“ศิริกัญญา” ตั้งกระทู้สดถามนายกฯ ย้ำเศรษฐกิจซบเซา นายกฯ วินิจฉัยโรคได้ แต่จ่ายยาผิด อั้นงบกลาง 67 ไว้โปะดิจิทัลวอลเล็ต แต่ไม่ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน
วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา ค่าครองชีพพุ่งสูง ค่าไฟแพง ค่าน้ำมันแพง รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนอย่างไรบ้าง
ศิริกัญญาเริ่มถามคำถามแรกถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่า จากการแถลงของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวานนี้ มีประชาชนสอบถามเข้ามามากว่าเกิดอะไรขึ้นกับโครงการดังกล่าว เพราะมีส่วนที่ปรับแก้เงื่อนไขเพิ่มเติมอีกรอบ บางสินค้าที่เคยบอกว่าจะใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตซื้อได้ เช่น สมาร์ตโฟน เงื่อนไขล่าสุดก็ปรับเป็นซื้อไม่ได้แล้ว แต่ที่ประชาชนกังวลเป็นพิเศษคือการปรับลดเป้าหมายจาก 50 ล้านคนเหลือ 45 ล้านคน โดยอ้างว่าจะมีประชาชนที่มีสิทธิ์แต่ไม่มาลงทะเบียนราวร้อยละ 10 และอาจไม่ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว ทำให้จะเหลือเงินสำหรับใช้ในโครงการนี้เพียง 4.5 แสนล้านบาทเท่านั้น
คำถามคือ ตอนนี้งบประมาณมีไม่เพียงพอแล้วหรืออย่างไร ทำให้หามาได้แค่ 4.5 แสนล้านบาท งบประมาณจากปี 2567 จากที่เคยจะใช้ประมาณ 1.7 แสนล้านบาทก็ลดเหลือเพียง 1.65 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำมาจากงบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท คำถามที่ประชาชนสงสัยคือสุดท้ายถ้าคนมาลงทะเบียนครบ 50 ล้านคนจะทำอย่างไร อีก 5 หมื่นล้านบาทจะใช้เงินจากแหล่งใด และที่น่ากังวลกว่านั้นคือสรุปแล้วจะมีการใช้งบกลางของปี 2567 หรือไม่ จะบริหารจัดการอย่างไร หรือสุดท้ายจะมีการใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่อยู่ในอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือไม่
ด้านนายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามแรกว่า ที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องของประเภทสินค้า เป็นตัวบ่งบอกว่ารัฐบาลฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน และมีการพูดคุยกันตลอดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ส่วนเรื่องงบประมาณ รัฐบาลได้กันงบกลางปี 2567 ไว้ 4.3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้งบประมาณปี 2568
สาเหตุที่ลดงบประมาณทั้งหมดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจาก 5 แสนล้านบาทเหลือ 4.5 แสนล้านบาท เพราะจากสถิติเก่าของรัฐบาลที่ผ่านมาวิเคราะห์แล้วว่าจะมีคนที่ไม่มาใช้สิทธิ์จำนวนหนึ่ง แต่รัฐบาลก็จะเตรียมงบประมาณให้เต็มที่ โดยมั่นใจว่าจะใช้การพิเคราะห์อย่างดีให้โครงการดำเนินไปอย่างตรงเป้าหมาย ถูกต้องตามกฎหมาย สุจริต และเป็นไปตามกติกาการใช้งบประมาณที่ถูกต้อง
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่ต้องแจกเงิน 10,000 บาทต่อคนและจำกัดพื้นที่ในการใช้ ก็เพราะไม่ต้องการให้ความเจริญกระจุกอยู่ในหัวเมืองหลักอย่างเดียว ประชาชนจะได้ใช้จ่ายภายในอำเภอนั้นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดที่ยังมีการเติบโตต่ำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ส่วนรายละเอียดที่เหลือจะมีการแถลงออกมาให้มีความชัดเจนในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้แน่นอน
ด้านศิริกัญญาได้ถามต่อในคำถามที่สองว่า ในเมื่อนายกรัฐมนตรีตอบว่าต้องใช้งบกลางปี 2567 จำนวน 4.3 หมื่นล้านบาท ข้อสงสัยของตนก็มีความกระจ่างขึ้น เพราะตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาบริหารประเทศมากว่า 10 เดือน มีข้อสังเกตว่างบกลางปี 2567 แทบไม่ได้มีการอนุมัติเลย ทั้งที่มีปัญหาประชาชนหลายเรื่องที่รอการแก้ไข ก็เพราะต้องเก็บเงินไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั่นเอง ซึ่งประชาชนต้องรอต่อไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และไม่รู้แน่ชัดว่าจะเป็นเดือนไหน
ที่ตนต้องถามเรื่องงบกลางปี 2567 ก็เพราะสภาฯ อนุมัติงบกลางไป 9.9 หมื่นล้านบาท แต่กลับมีการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปเพียง 1.4 หมื่นล้านบาทเศษ ที่น่ากังวลเพราะมีปัญหาเร่งด่วนกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือเรื่องค่าครองชีพของประชาชน
ศิริกัญญาอภิปรายต่อไปว่า นอกจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก โดยเฉพาะโรงงานที่ปิดกิจการไปจำนวนมาก ข้อมูลการปิดโรงงานอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยผลรวมตั้งแต่ปี 2566 จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวไปแล้วเกือบ 2,000 แห่ง กระทบการจ้างงาน 5 หมื่นตำแหน่ง ถ้านับเฉพาะตั้งแต่นายกฯ เข้ามารับตำแหน่งมีโรงงานปิดไปแล้ว 1,217 โรง และมีโรงงานเปิดใหม่เพียง 1,264 โรง แถมที่ปิดไปก็เป็นโรงงานขนาดใหญ่ขณะที่โรงงานที่เปิดใหม่เป็นโรงงานขนาดเล็ก
มีการของบกลางช่วยพยุงราคาน้ำมัน 6.5 พันล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่อนุมัติ ทั้งที่งบกลางไม่ได้ใช้ ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่อยากอุดหนุนราคาน้ำมันด้วยการลดภาษีสรรพสามิตแบบเดิมๆ ก็อาจเลือกอุดหนุนเฉพาะกลุ่มก็ได้ เช่น ภาคขนส่ง รถโดยสารสาธารณะ หรือถ้าเป็นประชาชนทั่วไปก็อาจแจกเป็นคูปองลดราคาน้ำมันลิตรละ 5 บาทไม่เกินจำนวนหนึ่งๆ ต่อเดือน ซึ่งจะใช้เงินน้อยกว่ามาก สามารถควบคุมงบประมาณได้ แต่กลับไม่มีการออกมาตรการมาช่วยเหลือค่าครองชีพเลย
ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง อาจมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออกมาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่คนซึ่งกำลังเดือดร้อนที่ต้องเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น ไม่มีการออกสินเชื่อสำหรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจ ยกเครื่องเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ตนอยากถามว่า รัฐบาลมีแนวโน้มจะออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนหรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกมาหรือไม่
ด้านนายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามที่สอง โดยระบุว่า ตนยืนยันว่ารัฐบาลมีการใช้งบกลางทั้งในการดูแลค่าน้ำมันและค่าไฟ แก้ปัญหาการเกษตร น้ำท่วม น้ำแล้ง ถนน สถานพยาบาล และอื่นๆ ซึ่งถ้าสมาชิกอยากทราบรายละเอียด ตนก็พร้อมจะนำมาแถลงอีกครั้งในการประชุมสภาฯ คราวหน้า
ส่วนเรื่องเศรษฐกิจโดยภาพรวม ฝ่ายค้านกับรัฐบาลมีความเห็นต่างกันในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจขณะนี้วิกฤติหรือไม่ ต้องกระตุ้นหรือต้องเปลี่ยนโครงสร้างกันแน่ โดยย้ำว่า 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของประเทศไทยเติบโตต่ำ ไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้การบริโภคโตเฉลี่ยแค่ร้อยละ 3 ต่อปี การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนค่อนข้างต่ำ ส่งออกติดลบ การนำเข้าเพิ่มมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบและพลังงาน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวเข้ากับความต้องการของโลกสมัยใหม่ช้ากว่าที่ควรเป็น ตนจึงต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปเจรจากับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้เข้ามาสร้าง Data Center เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากมาย แม้ยอดขายจะตกบ้างแต่ก็ยังเดินหน้าต่อ
ประเทศไทยต้องมีการดึงแหล่งเงินทุนมาใหม่ ที่ตนเดินทางไปต่างประเทศก็เพราะให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ผ่านมาประเทศไทยแพ้อินโดนีเซียและเวียดนามมาตลอด แต่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญเต็มที่ การดึงดูดการลงทุนเป็นแสนล้านต้องใช้เวลา แต่ก็มีการพัฒนาในขั้นตอนต่างๆ ที่ดี ควบคู่ไปกับการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ด้วย
ส่วนเรื่องพลังงาน หนึ่งในทางแก้คือการฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) กับประเทศกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลประกาศแล้วว่าจะแก้ไข โดยจากการประเมินก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท จะเอามาใช้อย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาราคาโครงสร้างพลังงานได้
ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถึงจะมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม แต่ถ้าโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อมก็ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ รัฐบาลจึงมีนโยบายการขยายสนามบินทุกภูมิภาค รวมทั้งแลนด์บริดจ์ ที่สำคัญคือรัฐบาลอยากทำให้ไทยเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของเอเชีย คือไม่ทะเลาะกับใคร ใครก็ตามที่มาใช้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยย่อมมั่นใจว่าเราเป็นมิตรกับทุกคน
ด้านศิริกัญญาได้ถามต่อเป็นคำถามสุดท้าย โดยระบุว่า การที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบคำถามที่ตนถาม เป็นการยืนยันว่าจะไม่มีมาตรการพยุงค่าครองชีพประชาชนในระยะสั้นเฉพาะหน้า หรือการแก้ปัญหาโรงงานต่างๆ ที่ปิดกิจการ
“จากที่เล่ามาทั้งหมด ท่านวิเคราะห์ปัญหาและวินิจฉัยโรคถูก แต่ทางออกยังมืดมน ยังไม่เห็นรูปธรรม ที่ถามคือสิ่งที่ท่านจะทำตอนนี้โดยไม่ต้องรอดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคืออะไร งบประมาณไม่พอหรืออย่างไรในการนำไปช่วยเหลือเยียวยาค่าครองชีพของประชาชนไปก่อน” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ในโอกาสนี้ตนมีข้อเสนอว่า รัฐบาลสามารถสร้างแรงจูงใจให้ท้องถิ่นนำเงินสะสมของตัวเองมาใช้ในการลงทุนขนาดเล็กในชุมชน ให้เกิดการจ้างงานในชุมชนต่างจังหวัดได้ ท้องถิ่นมีเงินสะสมอยู่จริงไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ถ้ารัฐบาลออกครึ่งหนึ่ง ท้องถิ่นออกครึ่งหนึ่ง เพื่อนำไปแก้ปัญหาทั้งแหล่งน้ำและน้ำประปาในพื้นที่ ก็จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพียงอย่างเดียว
แม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาหลายเรื่อง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนรวยและชนชั้นกลางเป็นหลัก มีกลุ่มเกษตรกรบ้างอย่างโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่ก็มาในช่วงเวลาที่เกษตรกรลงปุ๋ยใส่นาไปหมดแล้ว ติดเงินเชื่อกับบริษัทขายปุ๋ยไปแล้ว
ที่สำคัญคือมีนโยบายที่เน้นไปที่ภาคอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากถึง 7 มาตรการ สัปดาห์ที่แล้วก็มีการมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาตอบกระทู้เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการเพิ่มสัดส่วนต่างชาติซื้อคอนโด การถือครองทรัพย์อิงสิทธิ์ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยฯ ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีเป็นต้นคิดในมาตรการเหล่านี้ และได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดทำ
แต่นโยบายเหล่านี้มีผลกระทบในเชิงลบค่อนข้างมาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องขายชาติหรือไม่ แต่ถ้าทำจริงจะนำไปสู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงขึ้น มีกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์แน่ๆ แต่ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ไม่สามารถมีเงินมากพอที่จะซื้อบ้านได้อีกแล้ว คำถามคือสุดท้ายคนไทยจะได้อะไรจากมาตรการนี้ และสัดส่วนที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจคืออะไร
ด้านนายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามสุดท้าย โดยยืนยันว่ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำอย่างต่อเนื่อง บางมาตรการไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ใช้นโยบาย ความมุ่งมั่น และการประสานงานร่วมกัน ส่วนเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์ ตนเพียงเสนอให้มีการศึกษาเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีการเรียกร้องจากนักลงทุนเข้ามา แต่ขณะนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะทำ ถ้าทำแล้วจะส่งผลระยะยาวต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดการลงทุนสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งตนตั้งใจจะทำให้ซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ