รำลึก
10 ปี เมษา - พฤษภา 53
เมื่อวันที่
19 พ.ค.63 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวรำลึก 10 ปี เมษา - พฤษภา 2553 ที่สำนักงานศูนย์ข่าวนปช.
‘ยูดีดีนิวส์ - UDD News’ ว่า
‘ผมไปให้สัมภาษณ์ทั้งโทรทัศน์ทั้งสื่อออนไลน์หลายช่องหลายสำนัก ตลอดช่วงระยะเวลา 2
สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยวาระเดียวกันก็คือครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์เมษา-พฤษภาปี 2553 สื่อแต่ละสำนักแม้ว่าจะสนทนาเรื่องเดียวกัน
แต่ก็มีประเด็นคำถามมีแง่มุมที่มีความแตกต่าง
แต่วันนี้ผมจะพูดโดยสถานะเดียว
ซึ่งเป็นสถานะเดิมที่ยืนอยู่บนเวทีเมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบัน
ผมเป็นคนเสื้อแดง
ผมเป็นแกนนำนปช.และผมผูกติดกับการชุมนุมต่อสู้ของประชาชนเมื่อปี 2553 อย่างมิอาจปฏิเสธได้
ผมไม่ได้อยู่กับการต่อสู้เมื่อ
10 ปีก่อนด้วยความชิงชังคลั่งแค้นที่จะต้องจองล้างจองเวรกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
ไม่ว่าจะในรูปของบุคคล องค์กร หรือกลไกรัฐใดๆ ก็ตาม
แต่ผมผูกติดอยู่กับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะแกนนำในการชุมนุมซึ่งจะต้องติดตามทวงถามความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย
เอาความจริงสู่สังคม ให้ผู้ถูกกระทำทั้งหมด ได้รับความเป็นธรรมทั้งในทางการเมือง
ทั้งในทางสังคมและที่สำคัญที่สุดในทางกฎหมาย
ผมเรียนทุกท่านนะครับว่า
10 ปีมาแล้วที่ทุกครั้งเมื่อได้มีโอกาสรับฟังผู้คนพูดถึงการต่อสู้ของเรา
ก็จับสังเกตจากท่าทีหรือจับประเด็นจากคำพูดได้ว่า เค้าพูดถึงการต่อสู้คราวนั้น
ว่าจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของประชาชน
เป็นความพ่ายแพ้ของนปช.คนเสื้อแดงและเป็นความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย
วันนี้ผมโพสต์บทความลงในเฟซบุค
UDD News ตั้งคำถามว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็น 10 ปี
เราอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้จริงหรือ
ในปี
2553 เราถูกกระทำจนมีคนเจ็บคนตายมากมาย
ทั้งประชาชนรวมเจ้าหน้าที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทย
เรามิอาจยืนต้านความอำมหิตนั้นได้
เราต้องประกาศยุติการชุมนุม
แกนนำจำนวนหนึ่งต้องมอบตัวเข้าสู่ที่จำขัง แกนนำและพี่น้องประชาชนอีกจำนวนหนึ่งหนีตายหัวซุกหัวซุน
ที่เลิกจากเวทีชุมนุมก็ไม่สามารถพาตัวเองกลับบ้านได้โดยปลอดภัย
ต้องซ่อนตัวอยู่ในเขตอภัยทานวัดปทุมวนารามด้วยอารามเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจนรุ่งสายของวันต่อมา
จึงได้ออกจากพื้นที่สังหาร
สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดคือข้อสรุปว่าเป็นความพ่ายแพ้ของประชาชนผู้ชุมนุมต่อสู้เมื่อ
10 ปีก่อนหรือไม่
ผมมีคำตอบมาแลกเปลี่ยนกันในเบื้องต้น
เพื่อที่จะรอรับฟังความคิดเห็นของผู้คนว่ามีทัศนะต่อคำตอบที่ผมนำเสนอนี้อย่างไร
ผมคิดว่าในการต่อสู้หนึ่ง
การจะตัดสินหรือชี้วัดผลแพ้ชนะ ต้องถามกันให้ชัดเสียก่อนว่าการต่อสู้นั้น
เขาสู้กันในกติกาอะไร พื้นที่หรือสถานการณ์การต่อสู้คืออะไร
ถ้าในการแข่งขันฟุตบอล
ทีมฟุตบอลฝ่ายหนึ่งถูกนักฟุตบอลฝ่ายตรงข้าม กรรมการ กองเชียร์
นักเลงหัวไม้และอันธพาลที่ไหนก็ไม่รู้ รุมไล่ตีทำร้ายทำลายบาดเจ็บเจียนตาย
นอนอยู่กลางสนาม บ้างก็ต้องหามกันไปรักษา บ้างก็ต้องหนีการไล่ล่าหัวซุกหัวซุน
จะอธิบายว่านักกีฬาทีมดังกล่าวพ่ายแพ้หรือไม่
ก็ในเมื่อพวกเขาออกจากบ้านมาแข่งฟุตบอล
ก็ในเมื่อพวกเขาสวมรองเท้าสตั๊ดถุงเท้ารองเท้าและชุดกีฬาฟุตบอลไปในสนามแข่งขัน
แต่เค้าไม่สามารถยืนอยู่ในสนามได้จนครบเวลา
90 นาทีและไม่สามารถจบสกอร์เพื่อชิงถ้วยรางวัลจากการแข่งขันได้
เพราะเค้าต้องเจอกับเหล่าอันธพาล
เค้าต้องเจอกับการใช้กำลังใช้ความรุนแรงเข้าทำร้ายประหัตประหาร
ฉันใดฉันนั้นเช่นเดียวกัน การต่อสู้ของประชาชนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
เราออกจากบ้านมาต่อสู้ทางการเมืองหรือออกจากบ้านมาต่อสู้ทางทหาร?
เราออกจากบ้านมาเรียกร้องการเลือกตั้งหรือเรียกร้องการเข่นฆ่า?
เราออกจากบ้านมาพร้อมกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย
เอาข้าวของ ข้าวปลาอาหาร เอาเสบียงเท่าที่หาได้มากินมานอนในที่ชุมนุม
หรือขนอาวุธยุทโธปกรณ์
ขนสรรพกำลังแห่งการเข่นฆ่าทำลายชีวิตมาจากภูมิลำเนา?
ผมคิดว่า
เรามาต่อสู้ทางการเมือง เรามามือเปล่า
เรามาเพื่อสู้กับพวกเขาว่า
ระหว่างแนวทางอำนาจนิยมเครือข่ายอำนาจนอกระบบที่พวกเขามี
กับแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม
พลังของประชาชนมือเปล่าที่เรามาใครควรจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
ใครควรมีความชอบธรรมในการกำหนดอนาคตและทิศทางของประเทศไทย
ดังนั้น
ครบรอบ 10
ปี ผมไม่ใช่พวกขี้แพ้ที่ต้องการกำลังใจ
ผมไม่ใช่คนที่ถูกกระทำแตกพ่ายแล้วก็หาวาทกรรมสวยหรูมาพูดให้ดูดีกันเป็นรายปีไป
แต่ผมนำเสนอความจริงชุดหนึ่งจากความคิดผม
ถ้าวันนั้น
พวกเราสะพายปืนกันมาจากบ้าน ประกาศท้าที่สะพานผ่านฟ้าว่าเฮ้ยไอ้รัฐบาล
ไอ้กองกำลังทั้งหลาย แน่จริงมายิงกัน
แล้วท้ายที่สุดเราตายมากกว่า
ถูกจับถูกขัง เราหนี ถูกไล่ล่า นั่นล่ะครับเราแพ้เขา แต่วันนั้นเรามาและเราบอกว่า
เราต้องการการเลือกตั้ง
เราต้องการให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตัวแทนเข้ามาบริหารด้วยความถูกต้องชอบธรรม
ไม่ใช่ตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร ไม่ใช่โดยอิทธิพลของอำนาจนอกระบบใดๆ
แล้วในที่สุด
ปี 2554 หลังจากเราถูกกระทำจนต้องยุติการชุมนุมปีเศษๆ ก็มีการเลือกตั้ง
แล้วในวันนั้นเราชนะเลือกตั้ง
เราชนะในสงครามที่เราสู้ เราชนะในการต่อสู้ที่เราประกาศและยืนหยัดมาตลอด
คือสนามประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้น คงจะไม่ใช่เป็นการยโสโอหังเกินไปที่ผมจะบอกว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือ แท้จริงแล้วประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะครับ (เสียงปราบมือ)
เราชนะในสนามการต่อสู้ของประชาชนมาทุกครั้งและตลอดเวลา
เราชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 เราชนะการเลือกตั้งปี 2548 เราชนะการเลือกตั้งปี 2550 เราชนะการเลือกตั้งปี 2554
พูดให้ถึงที่สุด
เราชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 แม้กติกาจะร่างมาเพื่อพวกเขาอย่างน่ารังเกียจที่สุดก็ตาม
เราชนะมาโดยตลอด
(เสียงปรบมือ) เพราะข้อต่อสู้และข้อเรียกร้องของนปช. ของคนเสื้อแดง
และประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เคยมีสิ่งอื่นนะครับ เราเรียกร้องการเลือกตั้ง เราเรียกร้องประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เราเรียกร้องกติกาสูงสุดที่ถูกต้องชอบธรรม
ตามหลักการที่สากลโลกเขายอมรับ เราต่อต้านการรัฐประหาร
เราไม่ยอมรับอยุติธรรมสองมาตรฐาน เราปฏิเสธอิทธิพลของอำนาจนอกระบบทุกกรณี
ด้วยข้อเรียกร้องและข้อต่อสู้ที่ผมได้พูดมานี้ ผมว่า เราไม่ได้แพ้
เค้าเลยไม่สู้กับเราในสนามนี้ไงครับ
เค้าเลยสู้ในสนามที่เค้ามีกำลัง มีอาวุธ มีความอำมหิตและมีอานุภาพจากการเข่นฆ่า
แต่ท่านที่เคารพครับ
เรื่องที่น่าเศร้าและเจ็บปวดก็คือ ทุกครั้งที่เราชนะในสนามการต่อสู้ของประชาชน
เราไม่เคยรักษาชัยชนะนั้นไว้ได้
อำนาจรัฐที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ไม่เคยยืนต้านทานอิทธิพลของฝ่ายอำนาจนิยมของขบวนการนอกระบบของผู้เผด็จการได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ต้องพูดเปิดหัวใจกันว่า
พลันที่ขบวนการซึ่งนำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อรูปตั้งร่าง
เคลื่อนขบวนกันเป็นองค์กร
ถึงตรงนั้นเราวิเคราะห์สถานการณ์เด็ดขาดแล้วครับว่าต้องจบโดยรัฐประหาร
เอาล่ะ
มันอาจจะเป็นเรื่องใหม่ในเวลานั้น ถ้ามองย้อนไปถึงเหตุการณ์พฤษภา35 ซึ่งหลายคนเผลอใจเชื่อไปแล้วว่านั่นคือครั้งสุดท้ายที่จะมีการรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย
ให้ใกล้เข้ามาแล้วภาพชัดขึ้น
พลันที่ขบวนการที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาเคลื่อนไหว มีการชุมนุม
มีการจัดตั้งกันเป็นขบวนการ มีกลุ่มบุคคลเครือข่ายต่างๆ ออกมาสนองตอบในสถานการณ์ ณ
วันนั้น เราก็สรุปได้แล้วครับว่ามันจะต้องจบด้วยรัฐประหาร
ผมไม่ไร้เดียงสาเพียงพอที่จะนั่งเชื่อว่าตอนพันธมิตรออกมาชุมนุม
ทุกอย่างจะสวยหรูและปูด้วยบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง
ผมไม่มีความเพ้อฝันเลื่อนลอยมากพอที่จะนั่งเชื่อว่าพลันที่คุณสุเทพ
เทือกสุบรรณ สถาปนาตัวเองเป็น 'ลุงกำนัน' นั่นหมายความว่าอีกไม่กี่วันเราจะเข้าคูหาลงคะแนน
ไม่ใช่ครับ นี่คือความจริง
ดังนั้น
ท่านที่เคารพครับ
แม้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเราจะถูกมองและอธิบายเป็นความพ่ายแพ้
ก็อย่าได้ถดถอยหรือสูญเสียกำลังใจเลย
ในฐานะประชาชนมือเปล่าๆ
ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เราถูกกระทำขนาดนี้ เราถูกเล่นงานด้วยทุกวาทกรรม
ทุกข้อกล่าวหา ทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ถึงเพียงนี้ เรายังเอาชนะพวกเขาได้
โดยความชอบธรรมต่อสายตาของคนทั้งโลก
แต่แน่นอนที่สุดครับ
สถานการณ์มันยังไม่ได้ข้อยุติ การต่อสู้ยังคงดำรงอยู่
แล้วขอให้ท่านเหลียวมองดูนะครับ
วันนี้สิ่งที่พี่น้องประชาชนคนหนุ่มคนสาวเค้าออกมาต่อสู้เรียกร้อง คืออะไร
คือประชาธิปไตย
คือการเลือกตั้ง คือรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องชอบธรรมทั้งที่มา
เนื้อหาสาระและการบังคับใช้
คือการไม่เอาสองมาตรฐาน
คือการต้านเผด็จการ คือการปฏิเสธอำนาจนอกระบบ
ซึ่งเป็นสิ่งเดียวเรื่องเดียวกันกับที่เราพูดเราทำและเราสู้มาตลอดกว่า 10 ปี ใช่หรือไม่
ซึ่งเป็นสิ่งเดียวเรื่องเดียวกันกับที่เราพูดเราทำและเราสู้มาตลอดกว่า 10 ปี ใช่หรือไม่
นี่แหละครับมันจึงทำให้คนที่ถูกกดด้วยคำว่าผู้แพ้
ยังเหยียดยืนตรงและมองหน้าสบตาพวกเขาได้ตลอดเวลา
เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน
ที่ผ่านมา
แม้คนเสื้อแดงซึ่งถูกอธิบายว่าเป็นคนชั้นล่าง เป็นรากหญ้า เป็นแรงงานที่ถูกหลอกมา
แต่คนกลุ่มนี้ล่ะ ที่ไม่เคยทรยศต่อความเป็นประชาชน
คนกลุ่มนี้ล่ะที่ยืนอย่างอดทนและมั่นคง ท่ามกลางภยันตรายทั้งหลาย
เพื่อปกปักรักษาสิ่งที่เชื่อ
สิ่งที่สู้ แม้ต้องเจ็บ แม้ต้องตาย แม้ต้องสูญสิ้นอิสรภาพ แต่ไม่เคยถอยหลังกลับไป
ต่างกับคนอีกบางกลุ่มนะครับ
ข้อเรียกร้อง ข้อต่อสู้หรือสิ่งที่เค้าอ้างว่าเป็นหลักการที่ยึดกุมและยกชู
ไม่เคยอยู่ได้นานและจนถึงปัจจุบันมันก็เลือนหายไป
เคยมีคนบางกลุ่มประกาศเรียกร้องการเมืองใหม่ แต่งตั้ง 70% เลือกตั้ง
30% วันนี้มันหายไปตั้งนานแล้ว
มีคนบางกลุ่มเรียกร้องสภาประชาชน
เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง วันนี้ไม่มีใครกล้าออกมาพูดทำนองนี้แล้วครับ
มีคนบางกลุ่มบอกว่าต่อต้านเผด็จการรัฐสภา
ต่อต้านวุฒิสภาทาส มาเจอกติกาแบบปัจจุบัน มาเจอวุฒิสภา 250 คน
คำประกาศต่อต้านเหล่านั้นหายไปเสียสิ้น
นี่คือความแตกต่าง
การต่อสู้ของพวกเราตลอด 10
ปีที่ผ่านมา ไม่ซับซ้อนเลย
ง่ายงามเรียบชัดและตรงไปตรงมา
แม้เราจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นคนแปลกหน้าในบรรทัดประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของสังคมไทย
เพราะหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่า ‘14 ตุลา 16’ ‘6 ตุลา 19’ หรือ ‘พฤษภา 35’ เวทีนี้
บรรทัดเหล่านี้ จะเป็นพื้นที่ของนิสิตนักศึกษา คนหนุ่มคนสาวหรือคนชั้นกลางในเมือง
แต่ปี
2553 เป็นการปรากฏตัวขึ้นอย่างแจ่มชัดเป็นครั้งแรกของคนชนบท
ของคนที่ถูกแบ่งแยกเป็นคนชั้นล่างในสังคม ของคนที่ถูกเรียกโดยศัพท์ร่วมสมัยว่าเป็นคนรากหญ้า
แต่ว่า
สิ่งที่เราพร่ำพูด สิ่งที่เรากู่ร้อง สิ่งที่เราต่อสู้กันมา
มันได้ถูกส่งผ่านไปยังมือ ไปยังหัวใจ
ไปยังพลังของคนรุ่นปัจจุบันได้อย่างไม่ขัดเขิน
คนจำนวนไม่น้อยที่เขาแสดงตัวออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยามนี้
เค้าอาจจะรับรู้ เห็นใจ สะเทือนใจกับชะตากรรมของคนเสื้อแดง
หรือเขาอาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย เค้าอาจจะรับรู้แล้วก็ผ่านไป
แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือการเรียกร้องของพวกเขา
สิ่งที่พวกเขาประกาศ หลักการที่พวกเขาสนับสนุน
เนื้อหาสาระที่พวกเค้าขับเคลื่อนในการต่อสู้ เป็นเรื่องเดียวกับเรา
ผมไม่อาจไปนับตัวเองว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับพลังงอกงามมากมายที่กำลังปรากฏขึ้น
ณ ปัจจุบัน
หนึ่งนั้น
ก็เกรงว่าอีกฝ่ายจะเอาสีไปป้ายพวกเขา
จะอธิบายว่าพลังนั้นมีพวกแกนนำเสื้อแดงอยู่เบื้องหลัง
มีกลุ่มก้อนทางการเมืองคอยชักใย
อีกหนึ่ง
ก็คือต้องระมัดระวังและเจียมใจไม่ให้ซากคราบความพ่ายแพ้ที่คนบางกลุ่มบางส่วนอาจจะมองว่าครอบทับร่างกายและการต่อสู้ของพวกเราอยู่
ไปแปดเปื้อนพลังงดงามที่เกิดใหม่
แต่อย่างไรก็ตามนะครับ
ผมก็ดีใจ ผมส่งกำลังใจให้พลังเหล่านั้นตลอดเวลาและผมก็แน่ใจว่า
พี่น้องที่ร่วมต่อสู้กันมาเมื่อ 10 ปีที่แล้วจำนวนไม่น้อย ก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในปัจจุบัน
ดังนั้น
คำว่าเราที่พูดถึง จึงมิได้หมายเพียงคนใส่เสื้อสีแดงเมื่อ 10 ปีก่อน
จึงมิได้หมายเพียงคนที่เรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่านปช. เท่านั้น
คำว่าเราหมายถึงประชาชน
ที่รักและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ศรัทธาและเชื่อมั่นในหลักการพื้นฐานว่าคนเราเท่ากัน
แต่คำว่าเรา แค่นี้ไม่พอครับ เพราะคำว่าเรา
เท่านี้ทำให้เรายังไม่สามารถรักษาชัยชนะตามวิถีทางประชาธิปไตยได้ตลอดมา
เราจึงต้องทำต่อ
สู้ต่อ เพื่อให้คำว่าเรา มีความหมายกว้างกว่านี้และทรงพลังยิ่งกว่านี้
เพื่อให้คำว่าเรา หมายถึงคนไทยทุกคน แม้จะคิดแตกต่างหรือกระทั่งจะชิงชังกัน
แต่อยู่ร่วมกันได้และไม่เป็นท่อนฟืนให้เปลวไฟเผด็จการ
ไม่เป็นสะพานให้อำนาจนอกระบบเดินข้ามหัวเราไปเสวยสุขในชนชั้นของพวกเขา
เราต้องทำต่อไปครับ
ในสังคมประเทศทุกแห่งของโลก
ไม่เคยมีกลุ่มความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใดสูญสลายไปและไม่เคยมีกลุ่มความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใดอยู่โดยลำพัง
มันปะปน
มันย้อนแย้งและมันขัดแย้งกันอยู่เช่นนี้เป็นสัจนิรันดร์
ในสังคมไทยก็เฉกเช่นเดียวกัน ถ้าเราบอกว่าเราคือฝ่ายเสรีนิยม
อีกข้างหนึ่งคืออนุรักษ์นิยม อำนาจนิยมก็ตามที ก็จะต้องอยู่ร่วมกันแบบนี้ครับ
ดังนั้น
10 ปีมาแล้ว หน้าที่ในการตามหาความจริง หน้าที่ในการตามหาความยุติธรรม
ต้องเดินหน้าต่อไป แต่ขออย่าเดินด้วยความชิงชัง ขออย่าเดินด้วยความคลั่งแค้น
ขอให้เดินด้วยความรัก
ด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศนี้ ด้วยความรักด้วยความปรารถนาดีต่อคนไทยด้วยกัน
แม้จะคิดแตกต่างก็ตาม ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่โรแมนติค
หรือไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ต้องการจะย้อมให้โลกทั้งใบเป็นสีชมพู ทั้งๆ
ที่สีมันยังแดงด้วยเลือดประชาชนคนเจ็บคนตาย
แต่นี่คือความจริงที่จะทำให้เราขับเคลื่อนและนำพาประเทศไทยเดินไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้
ถ้าคำว่าเรา
ยังมีคำว่าเขา อยู่ด้วย มันก็ยังต้องสู้กันอย่างนี้ครับ เลือกตั้งอีกชนะอีก
ไม่พอใจ เขาก็ล้มเราอีก
แต่ถ้าคำว่าเรา
หมายถึงคนไทยทุกคน มีเราที่เห็นแบบนี้และมีเราที่เห็นอีกแบบ
แต่เราจะอยู่ด้วยกันในสังคมที่อำนาจสูงสุดเป็นของพวกเรา ในกติกาที่มาโดยความชอบธรรมจากอำนาจของพวกเรา
และร่างขึ้นมาโดยพวกเรา เพื่อพวกเราอย่างแท้จริง(เสียงปรบมือ)
นี่ครับจึงจะเป็นอนาคตของเรา
จึงจะเป็นอนาคตของประเทศไทย
ท่านที่เคารพครับ
ผมติดตามเรื่องราวความเคลื่อนไหว การต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยมาโดยตลอด
แม้ว่าในช่วง 6-7
ปีที่ผ่านมาจะยืนอยู่บนข้อจำกัด
เลือดโทรมกายแต่ขอให้ท่านมั่นใจเถอะครับ ผมยืนอยู่ที่เดิม
ทั้งร่างกายจิตใจและจิตวิญญาณยังเป็นคนเดิม
10
ปีที่แล้วชื่อณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 10 ปีนี้ก็ยังมีหัวใจเป็นคนและชื่อณัฐวุฒิ
ใสยเกื้อ คนเดิม (เสียงปรบมือ)
พี่ๆ น้องๆ ผมอีกหลายคนก็เช่นเดียวกัน เรายังพร้อมที่จะเขียนประวัติศาสตร์ชัยชนะของประชาชนด้วยกัน
ที่จะลบประวัติศาสตร์คำว่าพ่ายแพ้
ที่เขาให้เราต้องแบกรับมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี
เขาเขียนคำนั้นด้วยกระบอกปืนของเขาโดยมีหยดเลือดของเราเป็นหยาดหมึก
แต่เราเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชนขึ้นใหม่ได้
เราเขียนชัยชนะของประชาชนขึ้นใหม่ได้ และชัยชนะของเราจะแบ่งปันให้กับคนไทยทุกคน
ได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนี้ได้ ผมยืนยัน
ถึงตรงนี้ก็ต้องส่งความปรารถนาดีและคำขอบคุณไปยังทุกกลุ่มทุกพลังที่มีความเคลื่อนไหวและจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ
10 ปี เมษา-พฤษภา 53 ในวันนี้
มีสื่อบางสำนักพยายามจะกระแซะถามผมว่ารู้สึกยังไงที่ถูกแย่งชิงการนำ
ไม่รู้สึกอะไรบ้างหรือที่ถูกฉกฉวย 10 ปีเมษา-พฤษภา 53 ไปจากมือแล้วไปจัดกิจกรรมกันที่อื่น ทำให้บทบาทของแกนนำนปช. หมองจางลงไป
ผมบอกว่า
ผมไม่ให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ เพราะผมไม่มีเวลาคิดเรื่องเหลวไหลแบบนี้ (เสียงปรบมือ)
การต่อสู้ของนปช.และความสูญเสียของประชาชนที่ผ่านมา
ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ส่วนตัวของใคร ไม่ใช่สมบัติส่วนบุคคลของกลุ่มไหนองค์กรใด
แต่มันเป็นเรื่องราวของคนไทยทั้งประเทศ สุขใจยิ่งแล้วที่มีผู้คนเค้าเล็งเห็น
เค้ารำลึก เค้าจัดกิจกรรม เค้าเคลื่อนไหว เค้าตั้งคำถาม เค้าพูดความจริง
ขอบคุณจากหัวใจจริงๆ
แล้วก็ขอให้สบายใจนะครับว่ายังเป็นกำลังใจให้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย
ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นเดิม ประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นี่คือความชัดเจนตรงไปตรงมา
และปฏิเสธการบิดเบือนใส่ร้ายป้ายสีในทุกกรณี
สุดท้ายท่านที่เคารพครับ ก็อยากจะเรียนทุกท่านว่า คดีความของคนเจ็บคนตายทั้งหมด
แม้จะยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายได้
แต่กระบวนการยุติธรรมทางสังคม กระบวนการยุติธรรมทางการเมือง ผมก็คิดว่า
มันก็เคลื่อนไหวมาในระดับที่น่าพอใจ
วันนี้เมื่อ
10 ปีที่แล้ว กับวันนี้ในเวลาปัจจุบัน ผมว่าเรื่องราวการต่อสู้ของเรา
ถูกมองด้วยแววตาใหม่ๆ ถูกรับรู้ด้วยหัวใจและความคิดใหม่ๆ ถูกนำมาอธิบายใหม่
ด้วยหัวใจที่เปิดรับของผู้คนมากขึ้นและมากขึ้น
แล้วดอกผลจากการต่อสู้มันก็ปรากฏสำแดงอยู่
10
ปีที่แล้ว ผมเป็นแกนนำที่มีบทบาทอยู่ในขบวนการต่อสู้ที่อายุน้อยที่สุด
คำว่าน้อยที่สุดในวันนั้นคือผมอายุ
35 ปี มาวันนี้ท่านที่เคารพ
แกนนำที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอายุน้อยที่สุด 17-18 ปี
พวกเค้าเป็นลูกผมได้ด้วยซ้ำไป
นี่คือดอกผล
นี่คือพลังที่กลับมาเกิดใหม่ นี่คือสิ่งที่ไม่เคยได้เห็นมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วในสังคมไทย
แต่มันก็เกิดขึ้น
ผมเป็นเด็กบ้านนอกคอกนา
เค้าบอกว่ายามฝนตก เดินเข้าไปชายป่าก็จะมีเห็ดมีหน่อไม้มีใบหญ้า
แต่ว่าในยามทุกข์ยากของประชาชนในบ้านเมือง ผ่านวันเวลาของการเคี่ยวกรำ
ผ่านวันเวลาของการถูกเหยียบย่ำ
สิ่งเหล่านี้มันเป็นเหมือนอาหารอินทรีย์ มันเป็นเหมือนปุ๋ยบำรุงดิน
ให้ต้นกล้าต้นใหม่ๆ งอกเงยและกำลังเติบงามขึ้นมา นี่คือความหวัง
นี่คือสิ่งที่ต้องช่วยกันประคับประคองแล้วก็เดินหน้าต่อไป
ขอบคุณทุกคนทุกท่านอีกครั้งนะครับ
ที่ต่อสู้กันมา ที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมา เราไม่ใช่ญาติ เราไม่ใช่คนร่วมสายเลือด
แต่เราแบกรับเลือดเดียวกัน คือเลือดของเพื่อนเรา พี่เรา น้องเราที่สู้กันมา
ดังนั้นในมิตินี้ เราจึงเป็นดั่งพี่น้องร่วมสายเลือดกันนั่นเอง (เสียงปรบมือ)
ในบทความที่ผมเขียนและก็จะกระทำเสียตรงนี้ด้วย
ผมได้กล่าวคำขอโทษต่อทุกชีวิตที่สูญเสียว่าตลอดเวลา 10 ปี
ยังทำให้ได้เท่านี้ แต่ยืนยันว่า เรายังเดินหน้าต่อไป
คนตายเป็นร้อย
เรื่องไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เรื่องไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีหาคนกระทำผิด
เป็นไปได้อย่างไร
ผมทิ้งท้ายบทความของผมวันนี้
ด้วยการกล่าวคำขอโทษพี่น้องที่บาดเจ็บล้มตาย แล้วก็ได้บอกพวกเค้าไปด้วยว่า
วันนี้คนฆ่า 'พี่เตี้ยมช.' เขาจับได้แล้ว
เขานำไอ้ฆาตรกรคนฆ่าพี่เตี้ยมช.
เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว นี่คือสิ่งที่เราพบในวันครบรอบ 10 ปีการต่อสู้ของพวกเราครับ
ขอบคุณครับ' นายณัฐวุฒิกล่าว
(ทีมงาน)