วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : 13 ปี การต่อสู้ของ นปช. (3)


ธิดา ถาวรเศรษฐ : 13 ปี การต่อสู้ของ นปช. (3)

ข้อดี ข้ออ่อน และอนาคตของขบวนการประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย

ข้อดีด้านบวกของ นปช. กล่าวโดยย่อ

1. เป็นขบวนการประชาชนต่อสู้ต้านรัฐประหารและผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนถูกสถาปนาขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ มีขนาดมวลชนขับเคลื่อนใหญ่โตมากที่สุด และยาวนานที่สุด

2. องค์ประกอบมวลชนส่วนใหญ่เป็นคนยากจนในชนบทและคนจนในเมือง  เพิ่มเติมด้วยชนชั้นกลางระดับล่าง เป็นพลังหลักที่จิตใจต่อสู้มั่นคง โดยฐานะชนชั้นกำหนด จิตใจที่กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ ไม่ท้อถอย จึงเป็นพลังบวกที่สำคัญของคนเสื้อแดง

3. มีการพัฒนาจากเครือข่ายต้านรัฐประหารหลวม ๆ ไปสู่แนวร่วมที่มีรูปการณ์ มีลักษณะองค์กร มีการนำด้วยหลักนโยบายและการนำรวมหมู่ได้ดีระดับหนึ่ง

4. มีเครือข่ายองค์กรทั่วประเทศที่ยอมรับการนำของ นปช. ในลักษณะองค์กร ส่วนกลุ่มที่เห็นแตกต่างและ/หรือไม่ยอมรับการนำของ นปช. ก็ต้องตั้งองค์กรใหม่เป็นแดงอิสระ แต่เมื่อ นปช. จัดเวทีใหญ่ก็จะมาตั้งเวทีเล็ก ๆ ย่อย ๆ อยู่รอบนอก แสดงถึงการมีส่วนร่วมและมีสิ่งที่แตกต่าง ในการเคลื่อนไหวของแดงอิสระเหล่านี้ เราไม่เรียกว่า “แดงเทียม” แต่เขาไม่ได้ขับเคลื่อนตาม นปช. แสดงถึงลักษณะแนวร่วมที่กว้าง ยอมรับความแตกต่าง และสามารถอยู่ร่วมกันได้

ข้ออ่อนเป็นด้านลบของ นปช.
(ก็เป็นข้อเสียในข้อดีที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง)

1. ขนาดองค์กรที่ใหญ่ เกิดความหลากหลายในหมู่มวลชนและแกนนำที่มีปัญหาแย่งการนำในท้องถิ่นและส่วนกลาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้วงเวลาที่พรรคการเมืองฟากเดียวกันได้เป็นรัฐบาล บ้างก็หวังตำแหน่งในพรรคหรือมีตำแหน่งจากการเมืองในฐานะรัฐบาล  จึงมีการแตกตัวเป็นองค์กรย่อย ๆ มากมาย เช่น ผู้ตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงก็มีหลายกลุ่ม นอกจากนี้ก็มีความพยายามจัดตั้งองค์กรมวลชนซ้อนกับองค์กร นปช. เช่น องค์กร สปช., อพชร. ฯลฯ ยังไม่นับกลุ่มอิสระเสื้อแดงก็มีแนวทางต่างหากอื่น ๆ

รวม ๆ ก็มีกระบวนการทำลาย – ดิสเครดิตแกนนำ กระทั่งการทำงานมวลชนแข่งกับ นปช.

2. ความยากลำบากของพี่น้องประชาชนทางเศรษฐกิจและการถูกจับกุมคุมขัง ทำให้การต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานทั้งในการชุมนุมหรือช่วงระยะเวลาในการต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ประชาชนและแกนนำบางส่วนต้องลดบทบาทการต่อสู้ลงไป แม้จิตใจจะยังกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ

3. องค์กรประชาชนเช่น นปช. ไม่อาจคัดสรรเฉพาะคนที่มีอุดมการณ์ต่อสู้กล้าแข็งได้ แกนนำจำนวนมากไม่ปฏิบัติตามหลักนโยบายหรือมติการประชุมแกนนำ  แต่ปฏิบัติสิ่งที่เกิดผลเสียต่อขบวนการ

4. การนำรวมหมู่ใช้ได้กับขบวนการประชาชนที่ก้าวหน้า  แต่แม้กระนั้นก็ตาม ถ้ามีการรวมศูนย์การนำอยู่ที่ “บุคคล” มากกว่า “หลักการ”  ภาวะการนำก็ผิดพลาด ทำให้เสียหายได้

5. ขบวนการประชาชนที่ใกล้ชิดยึดติดกับพรรคการเมืองใหญ่และนักการเมือง  ปัญหาพรรคการเมือง นักการเมือง ก็เข้ามาสู่ขบวนการประชาชน และกลายเป็นปัญหาของขบวนการประชาชนไปในที่สุด  ขึ้นกับว่าพรรคการเมืองต้องการให้ขบวนต่อสู้ประชาชนเพื่อประชาชนหรือพรรคการเมือง นักการเมือง

ถามว่า...มีการสรุปบทเรียนและแก้ไขหรือไม่?

หลังการปราบปรามในการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน 2552 เราสรุปบทเรียนและสร้างองค์กรการนำขึ้นใหม่ เป็นแนวร่วมที่มีรูปการณ์  สร้างผู้ปฏิบัติงานและมวลชนที่ก้าวหน้า โดยเปิดโรงเรียนการเมือง นปช. ทั่วประเทศ ถือเป็นการสรุปบทเรียนครั้งสำคัญ มีการดำเนินการที่เป็นผลดีกับขบวนการได้อย่างชัดเจน

สำหรับหลังการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนในปี 2553 เราก็มีการปรับปรับปรุงการนำในระดับภูมิภาค (ได้ระดับหนึ่ง) และเข้มงวดกับการปฏิบัติตามมติและปัญหาความไร้วินัย จึงทำให้มีแกนนำบางส่วนแยกตัวจากการทำงาน แต่ว่ายังถือว่าเป็นแกนนำเพื่อขึ้นเวทีชุมนุม กล่าวได้ว่าในส่วนกลางและมวลชน มีพัฒนาการที่ดีกว่าปี 2551, 2552 และ 2553 ด้วยซ้ำ เพียงแต่เราไม่ขับเคลื่อนเวทีใหญ่ในกรุงเทพฯ แบบเดิมเท่านั้น

ปี 2554 จึงสามารถจัดประชุมแกนนำได้ทั่วประเทศ จัดโรงเรียนการเมืองได้ทั่วประเทศ และทำงานการเมืองใหญ่ได้เป็นจำนวนมาก จนมาถึงชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ทำให้เราทำงานปี 2554 ถึง 2556 ได้อย่างดี แต่ที่เราไม่อาจแก้ปัญหาได้ เป็นเรื่องของบุคคลที่ไม่ทำตามหลักการและวินัย  เพราะเรามีอดีตแกนนำจำนวนมากหลากหลาย หลายคนถือเอาการขึ้นเวทีชุมนุมเท่ากับเป็นแกนนำ ซึ่งก็อะลุ้มอล่วยกันไป  เพราะการต่อสู้เพื่อความก้าวหน้าของประเทศและผลประโยชน์ประชาชนเพื่อระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนจริงนั้น  ไม่มีการบังคับให้ทำ หรือบังคับให้ออกจากขบวน  ทุกอย่างเป็นไปตามความสมัครใจทั้งสิ้น

ดังนั้น แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการที่เป็นองค์กรการต่อสู้ ก็ย่อมเปลี่ยนได้ตามกาลเวลา และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปยิ่งกว่านั้น เป้าหมายยังเป็นเรื่องของปัจเจก ยิ่งกว่าเป้าหมายขององค์กรประชาชน  ทั้งแกนนำและผู้สนับสนุนจะทำให้น้ำหนักไปสู่เวทีรัฐสภาและการเป็นรัฐบาลยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ได้ประชาธิปไตยจริงอย่างมีเสถียรภาพ ไม่มีการรัฐประหารอีกต่อไป สำหรับขบวนการประชาชนซึ่งควรจะให้ความสำคัญนำหน้าเวทีรัฐสภา จึงถูกบ่อนทำลายโดยปริยายจากภายใน ไม่ใช่จากภายนอก  “สนิมเกิดจากเนื้อในตน”  การลดบทบาทขบวนการประชาชนเกิดขึ้นโดยแกนนำจำนวนไม่น้อย กระทั่งหลายคนไปไกล มองไม่เห็นว่าขบวนการประชาชนต่อสู้นอกสภาจะมีอนาคตอันใด

ก็นำมาสู่สถานะของ นปช. ในปัจจุบัน

ดังนั้น พัฒนาการของ นปช. ทั้งด้านดี ด้านอ่อน ก็เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ องค์กร นปช. และขบวนการต่อสู้ของประชาชนไทยก็เช่นกัน  มีทั้งด้านบวกและมองว่าขึ้นสู่จุดสูงสุด  แต่ในความจริงนั้น มีสองด้านประกอบควบคู่กันคือ ด้านบวกด้านลบดำรงอยู่ ยิ่งกว่านั้นสถานการณ์ของโลก ของประเทศ ของประชาชน ก็ปรับเปลี่ยนตามเวลา  บุคคลและองค์กรใด ๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องความเป็นจริงว่าสถานะในอดีตสอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันหรือไม่?

สรรพสิ่งไม่มีอะไรที่หยุดนิ่งและคงสภาพเช่นเดิม นี่เป็นความจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ สถานการณ์เปลี่ยน ถ้าผู้คนและองค์กรใดปรับตัวให้สอดคล้องความจริงไม่ได้ สถานภาพบุคคลและองค์กรนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะทุกอย่างเป็นพลวัตร ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง มีแต่พวกอนุรักษ์นิยมที่มองทุกอย่างหยุดนิ่ง ประชาชนที่ก้าวหน้าต้องมองทุกอย่างมีพลวัตร และกระทำที่สอดคล้องความเป็นจริง เป็นวิทยาศาสตร์

การต่อสู้ของ นปช. (2550 – 2557) จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง  แต่การทำรัฐประหาร 6 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้ขับเคลื่อนมวลชนได้มากพอ มีเหตุผลร้อยแปดพันประการที่อธิบายได้ถึงข้อจำกัด  แต่นั่นคือความจริงของการต่อสู้ของประชาชนโดย นปช. ในช่วงเวลาที่แล้วมา แม้จะมีการทำนโยบายใหม่ แต่ก็ไม่มีผลอะไร เพราะไม่มีการปฏิบัติในการต่อสู้มากพอที่จะเห็นได้ มีการขับเคลื่อนบางเรื่อง เช่นเรื่องประชามติ (เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ) และการทวงถามความยุติธรรมในเรื่องคดีความ

อย่างไรก็ตาม การมีพรรคใหญ่ ขบวนการประชาชนขนาดใหญ่แบบ นปช. อาจไม่สอดคล้องกับการต่อสู้ต่อไปก็ได้ แนวร่วมพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และแนวร่วมขบวนการประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าผนึกกำลังการต่อสู่กันให้ดี อาจมีประโยชน์กว่ามีพรรคใหญ่พรรคเดียว หรือ องค์กรประชาชนองค์กรเดียว

7 ปีแรกของ นปช. จาก พ.ศ. 2550 – 2557 (ต้นปี) นปช. มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา และมีมวลชนมากทุกครั้ง (บางครั้งมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง) แต่หลังการรัฐประหาร 2557 นอกจากการขับเคลื่อนเกือบไม่มี  การปรับปรุงภายในทำได้จำกัดตามสถานะองค์กร และการถูกดำเนินคดี เข้าคุก ออกคุก  แต่ก็สะท้อนว่าระบบโครงสร้างองค์กร การขับเคลื่อนยังไม่ดีพอ ทั้งถูกจัดการโดยคณะรัฐประหาร หน่วยงานความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรม มาทำให้ความจำกัดขององค์กรยิ่งถูกหยุดอยู่กับที่

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า การขับเคลื่อนมวลชนจำนวนมากในอดีตตามเป้าหมายของแต่ละกลุ่มนั้น สัมฤทธิ์ผลได้โดยการก้าวเข้ามาของอำนาจที่เหนือกว่า เช่น การขับเคลื่อนในเดือนตุลาคม ปี 2516 และพฤษภาคม ปี 2535 สัมฤทธิ์ผลระดับหนึ่งจากการสนับสนุนของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์และกลุ่มจารีตนิยม

แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม มวลชนขับเคลื่อนสัมฤทธิ์ผลเพราะกองทัพทำรัฐประหาร เช่น ในปี 2549 และปี 2557

การขับเคลื่อนของประชาชนฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ทั้งจำนวนมวลชน, ระยะเวลาต่อต้านยืดเยื้อ ไม่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยึดครองอำนาจรัฐไทยยอมแพ้

ดังนั้น ความก้าวหน้าโดยประชาชนเพื่อประชาชนจากการลุกขึ้นต่อสู้ในเมือง จึงยังไม่สัมฤทธิ์ผลจริง  ตรงข้าม...พรรคการเมืองใหญ่ ขบวนการประชาชนใหญ่ กลายเป็นเป้าหลักในการโจมตี ทำลายให้ย่อยยับในความคิดของเขา

ผู้เขียนมองว่า พัฒนาการฝ่ายประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เวลานี้เป็นเครือข่ายพรรคการเมืองประชาธิปไตยและเครือข่ายขบวนการประชาชนต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าทศวรรษที่ผ่านมา
อย่าเสียดายสิ่งเก่า
ให้กำลังใจสิ่งใหม่
สิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปดีกว่า

28 พ.ค. 63