วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2567

จับตา! ศาลจังหวัดปัตตานี นัดพิพากษา “อัสมาดี” นักข่าวพลเมืองชายแดนใต้ถูกฟ้องต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน ขณะที่ลงไปเก็บข้อมูลทำข่าวการวิสามัญฆาตกรรม 24 ก.พ. 68 เจ้าตัวย้ำสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อยืนยันสิทธิในฐานะนักข่าวพลเมือง

 


จับตา! ศาลจังหวัดปัตตานี นัดพิพากษา “อัสมาดี” นักข่าวพลเมืองชายแดนใต้ถูกฟ้องต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน ขณะที่ลงไปเก็บข้อมูลทำข่าวการวิสามัญฆาตกรรม 24 ก.พ. 68 เจ้าตัวย้ำสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อยืนยันสิทธิในฐานะนักข่าวพลเมือง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 - 13 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย กรณีที่รัฐฟ้องข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามมาตรา 83, 138, 140 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 พ.ศ. 2519 กับ นางแมะดะ สะนิ เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย เพื่อจะไปรับศพลูกชายที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในคดีความมั่นคง นำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม และนายอัสมาดี บือเฮง เป็นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนักข่าวพลเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมสังเกตุการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลของบุคคลที่ถูกวิสามัญฆาตรกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้จัดทำเป็นบทความในหนังสือหรือรายงานข่าวต่อไป


​โดยคดีนี้จำเลยทั้งสองถูกฟ้องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 นางแมะดะ สะนิ มาดาของผู้ตายที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม และนายอัสมาดี บือเฮง ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน กรณีการนำศพของผู้ตายออกจากโรงพยาบาลปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ยังไม่ได้ดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือ และลายมือ เป็นขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เพื่อพิสูจน์ให้รู้ว่าผู้ตายคือใคร ซึ่งเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่


ด้าน อัสมาดี บือเฮง นักปกป้องสิทธิมนุษยชและนักข่าวพลเมือง ที่ติดตามประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม สิทธิทางการเมือง รวมทั้งการวิสามัญฆาตกรรม ให้สัมภาษณ์หลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้วว่า ตนได้ให้การกับศาลโดยยืนยันว่าที่เกิดเหตุนั้นตนได้ลงพื้นที่เพื่อเข้าไปสังเกตุการณ์และเก็บข้อมูลบุคคลที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปจัดทำเป็นบทความข่าว หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งตนทำหน้าที่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกกล่าวหาและฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้และจะต่อสู้คดีจนถึงที่สุดเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ว่าตนไม่ได้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใดตามที่ถูกฟ้อง นอกจากนี้ยังขอย้ำว่าการสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งตนได้ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนในทุกข้อกล่าวหาและวันที่เบิกความต่อศาลก็ยังยืนยันข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่เคยให้การในฐานะพยานและผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวน โดยหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะคืนว่ายุติธรรมให้กับตน


ผมเลือกสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ทั้งในแง่เจตนาและพฤติกรรม ผมเข้าไปในพื้นที่เพียงเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับงานเขียน ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด การสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสำคัญมาก เพราะที่นี่ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนและแม้อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีผมก็ยังยืนยันว่าจะยังคงทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองต่อไป โดยเขียนรายงานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ เช่น โครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน การนำเสนอข้อมูลข่าวสารยังเป็นสิ่งที่ผมยึดมั่น แม้ต้องเผชิญกับราคาที่ต้องจ่ายก็ตามการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อพิสูจน์ตัวเอง แต่เพื่อยืนยันว่าการสื่อสารของนักข่าวพลเมืองและประชาชนทั่วไปเป็นสิทธิพื้นฐานที่ควรได้รับการคุ้มครองในระบอบประชาธิปไตย” อัสมาดีระบุ


ขณะที่ เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภาอดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท ได้เดินทางมาเบิกความในฐานะพยานของอัสมาดีเพื่อยืนยันการทำงานของอัสมาดี ที่ทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองให้กับสำนักข่าวประชาไทยมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิทางการเมือง ในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยืนยันความสำคัญของนักข่าวพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย


เทวฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังเบิกความเสร็จสิ้นแล้วว่า อัสมาดีได้อ้างตนเป็นพยานมาตั้งแต่ชั้นพนักงานอัยการเพื่อให้สอบตนในฐานะพยาน แต่ก็ไม่มีการเรียกตนไปให้การในฐานะพยานแต่อย่างใด ก็เลยต้องเดินทางมาเบิกความต่อศาลในวันนี้ ซึ่งนอกจากการเบิกความในชั้นศาลที่เกี่ยวข้องกับคดีแล้วตนยังอยากเน้นย้ำถึงความสำคัญในความหมายของ คำว่า นักข่าวพลเมือง ซึ่งหลายคนอาจไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘นักข่าวพลเมือง’ จนกว่าจะได้เผชิญปัญหาโดยตรง เช่น โครงการพัฒนาที่รุกล้ำพื้นที่ชุมชนหรือการเวนคืนที่ดิน เมื่อปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลัก ประชาชนในพื้นที่ก็จะลุกขึ้นมาสื่อสารเองผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ แต่ปัญหาคือคนเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง หากเกิดผลกระทบจากการสื่อสารของพวกเขา”


​เทวฤทธิ์ชี้ว่า แม้กระทั่ง อัสมาดี ผู้ถูกดำเนินคดีในประเด็นการสื่อสาร ก็ไม่ได้เป็นเพียงประชาชนธรรมดา แต่มีทักษะด้านการเขียนและการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม สิทธิในการแสดงออกและการสื่อสารไม่ควรถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการสื่อสารโดยไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราต้องพึ่งพานักข่าวพลเมืองเหล่านี้ในการดึงประเด็นจากพื้นที่จริงเข้าสู่การรับรู้ของสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการสื่อสาร แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมไทยยังยึดติดกับความคิดที่ว่านักข่าวต้องมีบัตรประจำตัว ต้องสังกัดองค์กร ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง


​เทวฤทธิ์ยังมีความกังวล ว่า การฟ้องคดีกับนักข่าว หรือ นักข่าวพลเมือง จะส่งผลให้พื้นที่ของนักข่าวพลเมืองในการรายงานประเด็นร้อนหรือพื้นที่ความขัดแย้งหดเล็กลง เป็นการปิดกั้นการสื่อสารของประชาชน ทำให้หูตาของสังคมลดน้อยลง


เทวฤทธิ์ยังกล่าวถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการรับรองในระดับสากล โดยชี้ว่า องค์การยูเนสโกได้ยืนยันสิทธินี้เพราะมันคือรากฐานของความก้าวหน้าในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม นอกจากนี้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 19 ยืนยันสิทธิในการพูดและแสดงความคิดเห็น และรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 มาตรา 34 ก็รองรับสิทธิในการสื่อสาร แต่ในทางปฏิบัติ คนที่ทำหน้าที่รายงานข่าวกลับต้องเผชิญคดีความ การไม่รับรองสิทธิเหล่านี้จะส่งผลต่อความโปร่งใส และการตรวจสอบอำนาจในสังคม”


การดำรงอยู่ของนักข่าวพลเมืองเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และหากพื้นที่นี้ถูกทำให้แคบลง จะกระทบต่อศักยภาพของสังคมในการมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตัดสินใจอย่างสมดุล ข้อมูลข่าวสารเป็นน้ำทิพย์ที่ช่วยหล่อเลี้ยงประชาธิปไตย หากสังคมไทยละเลยสิ่งนี้ เราจะสูญเสียความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการใช้อำนาจ“ เทวฤทธิ์ระบุ


ด้านปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International ซึ่งได้ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด กล่าวว่า"นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักข่าวพลเมืองอย่างอัสมาดีมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบอำนาจรัฐและนำเสนอความจริงในพื้นที่ความขัดแย้ง สิทธิของพวกเขาได้รับการรับรองตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนปี 2541 ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองผู้ที่ทำงานเพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีของทุกคน


เหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น กรณีตากใบ ได้สร้างคำถามต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม หลังเกิดการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคดีนี้จะเป็นโอกาสเล็กๆในการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้าน


ทั้งนี้ เราขอย้ำว่าการพิจารณาคดีควรยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการยุติธรรม และเป็นการตอกย้ำถึงสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง"


ด้านอธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและทนายความของอัสมาดีกล่าวสรุปคดีหลังสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วว่า คดีนี้มีการสืบพยานฝ่ายจำเลย 2 ปาก คือ คุณอัสมาดี และคุณ เทวฤทธิ์ มณีฉาย อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท และปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ว่าการกระทำของคุณอัสมาดีว่า ปฏิบัติหน้าที่นักข่าวพลเมืองในวันดังกล่าวซึ่งย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด โดยที่ในคดีดังกล่าวนี้ คุณอัสมาดีได้ แสดงความบริสุทธิ์มาตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนที่เรียกไปให้การในฐานะพยาน จนกระทั่งพนักงานสอบสวนมีหมายเรียกให้ตกเป็นผู้ต้องหาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามที่ฟ้องในคดีนี้ โดยที่คุณอัสมาดียังยืนยันและให้การเหมือนเดิมถึงเจตนาที่ต้องเดินทางไปในวันกล่าวเพื่อทำหน้าที่ของนักข่าวพลเมือง


​ทั้งนี้พยานโจทก์ที่กล่าวหาคุณอัสมาดีเงื้อมมือจะตบเธอในชั้นพนักงานสอบสวนแต่เมื่อมาเบิกความต่อศาลกลับได้ข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่เงื้อมมือจะตบเธอไม่ใช่อัสมาดีเธอจำผิดคน รวมทั้งพยานที่นำส่งศพผู้ตายไปยังที่โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานีไม่ได้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ชัดเจนเป็นคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์วันเกิดเหตุไว้ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอัสมาดี ไม่ได้กระทำการใดๆที่เข้าข่ายตามพฤติการณ์ที่ถูกฟ้องแต่อย่างใด


ท้ายสุดนี้ คดีนี้อัสมาดี ยังเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะคืนความบริสุทธิ์ให้กับเขา และคดีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และกระบวนการยุติธรรม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยคดีนี้ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น.

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นักข่าวพลเมือง