“ชัยธวัช” แถลงสรุปผล กมธ.นิรโทษกรรม เห็นชอบแนวทางตั้ง “คกก.นิรโทษกรรม” พิจารณาคดีที่เกิดจากแรงจูงใจการเมืองตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา ย้ำ กมธ.เห็นต่างกันเรื่องนิรโทษฯ ม.112 พร้อมใส่ทุกความเห็นในรายงานให้ ครม.-สภาฯ พิจารณาต่อ
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย รังสิมันต์ โรม และ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แถลงสรุปผลการประชุมนัดสุดท้ายของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาส่งให้คณะรัฐมนตรีและสภาฯ พิจารณาต่อ
ชัยธวัชกล่าวว่า ผลสรุปของการประชุมคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในครั้งนี้คงไม่สามารถออกเป็นกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงฐานความผิดหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ดังเช่นกฎหมายนิรโทษกรรมหลายฉบับที่เกิดขึ้นในอดีตได้ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำเนินมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้มีความซับซ้อนหลายมิติ เกิดขึ้นจากหลายเหตุการณ์และหลากหลายฐานความผิดที่ทับซ้อนกัน ดังนั้น วิธีการตรากฎหมายที่จะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากที่สุดคือการตั้ง “คณะกรรมการนิรโทษกรรม” ขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองเป็นรายกรณี ว่าคดีใดบ้างที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม
ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า “คณะกรรมการนิรโทษกรรม” ที่ตั้งขึ้นนั้นจะตั้งเป้านิรโทษกรรมคดีที่เกิดจาก “แรงจูงใจทางการเมือง” ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้นิยามของแรงจูงใจทางการเมืองว่าหมายถึง การกระทำที่มาจากพื้นฐานความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งคดีที่เข้าข่ายแรงจูงใจทางการเมืองเช่นนี้จะอยู่ในขอบข่ายของการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ทั้งหมด ยกเว้นคดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะความผิดต่อชีวิต จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กรรมาธิการหลายท่านให้ความสนใจและมีความเห็นแตกต่างกันพอสมควร คือจะมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดในคดีอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่ โดยชัยธวัชกล่าวสรุปว่า สามารถแบ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันในคณะกรรมาธิการฯ ออกได้เป็น 3 แนวทาง คือ
1. เห็นด้วยกับการให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรมพิจารณาคดีอาญามาตรา 112 ไม่แตกต่างจากฐานความผิดอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกล ทั้ง สส. บุคคลภายนอก นักวิชาการ และอัยการ เห็นด้วย
2. ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีอาญามาตรา 112 โดยสิ้นเชิง
3. เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีอาญามาตรา 112 แต่ต้องนิรโทษกรรมแบบ “มีเงื่อนไข” แตกต่างจากฐานความผิดอื่น เพราะกรรมาธิการหลายคนมีความกังวลใจว่าหากนิรโทษกรรมไปแล้วจะเกิดการแสดงออกเพิ่มเติม และนำไปสู่การดำเนินคดีอีกครั้งหรือไม่ จึงต้องนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขบางประการ
ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า กรรมาธิการที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 3 เห็นว่าการนิรโทษกรรมคดีอาญามาตรา 112 ควรมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือ การให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรมกำหนดเงื่อนไขบางอย่างสำหรับคดีอาญามาตรา 112 หากผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องการเข้าสู่กระบวนการก็ต้องยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้นนี้ก่อน และในกรณีที่มีการละเมิดเงื่อนไขก็อาจจะเสียสิทธิในการนิรโทษกรรมไป ส่วนประการที่สองคือ ควรมีมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำก่อนที่จะได้รับการพิจารณา เช่น ผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือผู้กระทำผิดต้องมาแถลงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุและแรงจูงใจ รวมถึงควรมีกระบวนการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้งทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายผู้ชุมนุมมาพูดคุยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเท็จหรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่คดีอาญามาตรา 112 อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่ารัฐบาลควรจะมีมาตรการในการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาควบคู่กันไปด้วย เช่น ชะลอการฟ้อง ให้สิทธิในการประกันตัว หรือจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อลดแรงเสียดทานและบรรเทาบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองลง
ชัยธวัชกล่าวทิ้งท้ายว่า ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายในเรื่องการนิรโทษกรรมคดีอาญามาตรา 112 นี้ ทางคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีการลงมติ แต่จะบันทึกทุกความเห็นลงไปในรายงานสรุปผลการศึกษาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรภายใน 60 วัน ซึ่งเมื่อรายงานกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้ว ตนหวังว่าคณะรัฐมนตรีและพรรคการเมืองต่าง ๆ จะรีบจัดทำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของตนเองยื่นเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมโดยเร็ว เพื่อเร่งอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้