วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ทนายด่าง เผยแพร่คำแถลงกรณีการเสียชีวิตของ "บุ้ง-เนติพร" นับเป็นวันที่ 78 แล้ว ที่ไร้คำชี้แจง จี้คณะกรรมการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรม เร่งสอบสวน - แจ้งสาธารณชนทราบโดยด่วน ก่อนที่ศาลจะไต่สวนการตายตามกฏหมายต่อไป

 




ทนายด่าง เผยแพร่คำแถลงกรณีการเสียชีวิตของ "บุ้ง-เนติพร" นับเป็นวันที่ 78 แล้ว ที่ไร้คำชี้แจง จี้คณะกรรมการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรม เร่งสอบสวน - แจ้งสาธารณชนทราบโดยด่วน ก่อนที่ศาลจะไต่สวนการตายตามกฎหมายต่อไป


วันนี้ (31 กรกฎาคม 2567) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ ทนายด่าง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Krisadang-Pawadee Nutcharus ระบุว่า


คำแถลงกรณีการเสียชีวิตของ นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง)


วันนี้ ( 31 กรกฎาคม 2567 ) ซึ่งนับเป็นวันที่ 78 ของการเสียชีวิตของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง จำเลยในคดีอาญาของศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กรุงเทพมหานคร โดยหมายขังของศาลยุติธรรมทั้งสองแห่ง ในฐานะทนายความของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง เห็นว่า การเสียชีวิตของบุ้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ยังคงไม่ได้รับการชี้แจงถึงสาเหตุการตายและรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเสียชีวิตของบุ้งจากหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบแต่อย่างใด


กระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลดูแลรับผิดชอบกรณีดังกล่าวยังมิได้ดำเนินการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตของบุ้งเลย และในส่วนหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบค้นหาความจริงรวมทั้งค้นหาความรับผิดชอบจากกรณีการเสียชีวิตของบุ้งก็ยังมิได้มีการดำเนินการใด ๆ จนบัดนี้


​ข้าพเจ้าในฐานะทนายความของบุ้งในคดีอาญาที่เธอถูกกล่าวหาและยังไม่มีคำพิพากษาใด ๆ ว่าเธอได้กระทำความผิดตามที่รัฐกล่าวอ้างทั้งสิ้น เห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นข้อด่างพร้อยอย่างชัดเจนของกระบวนการยุติธรรมไทย


​แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในกรณีการตายของบุ้งเพียงเท่าที่จะสามารถหาได้จากพยานหลักฐานทั้งรายงานทางการแพทย์และภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกจากกล้องวงจรปิดสถานที่เกิดเหตุ รวมทั้งจากพยานบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าวทำให้ได้ข้อยุติในข้อเท็จจริงที่รวบรวมได้ดังต่อไปนี้


​ข้อ 1. จากพยานหลักฐานที่จะระบุท้ายคำแถลงฉบับนี้ทำให้เราเชื่อได้ว่า นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ถึงแก่ความตายที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่เช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2567


​ข้อ 2. จากพยานหลักฐานภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกจากกล้องวงจรปิดในบริเวณห้องขังของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง รักษาตัวอยู่นั้นเห็นว่า ในครั้งแรกที่พบว่า นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง มีอาการอยู่ในภาวะวิกฤตินั้น ไม่มีการกู้ชีพโดยใช้แพทย์หรือพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญและการกู้ชีพโดยบุคคลที่ปรากฎในภาพก็เป็นการช่วยเหลือโดยไม่เป็นตามหลักวิธีทางการแพทย์ และไม่มีการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลทั่วไปต้องมีอยู่ในการกู้ชีพแต่อย่างใด


​ข้อ 3. การเคลื่อนย้ายนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง จากเตียงผู้ป่วยไปสู่ห้องฉุกเฉินของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ใช้เวลานานเกินสมควรและน่าจะมีข้อผิดพลาดในการช่วยเหลือ เพราะเห็นได้ชัดว่าในขณะทำการกู้ชีพนั้นที่บริเวณหน้าท้องของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้งมีอาการบวมจนสังเกตุได้จากภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดของห้องฉุกเฉินที่ได้รับจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์


​ข้อ 4. การตัดสินใจส่งตัวนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ออกจากของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอยู่ห่างไกลมากกว่าโรงพยาบาลทันสมัยอื่นที่อยู่ใกล้เคียง โดยในขณะนั้นนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง มีหลักฐานบ่งชี้ชัดว่านางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ไม่มีสัญญาณชีพแล้วจึงน่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้รับผิดชอบ


​ข้อ 5. จากภาพของกล้องวงจรปิดของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในขณะที่รถพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์นำตัวนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ไปส่งนั้นระบุชัดเจนว่าในการนำตัวนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ออกจากรถพยาบาลเพื่อส่งต่อเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรตินั้นใช้เวลานานเกินสมควรและผิดปรกติอย่างมาก ทั้งเห็นได้ว่าแพทย์ผู้มากับรถพยาบาลนั่งมาคู่กับคนขับมิได้อยู่กับผู้ป่วยที่อยู่ตอนหลังของรถแต่อย่างใด


​ข้อ 6. จากรายงานบันทึกทางการแพทย์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในขณะที่รับตัวนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้งนั้นระบุชัดเจนว่าเธอไม่มีสัญญาณชีพแล้ว และพบว่าการสอดท่อช่วยหายใจที่จะนำอากาศเข้าสู่ปอดนั้นเกิดความผิดพลาด โดยท่อช่วยหายใจนั้นถูกสอดใส่ไปในหลอดอาหารแทนที่จะสอดใส่ไปที่ในท่อหายใจ ซึ่งแพทย์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้บันทึกไว้ว่าต้องมีการแก้ไขสอดท่อใหม่ให้ถูกต้อง อีกทั้งจากการชันสูตรพลิกศพภายหลังพบว่ามีอากาศอยู่ในช่องท้องของผู้ตายจำนวนมากจนทำให้มีอาการป่องบวมอย่างเห็นได้ชัด


​ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ข้อสังเกตุทั้ง 6 ประการข้างต้นนั้น ทนายความและญาติพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียได้ตั้งข้อสังเกตุจากรายงานทางการแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และรายงานทางการแพทย์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และรายงานจากการผ่าชันสูตรร่างกายผู้เสียชีวิตภายหลังการตาย รวมทั้งจากภาพเคลื่อนไหวของกล้องวงจรปิดเท่าที่ได้รับจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเท่านั้น สำหรับรายละเอียดการวิเคราะห์ทางการแพทย์และทางเคมีรวมทั้งหลักวิชาการกู้ชีพในภาวะวิกฤติกรณีความบกพร่องในการช่วยชีวิตผู้ป่วยนั้นได้จัดทำขึ้นต่างหากเพื่อใช้สำหรับการไต่สวนการตายในชั้นพิจารณาคดีของศาลต่อไป


​ข้าพเจ้าขอเรียนว่าทนายความของผู้ตายในกรณีนี้ เห็นว่า นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้งได้เสียชีวิตที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กรุงเทพมหานครแล้ว การไต่สวนการตายในกรณีนี้จึงต้องกระทำที่ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเท่านั้น


​ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมซึ่งได้ตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนกรณีนี้เร่งดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งชี้แจงผลการสอบสวนพร้อมรายละเอียดทั้งหมดต่อประชาชนและผู้เกี่ยวข้องโดยด่วน ก่อนที่จะมีการไต่สวนการตายของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ณ ศาลที่มีอำนาจตามกฎหมายต่อไป


นายกฤษฎางค์ นุตจรัส

31 กรกฎาคม 2567

เป็นเวลา 78 วันนับจากการตายของบุ้ง


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #บุ้งเนติพร #บุ้งทะลุวัง #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม