กมธ.ก้าวไกลฉะงบกลางปีเติมดิจิทัลวอลเล็ต
1.22 แสนล้าน รัฐบาลกลับตัวเลขกระตุ้นเศรษฐกิจไปมา
ไร้ข้อสรุปจะโตกี่เปอร์เซ็นต์กันแน่? อัดเงื่อนไขเอื้อทุนใหญ่ค้าปลีก-ค้าส่งผูกขาดตลาดมากขึ้น
วันที่
31 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ 2567 (งบกลางปี) เพื่อนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
หลังคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งในการนี้
กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ได้ขอสงวนความเห็นปรับลดงบประมาณลง
โดยในส่วนของ
สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย
ได้อภิปรายถึงตัวเลขประมาณการการกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยระบุว่าแม้รัฐบาลจะพูดตลอดว่าเป้าหมายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่าจะกระตุ้นได้แค่ไหน
ที่น่าสงสัยเพราะตัวเลขนี้ใน
2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนหลายครั้ง ในสภาฯ วาระแรก
มีการระบุว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.2-1.8% ซึ่งก็มีการถกเถียงกันมากว่าสูงเกินไป
เทียบกับการประเมินจากหน่วยงานอื่นทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดโครงการอยู่ที่ 0.9%
หรือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ประเมินว่าปีนี้ 0.3%
ปีหน้า 0.3%
สิทธิพลกล่าวต่อไป
ว่าในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นัดแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา
กระทรวงการคลังแจ้งว่ามีการทบทวนใหม่ ว่าตลอดโครงการให้ผลตอบแทนที่ 0.9% แต่ทว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา
กระทรวงคลังแถลงประมาณการใหม่ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะให้ผลตอบแทนที่ 1.2-1.8%
อีกครั้ง
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจากโครงการที่ใช้งบประมาณรวมถึง
4.5 แสนล้านบาท เฉพาะจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ 1.22 แสนล้านบาท
การขอเงินไปใช้มากขนาดนี้สรุปรัฐบาลทราบหรือยังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่
ควรต้องบอกได้ชัดแล้วว่าจะเกิดผลตอบแทนได้แค่ไหน
ซึ่งเมื่อวานนี้ตนก็มาจับข้อผิดสังเกตได้ ในการประชุมวิปฝ่ายค้าน
ที่กระทรวงการคลังได้ส่งผู้แทนมาชี้แจง มีการระบุว่าที่ประเมินกลับมาที่ 1.2-1.8%
ก็เพราะตัวเลขดังกล่าวขึ้นกับสี่เงื่อนไข คือ 1) แหล่งที่มาของเงิน 2) เงื่อนไขของโครงการ 3) จำนวนผู้เข้าร่วม และ 4) พฤติกรรมการใช้จ่าย
สิทธิพลระบุว่าที่น่าสังเกตคือแหล่งที่มาของเงินที่เอามาคำนวณ
มาจากเงินที่อัดฉีดใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
ไม่ได้มาจากการนำเงินที่จะใช้จ่ายภายใต้ภารกิจอื่นอยู่แล้ว หมายความว่าตัวเลข 1.2-1.8% เป็นสมมติฐานว่าเป็นเงินใหม่ทั้งหมด ทำให้คำชี้แจงนี้มีปัญหาสองเรื่อง
1)
แหล่งที่มาของเงินวันนี้ชัดเจนแล้วว่ามาจากไหน
ไม่ได้เป็นเงินใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการใช้เงินจากงบเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท รวมกับอีก 1.5 แสนล้านบาทใน
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวมเป็น 2.74
แสนล้าน หรือคิดเป็นเพียง 60% ของ 4.5 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1.57 แสนล้านบาทเป็นเงินเก่า
โยกงบประมาณจากโครงการเดิมมา ดังนั้น คำอธิบายที่รัฐมนตรีแถลงจึงเป็นไปไม่ได้แล้ว
แล้วทำไมจึงยังนำตัวเลขนี้มาโฆษณาอยู่
2)
การขัดกันระหว่างสิ่งที่รัฐมนตรีแถลงเมื่อวันศุกร์ ว่า 1.2-1.8%
เป็นตัวเลขเดียวกับที่ประเมินตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน ซึ่งไม่ตรงกับที่ปลัดกระทรวงการคลังและ
ผอ.สำนักเศรษฐกิจการคลังให้ข้อมูลในกรรมาธิการ
ว่าเดิมผลการประเมินโครงการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2% แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาหน่วยงานประเมินใหม่ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจที่
0.9%
ทั้งสองเอกสารบอกเป็นตัวเลขตั้งแต่เดือนเมษายนทั้งคู่
แต่กลับไม่ตรงกัน
คำถามคือตกลงมีการทบทวนดังที่ปลัดกระทรวงการคลังชี้แจงในกรรมาธิการจริงหรือไม่
แล้วทำไมตอนแถลงข่าวล่าสุดจึงไม่บอกตัวเลขที่อัปเดตล่าสุดกับประชาชน
สิทธิพลอภิปรายต่อไป
ว่าตัวเลขที่มีการประเมินไว้ที่ 1.2-1.8% ตอนนั้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคำนวณบนสมมติฐานสำคัญสองประการ
คือวงเงิน 5 แสนล้าน และเป็นการกู้เงินทั้งหมด รวมถึงเงินจาก
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ข้อเท็จจริง ณ
ตอนนี้ชัดเจนว่าวงเงินถูกลดลงมาเหลือ 4.5 แสนล้านบาท
และเม็ดเงินใหม่ไม่เยอะเท่าเดิม ดังนั้น
จึงไม่มีทางกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่โฆษณาไว้
นอกจากนี้
จากการสอบถามผู้แทนจากสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในที่ประชุมวิปฝ่ายค้านเมื่อวานนี้
ว่าจากข้อมูลปัจจุบันต้องมีการประเมินผลกระทบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อจีดีพีใหม่หรือไม่
ผู้แทนสภาพัฒน์ตอบว่าจากเดิมประเมินไว้ว่าปีนี้จะกระตุ้นได้ 0.3% และปีหน้า
0.3% แต่การประเมินดังกล่าวมาจากสมมติฐานว่าเป็นเม็ดเงินใหม่และเม็ดเงินจาก
ธ.ก.ส. แต่เมื่อดูจากข้อเท็จจริงปัจจุบันที่แหล่งที่มาของเงินเปลี่ยนไปแล้ว
ก็ต้องกลับไปประเมินใหม่ แต่เชื่อว่าผลกระทบจะน้อยลง
จึงขอให้รัฐบาลชี้แจงว่าได้มีการทบทวนตัวเลขจริงหรือไม่
อย่างที่ปลัดกระทรวงการคลังชี้แจงว่า 0.9% ในห้องกรรมาธิการ
และทำไมล่าสุดรัฐมนตรีจึงยังแถลงว่าจะกระตุ้นได้ 1.2-1.8% และสรุปตัวเลขจริงกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน
“ผลกระทบของดิจิทัลวอลเล็ตต่อจีดีพีสำคัญ
เพราะรัฐบาลพูดเสมอว่าเป้าหมายของโครงการนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
คำถามที่พวกเราในฐานะพรรคฝ่ายค้านหรือกรรมาธิการเสียงข้างน้อยถาม
คือมันจะกระตุ้นได้แค่ไหน คุ้มกับงบประมาณที่ประเทศต้องใช้ไปหรือเปล่า
ปัญหาคือวันนี้ท่านบอกไม่ชัด กลับไปกลับมา แต่ที่แน่ ๆ
คือน้อยลงและเสี่ยงไม่คุ้มกับงบประมาณ” สิทธิพลกล่าว
ขณะเดียวกัน
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็น
ได้อภิปรายถึงข้อกังวลของโครงการ
ที่อาจเป็นการเพิ่มอำนาจเหนือตลาดให้ผู้ค้าส่ง-ค้าปลีกโดยนโยบายรัฐ
เนื่องจากตลาดค้าปลีก-ค้าส่งของไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการกระจุกตัวสูง โดยเฉพาะหลังการควบรวมธุรกิจครั้งใหญ่ในปี
2563 ที่มีการรวมธุรกิจมูลค่ากว่า 3.3 แสนล้านบาท
เป็นหนึ่งในดีลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย
การควบรวมกิจการดังกล่าวแม้จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
(กขค.) แต่ก็มีคณะกรรมการ 3
ท่านที่มีความเห็นคัดค้าน พร้อมยกตัวเลขดัชนี HHI ที่ชี้วัดสถานะการแข่งขันในตลาด มาชี้ให้เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปถึง 1,400
หน่วย ซึ่งตามหลักสากลการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ 100 หน่วยก็น่ากังวลแล้ว กขค.
เสียงข้างน้อยเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวจะทำให้เกิดโอกาสการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจได้
เพราะผู้ขออนุญาตควบรวมมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท
ทั้งสินค้าเกษตรพื้นฐาน เกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
ซึ่งปัจจัยนี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตควบรวมมีอำนาจเหนือตลาดสูงจนครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้ง่าย
และทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงขึ้น
วีระยุทธอภิปรายต่อไป
ว่าหากเป็นมาตรฐานสากล การรวมธุรกิจที่เพิ่มอำนาจเหนือตลาดระดับนี้
อย่างต่ำที่สุดต้องมีโทษปรับหรือบังคับให้มีการถ่ายโอนร้านค้าบางส่วน
การแข่งขันในตลาดจะได้ไม่น้อยลงไปกว่าเดิม
และต้องมีการเฝ้าระวังไม่ให้มีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นอีก แต่ที่เป็นตลกร้ายคือผ่านไป
4 ปีหลังการควบรวมเท่านั้น
นโยบายของรัฐบาลเองกลับกำลังจะเพิ่มอำนาจเหนือตลาดให้กับผู้ค้าปลีกรายใหญ่
โดยผู้ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้สนใจศึกษาผลกระทบของนโยบายนี้ที่จะมีต่อการแข่งขันในตลาดค้าปลีกให้รอบคอบ
แม้จะยังไม่อาจสรุปได้ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเพิ่มอำนาจเหนือตลาดให้แก่ร้านค้าปลีกรายใหญ่แค่ไหน
จะลดอำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์และผู้ผลิตหรือไม่
จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปอย่างไร
จะส่งผลต่อราคาและคุณภาพสินค้าในระยะยาวมากน้อยเพียงใด แต่หากเป็นไปได้ ตนอยากให้รัฐบาลประเมินผลกระทบของโครงการต่อตลาดค้าปลีกค้าส่งไว้ล่วงหน้า
และออกแบบโครงการให้เอื้อต่อการกระจายรายได้ ใช้เงินเพื่อเพิ่มโอกาส
ต่อลมหายใจให้ผู้ผลิตไทยที่กำลังย่ำแย่ในขณะนี้
แต่หากไม่ทันแล้ว
อย่างน้อยที่สุดควรมีการเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
จัดทำโดยตัวกลางที่น่าเชื่อถือ เก็บข้อมูลธุรกรรมแยกรายพื้นที่ แยกประเภทสินค้า
แยกประเภทร้านค้า
มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่คอยเฝ้าระวังพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดระหว่างโครงการ
“การมีบรรทัดฐานด้านการแข่งขันไม่เพียงช่วยการันตีว่าผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่มีราคาและคุณภาพดีที่สุดจากตลาดเท่านั้น
แต่จะเป็นเสมือน “ผนังทองแดงกําแพงเหล็ก” ให้ธุรกิจไทยสามารถยืนพิงได้
ในเวลาที่กระแสการแข่งขันจากต่างชาติเชี่ยวกรากขึ้นเรื่อย ๆ ” วีระยุทธกล่าว