วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โฆษกสธ. เผยสธ.เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน 4 จังหวัดชายแดนใต้รับมือวิกฤตน้ำท่วม พร้อมจัดตั้งศูนย์พักพิงให้ความช่วยเหลือกว่า 2,000 ราย ระดมส่งทีมแพทย์และสาธารณสุขกว่า 500 ทีมลงปฏิบัติการภาคสนามกระจายทุกพื้นที่


โฆษกสธ. เผยสธ.เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน 4 จังหวัดชายแดนใต้รับมือวิกฤตน้ำท่วม พร้อมจัดตั้งศูนย์พักพิงให้ความช่วยเหลือกว่า 2,000 ราย ระดมส่งทีมแพทย์และสาธารณสุขกว่า 500 ทีมลงปฏิบัติการภาคสนามกระจายทุกพื้นที่


วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ยังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง น้ำขึ้นสูงขึ้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นห่วงมากและสั่งการให้ทุกผ่ายในกระทรวงสาธารณสุขทำงานให้เต็มที่ จากข้อมูลของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่รายงานเข้ามาส่วนกลาง สรุปว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย เสียชีวิต 7 ราย ปัจจุบันเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือ eoc 4 จังหวัด คือ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา


ขณะเดียวกัน สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตที่ 12 (สคร.12) ร่วมกับ สสจ. สงขลา ประเมินความเสี่ยงศูนย์พักพิงชั่วคราวอำเภอหาดใหญ่ สงขลาจำนวน 2 แห่งเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมและสำรวจทรัพยากรคงคลังของวัสดุอุปกรณ์เวชภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างทันท่วงทีในพื้นที่น้ำท่วม ควรสื่อสารความเสี่ยง การเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วมการป้องกันตนเองเรื่อง พลัดตกหกล้ม เนื่องจากการลื่นของพื้น การถูกไฟฟ้าช็อต และการลงเล่นน้ำในสถานที่ต่างๆ การจัดศูนย์พักพิงในภาวะวิกฤตน้ำท่วมเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อรองรับผู้ประสบภัย


“รายงานล่าสุดแจ้งว่า มีการเปิดศูนย์พักพิงที่จังหวัดยะลา นราธิวาส สงขลา รวม 47 ศูนย์พักพิง รองรับผิดประสบภัย 4,500 ราย ผู้รับบริการ 2,217 ราย ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงว่า ผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมจะไม่มีที่พักพิง”


น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า ระยะ 2 - 3 วันที่ผ่านมานี้ บุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ระดมมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์โดยฉับพลัน เช่น เคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ประสบภัยไปยังศูนย์อพยพหรือโรงพยาบาลที่มีความปลอดภัย เคลื่อนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงสูง ไปยังโรงพยาบาลที่มีความปลอดภัย ประสานระบบส่งต่อทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ (Sky Doctor) สำรองเตียงในโรงพยาบาลที่ไม่เสี่ยงอุทกภัย เพื่อรองรับประชาชนในพื้นที่ประสบภัย  กรณีปิดหน่วยบริการ ให้มีจุดบริการทดแทน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ รวมทั้งประชาสัมพันธ์และสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนในพื้นที่ในการป้องกันภัยจากอุทกภัยที่สำคัญ ได้แก่ การจมน้ำ ไฟดูด แมลงและสัตว์มีพิษกัดต่อย


โฆษกกระทรวงสธ. ฝ่ายการเมืองกล่าวต่อไปว่า ผู้รับผิดชอบได้ดำเนินการส่งทีมด้านการแพทย์และสาธารณสุขไปดูแลประชาชนรวม 503 ทีม แบ่งเป็นทีมสอบสวนโรค 191 ทีม ทีมเยียวยาจิตใจ 112 ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม 2 ทีม ทีมการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 68 ทีม และกู้ชีพกู้ภัย 130 ทีม สามารถดูแลประชาชนรวม 2,011 คน นอกจากนี้ ที่โรงพยาบาลปัตตานี มีการเปิดโรงครัวสำหรับผู้ป่วย ญาติ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและญาติที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ ที่น่าดีใจก็คือ คณะพยาบาลศาสตร์ มอ.ปัตตานีได้ส่งอัตรากำลังมาช่วยโรงพยาบาลในการขยายหอผู้ป่วยในครั้งนี้ด้วย ด้วยความร่วมมือกันหลายๆ จึงขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้วางใจว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลผู้ที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้อย่างดีที่สุด


“รายงานล่าสุดจากนายรุซตา สาและ ผู้อำนวยการรพ.ปัตตานี ว่า สถานการณ์ จากรพ.ปัตตานี วันนี้ระดับน้ำรอบ ๆ รพ. สูงกว่าเมื่อวาน ประมาณ 5-10 ซม. ระบบสนับสนุนประปามีน้ำเพียงพอ 48 ชม. และทางผู้ว่าฯ จะมีการสนับสนุนรถมาเติมกรณีร้องขอระบบออกซิเจนเพียงพอ  อย่างไรก็ตามมีการตามบริษัทให้มาเติมในวันนี้เพื่อเติมเต็ม ด้านโภชนา วันนี้ได้รับสนับสนุนวัตถุดิบ ข้าวสาร ไก่ ไข่ จากแพทยสมาคมฯ และ CPF ส่งวัตถุดิบ ไข่ 10,000 ฟอง ไก่ 200 ตัว เพื่อทำอาหารให้กับบุคลากร ผู้ป่วย และญาติ และอาจจะเปิดครัวใหญ่ เพื่อทำอาหารกระจายยังทุกรพ ใน 3 จังหวัด  ทีม refer  รพ.ปัตตานี สามารถเปิดบริการได้เต็มศักยภาพ” นางสาวตรีชฎากล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #น้ำท่วมภาคใต้ #น้ำท่วม67