มติเอกฉันท์!
ปลดล็อกคำสั่ง คสช.ฉบับแรกโดยสภาผู้แทนราษฎร ‘จาตุรนต์’ ชี้
คืนสภาที่ปรึกษา-สร้างการมีส่วนร่วมชายแดนใต้
วันนี้
(10 กรกฎาคม 2567) สภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 14/2559 เรื่อง
คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4
เมษายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ. .... ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ
ในวาระ 2 และวาระ 3 มีผลมีผลการลงมตทั้งฉบับเป็นเอกฉันท์
คือมีจำนวนผู้มติ 407 เสียง, เห็นด้วย 406
เสียง, ไม่เห็นด้วย 0 เสียง,
งดออกเสียง 0 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1
เสียง โดยในร่าง พ.ร.บ.นี้จะมีผลให้สภาที่ปรึกษาฯ
ที่มาจากการแต่งตั้งตามคำสั่ง คสช.ฉบับนี้สิ้นสุดลง และทำให้กฎระเบียบต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับสภาที่ปรึกษาฯ
ซึ่งถูกงดบังคับใช้โดยคำสั่งดังกล่าวกลับมามีผลใช้บังคับเช่นเดิม
จาตุรนต์
ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ
ชี้ว่าคณะกรรมาธิการได้ศึกษาทั้งความเป็นมาและผลกระทบที่เกิดขึ้น
รวมทั้งได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากมาให้ข้อมูล พบว่า คำสั่ง คสช.14/2559 มีสาระสำคัญ
3 ส่วน ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ได้แก่
ส่วนที่
1 คำสั่งนี้ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน
ขณะเดียวกันได้ระงับบทบาทและการใช้อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาซึ่งมีความเชื่อมโยงกับประชาชน
ทำให้ประชาชนไม่มีช่องทางในการที่จะเชื่อมโยงกับการทำงานของ ศอ.บต. ได้อย่างที่เคย
ส่วนที่
2 คำสั่งนี้ทำให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ระหว่าง ศอ.บต.กับ กอ.รมน. พูดง่ายๆ
คือให้ ศอ.บต. ต้องขึ้นต่อ กอ.รมน. ถ้า
ศอ.บต.จะดำเนินการสิ่งใดจะต้องรับฟังคำสั่งของผู้อำนวยการ กอ.รมน.
ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่สามารถชี้ขาดการบริหารจัดการและปฏิบัติหน้าที่ได้
ส่วนที่
3 คำสั่งนี้กำหนดบทบาทของ กอ.รมน
มาทำหน้าที่และจัดสรรงบประมาณในการป้องกันภัยแทนฝ่ายพลเรือน
“การยกเลิกคำสั่ง คสช.14/2559 ที่จะนำสภาที่ปรึกษากลับมาก็ดี
หรือทำให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ระหว่าง ศอ.บต.กับ กอ.รมน.เสียใหม่
จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมบทบาทของ ศอ.บต.
ให้มากขึ้น และให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน นอกจากนั้นสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีขึ้นใหม่ควรมีองค์ประกอบที่เหมาะสมที่จะทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมได้จริง
สภาที่ปรึกษาฯ
ใหม่นี้ควรมีบทบาทในการส่งเสริมการหารือสาธารณะที่จะช่วยกระบวนการสร้างสันติภาพสร้างสันติสุขที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ด้วย
และทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัตินี้
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ประธานกรรมาธิการ กล่าว
ในการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านได้ตั้งคำถามและแสดงความกังวลถึงมาตรา
5/1 ที่คณะกรรมาธิการได้เขียนเพิ่มเข้ามาซึ่งเป็นการกำหนดเวลาในการแต่งตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ
ว่าจะทำให้กระบวนการยืดเยื้อยาวนานหรือไม่
“มาตรา 5/1 ให้แต่งตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือก
ผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ให้ดำเนินการใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัด
ชายแดนภาคใต้”
นายชนธัญ
แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการ ชี้แจงมาตราดังกล่าวว่า
จากการปฏิบัติที่ผ่านมาในการเลือกสภาที่ปรึกษาฯในปี 2554 ตามระเบียบ
ศอ.บต.
ว่าด้วยหลักเกณฑ์การคัดเลือกกำหนดเวลาตั้งแต่วันแรกจนถึงมีการประกาศรายชื่อจะใช้เวลาประมาณ
90 วันตามที่ระเบียบกำหนด ส่วนอีก 30 วันที่เพิ่มมานั้นมีข้อสังเกตจากกรรมาธิการว่าควรให้
ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการได้มีการปรึกษาหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
ที่จะเพิ่มเติมองค์ประกอบต่างๆทั้งในส่วนของผู้คนวุฒิและวิธีการคัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ
ให้ครอบคลุมและเน้นหลักการการมีส่วนร่วมที่แท้จริง
ซึ่งถ้าไม่มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบอย่างไรก็ดำเนินการภายใน 120 วันก็จะได้มาซึ่งสภาที่ปรึกษาชุดใหม่
ทั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาข้อสังเกตเพิ่มเติมซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์เช่นกัน
โดยข้อสังเกตุดังกล่าวจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ดังนี้
1.
นายกรัฐมนตรีควรสนับสนุนให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
(ศอ.บต.) จัดโครงสร้างองค์กร
มอบหมายผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้และเข้าใจกระบวนการทำงานของประชาชน
และจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการทำงานของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยต้องคำนึงถึงความคล่องตัว
ความเป็นอิสระทางความคิดและประสิทธิภาพการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนสูงสุด
และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการข้างต้นอย่างเพียงพอและเหมาะสม
2.
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ควรพิจารณาเสนอชื่อสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.ศ. 2553 มาตรา 19 (9) โดยให้พิจารณาว่ายังขาดตัวแทนจากภาคส่วนใดทั้งที่กำหนดไว้ในมาตรา
19 (1) – (8 และมิได้กำหนดไว้
ก็ให้พิจารณาแต่งตั้งจากตัวแทนของภาคส่วนที่ขาดนั้นเป็นลำดับแรกก่อนและให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างหญิง
ชาย และเยาวชน
เพื่อให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบไปด้วยประชาชนทุกภาคส่วน
3.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ควรพิจารณาเร่งรัดจัดทำระเบียบที่จำเป็นและสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้พ.ศ.
2553 มาตรา 23 เพื่อให้เป็นมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่คำนึงถึงหลักการบริหารที่มีส่วนร่วมของประชาชน
4.
นายกรัฐมนตรีควรสนับสนุนให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
กำหนดให้มีผู้แทนจากสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีส่วนร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกระดับ
และเป็นกลไกสำคัญในการรับฟังเสียงสะท้อนและปรึกษาหารือสาธารณะ (Public
Consultation) จากประชาชนในพื้นที่
เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการสร้างสันติภาพ
5.คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดน
พ.ศ. 2553 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับทิศทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยการปรับปรุง แก้ไขและเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวควรมีสาระสำคัญ ดังนี้
5.1
ให้มีระบบบริหารราชการที่ให้อำนาจประชาชนต่อการกำหนดและกำกับทิศทางและนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
5.2
ให้มีสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนร่วมกับระบบสรรหา
(เดิม)
5.3
ให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสัดส่วนที่คำนึงถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ
และให้เพิ่มองค์ประกอบจากกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเยาวชน
5.4
ให้มีมาตราเฉพาะรองรับกระบวนการและผลลัพธ์ของการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าด้วยกลไกและแนวทางการเสริมสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้