วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” ยื่น 5 ข้อให้“กมธ.นิรโทษฯ” เรียกร้องให้มีมตินิรโทษฯ ทุกคดี รวมมาตรา 112

 


เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” ยื่น 5 ข้อให้“กมธ.นิรโทษฯ” เรียกร้องให้มีมตินิรโทษฯ ทุกคดี รวมมาตรา 112

 

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2567) เวลา 11.30 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน พร้อมตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 12 คน อาทิ นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นางสาวณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง โดยมีนางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในโฆษกคณะกรรมาธิการ เป็นผู้รับหนังสือแทน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้ายื่นหนังสือของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อกรรมาธิการฯ จึงเป็นการย้ำถึงจุดยืนและข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ต้องการให้การนิรโทษกรรมที่จะมีขึ้นในครั้งนี้นั้นครอบคลุมถึงคดีมาตรา 112 ด้วย และเรียกร้องให้กรรมาธิการฯ มีมติที่ชัดเจนเสนอต่อสภาฯ

 

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ หรือทนายเมย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าก่อนหน้านี้เคยมายื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนต่อสภาฯ แล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณา โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ แต่ผ่านมาเกือบ 6 เดือน และเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายที่คณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ จะมีผลของการศึกษาพิจารณาว่าจะมีแนวทางอย่างไร เรามีข้อกังวล เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ มีมติว่าจะไม่มีมติรวมเอาความผิดในคดีมาตรา 112 และมาตรา 110 แต่ให้เป็นความเห็นของคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ แต่ละคน

 

ด้านนางสาวณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน อดีตพยาบาลอาสา ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ระบุถึงผลเสียของมาตรา 112 ต่อประชาชนและนิสิตนักศึกษา โดยมองว่าเป็นกฎหมายที่ห้ามหมิ่นประมาทแสดงความอาฆาตมากร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาท ส่วนตัวมีข้อกังวล 5 ประเด็น ดังนี้

 

1. การตีความกฎหมายมาตรา 112 ถูกวิจารณ์ว่ากว้างขวางและครอบคลุมเกินไปส่งผลให้การแสดงออก ที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทหรือกลับถูกดำเนินคดีไปด้วย

 

2. การใช้กฎหมายมาตรา 112 ในทางการเมือง ถูกวิจารณ์ว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายตรงข้าม หรือผู้มีความเห็นต่างกับรัฐ

 

3. การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 บ่อยครั้งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน

 

4. ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

 

5.มี การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ว่าการใช้มาตรา 112 ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม

 

ด้านนายธัชพงษ์ แกดำ หรือ บอย กล่าวว่า ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กล่าวต่อว่าเราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาดได้ การนำมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงนำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายทศวรรษ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือลมีความปรารถนาดีต่อสังคม ไม่ว่าจะเสื้อเหลืองเสื้อแดง รุ่นพ่อรุ่นแม่จนกระทั่งรุ่นลูกรุ่นหลานและเพื่อนของเราที่อยู่ในเรือนจำต้องลี้ภัย หรือบางคนที่ต้องเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร

 

การให้อภัยและมุ่งหมายร่วมมือในการนิรโทษกรรมประชาชนคือหัวใจสำคัญ ไม่ใช่แค่ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือ ความเชื่อใจและให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นประตูที่จะบอกว่าประเทศเรา พร้อมก้าวไปข้างหน้าได้ หากเริ่มการพูดคุยกันด้วยการนิรโทษกรรมประชาชน แต่สภาฯ กลับปิดโอกาสนี้ เราจึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งตลอดไป

 

นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวว่า ยืนยันว่าการนิรโทษกรรมจำเป็นต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย เพราะหากไม่รวม ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่รัฐบาลอยากให้จบลง ก็จะไม่มีวันจบ เพียงเพราะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ต้องให้ประชาชนมีพื้นที่ในการพูดคุย และใช้เสรีภาพได้อย่างเสมอภาค เรื่องมาตรา 112 เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน หากรัฐบาลและคณะกรรมาธิการไม่เหลือพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้ เท่ากับผลักดันเรื่องนี้ให้ต้องไปคุยกันบนถนน เมื่อตอนนี้เราได้รัฐบาลชุดใหม่แล้วก็ควรจริงจังกับการคืนความปกติให้เรื่องนี้

 

นางสาวณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ กล่าวว่าล่าสุดมีนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง เสียชีวิตเพราะกฎหมายมาตรา 112 กฎหมายนี้เหมือนกับกฎหมายอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์เหนือกฎหมายใด จึงไม่มีเหตุให้นิรโทษกรรมไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีเวลาถกเถียงว่าจะรวมหรือไม่รวม แต่ควรเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียอีก

 

นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กล่าวว่า มันมีคนเจ็บปวดจากมาตรา 112 มีคนตายจริง ๆ และตายทั้งเป็นอยู่ในตอนนี้ เช่น กรณีของนางสาวเนติพร แม้คุณจะไม่มีพลังวิเศษที่จะสามารถฟื้นคืนชีวิตพวกเขากลับมาได้ แต่อย่างน้อยคุณมีอำนาจที่จะสามารถคืนความยุติธรรมให้กับเขาได้ และแม้ความเจ็บปวดของเราจะไม่ได้ลดลงเลย แต่อย่างน้อยคุณมีอำนาจ และที่สำคัญคือถ้าคุณสามารถนิรโทษกรรมให้พวกที่ทำรัฐประหารได้ คุณก็ต้องสามารถนิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดได้เหมือนกัน

 

นางสาวศศินันท์ ในฐานะผู้รับหนังสือ กล่าวว่าการพิจารณาของคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการถกเถียงว่าจะลงมติกันหรือไม่ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้คณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ แต่ละท่านได้แสดงความคิดเห็นถึงข้อดีข้อเสีย ซึ่งสามารถติดตามเหตุผลของแต่ละท่านได้ในบันทึกการประชุม โดยวันนี้จะให้คณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ ที่เหลือได้แสดงความเห็น สิ่งสำคัญคือทุกเสียงควรได้รับฟัง ว่ามีเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังมีความเห็นตรงหรือต่างกับคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน #รวม112