วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ฝากไว้ให้ตราตรึง พล.อ.อดุล อุบล ยุทธการ "รุมยิงนกในกรง" ที่คนไทยต้องอ่าน!!!


#10ปีพฤษภา53
#10ปีพฤษภาถามหาฆาตกร

ฝากไว้ให้ตราตรึง พล.อ.อดุล อุบล

ยุทธการ "รุมยิงนกในกรง" ที่คนไทยต้องอ่าน!!!

จากมติชนสุดสัปดาห์
ฉบับประจำวันที่ 7-13 มีนาคม 2557


ผมขออนุญาตอีกครั้งหนึ่งครับ ด้วยที่ผมคงต้องเขียนอะไรแรงๆ ลงไปในตอนนี้ เนื่องจากความรู้สึกที่อดสูและสมเพชในบุคคลหลายคนที่ไม่ควรจะเป็นได้ถึงตำแหน่งเหล่านั้น


มันเป็นเรื่องที่พวกเราคงทราบดีกันแล้วจากสื่อเป็นเรื่องที่ hot ที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมตอนนี้ และจะเป็นเรื่องที่มีผลในทางคดีความกันไปอีกนาน และอาจจะเป็นความแตกแยกภายในชาติอีกระดับหนึ่ง ถ้าแก้ไขกันไม่ถูกต้อง


ผมไม่ได้รับหนับสือเสนาธิปัตย์มาเป็นปี ทั้งๆ ที่จ่ายเงิน (โดนหักโดยอัตโนมัติ) มาตลอด ก็ไม่ทราบเรื่องราวอัปยศเช่นนี้ มาทราบก็ต่อเมื่อมีการออกมาวิจารณ์กันทางสื่อเรียบร้อยแล้ว และก็มีทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องโทรศัพท์มาถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย


ทั้งพี่และน้องเหล่านั้นพูดเหมือนกันว่า "มันเป็นทหารกันหรือเปล่าวะ" สามารถออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้อาวุธสงครามที่จัดหามาจากภาษีอากรของประชาชน สังหารประชาชนมือเปล่า


แล้วยังมีหน้ามาวิเคราะห์บทเรียนจากการปฏิบัติการนั้นว่าสำเร็จอย่างเลอเลิศสรรเสริญและชื่นชมกันราวกับ"วีรบุรุษสงคราม" ผู้พิชิตชัยชนะในสงครามเต็มรูปแบบกับประชาชน ภายในชาติของตนเองที่มีแต่มือเปล่า และเต็มไปด้วยเด็ก ผู้หญิง และคนแก่


ผมอยากจะทราบว่า ถ้าผู้ที่มาร่วมชุมนุมเหล่านั้นถืออาวุธมาจากบ้าน อย่างน้อยปืนสั้นหรือปืนยาวคนละกระบอกพร้อมกระสุนตามมีตามเกิด ภาพมันจะเป็นอย่างนี้ไหม


บางคนบอกว่า การวิเคราะห์ "บทเรียนจากการกระชับวงล้อม" (ในหนังสือเสนาธิปัตย์) ผู้วิเคราะห์ถูกสั่งให้กระทำเพื่อเป็นการเอาใจ (มันก็ประจบสอพลอนั่นแหละวะ) ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพ


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามันจะถูกกระทำขึ้นเพื่อเป็นการเอาใจ หรือเพื่อการเป็นการนำไปใช้ฝึกและศึกษา หรือเป็นองค์ความรู้ทางวิชาการ หรือเพื่อเป็นการอยากจะบอกความจริงของผู้วิเคราะห์ก็ตาม มันก็เป็นประวัติศาสตร์อัปยศของกองทัพอยู่ดี


ผมอยากจะรู้ว่าเราจะเอาประสบการณ์ องค์ความรู้ หรือ ผลแห่งความสำเร็จนี้ไปอวดใครที่ไหน


อย่าว่าแต่กับประชาชนภายในชาติเลย ต่อให้ทหารต่างชาติและสังคมโลก เขาคงจะต้องสมเพชกองทัพไทยแน่


ผมมีความภาคภูมิใจมากในอดีตที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่ทั้ง 2 หน่วยนี้ คือ อาจารย์อำนวยการส่วนวิชายุทธวิธี รร.เสนาธิการทหารบก


และก่อนหน้าที่จะเป็นพลเอกนี้ ผมเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นตำแหน่งที่เขาขนานนามกันว่า "ครูใหญ่ของกองทัพบก"


ผมไม่เคยแม้แต่จะคิดว่าหน่วยที่ผมภาคภูมิใจจะทำเอกสารทางวิชาการออกมาได้แบบนี้


ผมอยากจะถามว่า พวกท่านมีความรู้สึกเป็นวีรบุรุษและมีความภาคภูมิใจมากนักหรือกับความเป็นจริงเหล่านี้


1. ท่านใช้กำลังทหาร 4 กองพล ซึ่งเท่ากับ 1 กองทัพน้อย (corps) ที่กองทัพ US ใช้เป็น Main effort (ME) ในการขับไล่กองทัพอิรักออกจากการยึดครองประเทศคูเวต แต่พวกท่านเอามาใช้ล้อมปราบประชาชนที่ไม่มีอาวุธ และเต็มไปด้วยเด็ก ผู้หญิง และคนแก่


2. ท่านใช้พลซุ่มยิงทั้งกองทัพ รุมยิงเป้าหมายผู้ชุมนุมที่ถูกล้อมอยู่ ดุจดัง ยิงนกในกรง

3. ท่านประกาศว่าเป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบกับประชาชนภายในชาติด้วยกำลังรบผสมเหล่า ทั้งทหารราบ ทหารม้ายานเกราะ หน่วยบิน พลซุ่มยิง หน่วยรบพิเศษ หน่วยส่งทางอากาศ ขาดแต่อาวุธปืนใหญ่ นี่ยังไม่นับหน่วยข่าวกรองอีกจำนวนมาก


4. ท่านมีความภาคภูมิใจว่ามีการวางแผนประณีตมีการซักซ้อมกันมาเป็นอย่างดี


5. ท่านให้ข้อมูลที่ทำให้แน่ใจได้ว่ามีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารเป็นอย่างดี เพราะทั้งรัฐบาลและกองทัพมีความเป็นเอกภาพ มีการสั่งและควบคุมการปฏิบัติการอย่างสมบูรณ์แบบตามลำดับสายการบังคับบัญชา (Chain of Command)


6. ท่านชี้ให้เห็นถึงการใช้กระสุนจริงเป็นผลดีต่อขวัญและกำลังใจของทหาร โดยเฉพาะมีการประกาศเขตใช้กระสุนจริงใน down town ของ กทม.


แค่นี้ผมก็อยากจะอ้วกแล้วครับ


ผมคิดว่าท่านกำลังจะทำให้นายทหารรุ่นหลังๆ เข้าใจผิดไปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นบทบาทและหน้าที่ของทหารของชาติอย่างแท้จริง หรือก็เพราะไอ้ชัยชนะแบบนี้เองหรือเปล่าที่ทำให้หลงคิดว่ารบเก่งกันทั้งกองทัพอยู่ทุกวันนี้


เคยคิดในมุมมองอื่นกันบ้างหรือไม่ว่าเหตุการณ์นี้ต้องทำบทเรียน (Lesson Learn) แน่นอน


แต่ทำอีกด้านหนึ่งคือวิจารณ์ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อีก


และถ้ามันเริ่มมีอาการเราจะหยุดอาการเหล่านั้นตั้งแต่แรกอย่างไร

จะดับเหตุแห่งความขัดแย้งในสังคมตั้งแต่แรกได้อย่างไร


เมื่อถึงขั้นที่การควบคุมจะเป็นไปไม่ได้แล้วใครจะเป็นฝ่ายเสียสละระหว่างประชาชนส่วนใหญ่หรือรัฐบาล


บทวิเคราะห์ของ ยศ.ทบ. กรณีนี้ไม่ได้อะไรแก่สังคมนอกจากการขยายช่องว่างของความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมไทยให้มากขึ้นไปอีก และได้คิดกันบ้างหรือเปล่าว่าข้อเท็จจริง (Facts) ที่ท่านเอามาเป็นหลักฐานในการวิเคราะห์นั้น มันจะกลับมาเป็นพยานหลักฐานว่าบรรดาฝ่ายการเมืองและผู้นำทหารกล่าวเท็จกับสาธารณชนไว้อย่างไรบ้าง แล้วมันจะนำไปฟ้องเป็นคดีความกันได้มากน้อยขนาดไหน


ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ มันเป็นการยอมรับกับผู้ชุมนุมว่ารัฐบาลไม่เคยมีความมุ่งหมายในการเจรจานอกจากการสลายการชุมนุมเท่านั้น


จึงเท่ากับส่งสัญญาณให้ฝ่ายชุมนุมตระหนักว่าในการชุมนุมครั้งต่อไป ไม่ว่าจะชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ พวกเขาจะต้องถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงและด้วยกำลังทหารแน่นอน


ดังนั้น จะเป็นอะไรไปถ้าพวกเขาจะนำอาวุธประจำบ้านตามมีตามเกิดติดตัวมาด้วยเพื่อป้องกันตนเอง แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้น


ผมไม่อยากนึกถึงภาพเลย

(เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2554)