่าวันนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเอาอย่างไรกับปลาสายพันธุ์นี้ เพราะแนวนโยบายที่ครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างกำจัดกับแปรรูป ยิ่งทำให้ปลาหมอคางดำระบาดเป็นทวีคูณ จึงอยากทราบว่าวันนี้เราจะประกาศกำจัดอย่างเดียวโดยที่ประเทศไทยจะไม่รับรองปลาสายพันธุ์นี้ให้เข้ามาอยู่ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน
ปลาสายพันธุ์นี้เป็นไวรัส ที่กำลังกัดกินสัตว์น้ำที่พี่น้องประชาชนเลี้ยง กุ้งหอยปูปลารวมกันเป็นล้าน แม้ตนไม่สนับสนุนการรับซื้อ แต่ตนสนับสนุนว่าหากเกษตรกรได้รับผลกระทบ รัฐบาลควรประกาศว่าวันนี้จะช่วย การหาต้นตอก็หาไป แต่ต้องเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อไม่ให้ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ล้มหายตายจากไปมากกว่านี้ นี่คือการเพื่อพยุงสถานการณ์
“ท่านประกาศเลยว่าหากพบปลาสายพันธุ์นี้ในบ่อของพี่น้องประชาชน ที่ไม่ใช่แหล่งน้ำธรรมชาติ และหากเกิดความเสียหาย กระทรวงเกษตรฯ จะรับผิดชอบทุกบาททุกสตางค์” ณัฐชาทิ้งท้าย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา #กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ #ปลาหมอคางดำ