วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” เผยวิสัยทัศน์พัฒนาเชียงใหม่สู่เมืองนวัตกรรม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม-คุณภาพชีวิต ด้าน “พิธา” ชวนประชาชนเลือกพันธุ์อาจเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ให้มากเท่าการเลือกตั้งปี 66 สร้างการเมืองแห่งความเป็นไปได้ร่วมกันอีกครั้ง

 


“พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” เผยวิสัยทัศน์พัฒนาเชียงใหม่สู่เมืองนวัตกรรม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม-คุณภาพชีวิต ด้าน “พิธา” ชวนประชาชนเลือกพันธุ์อาจเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ให้มากเท่าการเลือกตั้งปี 66 สร้างการเมืองแห่งความเป็นไปได้ร่วมกันอีกครั้ง


วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การค้าเจ สเปซ สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกลจัดมหกรรมนโยบาย (Policy Fest) ครั้งที่ 3 ในชื่อ “เจียงใหม่ เอาแต๊” เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคเหนือ โดยในช่วงท้ายของเวทีมีการเปิดวิสัยทัศน์ของ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ของพรรคก้าวไกล และการกล่าวปาฐกถาปิดเวทีโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล


พันธุ์อาจแสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวทางการพัฒนาเชียงใหม่ โดยระบุว่า เชียงใหม่มีทั้งพื้นที่ที่เป็นเมืองมหานครและพื้นที่ดอย เป็นจังหวัดที่เปี่ยมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพรอบด้านมาก แต่ปัจจุบันกลับเงียบเหงา ย่านการค้าปิดตัวลงเรื่อยๆ เศรษฐกิจไม่ดี ดังนั้น สิ่งที่ตนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่คือการสร้างสรรค์ “ย่านนวัตกรรม”


ตัวอย่างย่านนวัตกรรมที่เริ่มมีให้เห็นแล้ว ก็คืออำเภอสันทราย ซึ่งมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ผ่านมามีการสร้างความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหาร สร้างผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ด้านอาหาร นำงานวิจัยมาแปลงเป็นธุรกิจ สร้างธุรกิจขึ้นมาจากเทคโนโลยีที่มีการวิจัยในพื้นที่ โดยลูกหลานของคนสันทรายเอง อีกตัวอย่างหนึ่งคือย่านสวนดอก ที่หน่วยงานทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคประชาสังคมร่วมกันทำงานบนโจทย์นวัตกรรมด้านสุขภาพ ทำให้ย่านสันทรายกลายเป็นย่านนวัตกรรมด้านสุขภาพ


พันธุ์อาจกล่าวต่อไปว่า เชียงใหม่เป็นเมืองพิเศษระดับโลก แต่ยังเติบโตไม่เต็มที่ และมีศักยภาพที่จะไปได้ไกลกว่านี้อีก โดยตนขอนำเสนอ 4 ตัวอย่างเมืองระดับโลกที่สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่เชียงใหม่ได้


ตัวอย่างแรก คือเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งมีนวัตกรรมด้านการวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีบริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่อย่างครอบคลุม มีสวนสาธารณะ โรงเรียนอนุบาล ย่านการค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนอย่างครบถ้วน ต่างจากเชียงใหม่ซึ่งไม่มีการวางผังเมืองที่ดี นำมาซึ่งปัญหารถติด การขาดแคลนขนส่งสาธารณะ และทางเดินเท้าที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น เชียงใหม่สามารถนำบาร์เซโลนามาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพ และทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้


ตัวอย่างที่สอง คือเมืองเสินเจิ้น ประเทศจีน ที่จากเดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง แต่ปัจจุบันพัฒนาเป็นเมืองมหานคร เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงเมืองใกล้เคียงเข้าด้วยกัน ทั้งฮ่องกง กวางเจา และมาเก๊า ซึ่งตนเห็นว่าเชียงใหม่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้ ในการเชื่อมโยง 5 อำเภอของเชียงใหม่เข้าด้วยกัน ให้มีการกระจายโอกาส ไม่ใช่กระจุกตัวที่อำเภอเมืองอย่างเดียว


ตัวอย่างที่สาม คือเมืองซูก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเมืองที่เล็กที่สุด มีประชากรเพียง 3-4 พันคน แต่เป็นที่อยู่ของบริษัทบล็อกเชนและคริปโต 23 บริษัทที่มีมูลค่าระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับอีก 3 พันบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ชั้นนำด้านอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งเชียงใหม่ก็ทำได้เช่นเดียวกัน และเริ่มมีการทำมาแล้ว โดยตนจะขอเข้ามาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นศูนย์กลางในลักษณะเดียวกัน


ตัวอย่างที่สี่ คือกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นมีนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มีการลงทุนและสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งเชียงใหม่เองก็สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในแบบเดียวกันได้


พันธุ์อาจกล่าวต่อไปว่า เชียงใหม่สามารถเป็นเมืองระดับโลกตาม 4 เมืองตัวอย่างข้างต้นได้ แต่ก็ยังมีปัญหาที่รอการแก้ไขคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นพิษซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ปัญหาความเป็น “เมืองปราบเซียน” ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่มาลงทุนในพื้นที่หลายคนต้องถอนตัวออกไป


ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต คือปัญหาที่ อบจ.มีหน้าที่แก้ไขโดยตรง ซึ่งตนมีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ให้เป็นเมือง “4 อยู่” ได้แก่ 1. “อยู่ได้” คือการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงานให้เด็กรุ่นใหม่อยู่อาศัย มีงานทำ และทำธุรกิจอยู่ในพื้นที่ได้ 2. “อยู่เย็น” คือการพัฒนาบริการสาธารณะให้มีคุณภาพและเพียงพอสำหรับทุกคน 3. “อยู่ดี” คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง และ 4. “อยู่อย่างยั่งยืน” ผ่านการเปลี่ยนวิธีคิดด้านการพัฒนา มาสู่การใช้พลังงานทางเลือกและนวัตกรรมสีเขียว


พันธุ์อาจย้ำว่า อบจ.เชียงใหม่ต้องไม่ใช่แค่ อบจ.ธรรมดา แต่ต้องเป็นซูเปอร์ อบจ. กล่าวคือ ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ต้องครอบคลุมถึงงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยตนมีวิสัยทัศน์ในการแบ่งอำเภอออกเป็นคลัสเตอร์ เพื่อพัฒนาแต่ละคลัสเตอร์ด้วยศักยภาพที่มีแตกต่างกันไป ทั้งด้านการเป็นย่านวัตกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พหุวัฒนธรรม และระเบียงอุตสาหกรรมเกษตร


พันธุ์อาจกล่าวทิ้งท้ายว่า โครงสร้าง อบจ.เองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยตนจะจัดตั้งกองพัฒนาธุรกิจและการลงทุน เพื่อทำงานร่วมสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ สร้างอาชีพให้ประชาชน และทำให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ


ต่อมา พิธาได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาปิดเวที โดยระบุว่า ในวันนี้ตนมี 3 คำถามที่อยากชวนชาวเชียงใหม่คิดไปพร้อมๆ กัน คำถามแรกคือทำไมชาวเชียงใหม่ควรต้องออกมาเลือกนายก อบจ.ให้มากที่สุด?


สำหรับตนแล้ว การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เหมือนกับการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะไม่สามารถเลือกตั้งข้ามเขต เลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกข้ามประเทศได้ ดังนั้น ถึงแม้พรรคก้าวไกลจะสร้างการเมืองแห่งความเป็นไปได้มาแล้วในการเลือกตั้งปี 2566 ที่สามารถเอาชนะ สส.ในจังหวัดเชียงใหม่มาได้ 7 เขตจาก 10 เขต ด้วยคะแนนกว่า 4.6 แสนเสียงจากชาวเชียงใหม่ 1 ล้านคนที่ออกมาเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมาตัวเลขการเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ในปี 2563 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เพียง 8 แสนคน คำถามคือถ้าชาวเชียงใหม่ออกมาใช้สิทธิ์กันน้อยลงในการเลือกตั้งนายก อบจ.ปี 2568 ความเป็นไปได้ที่เราเคยทำสำเร็จร่วมกันจะเหมือนเดิมหรือไม่ 


ดังนั้น ตนจึงอยากชวนให้คิดว่าการเลือกตั้ง อบจ.เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญไม่แพ้การเลือกตั้งระดับชาติ เพราะงบประมาณ อบจ.เชียงใหม่มีอยู่ 1.8 พันล้านบาท ถ้าไม่ออกไปเลือก อบจ.แล้วได้คนที่ไม่ต้องการเข้ามา ก็เท่ากับนำงบประมาณ 1.8 พันล้านบาทในการบริหารเชียงใหม่ไปให้กับเขา จึงขอให้ทุกคนยอมเสียสละเวลาไปเลือกตั้ง อบจ.ในปี 2568 ให้มากเท่ากับการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ได้หรือไม่ หากทำได้เช่นนั้น รวมพลัง 4.6 แสนเสียงให้เท่ากับการเลือกตั้งปี 2566 เราจะได้รับชัยชนะแน่นอน


คำถามที่สองคือ ทำไมคนเชียงใหม่ต้องเลือกพันธุ์อาจ ชัยรัตน์? โดยพิธากล่าวว่า สำหรับตนแล้วพันธุ์อาจคือ “นายกฯ นักนวัตกรรม” เป็นนักการเมืองพันธุ์ใหม่ที่จะสร้างความแตกต่างให้เชียงใหม่ได้แน่นอน เขาเป็นเด็กเชียงใหม่ที่ไปเรียนต่อและใช้ชีวิตที่เดนมาร์ก เป็นคนที่มีดีเอ็นเอความเป็นก้าวไกลชัดเจน โดยเฉพาะความเชื่อว่าสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้ได้ จนสุดท้ายเขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งตนได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนแนวคิดกับพันธุ์อาจมาหลายปี จากประสบการณ์ชีวิตของพันธุ์อาจ เขาได้กลั่นกรองแนวคิดออกมาเป็นนโยบาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชาวเชียงใหม่จับต้องได้แน่นอน โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ และลดความเหลื่อมล้ำ


คำถามที่สามคือ เมื่อเลือกพันธุ์อาจไปแล้วจะทำอะไรให้ชาวเชียงใหม่ได้บ้าง? โดยพันธุ์อาจแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้วว่าจะตั้งกองธุรกิจและการลงทุนขึ้นมาใน อบจ.เชียงใหม่ จากเดิมที่ อบจ.มักทำแต่งานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก็ควรต้องปรับรูปแบบมาทำงานด้านการลงทุนและแก้ปัญหาปากท้องให้พี่น้องประชาชนมากขึ้น การแบ่งโซนเมืองเชียงใหม่ตามศักยภาพ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่อยู่บนหิ้งลงมาปฏิบัติจริง เพื่อแก้ปัญหาความเจ็บปวดของคนเชียงใหม่ นี่คือสิ่งที่พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้เข้าใจเรื่องนวัตกรรมจะทำเพื่อคนเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี


“นายกฯ นวัตกรรมคนนี้จะมาทำให้การเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่เกิดขึ้นและจับต้องได้ ยังไม่ต้องเชื่อผม กลับไปคิดที่บ้าน กาปฏิทินรอวันเลือกตั้ง อบจ. คราวนี้ทำให้ได้เหมือนกับการเลือกตั้งระดับชาติปี 2566 ที่ผ่านมา เอาให้ถึงล้านให้ได้” พิธากล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อบจเชียงใหม่ #ก้าวไกล