วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ผลสอบจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ส่อทุจริต 25 ราย ลาออก 1 ราย กทม.เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง พร้อมชดใช้ทางแพ่งภายใน 180 วัน


ผลสอบจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ส่อทุจริต 25 ราย ลาออก 1 ราย กทม.เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง พร้อมชดใช้ทางแพ่งภายใน 180 วัน

 

วันนี้ (30 กรกฎาคม 2567) ที่ศาลาว่าการกทม. นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อํานวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) พร้อมด้วย นางสาวเต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานข้าราชการกรุงเทพมหานคร และนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และโฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงผลสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม. หลังครบเวลาสอบสวน 30 วัน

 

โดยนายณัฐพงศ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา กทม. ได้รับการร้องเรียนผ่านสื่อว่าการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม. แพงเกินจริง จากนั้น ศตท.กทม รับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้สำนักงานตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัด กรุงเทพมหานคร ร่วมตรวจสอบด้วย จากนั้นวันที่ 11 มิ.ย. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้รายงานผล พร้อมข้อเสนอ 2 ทาง ทางแรก คือ การสอบสวนพบว่ามีมูลต่อการทุจริตอาจผิดกฎหมาย เรื่องของการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐซึ่งเรื่องนี้ ศตท.กทมได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องของความผิดเกี่ยวกับความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐทาง ป.ป.ช.มีอำนาจในการดำเนินการ

 

ส่วนอีก ศตท.กทม. นำรายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นส่งให้ปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยผู้ว่าฯกทม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เมื่อ 17 มิ.ย.67 โดยให้ระยะเวลาสอบสวน 30 วัน และให้รายงานผลทุก 7 วัน

 

ทั้งนี้คณะกรรมการ ดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง จำนวน 7 โครงการ ช่วงปีงบประมาณปัจจุบัน ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 21 รายการสำหรับศูนย์กีฬาอ่อนนุช 15.69 ล้านบาท 2.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 12.11 ล้านบาท 3.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬามิตรไมตรี 11.01 ล้านบาท 4.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ ของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ วงเงินงบประมาณ 4.99 ล้านบาท 5.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ 4.99 ล้านบาท 6. โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดส่วนนันทนาการ 17.9 ล้านบาท และ 7.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ 11.52 ล้านบาท และนำเสนอผลสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา จากการสอบสวนพยานบุคคลและเอกสาร พบว่าข้อเท็จจริงมีมูลราคาแพงเกินจริง สูงกว่าราคาท้องตลาดและราคาสูงกว่าการจัดซื้อในปีก่อน ๆ หากเปรียบเทียบราคาต้นทุนกับค่าดำเนินการแล้ว ยังสูงกว่าราคาต้นทุนและค่าดำเนินการเป็นอย่างมาก

 

นอกจากนี้มีรายละเอียดสินค้าเกินความจำเป็น คุณลักษณะจำเพาะหรือสเปคของเครื่องออกกำลังกายมีการปรับสเปคให้สูงขึ้นจากเดิมกว่าที่เคยจัดซื้อ เช่นเพิ่มกำลังแรงม้า เพิ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพื่อรองรับน้ำหนัก และปรับจอแสดงผลระบบสัมผัส เป็นต้น โดยวิธีการจะมีการสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 ราย ให้ราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและการใช้งานจริง ส่งผลให้การกำหนดราคาสูงเกินความจำเป็น

 

ขณะเดียวกันยังพบว่ามีการกำหนดรายละเอียดบริษัทผู้ร่วมประมูลเกินความจำเป็น มีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้เสนอราคาอย่างเท่าเทียม เช่น การกำหนดให้แนบหนังสือรับรองผลงานและสำเนาสัญญาซื้อขายที่ทำกับภาครัฐไม่น้อยกว่า 40 สัญญาในวันเสนอราคา โดยมี ระยะเวลานับย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเพิ่มเติมเกินกว่าแนวทางที่คณะกรรมการการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารภาครัฐของ เกินกว่าแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด อาจมีผลทำให้ราคาการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมีราคาแพงเกินควร

 

นายณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย และเกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณ รวมทั้งการดำเนินการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทั้งหมด 25 ราย และมี 1 ราย ลาออกจากราชการไปแล้ว โดยไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการและพิจารณางบประมาณ โดยคำนึงถึงหลักความคุ้มค่าที่จะต้องมีคุณภาพหรือสเปคตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การใช้งาน และต้องมีราคาที่เหมาะสม และขั้นตอนในการกลั่นกรองงบประมาณ ไม่ได้ทักท้วงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องราคาดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการรายงานผลมายังปลัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกทม. จึงมีคำสั่งย้ายผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อ ทั้ง 7 โครงการไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานการดำเนินการทางวินัย พร้อมทั้งเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามกฎ ก.ก.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2565 โดยเมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแล้วเสร็จ จะต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน สามารถขยายเพิ่มได้ 60 วัน และจะพิจารณาลงโทษต่อไปกระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรการ ในการปฏิบัติราชการและแนวทางปฏิบัติที่ ศตท. กทม. ได้วางแนวทางไว้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเกิดการดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบและเที่ยงธรรม

 

นางสาวเต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) กล่าวว่า กทม.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการต่อตามความผิดทางอาญา ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

 

ส่วนของ กทม.จะตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนนับจากวันที่ประธานได้เรียกประชุมครั้งแรก โดยมีกำหนด 120 วัน และสามารถขยายได้ไม่เกิน 60 วัน รวมถึงการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้มีการชดเชยทางแพ่ง โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

 

ด้าน นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าว ยืนยันว่า กทม.ไม่นิ่งเฉยกับการทุจริต เป็นนโยบายหลักของผู้บริหารชุดนี้ที่ยอมรับไม่ได้ ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ผู้ว่าฯชัชชาติเข้ามารับตำแหน่ง มีการไล่ออกข้าราชการ กทม.ไปแล้ว 29 ราย เป็นเรื่องความผิดฐานทุจริตโดยตรง 12 ราย แบ่งเป็นเรียกรับสินบน 6 ราย จัดซื้อจัดจ้าง 3 ราย เอาเงิน กทม.ไปใช้ 3 ราย ส่วนอีก 17 รายเป็นเรื่องอื่น ๆ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กทม #ทุจริตเครื่องออกกำลังกาย