วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“ทนายแจม” ถาม รมว.ยุติธรรม ข้อเท็จจริงกรณี ‘บุ้ง เนติพร’ เสียชีวิต เรียกร้องความชัดเจนแนวทางปฏิรูปเรือนจำ ด้าน “ทวี” ยัน “ราชทัณฑ์” ทำตามมาตรฐานสากล

 


ทนายแจม” ถาม รมว.ยุติธรรม ข้อเท็จจริงกรณี ‘บุ้ง เนติพร’ เสียชีวิต เรียกร้องความชัดเจนแนวทางปฏิรูปเรือนจำ ด้าน “ทวี” ยัน “ราชทัณฑ์” ทำตามมาตรฐานสากล

 

วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์​ สส.กรุงเทพฯ เขต 11 พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตั้งกระทู้ถาม รมว.ยุติธรรม กรณีการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่คลุมเครือและไม่ชัดเจนถึงกระบวนการรักษาชีวิตระหว่างที่ถูกฝากขังภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โดยศศินันท์ไล่เรียงไทม์ไลน์และสถานการณ์ต่างๆ ระหว่างการอภิปราย ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 เนติพรได้ถูกถอนประกันตัวในคดีอาญามาตรา 112 และถูกตัดสินให้จำคุกในคดีละเมิดอำนาจศาล 1 เดือน

 

ศศินันท์กล่าวว่าเนติพรถูกศาลตัดสินจำคุก 1 เดือนในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ซึ่งคดีดังกล่าวจะพ้นโทษในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ แต่เพราะในวันเดียวกันเอง ซึ่งก็คือวันที่ 26 มกราคม ศาลสั่งถอนประกันคดีมาตรา 112 หมายความว่าระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ บุ้ง เนติพร อยู่ในเรือนจำ ในฐานะถูกฝากขังระหว่างการพิจารณาคดี และเมื่อคดียังไม่สิ้นสุด ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต่อมาวันที่ 27 มกราคม หลังจากถูกตัดสินจำคุก บุ้งได้ประกาศเรื่องอดอาหารจนอาการทรุดลงเรื่อย ๆ และวันที่ 14 พฤษภาคม บุ้งเสียชีวิตระหว่างที่ถูกควบคุมตัว

 

หลังการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร กรมราชทัณฑ์ได้ออกมาชี้แจง ระบุกับผู้สื่อข่าวว่าทางกระทรวงยุติธรรมจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและจะให้ความร่วมมือกับญาติในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตนจึงต้องการสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่าสิ่งที่กรมราชทัณฑ์ได้แถลงมานั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ สืบเนื่องจากข้อมูลที่ตนได้จาก กมธ.การกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีการเรียกหน่วยงานเข้ามาชี้แจง มีข้อมูล 2 ชุด ข้อมูลชุดแรกเป็นข้อมูลไทม์ไลน์การเสียชีวิตของคุณบุ้ง ที่กรมราชทัณฑ์ชี้แจงใน กมธ. ข้อมูลชุดที่สอง คือไทม์ไลน์การเสียชีวิตที่ได้มาจากกล้องวงจรปิด

 

ข้อเท็จจริงประการแรก คือการแถลงของกรมราชทัณฑ์ไม่ตรงกับข้อมูลที่ได้ชี้แจงในห้อง กมธ. ซึ่งจากข้อมูลต่างๆ ที่ไล่เรียงมา สามารถเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดว่ามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยของกรมราชทัณฑ์มีปัญหาแน่นอน และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนยืนยันว่าการประกันตัวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของระบบยุติธรรมของไทยนั้นมีปัญหา จึงอยากได้ยินคำตอบจากรัฐมนตรีในคำถามแรก ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร คืออะไร กระบวนการการกู้ชีพที่เกิดขึ้น เพราะเหตุใดถึงไม่มีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) รวมถึงเวลาเสียชีวิตที่แท้จริงคือเวลาไหน และกรมราชทัณฑ์จะมีการรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตครั้งนี้อย่างไร

 

นอกจากนี้ ศศินันท์ยังยกประสบการณ์การเป็นทนายให้กับนักโทษการเมืองหลายคนที่ถูกฝากขังก่อนมีคำตัดสิน กรณีการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร สะท้อนการดูแลผู้ต้องหาในเรือนจำและยังมีกรณีสุ่มเสี่ยงอีกหลายกรณีที่เข้าข่ายไม่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานที่มนุษย์คนหนึ่งคนได้รับ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับปรุงและยกระดับการทำงาน

 

ศศินันท์ ยังได้ย้ำไปยัง รมว.ยุติธรรม ด้วยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงเองก็ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจนว่าจะมีแถลงการณ์เรื่องการปฏิรูปเรือนจำเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไร การคุมขังไม่ได้ต้องการแค่จะลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเตรียมความพร้อมกลับให้ผู้ถูกคุมขังกลับมาสู่สังคมด้วยในอนาคตด้วย นี่คือการเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

 

ยินดีที่เห็นท่านรัฐมนตรีมีความตั้งใจจะปฏิรูปเรือนจำ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับนักโทษในคดีการเมือง ซึ่งตอนนี้มีหลายคนมาก และกำลังจะเข้าไปอีกหลายคน อยู่ในระหว่างการควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์ ดิฉันไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียใครอีก เรื่องนี้ไม่ได้สำคัญว่าจะเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองคนใด จะเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำหรือไม่ แต่สำคัญที่ว่ากระบวนการของกรมราชทัณฑ์ในการดูแลผู้ต้องหาในเรือนจำ กำลังมองผู้ต้องหาเป็นมนุษย์คนหนึ่งอยู่หรือไม่” ศศินันท์ถามสรุปไปยัง รมว.ยุติธรรม

 

ด้านพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า การเสียชีวิตของบุ้ง เป็นการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องมีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยให้อัยการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน พร้อมด้วยแพทย์ที่ไม่ใช่ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเมื่อชันสูตรพลิกศพแล้ว กระบวนการทำสำนวนทั้งหมด จะต้องเปิดโอกาสให้ญาติพี่น้อง หรือทนายความเข้าร่วมทั้งกระบวนการ สามารถเพิ่มพยานในชั้นการพิจารณาของศาลได้ ทั้งนี้เท่าที่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตของบุ้ง ทางสาขานิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบุว่า เกิดจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในเลือดร่วมกับโรคหัวใจโต โดยกรณีนี้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จำนวน8ราย ที่ตั้งโดยกระทรวงยุติธรรม ได้ขยายเวลาการสอบสวนออกไปอีก30วัน แต่คณะกรรมการฯได้ทำความเห็นเบื้องต้นออกมาว่า เป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ปรากฎร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด อ้างอิงจากใบมรณบัตร และการตรวจพิสูจน์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ประกอบกับกล้องวงจรปิดในคืนวันเกิดเหตุ พบว่า บุ้งได้นอนหลับพักผ่อนเป็นปกติ ภายในฝ่ายปกครองของผู้ต้องขังหญิง

 

จากนั้นในช่วงเช้าเวลา 06.12น. ของวันที่14พ.ค. บุ้งได้ลุกขึ้นมานั่งที่เตียงผู้ป่วย เริ่มคว่ำหน้าลง และมีการชักกระตุก เจ้าหน้าที่จึงได้กดกริ่งและแจ้งผู้ควบคุมเข้าไป จนสรุปเห็นควรส่งให้แพทย์มาร่วมกันดำเนินการ ถ้าถามว่าบุ้งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ในรายงานระบุว่าเสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แต่ในระหว่างการช่วยยื้อชีวิตอาจเป็นปรากฎการณ์เหมือนการเสียชีวิตแล้ว

 

ดังนั้นขอให้เชื่อมั่นว่า ตามมาตรา 150 ของการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ เราเปิดโอกาสให้สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ญาติของผู้ตาย สามารถยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลฯได้ ยืนยันว่าการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์เป็นไปตามวิชาชีพ ตามมาตรฐานสากล ตามหลักทางการแพทย์ ทั้งนี้รายละเอียดอย่างเป็นทางการขอให้รอคำสั่งจากศาลฯที่ถือเป็นที่สุด และมีความเที่ยงธรรม” รมว.ยุติธรรม ระบุ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #กระทรวงยุติธรรม #บุ้งเนติพร #บุ้งทะลุวัง #กรมราชทัณฑ์