วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“ณรงเดช” ชี้โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ผิดฝาผิดตัว ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตข้าวไม่ได้จริง แถมวางเงื่อนไขซับซ้อน ทำชาวนายากลำบากกว่าเดิม สะท้อนรัฐบาลออกแบบนโยบายโดยไม่เข้าใจ-ไม่ฟังเสียงประชาชน

 


“ณรงเดช” ชี้โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ผิดฝาผิดตัว ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตข้าวไม่ได้จริง แถมวางเงื่อนไขซับซ้อน ทำชาวนายากลำบากกว่าเดิม สะท้อนรัฐบาลออกแบบนโยบายโดยไม่เข้าใจ-ไม่ฟังเสียงประชาชน 


วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นถึงโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ของรัฐบาล โดยกล่าวว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการนี้ถูกตั้งคำถามมากมายทั้งจากชาวนาและ สส.ในสภาฯ เพราะมีความยุ่งยากซับซ้อน และมีเงื่อนไขหลายประการที่ไม่ตอบโจทย์พี่น้องชาวนา จนกลายเป็นประเด็นสำคัญที่คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ ต้องเชิญหน่วยงานต่างๆ มาชี้แจงถึง 2 ครั้ง ในวันที่ 3 และ 11 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา


ณรงเดชอธิบายเท้าความว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่งเป็นโครงการภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/2568 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 โดยรัฐบาลจะสมทบค่าปุ๋ย (เคมีและอินทรีย์) และชีวภัณฑ์ให้กับชาวนาแบบซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง ภายในวงเงิน 500 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือคิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนสูงสุด 10,000 บาทต่อครัวเรือน โดยมีเงื่อนไขว่า ชาวนาต้องสั่งซื้อปุ๋ยผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เท่านั้น เลือกสูตรปุ๋ยที่ต้องการใช้ในการทำนาจากทั้งหมด 16 สูตร จ่ายเงินจากบัญชีของ ธ.ก.ส.ที่ตนมีอยู่ไปก่อน (สำหรับมูลค่าปุ๋ยที่ตนซื้อเอง) แล้วไปรับปุ๋ย (ทั้งส่วนที่ตนซื้อและรัฐบาลสมทบ) ผ่านสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกหรืออยู่ใกล้เคียง ตามที่ชาวนาแจ้งไว้ในแอปพลิเคชัน


ด้วยเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น พี่น้องชาวนาจึงตั้งคำถามมากมาย เช่น ทำไมรัฐบาลสนับสนุนการทำนาแค่เฉพาะค่าปุ๋ย สนับสนุนเป็นเงินสดได้หรือไม่ ทำไมเลือกได้แค่สูตรปุ๋ย เลือกยี่ห้อปุ๋ยได้หรือไม่ ทำไมต้องให้ชาวนาจ่ายเงินไปก่อน (โดยปกติ ชาวนาส่วนใหญ่มักซื้อปุ๋ยด้วยเงินเชื่อ) ถ้าชาวนาไม่มีเงินในบัญชี ธ.ก.ส.จะทำอย่างไร จะเข้าร่วมโครงการนี้ได้หรือไม่ ไปจนถึงคำถามที่ว่า เมื่อรัฐบาลทำโครงการนี้แล้ว จะเลิกให้การสนับสนุนผ่านโครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท หรือชื่อเต็มคือโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วยหรือไม่ โดยพี่น้องชาวนาบางส่วนสะท้อนว่าอยากให้รัฐบาลทำโครงการไร่ละ 1,000 บาท มากกว่าโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง


ณรงเดชกล่าวว่า ตัวแทนหน่วยงานราชการที่มาชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าภาพหลักคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว หรือหน่วยงานที่เป็นแหล่งที่มาของเงินในการดำเนินโครงการคือ ธ.ก.ส. ต่างก็รับทราบถึงเสียงท้วงติงมากมาย ทั้งเสียงจากภายในห้องประชุมคณะกรรมาธิการที่มีพี่น้องชาวนามาร่วมประชุมด้วย และจากภายนอก แต่หน่วยงานทั้งหมดก็ชี้แจงว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่งนี้กลับตัวไม่ได้แล้ว มีแต่จะเดินหน้าตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ต่อไป เมื่อคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ และพี่น้องชาวนาได้ยินเช่นนั้นจึงรู้สึกหนักใจ เพราะในขณะที่โครงการปุ๋ยคนละครึ่งนี้กลับตัวไม่ได้แล้ว การดำเนินโครงการต่อไปก็มีแต่จะพบอุปสรรคใน 4 มิติ ได้แก่


1. ไปไม่ทันเวลา เพราะในขณะที่การเปิดตัวโครงการปุ๋ยคนละครึ่งถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 แต่ฤดูกาลและตารางการทำนาของพี่น้องเกษตรกรไม่ได้ถูกเลื่อนออกไปด้วย หน่วยงานต่างๆ คาดหมายว่าปุ๋ยในโครงการนี้จะไปถึงมือชาวนาในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า แต่ในข้อเท็จจริงพี่น้องชาวนาส่วนใหญ่ได้ใส่ปุ๋ยกันไป 1-2 รอบแล้ว (จากทั้งหมดประมาณ 2-3 รอบ) เพราะฉะนั้นโครงการนี้คงมาล่าช้ากว่าช่วงเวลาที่ชาวนาต้องการ


ในส่วนข้อท้วงติงนี้ ณรงเดชกล่าวว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการชี้แจงว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถเข้าร่วมกับโครงการนี้ได้ถึงเดือนพฤษภาคม 2568 ฉะนั้นหากชาวนาท่านใดเข้าร่วมในรอบนี้ไม่ทัน ก็ให้พี่น้องชาวนาท่านนั้นไปใช้สิทธิ์ในรอบการผลิตหน้า คือฤดูนาปรัง ปี 2567/2568


คำชี้แจงอาจฟังดูใช้ได้สำหรับชาวนาที่สามารถทำนาได้มากกว่าหนึ่งครั้ง (ฤดูนาปรังครั้งถัดไปเริ่มประมาณปลายปี 2567) แต่สำหรับชาวนาส่วนใหญ่ที่ทำนาได้ครั้งเดียว (จะทำนาได้อีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2568) ก็จะเข้าร่วมไม่ได้ ซึ่ง ธ.ก.ส.ชี้แจงว่า ในกรณีนั้นให้ชาวนาใช้สิทธิ์ซื้อปุ๋ยไว้ก่อน (ก่อนเดือนพฤษภาคม 2568) และเก็บไว้ใช้เมื่อเริ่มทำนา แนวทางคำตอบนี้จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้ชาวนา ทั้งภาระในการเก็บรักษา และภาระทางการเงินที่ต้องหาเงินมาจ่ายค่าปุ๋ยไปก่อน


2. ชาวนาที่ไม่มีเงินในบัญชี ธ.ก.ส.จะเข้าไม่ถึงโครงการนี้ ซึ่งเป็นเรื่องพี่น้องชาวนากังวลมาก เพราะโดยทั่วไปชาวนาจะมีเงินติดบัญชี ธ.ก.ส.ไม่มากนัก และหากมีเงินในบัญชีไม่ครบตามจำนวน (เช่น ถ้าใช้สิทธิ์สูงสุด ก็ต้องมีเงินในบัญชี 10,000 บาทต่อครัวเรือน) ก็จะไม่สามารถสั่งซื้อปุ๋ยได้ (ตามจำนวนที่มีสิทธิ์) และก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามไปด้วย


ประเด็นนี้ ตัวแทน ธ.ก.ส.ชี้แจงว่า โดยเฉลี่ยแล้วเงินในบัญชี ธ.ก.ส.ของเกษตรกรมีอยู่ประมาณ 21,846 บาทต่อบัญชี ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา แต่เมื่อคณะกรรมาธิการฯ จี้ถามลงไปถึงรายละเอียด ข้อมูลของ ธ.ก.ส.เองก็ระบุว่าร้อยละ 83 ของเกษตรกรที่มีบัญชีกับ ธ.ก.ส.มีเงินติดบัญชีไม่ถึง 10,000 บาท ซึ่งหมายความว่าจะเข้าร่วมโครงการไม่ได้ หรือเข้าร่วมได้ไม่เต็มจำนวนสิทธิ์ โดย ธ.ก.ส.ก็ยอมรับในข้อจำกัดนี้ และชี้แจงว่าได้เตรียมสินเชื่อไว้ให้เกษตรกรกู้ เพื่อนำเงินเข้ามาในบัญชีให้เพียงพอที่จะเข้าร่วมโครงการนี้


ณรงเดชกล่าวว่า คำตอบนี้ดูจะสร้างความผิดหวังให้กับพี่น้องชาวนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะแทนที่รัฐบาลจะช่วยชาวนาโดยตรง กลับต้องให้ชาวนาไปกู้ยืมเงินมาสั่งซื้อปุ๋ยเสียก่อน สิ่งนี้นับว่าเป็นความแปลกประหลาดมากที่ชาวนาจะต้องกู้ยืมเงินเพื่อเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐ ยังไม่นับเสียงท้วงติงจากพี่น้องชาวนาบางส่วนที่ไม่ถนัดในการใช้แอปพลิเคชันสั่งซื้อปุ๋ยทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกรรมาธิการการเกษตรฯ หลายท่านจากหลายพรรคการเมืองได้ชี้ว่า การตั้งเงื่อนไขลักษณะนี้อาจทำให้เกิดการหักหัวคิวปุ๋ยจากบุคคลอื่นๆ ที่ให้ชาวนายืมเงินค่าซื้อปุ๋ยไปก่อน และ/หรือการเอาเปรียบพี่น้องชาวนาที่ไม่มีเงินสั่งซื้อปุ๋ยในรูปแบบอื่นๆ ได้


3. ไปไม่ถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยหนึ่งในตัวชี้วัดเป้าหมายของโครงการนี้คือการเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ได้ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 โดยกล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการทำการเกษตรแม่นยำ โดยใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามการวิเคราะห์ค่าดินจากหมอดิน


อย่างไรก็ตาม ณรงเดชกล่าวว่าสิ่งนี้อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของนายกรัฐมนตรี เพราะในคู่มือการดำเนินโครงการนี้ไม่มีขั้นตอนใดที่ให้พี่น้องชาวนานำดินไปตรวจ และคำนวณผสมสูตรปุ๋ยให้ตรงกับค่าการวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน โครงการปุ๋ยคนละครึ่งนี้มีแต่เพียงให้ชาวนาเลือกสูตรปุ๋ยใน 16 สูตร ซึ่งการเลือกสูตรปุ๋ยของชาวนานั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการก็ชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ ว่าชาวนาน่าจะเลือกตามที่ตนคุ้นเคยเป็นหลัก เพราะฉะนั้น การมุ่งหวังให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการใช้ปุ๋ยที่ตรงกับค่าดินก็คงไม่ได้เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ขณะเดียวกัน การลดต้นทุนการผลิตของชาวนาที่รัฐบาลมุ่งหวังไว้ ก็คงเป็นการลดลงจากการที่รัฐบาลช่วยจ่ายค่าปุ๋ยให้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นการลดเพียงชั่วคราว ไม่ใช่การลดต้นทุนจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนปุ๋ยหรือผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด


ความน่าสนใจก็คือ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเองก็ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะมีมติเห็นชอบโครงการไปแล้วว่า จะต้องมีการวางแผนติดตามและประเมินผลว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตของชาวนาลงได้จริงหรือไม่ แต่ในคู่มือการดำเนินโครงการกลับยังไม่ได้ระบุแนวทางการติดตามและประเมินผลดังกล่าวไว้แต่อย่างใด


4. ความไม่ชัดเจนในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า พี่น้องชาวนาบางส่วนกังวลว่าเมื่อมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแล้ว รัฐบาลจะตัดโครงการอื่นๆในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เช่น โครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท หรือโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว ออกไปในปีการผลิตนี้หรือไม่


ณรงเดชกล่าวว่า เรื่องนี้ผู้สื่อข่าวก็ได้สอบถามนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 โดยนายกฯ ตอบว่า “ทั้งสองเรื่องจะต้องแยกกัน” แต่หากย้อนไปดูมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ในส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ก็ระบุไว้ชัดว่าโครงการนี้ “จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท) ได้ถึงปีละ 24,320 ล้านบาท” อีกทั้งในมติ ครม.ยังแสดงวิธีคำนวณตัวเลข 24,320 ล้านบาทไว้ด้วยว่า ตัวเลขดังกล่าวมาจากการนำค่าใช้จ่ายในโครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทเดิมที่ใช้ปีละ 54,300 ล้านบาท มาลบด้วยค่าใช้จ่ายในโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง 29,980 ล้านบาท ก็จะเท่ากับ 24,320 ล้านบาทนั่นเอง


การที่มติคณะรัฐมนตรีระบุไว้เช่นนี้ ส่อนัยยะที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแทนโครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่ได้เป็นโครงการที่แยกส่วนกันอย่างที่นายกรัฐมนตรีชี้แจง ซึ่งในเรื่องนี้หน่วยงานที่มาชี้แจงกับคณะกรรมาธิการฯ ก็ระบุแต่เพียงว่า โครงการอื่นๆ ในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นโครงการไร่ละ 1,000 บาท หรือโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว ยังไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวนาที่อยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการอื่นๆ ตามที่เคยดำเนินการมา ก็ยังคงไม่ได้รับความชัดเจนใดๆ จากรัฐบาล


ณรงเดชกล่าวสรุปว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่งเป็นตัวอย่างของการออกแบบโครงการที่ไม่เข้าใจความต้องการและข้อจำกัดของพี่น้องชาวนา อีกทั้งรัฐบาลยังผลีผลามมีมติดำเนินโครงการไปก่อน โดยไม่ได้รับฟังเสียงของพี่น้องชาวนาและผู้แทนราษฎร ทำให้โครงการออกมาผิดฝาผิดตัว และจะกลับมาทบทวนใหม่ก็ไม่ทันเสียแล้ว


แม้ว่าเสียงห่วงใยของพี่น้องชาวนาและคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ จะไม่สามารถหยุดยั้งโครงการนี้ได้ แต่ณรงเดชยังมองในแง่ดีว่า การท้วงติงก็มีผลให้หน่วยงานที่ดำเนินการยอมปรับเงื่อนไขสำคัญ นั่นคือ การให้ชาวนาเลือกยี่ห้อปุ๋ยที่ตนจะซื้อ (และรัฐบาลจะสนับสนุน) เองได้ จากเดิมที่จะชาวนาเลือกเฉพาะสูตรปุ๋ยที่ต้องการเท่านั้น แล้วให้สหกรณ์เลือกผู้ขายปุ๋ยเอง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป ว่าพี่น้องชาวนาจะได้รับปุ๋ยตรงตามสูตร ตามคุณภาพ และตามยี่ห้อที่ตนต้องการจริงหรือไม่


“ทั้งหมดนี้คือความผิดปกติอันเนื่องมาจากการออกแบบโครงการโดยขาดความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวนา ผู้ซึ่งเป็นหัวใจและกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ ถ้าหากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลห่วงเสียงกังวลของพี่น้องชาวนา กลับไปทบทวนและออกแบบโครงการที่มีความยุ่งยากและข้อจำกัดน้อยกว่านี้ รวมถึงแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงเป้า แม่นยำ และถูกต้องตามช่วงเวลาอย่างแท้จริง” ณรงเดชกล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #กรรมาธิการเกษตร #ปุ๋ยคนละครึ่ง