/
ขอพูดบ้านๆ
สักคำ สู้โรคห่าแต่อย่าให้คนตายห่าเพราะโรคหิว
นายณัฐวุฒิ
ใสยเกื้อ กล่าวในรายการ ‘หัวใจไม่หยุด‘เต้น’’ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.63
ว่า
‘รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงต้นของสถานการณ์โควิด-19 ทั้งที่มีอำนาจตามกฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ
ให้ทำได้แทบทุกอย่างอยู่แล้ว
แต่ประชาชนให้โอกาสเพราะในห้วงเวลานั้นเป็นช่วงเริ่มต้น แล้วยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าความร้ายแรงของสถานการณ์จะไปถึงขั้นไหน
แต่เมื่อสถานการณ์มาถึงวันนี้การแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด
กำลังมีการคลายล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่หลายกิจการ
คำถามเรื่องความชอบธรรมในการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเริ่มดังขึ้นทุกที
แทนที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลจะประเมินและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าไม่จำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกต่อไป
กลับแสดงเจตนาจะถือบังคับใช้ไว้ต่อ
โดยอ้างการลงพื้นที่ทำโพลล์สอบถามความต้องการของประชาชนจากกอ.รมน.และหน่วยงานของฝ่ายความมั่นคง
พอมีเสียงทักท้วงหนักเข้า นายกฯ
ก็ไปอ้างเอาผลโพลล์จากสื่อมวลชนซึ่งแน่นอนที่สุดว่าเป็นค่ายที่อุ้มสมรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น
คำถามก็คือ
เป็นนายกรัฐมนตรีมากว่า 6
ปี แก้ปัญหาโควิดมาจนถึงขั้นนี้
ยังไม่สามารถสรุปตัดสินใจได้เองเลยเหรอครับว่า
ท่านจะเลือกใช้เครื่องมือไหนอย่างไรต่อไปหรือไม่
จะต้องไปทำโพลล์หาอะไรในเมื่อท่านสัมผัสกับข้อมูลอยู่เอง
สัมผัสข้อเท็จจริงอยู่เอง แล้วมันก็ชัดเจนอยู่ในตัวว่าถึงวันนี้
พ.ร.ก.ฉุกเฉินแทบไม่มีความหมายกับสถานการณ์โรคระบาดอีกต่อไป
แต่ความหมายและเป้าประสงค์ทางการเมืองที่ซ่อนไว้มันชัดเจนกว่า
สิ่งที่เห็น
2 ประเด็นแน่ๆ ที่นายกฯ อยากคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้
โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 เลย ประเด็นที่ 1
คือการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลกระทบชิ่ง
ทำให้ควบคุมความเคลื่อนไหวหรือปฏิกิริยาของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยแล้ววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เวลานี้
การรวมกลุ่มรวมตัวของผู้คน การจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ล้วนมีข้อจำกัด
และฝ่ายรัฐสามารถอ้างเหตุจับกุมควบคุมตัวดำเนินคดีกับประชาชนได้ตลอดเวลา
ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมรำลึกพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง
เมื่อไม่กี่วันก่อน
ทั้งที่เขาทำกันมาทุกปี
แต่ปีนี้มีการจับกุมตัวดำเนินคดีกันไปแล้ว ประเด็นที่ 2 คือการยังมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ทำให้นายกฯ สามารถรวบอำนาจของรัฐมนตรีทั้งหลายไว้ในมือของตัวเอง
แล้วใช้งานปลัดกระทรวงเหมือนที่ผ่านมา ถ้ายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
กลับไปใช้พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ บทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ
ก็จะปรากฏออกมามากขึ้น
อำนาจที่นายกฯ
ถืออยู่วันนี้ก็จะถูกแบ่งถูกหารไปโดยรัฐมนตรีต่างๆ บทบาทของปลัดกระทรวงในระบบรัฐราชการที่นายกฯ
พยายามสร้างขึ้น ก็ลดน้อยลงไปด้วย
ที่ผ่านมาการใช้อำนาจและบทบาทการทำงานมันสลับขั้วกันอยู่นะครับ
คือ นายกฯ
ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งปลัดกระทรวงมานั่งประชุมกันในส่วนกลางคอยสรุปประเมิน
แล้วตัดสินใจในสถานการณ์
ส่วนรัฐมนตรีต้องตระเวนอยู่รอบนอก
คอยเก็บหาข้อมูล แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมที่มีปลัดกระทรวงนั่งพิจารณากันอยู่
ตัวอย่างชัดๆ
ก็กรณีคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ไปพบปะกับพี่น้องอาชีพซาเล้ง บอกว่าชาวซาเล้งจะต้องได้รับการเยียวยาในสถานการณ์นี้
หลังจากวันนั้น
ก็ส่งเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งในคณะกรรมการที่พิจารณา
เต็มไปด้วยปลัดกระทรวงที่เป็นลูกน้องรัฐมนตรี
นายกฯ
ชอบการทำงานแบบรัฐราชการอย่างนี้ ชอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเต็มมือแบบนี้
แต่ผมเชื่อว่าบรรดารัฐมนตรีเขาไม่ชอบอะครับ
-ยกเลิกพ.ร.ก. ไม่ต้องรอผลโพลล์
ส่วนในฐานะประชาชน
คำตอบสุดท้ายที่เราต้องการก็คือการใช้ทุกมาตรการทุกกลไกในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดและแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
แต่รัฐบาลควรแสดงความจริงใจไม่ฉวยโอกาสรวบอำนาจไว้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างอื่น
ไม่ต้องรอฟังโพลล์หรอกครับ ฟังผมเนี่ย ผมรู้ทัน
สถานการณ์โรคระบาดที่ดีขึ้น
เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจริงๆ น้อยมาก ห้ามชุมนุมกันเกิน 5 คนวันนี้ไม่ต้องมีกฎหมายล่ะครับ
ใครเขาก็ไม่ทำ ขืนทำก็ถูกประณามจากสังคม
แล้วพอเวลาเกิดขึ้นจริงๆ
ก็เห็นชัดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำอะไรไม่ได้ คนฮือไปมุงกันหลายร้อยเพื่อรับเงินบริจาค
คนไปเกาะรั้วกระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องเงินเยียวยา
คนไปเข้าคิวกันแน่นขนัด
เพื่อรอรับข้าวสารอาหารแห้ง เรื่องพวกนี้เห็นชัดเลยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่มีความหมาย
จะมาอ้างว่า
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้จับคนกินเหล้าในบ้าน จับคนเล่นไฮโลกันตามทุ่งนา
มันไม่ง่ายไปหน่อยเหรอครับ
-ในพื้นที่ปลอดโควิด เศรษฐกิจต้องฟื้น
ส่วนเรื่องการคลายล็อค
ผมเรียกร้องมาตลอดว่าต้องจัดกลุ่ม จัดน้ำหนักตามสถานการณ์ที่เป็นจริง
ไม่ใช่แต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกันแล้วท่านใช้มาตรการเดียวกันในระดับความเข้มข้นเท่ากันตลอดเวลา
ขอย้ำอีกทีนะครับ
แม้ว่าอาจจะไม่เคยเข้าหูรัฐบาล หรือเข้าหูซ้ายแล้วไปทะลุหูขวา ก็ขอยืนยันว่า
ในหลายจังหวัดที่เขาไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเลย
ตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบันแล้วก็เชื่อว่าในอนาคต
ไม่ใช่แค่คิดคลายล็อคครับ
แต่ต้องเปิดล็อคเต็มที่ ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในจังหวัดเหล่านั้นเค้าเดินหน้าได้
ผับบาร์กิจกรรมรวมคนยังต้องหยุดไว้
แต่รูปแบบอื่นๆ ให้เค้าทำอยู่ทำกินกันไปเถอะครับ มาตรการเยียวยาจากรัฐก็ไม่ทั่วถึง
ที่ได้แล้วเดือนละ 5
พันก็ใช่ว่าจะมากพอ
ทำเป็นพื้นที่นำร่อง
คนจะเข้าจังหวัดมีมาตรการคัดกรองเข้มข้น คนอยู่ข้างในให้เขาใช้ชีวิตปกติ
สังคมเขาเรียนรู้จนเข้าใจชัดแล้วว่า ภายใต้โควิดแบบนี้จะใช้ชีวิตอย่างไร
พูดกันทั่วไปว่า
ต่อจากนี้ต้องนิวนอร์มอลหรือมีวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ แต่รัฐบาลยังย่ำอยู่กับที่
ใช้วิธีคิดเดิมๆ ในการแก้ปัญหา อย่าไปสรุปเอาง่ายๆ ว่าปิดกิจการแล้วเปิดช้าขึ้นอีก
15 วัน 1 เดือนก็คงไม่เป็นไร จะไปสรุปง่ายๆ
อย่างนั้นนไม่ได้ เพราะเวลาคือต้นทุนสำคัญของทุกธุรกิจและทุกชีวิต
ให้คนหยุดทำงาน
10 วัน เขาอาจจะอยู่ได้ด้วยเงินเก็บก้อนสุดท้าย แต่หยุดงานติดต่อกัน 2
เดือน เขาก็ยืนอยู่ไม่ไหว กิจการต่างๆ ถูกสั่งหยุดมานาน
จะบอกว่าเปิดช้า 15 วัน 1 เดือน
ไม่เป็นไร ไม่ใช่นะครับ
ถึงวันนี้ยังประเมินไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่าเมื่อเปิดล็อคกันเต็มที่จะเหลือกิจการที่ลุกขึ้นยืนได้ทันทีกี่เปอร์เซ็นต์
ไอ้เวลานี่ล่ะครับที่มันกินศักยภาพในการอยู่ต่อของพวกเค้าไป
ในพื้นที่เสี่ยงรัฐบาลค่อยๆ
คิด ค่อยๆ คลาย เข้าใจได้ครับ แต่พื้นที่ไม่เสี่ยงเลย
เขียวมาตลอดแล้วรัฐบาลยังไปล็อคเค้าจนหน้าเขียวแล้วเขียวอีก
สรุปว่าแต่ละจังหวัดติดโควิดไม่เท่ากันแต่ติดพิษเศรษฐกิจเท่ากัน
ขอพูดแบบบ้านๆ สักคำเถอะ ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายจังหวัดเขาปลอดภัยจากโรคห่า
แต่จะตายห่าเพราะโรคหิวครับ
-ถามกระทรวงศึกษาฯ 1 ก.ค.ช้าไปไหม?
อีกเรื่องหนึ่งที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องก็คือ
กำหนดการเปิดการเรียนการสอนตามปกติ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลปักธงไว้ที่วันที่ 1 ก.ค.
กระทรวงศึกษาธิการก็เน้นย้ำเช่นนั้น
แล้วไม่ได้หมายความว่า
1 ก.ค. จะกลับมาเรียนมาสอนกันในรูปแบบเดิม
อาจจะไปถึงขั้นนิวนอร์มอลด้วยการเรียนออนไลน์
ปัญหาก็คือ
ภาพรวมของสังคมไทยวันนี้ ยังไม่มีความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์แน่ๆ
โรงเรียนใหญ่ๆ โรงเรียนประจำจังหวัดก็เรื่องหนึ่ง แต่โรงเรียนในชนบทห่างไกล
ผมว่าไม่ใช่
พอพูดถึงเรียนออนไลน์
อย่าว่าแต่นักเรียนเลย ครูผู้สอนจำนวนมากก็ยังตาลายเพราะไม่พร้อมเหมือนกัน ดังนั้น
รัฐบาลต้องพิจารณาโดยละเอียดว่าการเปิดเรียนเปิดสอน จำเป็นจะต้องรอถึง 1 ก.ค.หรือไม่
ถ้าจะอ้างเรื่องโรคระบาดก็ลองคิดดูว่าพื้นที่ที่พร้อม
ให้เปิดก่อน พื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง ค่อยๆ ทยอยกันไป ไม่ใช่หลับหูหลับตา 1 ก.ค.
ท่าเดียว กระทรวงศึกษาต้องขยับตัวมากกว่านี้ ต้องแสดงให้เห็นว่าสู้อย่างเต็มที่
เพื่อให้การเปิดเทอมทำได้เร็วที่สุด
คำถามวันนี้
คือ เปิดก่อน 1
ก.ค.ได้ไหม
งบประมาณ
4 แสนล้านที่รัฐบาลจะผลักลงชุมชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจลองคิดดูสิครับว่าจะใช้บางส่วนเพื่อทำให้โอกาสทางการเรียนของเด็กเริ่มได้เร็วขึ้นอย่างไร
เด็กไปโรงเรียนให้มีหน้ากากอนามัย
มีเฟซชิลล์ทุกคนทำได้ไหม วัตถุดิบในการทำเฟซชิลด์ ผมสำรวจมาแล้ว
แผ่นใสและที่รัดศรีษะ ราคาต่อชิ้นไม่เกิน 5 บาท
ใช้กลไกรัฐกระจายไปทั้งประเทศ
ให้ประชาชนมารับวัตถุดิบไปผลิตเป็นเฟซชิลด์ คนที่ชำนาญ ต่อ 1 ชิ้น
ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที
เอาวัตถุดิบไป
work from
home ทำเฟซชิลด์ที่บ้านแล้วกลับมาขายคืนให้ทางราชการ รับซื้อชิ้นละ 5
บาท ตามจำนวนวัตถุดิบที่เบิกไป ทำเฟซชิลด์ได้ 100 ชิ้น
เอามาขายคืนรายได้วันละ
500 บาท แล้วให้ลูกหลาน ให้ครูบาอาจารย์มีใช้ในทุกโรงเรียนทั้งเล็กทั้งใหญ่
เทียบกับวงเงิน 4 แสนล้าน ทำแบบนี้
ใช้เพียงเศษเสี้ยวด้วยซ้ำไป
สำหรับครอบครัวที่มีความพร้อมก็ไม่เป็นไร
แต่ครอบครัวที่ลำบากยากจนและเต็มไปด้วยความขาดแคลน ลูกๆ
ต้องอยู่บ้านไม่ได้ไปโรงเรียน หมายถึงภาระที่เพิ่มขึ้นในครอบครัวอีกมหาศาล
รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการลองพิจารณามุมพวกนี้บ้างดีหรือไม่
-นายกฯ ตู่ กับตู้ปันสุข
วันก่อนเห็นข่าวนายกฯ
บอกว่าอึดอัด รับไม่ได้กับการเห็นภาพคนไปโกยของจากตู้ปันสุขมากเกินไป ผมว่าใจเย็นๆ
เถอะครับ เรื่องตู้ปันสุขมันเป็นเรื่องหัวใจสาธารณะ จิตวิญญาณการแบ่งปันของสังคม
คนให้
เขาให้ด้วยความสมัครใจ คนไปรับก็ไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่าหยิบมาคนละเท่าไหร่
ที่เค้ามาเอาไปตามสมควรก็มาก พวกละโมบเห็นแก่ตัว กวาดหมดตู้ก็มี
แต่คนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ควรจะแสดงความอึดอัดอะไรขนาดนั้น
เรื่องแบบนี้ต้องมองเป็นปกติ ทันทีที่มีวิธีคิดเรื่องตู้ปันสุข ต้องเข้าใจเลยว่า
ภาพของคนบางกลุ่มที่เห็นแก่ได้ มันต้องปรากฏขึ้นอยู่แล้ว
แต่ส่วนใหญ่
สังคมเค้าเข้าใจ แล้วพวกหยิบของไปมากเกิน กวาดของไปขาย พวกนี้จะค่อยๆ
ถูกแรงเสียดทานทางสังคมบีบให้น้อยลงไป
ผมแปลกใจที่ภาพแบบนี้นายกฯ
บอกว่ารับไม่ได้ แต่การให้เงินเยียวยาที่ล่าช้า มีคนตกหล่นจำนวนมากนายกฯ
กลับรับได้ คนไปร้องเรียน คนที่ยังตกหล่น แรงงานในประกันสังคมที่ได้เงินช้า
แล้วปัญหาอีกเยอะแยะที่กระทบกับประชาชน
นายกฯ ไม่เคยพูดว่าอึดอัดด้วยซ้ำไป
ต่อมความอึดอัดของคนเป็นผู้นำ
ควรจะทำงานให้ได้มาตรฐานนะครับ
-'ไทย' ท่ามกลางมหาอำนาจ
เป็นความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธว่าสถานการณ์ยามนี้
ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน การวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามบ้าง
ไม่ใช่เค้าไม่ให้ความร่วมมือนะครับ
แต่นั่นเป็นเจตนาที่อยากจะให้การแก้ปัญหามันตรงจุดตรงเป้าและที่สำคัญ
ใช้ทรัพยากรและอำนาจอย่างสมเหตุสมผล
ไม่มากล้นเกินไปจนแก้ปัญหาหนึ่งแล้วกลายเป็นอีกปัญหาใหม่
นอกจากความร่วมมือภายในประเทศแล้ว
ความร่วมมือระหว่างประเทศ ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
วันนี้สิ่งที่โลกต้องการที่สุดก็คือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ประเทศไหนทำได้ก่อนนั่นหมายความว่าโลกเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัย
ซึ่งเท่าที่ดูสังคมโลกก็หันหน้ามาจับมือกันในเรื่องนี้ จะมีเฉี่ยวกันไป
เบียดกันมาบ้าง ก็สหรัฐอเมริกากับประเทศจีน ซึ่งไทยก็ต้องรักษาระยะ
ไม่เข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้
สหรัฐอเมริกามีคนติดเชื้อมาก
เสียชีวิตมาก ก็ต้องให้กำลังใจกัน ส่วนจีนแม้เป็นประเทศที่เกิดเชื้อขึ้นมาก่อน
แต่เมื่อตั้งหลักได้ ก็เห็นภาพชัดว่าพยายามจะยื่นมือไปช่วยเหลือไปสนับสนุนหลายๆ
ประเทศ
แล้วเมื่อจีนจัดการสถานการณ์โรคระบาดภายในประเทศอย่างเห็นผลได้เร็ว
ก็เป็นประโยชน์ที่ไทยจะเก็บรับประสบการณ์เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้
ความร่วมมือกับนานาชาติจึงเป็นเรื่องจำเป็น
แต่พึงเข้าใจว่า ประเทศไหนคิดวัคซีนได้ก่อน โลกปลอดภัยนี่เรื่องจริง
แต่สำหรับมิติทางเศรษฐกิจ ไม่ได้หมายความว่าประเทศไหนรอดก่อนแล้วโลกจะรอดด้วย
จับมือกับทุกประเทศ
แต่ต้องยืนบนลำแข้งตัวเองให้ได้มากที่สุด
เพื่อพาสังคมไทยรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจไปให้ได้ เครื่องยนต์ส่งออก
เครื่องยนต์ท่องเที่ยว ต้องหาช่องพ้นจากมุมอับ
ประเทศไหนสถานการณ์เค้าดีขึ้นมากแล้ว ต้องจีบเอาไว้
เพื่อค้าขายกันต่อโดยเร็ว เรื่องพวกนี้รัฐบาลทำควบคู่กันไปได้
และไม่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเลยแม้แต่น้อย
-ขอบคุณทุกการรำลึก 10ปีเม.ย.-พฤษภา53
อีกเรื่องนึงที่มีคนถามผม
คือการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 10 ปี
การปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนเมษา-พฤษภาปี 2553
ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องของสังคมไทยที่ใครก็ตามสามารถตั้งคำถามหรือจัดกิจกรรมรำลึกพูดถึงความจริงในเหตุการณ์นั้นได้
กลุ่มไหนทำ
คนไหนแสดงออก เชิญเถอะครับ ผมขอขอบคุณ
การรำลึกถึงเรื่องนี้ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของนปช.
หรือผู้ที่ร่วมในเหตุการณ์เท่านั้น แต่มันเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกันของสังคมไทย
ขอบคุณทุกคนทุกท่านทุกกลุ่มทุกองค์กร
ที่ยังคิดถึงเรื่องนี้
แล้วพยายามค้นคว้าหาความจริงเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนเจ็บคนตาย’นายณัฐวุฒิกล่าว
(ทีมงาน)