วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2567

“ศิริกัญญา” ร่วมประชุม Shangri-La Dialogue คุยทางออกปัญหาเมียนมา แลกเปลี่ยนพัฒนาการการเมือง-เศรษฐกิจของไทยกับผู้นำรางวัลโนเบลสันติภาพ

 


“ศิริกัญญา” ร่วมประชุม Shangri-La Dialogue คุยทางออกปัญหาเมียนมา แลกเปลี่ยนพัฒนาการการเมือง-เศรษฐกิจของไทยกับผู้นำรางวัลโนเบลสันติภาพ


วันที่ 3 มิถุนายน 2567 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงการเข้าร่วม Shangri-La Dialogue ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีประชุมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ณ ประเทศสิงคโปร์ ที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคเป็นอย่างมาก 


ระหว่างงาน ศิริกัญญาได้เข้าร่วมประชุมในเวทีเสวนาย่อยเกี่ยวกับปัญหาเมียนมา ที่มีตัวแทนผู้นำที่เกี่ยวข้องจากทั้งประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย อังกฤษและสหภาพยุโรปเข้าร่วมนำการเสวนา โดยศิริกัญญาได้เปิดประเด็นคำถามต่อผู้แทนจากประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับบทบาทของประเทศไทย ต่อสถานการณ์ในประเทศเมียนมา และประสบการณ์การทำงานระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับรัฐบาลไทยในยุคของรัฐบาลเศรษฐา 


สำหรับบรรยากาศโดยรวมของการเสวนาย่อยด้านเมียนมานี้ ไม่ได้เป็นไปในเชิงบวกมากนัก เพราะผู้นำเสวนาทุกคนเล็งเห็นถึงรากลึกของปัญหาที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน และร่วมเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายยุติความรุนแรงและหาทางออกทางการเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วมผ่านการเจรจา ที่จะนำเมียนมาเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย โดยในระหว่างการประชุมมีผู้เข้าร่วมเสวนายกถึงความสำคัญของบทบาทประเทศไทยและประเทศจีนในการนำมาซึ่งสันติภาพในเมียนมาอีกด้วย 


โดยหลังจากการร่วมเสวนาเรื่องเมียนมา ศิริกัญญากล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นโยบายด้านเมียนมาของไทยต้องมีความต่อเนื่อง เป็นวาระแห่งชาติ เพราะมีผลกระทบหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งในต่างประเทศ แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัญหาฝุ่นข้ามชาติ ยาเสพติด หรือผู้อพยพ ที่เป็นผลโดยตรงจากความไม่สงบ” 


“แต่ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล จากปัจจัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ทำให้เราไม่สามารถดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่อง และแสดงความเป็นผู้นำของอาเซียนในเรื่องนี้ได้ ซึ่งเรื่องความไม่ต่อเนื่องนี้ ก็เป็นปัญหาที่ตัวแทนของรัฐบาลอินโดนีเซียได้ชี้ให้เห็นในระหว่างเสวนา”


นอกจากนั้น ศิริกัญญามีโอกาสแลกเปลี่ยนประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคและพัฒนาการด้านเศรษฐกิจกับตัวแทนรัฐบาล นักวิชาการ และสื่อจากอีกหลายประเทศ อาทิ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และติมอร์-เลสเต 


สำหรับประเทศติมอร์-เลสเต ศิริกัญญามีโอกาสเข้าพบประธานาธิบดี Jose Ramos Horta เจ้าของรางวัลโนเบล (Nobel Laureate) สาขาสันติภาพในปี 1996 จากการต่อสู้เพื่อสันติภาพ อิสรภาพและประชาธิปไตยในติมอร์ตะวันออก ทั้งสองได้มีการแลกเปลี่ยนถึงโอกาสของภาคเอกชนไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศติมอร์เลสเต เพื่อรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี (Preferential Trade Agreement) ในการส่งสินค้าออกต่อไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากติมอร์-เลสเต ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยมีการพูดถึงโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารทะเล สิ่งทอ การเกษตร และเวชภัณฑ์จากประเทศไทย  


ประธานาธิบดี Ramos Horta ยังได้สอบถามศิริกัญญาถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการเมืองในประเทศไทย เล่าประสบการณ์ รวมถึงขอคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาของประเทศติมอร์-เลสเตในด้านต่าง ๆ อีกด้วย โดยประธานาธิบดี Ramos Horta ปิดท้ายบทสนทนาว่าขณะนี้กำลังจะมีพรรคใหม่เกิดขึ้นในประเทศของเขาชื่อ “Timor Forward” ซึ่งได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จของพรรคก้าวไกล


ในเรื่องนี้ศิริกัญญากล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้แลกเปลี่ยนกับประธานาธิบดี Ramos Horta ผู้เป็นสัญลักษณ์ด้านประชาธิปไตยระดับโลก และได้แสดงความขอบคุณแทนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะท่านประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศคนแรกที่ส่งจดหมายแสดงความยินดีต่อพิธาและพรรคก้าวไกล หลังเราชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว” 


ศิริกัญญากล่าวเพิ่มเติมว่า “ติมอร์เลสเต เป็นประเทศกำลังพัฒนา และพยายามเชื้อเชิญให้บริษัทไทยไปลงทุน และใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางการค้า เพื่อลดต้นทุนสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรป เรื่องนี้เราจะทำการศึกษาต่อผ่าน กมธ. ที่เกี่ยวข้องที่นำโดยพรรคก้าวไกล และรายงานต่อรัฐบาลและภาคเอกชนที่สนใจต่อไป”


อนึ่งในระหว่างงาน Shangri-La Dialogue ได้มีปาฐกถาและเวทีเสวนาของบรรดาผู้นำจากหลายประเทศในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง โดยในหลายเวทีได้แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างชัดเจน และดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น


ในปีนี้ไฮไลท์ของงานคือการปรากฏตัวของประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskyy ของประเทศยูเครนในวันสุดท้าย ซึ่งประธานาธิบดี Zelenskyy ได้ย้ำถึงความสำคัญของการยึดมั่นต่อกฎหมายและธรรมเนียมระหว่างประเทศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของประเทศที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจ และได้ขอร้องให้ประเทศในอาเซียนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสันติภาพโลก (Global Peace Summit) ที่จะมีขึ้นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อมุ่งหวังกดดันประเทศรัสเซียให้ยุติสงคราม 


ส่วนประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jr ของประเทศฟิลิปปินส์ได้ย้ำถึงความสำคัญของความสงบและอิสรภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ โดยมีการตักเตือนและต่อต้านการดำเนินนโยบายความมั่นคงของประเทศจีนในบริเวณนี้อย่างจริงจัง 


ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหม Lloyd Austin ของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถึงความสำคัญของสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน และคำมั่นสัญญาที่จะปกป้องพันธมิตรทางด้านการทหารหากมีการถูกรุกรานจากมหาอำนาจอื่นๆ 


ด้านรัฐมนตรีกลาโหมของจีน พลเรือเอก Dong Jun ได้ย้ำถึงมุมมองของประเทศจีนที่มีต่อไต้หวัน และอธิบายถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดความไม่ราบรื่นในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันในบริเวณช่องแคบ และระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้


ศิริกัญญากล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและกองทัพต้องเข้าใจสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในระดับมหภาค และออกแบบยุทธศาสตร์ความมั่นคงนานาชาติของไทย รวมถึงมีแผนการพัฒนากองทัพ ในฐานะ Middle Power ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ไทยเราสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยบริหารความตึงเครียดนี้ในภูมิภาคอาเซียนได้ และเราควรมีแผนการที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล