วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ : 19 พฤษภาคม 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2563 : 10 ปีแห่งการรับรู้ของข้าพเจ้า


19 พฤษภาคม 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2563 : 10 ปีแห่งการรับรู้ของข้าพเจ้า
จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์
ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย
.
ในปี 2553 ข้าพเจ้ามีอายุ 12 ปี และกำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนที่ตัวอำเภอ นอกจากที่ข้าพเจ้าจะเป็นนักเรียนประถมคนหนึ่งแล้ว ข้าพเจ้ายังมีความสนใจการเมืองพอสมควร จากการสนับสนุนของแม่ที่ชี้แนะแนวทางและเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ หากจำไม่ผิดขณะนั้นข้าพเจ้าลงสมัครประธานนักเรียนของโรงเรียนประถมและชนะการเลือกตั้งจนได้ตำแหน่งมา ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีคำพูดติดปากเขาคือ "ประชาชนต้องมาก่อน" แต่ข้าพเจ้าไม่ได้มีความเข้าใจว่าหมายถึงอะไร เพียงแต่ดูจากสื่อกระแสหลัก แล้วคำนี้ถูกพูดถึงบ่อยมากจนข้าพเจ้านำมาดัดแปลงเป็นสโลแกนที่ใช้หาเสียง คือ "นักเรียนต้องมาก่อน" ข้าพเจ้าและเพื่อนยังคงล้อเล่นกับคำนี้กันอย่างสนุกสนานว่า "ประชาชนมาก่อนก็ถูกแล้ว ผู้นำชอบมาสายกัน"
.
ในตอนนั้นข้าพเจ้านอกจากจะเป็นเด็กประถมแล้วก็ยังมีหน้าที่เป็นประธานนักเรียนพ่วงด้วย ทุก ๆ เช้าข้าพเจ้าจะมีหน้าที่นำสวดมนต์ และบางวันมีหน้าที่เชิญธงชาติตอนเข้าแถวก่อนเข้าเรียน ส่วนในตอนเที่ยงข้าพเจ้ามีหน้าที่นักข่าวตัวน้อย บอกเล่าข่าวผ่านเสียงตามสายของโรงเรียน ซึ่งนั่นเองเป็นเหตุที่ข้าพเจ้าได้ติดตามข่าวสารต่าง ๆ ของประเทศ ข้าพเจ้าทราบดีว่ามีการชุมนุมของ นปช. มาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่ามีการใส่เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุม และเป็นภาพจำว่านั่นคือการชุมนุมของคนเสื้อแดง
.
พื้นที่ที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่คือภาคอีสานและมักเป็นภาพจำของคนส่วนมากว่าภาคอีสานต้องเป็นเสื้อแดง หากจะมองแบบนี้ก็คงไม่ผิดนัก หมู่บ้านที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่มีการสนับสนุนการชุมนุมของคนเสื้อแดงพอสมควร หลาย ๆ บ้านเลือกที่จะติดจานดาวเทียมเพื่อติดตามการชุมนุมและเชียร์อย่างมีอรรถรสประหนึ่งว่าอยู่ในที่ชุมนุมด้วย หลาย ๆ บ้านมีการปักธง นปช. มีการพูดถึงการโฟนอินจากทักษิณ และมีการชักชวนกันไปชุมนุมตามศาลากลางจังหวัด ตอนนั้นบอกตามตรงว่าตื่นเต้นมาก ด้วยความที่เป็นเด็กและเห็นความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ข้าพเจ้าเองขณะนั้นก็ไม่ได้มีความเข้าใจมากว่าจุดประสงค์ของการชุมนุมคืออะไร รู้เพียงว่ามีการเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
.
ต่อมาทราบว่ามีผู้เข้าร่วมประท้วงมากมายและเริ่มเกิดเหตุจลาจล เช่น การเผาศาลากลางจังหวัด แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีหลายความเห็นจากหลายทาง เช่น บอกว่ามีคนเสื้อแดงเผาศาลากลางจังหวัด และอีกกลุ่มบอกว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ จนมาถึงช่วงที่มีการสั่งสลายการชุมนุม สิ่งที่ได้ยินบ่อยที่สุด คือ การใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมยังคงสู้และปักหลักชุมนุมโดยหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากแก๊สน้ำตา ต่อมารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้สั่งสลายกาชุมนุมและเกิดความรุนแรงขึ้น ตอนนั้นจำได้ว่าช่องโทรทัศน์ต่าง ๆ เริ่มมีการออกข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม และมีนักข่าวต่างชาติเสียชีวิตจากการทำข่าวด้วย ในความรับรู้ตอนนั้นยังไม่ได้มีความรู้สึกร่วมด้วยเท่าไหร่ อาจจะเพราะความเป็นเด็กหรืออะไรก็ตาม แต่ก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องปกติแน่ ๆ ที่รัฐบาลจะสั่งฆ่าประชาชน
.
หลังการชุมนุมยุติลงก็เป็นที่รับรู้ว่าเสื้อแดงแพ้พ่ายในการชุมนุมนั้น ข่าวในสื่อกระแสหลักไม่ได้นำเสนอเกี่ยวกับผู้ที่สั่งสลายการชุมนุมเท่าไหร่ ไม่ได้มีการพูดถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของรัฐบาลในขณะนั้น ผู้ที่มีอำนาจทำเหมือนสิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีคนตายจากอุดมการณ์ ผู้มีอำนาจไม่เคยมองว่าคนเท่ากัน เขาทำทุกอย่างเพื่อกดขี่ผู้เห็นต่างที่กำลังตั้งคำถามและท้าทายอำนาจเขา
.
ในปีนี้ (2563) ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มุมมองและความรู้สึกของข้าพเจ้าแตกต่างไปจากตอนที่เป็นเด็กประถมมาก คำที่ข้าพเจ้าได้ยินบ่อย ๆ เช่น เสื้อแดงชอบใช้ความรุนแรง ลงถนนคือความรุนแรง ล้วนเป็นคำที่ฟังดูไร้อุดมการณ์มาก ในประเทศที่กดขี่ประชาชน การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นถูกผลักไสให้กลายเป็นพวกไร้เหตุผล นิยมความรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากการกระทำของรัฐ คนสั่งฆ่าก็เป็นที่รู้กันดีว่าใครแต่ไม่สามารถนำมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ ผู้กระทำผิดยังลอยหน้าลอยตาในสังคม ส่วนคนตายไม่มีแม้แต่ร่องรอย เพียงความยุติธรรมรัฐไทยยังไม่สามารถให้กับเขาได้ ข้าพเจ้ารับรู้ข้อมูลมากขึ้น ข้าพเจ้าเห็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในสังคม และข้าพเจ้าเห็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่อตัวของข้าพเจ้าเอง ประเทศนี้ไม่ใช่ที่แสวงหาอำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ประเทศนี้คือปประเทศของประชาชน ขอสดุดีเพื่อนร่วมชาติที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทุกคนและขอให้ประเทศไทยมีความยุติธรรม
.
.....ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนขอสู้เพื่อให้ประเทศนี้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย และข้าพเจ้าจะขออยู่จนไม่ต้องมาสู้เพื่อประชาธิปไตย

19 พ.ค. 63