วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“ปกรณ์วุฒิ”เผย “ฝ่ายค้าน” ส่ง “ศิริกัญญา” ถามกระทู้สด ดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ 11 ก.ค. ชี้“เศรษฐา” ตอบกระทู้ ถือเป็นโอกาสดี อย่าคิดว่าฝ่ายค้านหลอกด่า

 


ปกรณ์วุฒิ”เผย “ฝ่ายค้าน” ส่ง “ศิริกัญญา” ถามกระทู้สด ดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ 11 ก.ค. ชี้“เศรษฐา” ตอบกระทู้ ถือเป็นโอกาสดี อย่าคิดว่าฝ่ายค้านหลอกด่า

 

วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567) เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการประชุมสภาฯว่า ในการพิจารณาวันที่ 10 ก.ค.นี้จะมีการพิจารณากฎหมายยกเลิกคำสั่งคสช. เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วและคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร คงจะรับหลักการเห็นชอบตามที่กรรมาธิการพิจารณามา นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายของครม.อีก 1 ร่าง เกี่ยวกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่สส.เป็นผู้ยื่นเอง ตนได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทุกร่างครม.น่าจะรับกลับไปพิจารณาก่อน 60 วัน แม้กระทั่งร่างของสส.พรรคเพื่อไทย จึงขอตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมามีการปิดสมัยประชุมหลายเดือน และทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าร่างกฎหมายที่จะเข้าสภาหลังเปิดสมัยประชุมมีอะไรบ้าง และเชื่อว่าไม่เกินความสามารถรัฐบาลที่จะรับทราบว่า ร่างกฎหมายฉบับไหนที่จะเข้าสภาเป็นอันดับต้นๆ แต่ก็ยังคงไม่มีความพร้อมในการเตรียมการใด ๆ แต่ก็ไม่ได้ผิดข้อบังคับอะไรที่ครม.จะรับร่างไปพิจารณาก่อน 60 วัน จึงขอทวงถาม ต่อการเตรียมความพร้อมกับการยึดโยงระหว่างฝ่ายบริหาร กับ ฝ่ายนิติบัญญัติอีกครั้ง ว่าให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติมากแค่ไหน

 

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ส่วนการตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาในวันที่ 11 ก.ค.ตนได้แจ้งไปยังวิปรัฐบาลแล้ว ตั้งแต่เย็นวันที่ 8 ก.ค. ว่า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถามตรงไปยัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เท่านั้น โดยเป็นการถามเกี่ยวกับมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้นายกฯอาจจะให้ รมว.คลังหรือรมช.คลังมาตอบแทนได้ เพราะเข้าใจว่า จะถามเรื่อง ดิจิทัล วอลเล็ต แต่จริงๆแล้ว มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่มีแค่นั้น และเรายืนยันว่าต้องเป็นนายกฯเท่านั้นที่มาตอบ ทั้งนี้เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาปากท้องของประชาชน แต่จะพูดเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับปัญหาปากท้องของประชาชน เช่นค่าไฟก็จะต้องเกี่ยวเนื่องกับกระทรวงพลังงาน และมาตรการอีกหลายๆด้านที่จะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง จึงจำเป็นต้องเป็นนายกฯที่มาตอบ เพราะนายกฯ เป็นหัวโต๊ะในการประชุมครม.ชุดเล็ก ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

 

ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า นายกฯเองก็เพิ่งพูดไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าไม่ได้ตั้งใจจะหนี ถ้าว่างก็จะมา และครั้งนี้ท่านรู้อยู่แล้ว ว่าทุกวันพฤหัสบดีช่วงเช้า จะเป็นกระทู้ถามสด ที่ครม. จะต้องมาสแตนบาย แต่จริงๆแล้วไม่ต้องสแตนบายด้วยซ้ำเพราะฝ่ายค้านแจ้งไปอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันจันทร์แล้ว ดังนั้นนายกฯและรัฐมนตรี ก็น่าจะสามารถเคลียร์ภารกิจ มาตอบกระทู้ได้ จึงต้องดูว่านายกฯจะทำอย่างที่สัญญาไว้หรือไม่ และหากสัปดาห์นี้ นายกฯยังไม่มาตอบกระทู้ของฝ่ายค้านอีก ก็ต้องตั้งคำถามว่า ท่านจะหลีกเลี่ยงและยื้อการตรวจสอบไปเรื่อย ๆ หรือไม่ และตนไม่แน่ใจว่าการพิจารณา พ.ร.บ.งบกลางปี นายกฯจะส่งใครมาเป็นผู้ชี้แจงในสภาฯ ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นรมว.คลัง เช่นเดิม

 

อยากให้นายกฯมาชี้แจงแถลงไขให้ประชาชนรับทราบ เพราะคิดว่าเป็นเวทีที่สำคัญและเป็นโอกาสที่นายกฯจะสามารถสื่อสารกับประชาชนได้ ผ่านการถามคำถามจากสส. ซึ่งนายฯสามารถสะท้อนกลับมาได้ว่า ครม.กำลังทำอะไรอยู่ นี่เป็นโอกาสที่ดีอย่าคิดว่าเป็นเวทีที่ฝ่ายค้านจะมาฉวยโอกาสหลอกด่า ผมคิดว่าถ้านายกฯ ทำงานอยู่ตลอดเวลา ก็มาชี้แจงได้อยู่แล้วว่าท่านทำอะไรไว้บ้าง เพราะมีหลายเรื่องที่ฝ่ายค้านอยากรู้จริงๆ ไม่ใช่จะหลอกด่า เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าใน ครม. มีการทำอะไรกันบ้าง"นายปกรณ์วุฒิกล่าว

 

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวถึงการเพิ่มวันประชุมสภาฯว่า มีการเพิ่มวันประชุมมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ในกรณีที่มีญัตติคั่งค้างอยู่จำนวนมาก จึงไม่เข้าใจว่าประธานวิปรัฐบาลไปฟังอันไหนมาถึงบอกว่าฝ่ายค้านจะเพิ่มวันประชุม เป็นพุธ พฤหัสบดี ศุกร์ ทั้งที่การเพิ่มวันศุกร์เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น ซึ่งการประชุมในสมัยนี้ตนก็เสนอแล้วโดยเป็นการพูดคุยกับวิปรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาว่าขณะนี้มีญัตติ รวมถึงรายงานของคณะกรรมการ ค้างอยู่จำนวนมาก จึงคิดว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีการประชุมเพิ่มสัก 1 ครั้งภายในเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้าก็ได้ เพื่อที่จะให้สะสางวาระ ที่ค้างอยู่ให้สามารถเดินต่อไปได้

 

"ผมเสนออย่างนี้ แต่อาจจะไม่ใช่ข้อเสนอที่ต้องทำทันที เพราะเห็นว่ามีหลายประเทศเขามีการจัดการประชุม ใช้วิธีประชุม 5 วันต่อสัปดาห์ แต่ประชุมแค่ 3 สัปดาห์ต่อ 1 เดือน สัปดาห์สุดท้ายให้สส.กลับพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่าอาจจะเป็นทางออกก็ได้ ถ้าเราประชุมสัปดาห์ละ 3-4 วัน แต่ประชุมแค่ 3 สัปดาห์ ต่อ 1 เดือน ซึ่งกลายเป็นเดือนละ 12 วันจากเดิมมีเพียงแค่ 8 วัน ซึ่งจะทำให้สภาฯได้ประชุมเยอะกว่าเดิมและสส.มีเวลาลงพื้นที่ยาวนานกว่าเดิม ผมเห็นว่าวิธีการมีหลายวิธีแต่เราต้องยอมรับว่าหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ควรต้องมาประชุมสภาฯเพราะญัตติต่างๆก็เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนโดยตรงเกือบทั้งหมด ทั้งนี้การลงพื้นที่ก็มีความสำคัญ แต่ลงพื้นที่อย่างเดียว แล้วไม่ได้นำมาพูดคุยหรือใช้กลไกต่างๆในสภาฯ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่ถูกแก้ไข ดังนั้นต้องจัดสรรให้ดี ไม่ใช่ว่าเพิ่มเวลาประชุมไม่ได้เลย หรือเพิ่มมากจนเกินไป" นายปกรณ์วุฒิกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ดิจิทัลวอลเล็ต #ประชุมสภา