วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : 10 ปี 10 เมษา - พฤษภา 2553 จากวันนั้นถึงวันนี้ 10 ปีที่รอคอยความยุติธรรมสำหรับประชาชน



ธิดา ถาวรเศรษฐ : 10 ปี 10 เมษา - พฤษภา 2553
จากวันนั้นถึงวันนี้ 10 ปีที่รอคอยความยุติธรรมสำหรับประชาชน

10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553 นับเป็นช่วงเวลาที่หนักหน่วงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิต และหนักหน่วงมาจนถึงบัดนี้ จากวันนั้นถึงวันนี้ และถ้าจะว่าไปจาก 6 ตุลา 19 มาจนบัดนี้ วันนี้ก็ยังไม่มีความยุติธรรมสำหรับประชาชน หลัง 6 ตุลา 19 ประชาชนส่วนหนึ่งได้ตอบโต้อำนาจรัฐที่กระทำอย่างรุนแรงด้วยการเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จากนั้นต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ปัญหาผิดพลาด และสมัครใจที่จะเดินหน้าพัฒนาการเมืองไทยต่อไปตามแบบอย่างอารยชน ดิฉันก็ไม่คิดว่าจะกลับมามีการฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยมอีก

ปี 2535 ก็มีการปราบปราม สูญเสียประชาชนไปจำนวนหนึ่ง แต่การเมืองก็กลับมาพัฒนาไปในทางที่ดี ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์แบบ เมษา – พฤษภา ปี 52, 53 อีก

การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา และหลังการต่อสู้ของพคท. ล้วนเป็นการต่อสู้เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นเสรีประชาธิปไตยเช่นอารยประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น อังกฤษ, ญี่ปุ่น เป็นต้น

และใช้สันติวิธี เพราะไม่ได้ต้องการล้มล้างการปกครองแบบที่มีอยู่ แต่ต้องการให้เกิดระบอบประชาธิปไตยแท้จริงที่อำนาจเป็นของประชาชน เพียงแค่นี้ไม่จำเป็นต้องมีกองกำลังอาวุธ ไม่ต้องเผาบ้านเผาเมือง หรือล้มสถาบันใด ๆ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องทำเช่นนั้น

กล่าวโดยสรุปคือ

1. ฝ่ายประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้เปลี่ยนแปลงยกระดับมาต่อสู้แบบอารยชนในระบอบประชาธิปไตย แต่ฝ่ายอำนาจนิยมจารีตนิยมยังไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ยอมพัฒนาตนเอง กลุ่มตน ตามวิถีอารยชนในระบอบการเมืองการปกครองสมัยใหม่ ยังคงใช้วิธีการเดิม เป้าหมายเดิม คือล้มล้าง ฆ่าฟัน ปราบปราม ลงโทษ ฝ่ายที่จะมาแย่งอำนาจการเมืองการปกครองที่เคยอยู่ในมือของกลุ่มตน ประหนึ่งยุคสมัยปลายอยุธยา

2. จากวันโน้น วันนั้น ถึงวันนี้ เมื่อมีการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนปี 2516, 2535 ที่ได้รับชัยชนะระดับหนึ่ง หรือแม้แต่การต่อสู้ของประชาชนในปี 2552, 2553 ทำให้มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งไม่อาจดำรงอยู่ได้ เกิดการทำรัฐประหารและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ล้าหลังไปอีกเรื่อย ๆ จาก 2550 ถึง 2560 ยิ่งถอยหลัง ยึดอำนาจประชาชนไปโดยรัฐธรรมนูญใหม่หลังเกิดจากการทำรัฐประหาร เท่ากับทำลายผลพวงการต่อสู้ของประชาชน อาจพูดได้ว่าการต่อสู้ของประชาชนยังไม่สามารถทำลายล้างผลพวงการทำรัฐประหาร การต่อสู้ของประชาชนยังไม่สัมฤทธิ์ผล

หรือพูดง่าย ๆ ว่า กองทัพและชนชั้นนำจารีตนิยมยังสามารถพลิกสถานการณ์จากความเพลี่ยงพล้ำ พ่ายแพ้ทางการเมือง กลับมามีอำนาจเหนือประชาชนทุกครั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ระบอบประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้จริงในประเทศไทย แม้จะผ่านการต่อสู้มาหลายรอบ ได้รับชัยชนะบ้างระดังในหนึ่งก็ตาม

3. นอกจากใช้การทหารและมวลชนจัดตั้งของกลุ่มจารีตนิยมมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว กระบวนการที่สำคัญยิ่งคือการเขียนกฎหมายตามแบบที่ต้องการ (ชนชั้นใดเขียนกฎหมายแล้วไซร้ ย่อมเป็นไปเพื่อชนชั้นนั้น) ก็มีการบังคับใช้ ตีความกฎหมายเพื่อเป็นดาบสอง จัดการฝ่ายต่อต้านการทำรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ ทั้งที่เป็นพรรคการเมือง นักการเมือง และขบวนการต่อสู้ของประชาชนที่เห็นต่าง เพื่อให้ครองอำนาจได้ยาวนาน การลงโทษด้วยกฎหมายทำให้เกิดคำถามในหมู่ประชาชนที่ถูกกระทำ ทวงถามความยุติธรรมและหลักนิติธรรมที่ส่งเสียงเซ็งแซ่จากกรณี 6 ตุลา 19 และ เมษา พฤษภา 53 จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่จะหนักขึ้น เพื่อกดประชาชนให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านการยึดอำนาจรัฐด้วยระบอบอื่น ก็ได้ผลแต่ละช่วงเวลา ประชาชนต้องสาละวนต่อสู้คดี คิดคุก ติดตะราง ขาดการต่อสู้ประชาชนได้นับสิบปี

4. การปราบปรามประชาชนด้วยการใช้อาวุธ แล้วตามด้วยการทำรัฐประหาร จากวันก่อน ๆ จนถึง 27 พฤษภาคม 2557 และอาจมีอีกข้างหน้า ก็ยังเหมือนเดิม เป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีประชาชนสนับสนุน จากนั้นก็นิรโทษกรรมตนเอง ได้รับการยอมรับจากกระบวนการยุติธรรมที่ถือว่าผู้ยึดอำนาจรัฐได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายอะไรก็ได้ นี่คือวงจรอุบาทว์ประเทศไทยที่ยังเหมือนเดิม ยอมรับการนิรโทษกรรมจากการทำรัฐประหารและปราบปรามประชาชน จึงไม่มีการเอาผิดผู้ปราบปราม เข่นฆ่าประชาชน มาตลอดเวลาที่มีการทำเช่นนี้หลายสิบปีแล้ว ยังใช้กระบวนการเช่นนี้

5. ฝ่ายอำนาจนิยม จารีตนิยม ใช้อำนาจอื่น ๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม มาสร้างความชอบธรรมให้คณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจได้ยาวนาน การเอื้อประโยชน์นายทุนใหญ่และนายทุนที่สวามิภักดิ์อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน การใช้สื่อปฏิบัติการจิตวิทยา การจัดตั้งมวลชนอนุรักษ์นิยม ครอบงำการศึกษา โครงสร้างข้าราชการ ทหาร พลเรือน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ให้สวามิภักดิ์อำนาจจากคณะรัฐประหาร บิดเบือนความจริง สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน

กรณี 10 เมษา – พฤษภา 53 สร้างวาทกรรมชายชุดดำ กองกำลังอาวุธ พวกล้มเจ้า พวกเผาบ้านเผาเมือง เพื่อให้ประชาชนแบ่งแยกกัน เกลียดชังกัน และดูชอบธรรมสำหรับการใช้อำนาจปรามปรามเข่นฆ่าประชาชน

นี่เป็นกระบวนการยอดเยี่ยมในการทำลายอำนาจประชาชนด้วยการแบ่งแยกประชาชน ให้ประชาชนส่วนหนึ่งสนับสนุนฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม เข่นฆ่าทำลายประชาชนฝ่ายก้าวหน้าที่ลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยและทวงความยุติธรรม 

สุดท้ายคือ

6. ฝ่ายสนับสนุนจารีตนิยม อำนาจนิยม มีพลังเพราะชนชั้นกลางและปัญญาชนจำนวนมากไปสนับสนุน ชูธงจารีตนิยม และสนับสนุนการทำรัฐประหาร เพราะตนเองเป็นปฏิปักษ์กับนักการเมืองผู้ชนะเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย หรือถูกลดบทบาทไป ข้อนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำลายการต่อสู้ของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2550 มาจนบัดนี้ ทำให้การต่อสู้ของประชาชนไม่เข้มแข็งอย่างที่ควรจะเป็น  กลุ่มคนเหล่านี้ได้ประโยชน์จากรัฐบาลเผด็จการยิ่งกว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ทำให้การล้มตายของประชาชนในปี 2553 ไม่ได้รับการใส่ใจจากชนชั้นกลางและเวทีโลก ดัง 6 ตุลา 2519

วีรชนผู้เสียชีวิตถูกประณามว่าตายเพื่อนายทุนสามานย์
การต่อสู้ของประชาชนถูกขนานนามว่าเป็นสมุนนายทุนสามานย์

ยังดีที่บัดนี้คนจำนวนหนึ่งเข้าใจมากขึ้น รวมทั้งคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน แต่ปัญญาชนรุ่นเก่า ชนชั้นกลางจำนวนมากก็ยังหนุนระบอบเผด็จการอยู่

นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่แต่ละคนเลือกว่าตนเองจะอยู่กับประชาชนหรืออยู่กับการปล้นอำนาจประชาชน

เราขอเทิดทูนจิตใจและคารวะดวงวิญญาณของวีรชนทุกท่านที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรม นับจากวีรชนเดือนตุลา พฤษภา 35 วีรชนเมษา – พฤษภา 52, 53 กว่า 40 ปีที่รอคอยความยุติธรรมและยังไม่มีประชาธิปไตย

ธิดา ถาวรเศรษฐ
10 เมษายน 2563
#10ปี10เมษา