วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“สุรเชษฐ์” ถาม รฟม. ‘ส่วนต่าง’ สายสีส้ม 68,613 ล้านบาทหายไปไหน หลัง ครม. เห็นชอบ เตรียมลงนามสัญญา BEM. ชี้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ต้องแก้สัญญาก่อนเซ็นตกลงราคา ไม่เช่นนั้นเท่ากับยกเงินเพิ่มให้เอกชนอีกก้อนใหญ่จากนโยบายรัฐ

 


สุรเชษฐ์” ถาม รฟม. ‘ส่วนต่าง’ สายสีส้ม 68,613 ล้านบาทหายไปไหน หลัง ครม. เห็นชอบ เตรียมลงนามสัญญา BEM. ชี้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ต้องแก้สัญญาก่อนเซ็นตกลงราคา ไม่เช่นนั้นเท่ากับยกเงินเพิ่มให้เอกชนอีกก้อนใหญ่จากนโยบายรัฐ

 

ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 มีการพิจารณางบประมาณกระทรวงคมนาคม โดยช่วงหนึ่ง สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ได้ตั้งคำถามต่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งในวันเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก จะมีการลงนามในสัญญาวันที่ 18 กรกฎาคมนี้

 

สุรเชษฐ์กล่าวว่า ในแต่ละปีงบประมาณ กรรมาธิการตัดงบเพื่อประหยัดภาษีให้พี่น้องประชาชนก็อาจได้หลักหมื่นหรือสองหมื่นล้านบาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ รฟม. ในโครงการรถไฟสายสีส้ม มีเงินหายไปกว่า 68,000 ล้านบาท จึงต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้ตนเคยอภิปรายในสภาฯ และแถลงข่าวแล้ว แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าส่วนต่างที่เป็นไปตามข่าวนั้น มีอยู่จริงอย่างแจ่มชัด

 

โดยเท้าความเดิมกรณีค่าโกงรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่าการประมูลทั้ง 2 ครั้งในปี 2563 และปี 2565 สร้างสิ่งเดียวกันคือรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีระยะทางและจำนวนสถานีเท่าเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าการประมูลเมื่อปี 2563 เป็นไปตามกระบวนการปกติ ไม่ถูกล้มประมูล บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จะเป็นผู้ชนะ โดยขอเงินอุดหนุนจากรัฐ 9,675 ล้านบาท แต่เมื่อล้มประมูล แล้วประมูลใหม่ในปี 2565 กลุ่ม BEM ชนะการประมูลโดย BTS ไม่ได้เข้าแข่งขัน ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้กันดีว่ามี 2 เจ้าใหญ่ในตลาดปัจจุบัน ทำให้รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท มีส่วนต่างเกิดขึ้น 68,613 ล้านบาท

 

ในการประมูลรอบแรก ข้อเสนอของ BTS ที่ยื่นต่อ รฟม. ตั้งแต่ปีที่ 1-34 ในปีแรกๆ เงินอุดหนุนที่รัฐต้องให้เพื่อดำเนินงานก่อสร้าง คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันทั้งสิ้น 79,820 ล้านบาท นี่คือก้อนที่หนึ่ง โดยในปีแรกๆ ของการเดินรถ จะยังไม่มีกำไร ยังไม่สามารถตอบแทนคืนรัฐ จนกระทั่งปีที่ 20 จึงเริ่มตอบแทน และเมื่อถึงปีที่ 34 คิดมูลค่าผลตอบแทนคืนรัฐรวม 70,145 ล้านบาท นี่คือก้อนที่สอง พูดง่ายๆ คือขอเงินรัฐมาก่อน จากนั้นค่อยจ่ายคืน เท่ากับว่าจำนวนที่รัฐต้องจ่ายจริงคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 9,675 ล้านบาท

 

ต้องย้ำว่าที่พูดเรื่องนี้ไม่ได้จะช่วยใครทั้งสิ้น ผมตรวจสอบ BTS เรื่องการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเช่นกัน แต่เราต้องพูดในเชิงหลักการว่าในประเทศนี้มีผู้ดำเนินการเจ้าใหญ่เพียง 2 เจ้า คือกลุ่ม BTS กับกลุ่ม BEM ดังนั้น หน้าที่ของเราในการประหยัดเงินภาษีประชาชน คือทำให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม” สุรเชษฐ์กล่าว

 

สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบกับข้อเสนอของกลุ่ม BEM พบว่าปีที่ 3 จะขอเงินอุดหนุนจากรัฐ 20,223 ล้านบาท เมื่อรวมไปเรื่อย ๆ ถึงปีที่ 34 ขอเงินรัฐอุดหนุนการก่อสร้างรวม 81,871 ล้านบาท เป็นก้อนที่หนึ่ง ในรูปแบบเดียวกัน เมื่อเริ่มดำเนินการยังไม่ได้กำไร จะเริ่มจ่ายคืนรัฐปีที่ 14 จนถึงปีที่ 34 คิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนรวม 3,583 ล้านบาท เป็นก้อนที่สอง เท่ากับโดยรวมรัฐอุดหนุนโครงการนี้ 78,288 ล้านบาท

 

เมื่อเทียบข้อมูลระหว่าง 2 กลุ่ม จะพบว่าราคาค่าก่อสร้างแทบไม่ต่างกัน ส่วนที่แตกต่างจริงๆ คือการคืนกำไรให้รัฐ เจ้าหนึ่งจะคืนให้รัฐกว่า 7 หมื่นล้าน แต่อีกเจ้าคืนประมาณ 3,583 ล้านบาท โดยกลุ่ม BTS รัฐต้องอุดหนุน 9,675 ล้านบาท ขณะที่กลุ่ม BEM รัฐต้องอุดหนุน 78,288 ล้านบาท เมื่อนำสองจำนวนนี้มาลบกัน จึงเป็นส่วนต่างกว่า 68,000 ล้านบาทที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน เงินจำนวนนี้มากกว่าเงินที่ กมธ.งบฯ พยายามตัดงบของทุกหน่วยงานในแต่ละปีเสียอีก

 

สุรเชษฐ์สรุปปัญหาค่าส่วนต่างของรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งเป็น 5 กระบวนท่าคือ (1) เตรียมเค้กชิ้นใหญ่ (2) ล็อกเป้าเอาไว้ (3) เตะตัดขาผ่านการล้มประมูลปี 2563 (4) พอจะประมูลใหม่ในปี 2565 ก็ฆ่าตัดตอน ไม่ให้อีกเจ้าเข้ามา (5) จบด้วยการรอทอนส่วนแบ่งอะไรหรือไม่ รวมเป็นปรากฏการณ์ฟอกขาว หรือทำให้ “ถูกต้องโดยทุจริต” จากเมกะโปรเจกต์จึงกลายเป็นเมกะดีล

 

จึงขอตั้งคำถาม 2 ข้อ (1) ส่วนต่าง 68,613 ล้านบาทหายไปไหน และคณะกรรมการที่ควรต้องเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติ ได้อะไรมาบ้าง ลดไปเท่าไรหลังการต่อรอง (2) นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะใช้วิธีเจรจาเพื่อลดราคา ได้มีการเจรจาจริงหรือไม่ ตนสงสัยว่าเหตุใดไม่เจรจาลดราคาก่อนเซ็น ไม่ใช่เซ็นบนร่างเดิมซึ่งตนทราบว่าไม่ใช่ราคา 20 บาท

 

สมมติต้นทุนเฉลี่ยเป็น 35 บาทต่อผู้ใช้ ถ้าบอกว่าจะลดราคาเหลือ 20 บาท เท่ากับทุกเที่ยวการเดินทาง รัฐต้องอุดหนุนเพิ่ม 15 บาท อันเป็นการสร้าง induced demand จูงใจให้คนต้องการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นจริงแต่ก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเจ้าของสัมปทานเพิ่มเติมจากข้อตกลงตามสัญญา เช่นหากมีความต้องการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่ม 50,000 เที่ยวต่อวัน เอกชนจะได้เงินเพิ่มฟรีๆ 1,750,000 บาท ต่อวัน หรือ 639 ล้านบาทต่อปี หากเซ็นวันนี้ด้วยร่างสัญญาเดิม เอกชนจะได้เงินเพิ่มไปฟรีๆ จากนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งผิดจากที่รัฐบาลหาเสียงไว้ว่าจะ “เจรจาเพื่อลดราคา” ไม่ได้จะเทเงินไปเพิ่มให้นายทุนแบบนี้ จึงขอให้หน่วยงานคำนึงถึงความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการดำเนินงาน

 

จากนั้น วิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการฯ รักษาการผู้ว่าการ รฟม. ตอบคำถามของสุรเชษฐ์ว่า การดำเนินการสายสีส้มที่ผ่านมาดำเนินการตามกระบวนการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ระหว่างการคัดเลือกมีการฟ้องร้องคดีทั้งครั้งแรกและครั้งที่สอง ทุกคดีไปที่ศาลปกครองสูงสุด ศาลฯ พิจารณายกฟ้องทั้งหมด โดยในการคัดเลือกรอบที่ 2 ไม่ได้รับข้อเสนอจากกลุ่ม BTS เนื่องจากไม่ได้ร่วมแข่งขัน

 

ด้านสุรเชษฐ์ ย้ำคำถามเรื่องค่าส่วนต่าง 68,613 ล้านบาท หายไปไหน รองผู้ว่าฯ รฟม. ตอบเหมือนไม่รับรู้เพราะมีการล้มประมูลไปก่อน จึงขอให้ทำเอกสารการคำนวณจากผลการเจรจาของคณะกรรมการฯ ส่งให้ตนว่าลดส่วนต่างลงได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนกรณีนโยบาย 20 บาทตลอดสาย มีความคืบหน้าอย่างไร ได้มีการเจรจาเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ หรือว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรปล่อยให้เป็นไปตามร่างสัญญาเดิม ทำให้ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-44 บาท โดยล็อกแค่ 10 ปี หลังจากนั้นจะปรับตามเงินเฟ้อแต่บนฐานของ 20-62 บาท ซึ่งจะทำให้แพงขึ้นมากอย่างก้าวกระโดด อันจะเป็นการหาเหตุให้มีการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานอีกหรือไม่ ควรระมัดระวังให้ดีตั้งแต่ก่อนเซ็นสัญญาพรุ่งนี้

 

รองผู้ว่าการฯ รฟม. กล่าวว่า นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการ ส่วนค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นมากหลังปีที่ 10 เป็นผลการเจรจาร่วมกันระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกและผู้ชนะการคัดเลือก จากนั้นสุรเชษฐ์กล่าวว่า ขอให้ตอบรายละเอียดทั้ง 2 คำถาม ส่งเป็นเอกสาร ส่วนเรื่องค่าโดยสารจะขึ้นก้าวกระโดดในปีที่ 10 ตนเห็นว่าเมื่อรู้ตั้งแต่วันนี้ว่าจะเกิดปัญหาก็ควรหาทางป้องกัน แต่ถ้าจะเร่งเซ็นกันไปแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ปล่อยคาราคาซังมานานแบบไม่ทำอะไร เชื่อว่าเมื่อถึงเวลา อีก 10 ปีข้างหน้า จะมีการหาเรื่องขยายสัญญาสัมปทานแน่นอนเพราะประชาชนจะเดือดร้อนอย่างหนัก หรือไม่รัฐก็ต้องเทเงินไปอุดหนุนเพิ่มอีกมหาศาล

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์