'ณัฐพงษ์' - 'ศิริกัญญา' ประเมินผลงานรัฐบาลไม่ผ่านเกณฑ์ ชี้ “นายกฯอิ๊งค์” ไม่ใช่แถลงผลงานรัฐบาล แต่แถลงนโยบายภาคสอง พูดแค่หัวข้อ ซัดเศรษฐกิจก็เหลว บริหารมาครึ่งเทอมแล้ว นโยบายเรือธง 'ดิจิทัลวอลเล็ต-ซอฟต์พาวเวอร์' ไม่มีอะไรคืบหน้า
วันที่ 12 ธ.ค.2567 เวลา 15.30 น.ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน แถลงข่าวกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงาน 90 วันของรัฐบาล เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
โดยน.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า การที่รัฐบาลจัดแถลงผลงานช่วง 90 วันในช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น ทำให้ประชาชนคาดหวังว่านี่จะเป็นการแถลงผลงานของรัฐบาล แต่กลับมีปัญหา 2 เรื่องคือ เรื่องแรก รัฐบาลนี้ไม่ได้เพิ่งมา 90 วัน แต่ได้ดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินมารวมแล้ว 1 ปี 4 เดือน ดังนั้น การที่จะบอกว่ามาแถลงผลงานรัฐบาล 90 วัน เป็นเพียงแค่การแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ใช่หรือไม่ เพราะรัฐมนตรีมีแต่หน้าเดิมฉะนั้น จึงต้องเป็นการแถลงนโยบายที่ผ่านมากว่า 1 ปีไม่ใช่ 90 วัน ปัญหาข้อที่ 2 แม้จะใช้ชื่องานว่าแถลงนโยบาย 90 วันแต่สิ่งที่ได้ยินจากนายกรัฐมนตรี คือการแถลงฝากงานรัฐมนตรีที่ไปร่วมงานรวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง โดยไม่ได้สรุปผลงานที่เคยผ่านมาว่ามีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ยอมรับว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่ไม่มีผลงาน แต่กลับไม่มีการออกมาพูดเรื่องผลงานอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะมีผลงานบางอย่างที่เป็นผลงานได้
”สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดวันนี้กับพูดโดยที่ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมาก จึงเป็นเหมือนการแถลงนโยบายภาคสอง พูดแค่หัวข้อ และการพูดในแต่ละหัวข้ออาจจะยังคิดไม่ครบทุกระบบ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่เราเห็นด้วยและพร้อมที่จะสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นการทะลายทุนผูกขาด การปรับโครงสร้างหนี้ บ้านเพื่อคนไทย หรือการลดค่าไฟ แต่ย้ำว่าปัญหาคือการไม่ลงในรายละเอียด อีกทั้งไม่ได้มีการพูดถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรืออาชญากรรมออนไลน์“ น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า สิ่งที่เห็นว่าเป็นผลงานจริงๆ คือการแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม ที่นายกรัฐมนตรี นำตัวเลขออกมาโชว์ให้เห็น แต่หากยังจำกันได้คือนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยบอกไว้ตัวเลขฝุ่นพีเอ็มในแต่ละพื้นที่จะลดลงเท่าไหร่บ้าง แต่ตัวเลขที่น.ส.แพทองธารนำมาแถลง เมื่อเทียบแล้วจะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่ลดลงมาจากเป้าหมาย ขณะที่โครงการซอฟต์พาวเวอร์ นายกรัฐมนตรีก็มีการพูดแตะนิดหน่อยว่าจะทำต่อ แต่ต้องขอทวงถามว่าโครงการที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่สมัยที่น.ส.แพทองธารนั่งเป็นประธานอยู่นั้น ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไร แม้กระทั่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็มีการบอกแค่ว่าปีหน้าแจกแน่ แต่ไม่ได้บอกว่าแจกเมื่อไหร่ รวมถึงเงินที่จะแจกผู้สูงอายุปีหน้า ก็ยังไม่มีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากที่ถอนเรื่องไป
ด้านนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การแถลงของนายกฯ เป็นการฝากงานมากกว่า สิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาล คือการทำให้คนไทยเชื่อมั่นได้ว่าในปี 2568 ภายใต้บริบทโลกใหม่ นโยายของรัฐบาลจะเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนอย่างแท้จริง สิ่งที่ตนอยากเห็นจากการแถลงของนายกฯ คือการปฏิรูประบบราชการ นายกฯ พูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล แต่กลับไม่พูดถึงปัญหาการต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมทั้งเรื่องการกระจายอำนาจที่กลับไปพูดถึงการกระจายอำนาจด้วยกองทุนเอสเอ็มแอล ทั้งที่การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้โดยตรง ทั้งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งอปท.ถือเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด เราได้ยินแค่ว่านายกฯ จะทำแพลตฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนปัญหายาเสพติด ซึ่งปัญหานี้ใหญ่มาก ไทยไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เลยถ้าไม่พูดถึงปัญหาชายแดน และปัญหาความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่นโยบายด้านการต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่ชัดเจน ปัญหาการศึกษาก็ไม่มีการพูดถึง พ.ร.บ.การศึกษาฯ หรือการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแต่อย่างใด ส่วนเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่มีความสำคัญ นายกฯ ไม่พูดถึงการยกเลิกสัมปทานพลังงานหมุนเวียนไฟฟ้า 3600 เมกกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ รมว.พลังงานได้ทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งนายกฯ เป็นประธานด้วย แต่ก็ไม่มีการพูดถึงว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนในนโยบายด้านการต่างประเทศ ว่าไทยจะจัดตนเองไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในสงครามการค้าโลกที่เราจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนในปี 2568 ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐฯ กำลังจะตั้งกำแพงภาษีกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าซึ่งรวมถึงไทยด้วย ผมอยากเห็นนายกฯ มองบริบทประเทศของเราว่าไม่ใช่ small country แบบที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เคยพูดไว้ แต่เราคือ middle power country เราเป็นประเทศที่มีอำนาจต่อรองระดับหนึ่ง ผมอยากเห็นนายกฯ แสดงบทบาทผู้นำในเวทีอาเซียนในการเจรจาในภูมิภาค เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกันว่าเราจะสร้างอำนาจต่อรองในสงครามการค้าโลกนี้อย่างไร
“การแถลงผลงานของนายกฯ ยังไม่ผ่านเกณฑ์ เหมือนการฝากงานที่นายกฯ พูดไม่ครบ คิดไม่จบ เราอยากเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนิติบัญญัติโดยเฉพาะการมาตอบกระทู้ถามสดด้วยตนเอง ส่วนการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ พรรคประชาชนยื่นร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ไปแล้วกว่า 80 ฉบับ เราอยากทำหน้าที่ฝ่ายค้านเชิงรุก ก็อยากได้ความชัดเจนจากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม หรือร่างกฎหมายของรัฐบาลที่จะยื่นเข้าสู่สภาฯ เพื่อมาพิจารณาร่วมกัน” นายณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่าตลอดการบริหารที่ผ่านมาให้เกรดอะไรกับรัฐบาล นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เราไม่ได้ให้เป็นลักษณะเกรด แต่ตนคิดว่าไม่ผ่านเกณฑ์ก็คือผิดความคาดหวังของประชาชน รัฐบาลนี้ทำงานไปแล้วเกือบครึ่งเทอม ถ้ามองจากกรอบการทำงาน 1 ปี 4 เดือน ตนเชื่อว่ายังไม่ผ่านเกณฑ์
เมื่อถามว่ามองนโยบายที่ผิดพลาดที่สุดของรัฐบาลคืออะไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า นโยบายที่โดดเด่นของพรรคเพื่อไทยที่ทุกคนมองในสมัยก่อน เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลประสบความล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 1 ที่แจกจ่ายไปแล้ว ภาพรวมของการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ เฟส 2 และ 3 ก็พูดออกมาชัดว่าเฉพาะเฟส 3 เท่านั้น ที่จะมีการแจกเงินดิจิทัล แบบนี้ก็ถือว่าพลาดเป้าไปหลายเป้าที่รัฐบาลเคยแถลงนโยบายไว้ตอนหาเสียง
“ถ้าวันนี้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้สดในสภา น่าจะตอบข้อซักถามได้หลายข้อ วันนี้ผม และ น.ส.ศิริกัญญา ตั้งข้อสังเกตไว้ จะให้ความชัดเจนได้มากกว่านี้ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่จะทราบถึงรายละเอียดในการดำเนินนโยบายได้ดีกว่านี้ ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรามีการเตรียมตัวไว้ค่อนข้างดีแล้ว ซึ่งตอนนี้วางกรอบไว้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า และจะมีการยืนยันอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน” นายณัฐพงษ์ กล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน