10
ปี-10 เมษาฯ
คอลัมน์
บทบรรณาธิการ
ช่วงที่สังคมต้องรับศึกโควิด-19
แทบจะไม่มีเวลานึกถึงประเด็นอื่น คงทำให้วาระครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษาฯ
53 ไม่เป็นที่รำลึกมากนัก
แต่สำหรับครอบครัวของผู้สูญเสียคงไม่เป็นเช่นนั้น
บรรดาผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักระบุว่า
แม้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว ความเสียใจยังคงฝังลึกอยู่
และความช้ำใจจากวาทกรรมให้ร้ายว่าเป็นญาติของคนเผาบ้านเผาเมืองยังคงไม่สลายไป
10
เมษาฯ เป็นจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิต 25 ราย
ตามมาด้วยการใส่ร้าย สร้างความเกลียดชัง
และทำให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2553
แต่กลับไม่มีความรับผิดชอบใดๆ
จากการใช้อำนาจรัฐในครั้งนั้นจนถึงปัจจุบัน
เหตุการณ์
10 เมษาฯ 53
เกี่ยวพันกับคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้สลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.
หลังจากเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมในปีนั้น
ด้วยข้อเรียกร้องให้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง
การเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม
ในปฏิบัติการที่ใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” อยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ
ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจุดปะทะหลักอยู่ที่ถนนดินสอและแยกคอกวัว
พลเรือนเสียชีวิต
20 ราย และเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 5 ราย แต่กลับไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝีมือใคร
แม้แต่เหยื่อที่เป็นช่างภาพของรอยเตอร์
สำนักข่าวชั้นนำของโลก แม้ระบุว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร
ก็ไม่ปรากฏว่าใครต้องรับผิดชอบต่อการตายของฮิโรยูกิ มูราโมโตะ
เช่นเดียวกับนายทหารที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์
กลับหาคนร้ายไม่ได้
ผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์
10 เมษาฯ ที่ระบุกันว่าเป็นชายชุดดำ ผ่านมา 10 ปีแล้วคนในสังคมยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
นอกจากการกล่าวหากันลอยๆ
10
ปีที่ผ่านมากลับเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร
การเขียนรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาที่ประชาชนถูกยึดอำนาจ พรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอลง
และวาทกรรมให้ร้ายที่ยังไม่คลี่คลาย เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ให้ชัดเจน
ญาติที่เฝ้ารอคำตอบมาตั้งแต่
10 ปีก่อน ก็ยังคงรอคำตอบอยู่เช่นเดิม โดยไม่รู้ว่าจะได้รับเมื่อใด
ความเสียใจและช้ำใจคงจะดำเนินต่อไป