วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ทวงยุติธรรม 10ปี-พฤษภา53 (ข่าวสดออนไลน์)


ทวงยุติธรรม 10ปี-พฤษภา53 - หมายหตุ : นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. ให้สัมภาษณ์น.ส.พ.ข่าวสด ในโอกาสรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุนทางการเมืองในเดือนพ.ค. 2553
ขบวนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นในปี 53 ไม่เคยปรากฏในสังคมไทย ส่วนใหญ่การต่อสู้ทางการเมืองมักเป็นนิสิต นักศึกษา หรือประชาชนในเมืองหลวง แต่เสื้อแดงเป็นการผสมผสานกัน และปรากฏชัดเจนของคนระดับล่าง ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยกลางกรุงเทพฯ
ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในกระบวนการต่อสู้ มีจุดร่วมอย่างสำคัญประการหนึ่ง คือ ไม่ยอมรับความอยุติธรรม ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมที่ปฏิเสธหลักการประชาธิปไตย
การต่อสู้โดยเฉพาะการชุมนุมใหญ่เมื่อปี 53 แม้บรรยากาศดูเร่าร้อนรุนแรง แต่หลักการที่คนเสื้อแดงยึดถือร่วมกันคือสันติวิธี ไม่มีใครเตรียมกำลังหรืออาวุธมาเพื่อการต่อสู้ แม้จะมีการบาดเจ็บ สูญเสียแล้วตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.53 ก็ยังไม่ปรากฏว่าประชาชนจะชวนกัน จัดตั้งกองกำลังเพื่อตีโต้ หรือเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐด้วยอาวุธ มีการกระทำมาเรื่อยๆ จนวันที่ 19 พ.ค.53 ชัดว่าทุกศพที่เป็นประชาชน ถูกยิงเสียชีวิต ไม่มีอาวุธ ไม่มีคราบเขม่าดินปืน
รัฐบาลเวลานั้นถูกจัดตั้งโดยกลไกอำนาจนอกระบบ มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจและมั่นใจตลอดกาล รัฐบาลชุดดังกล่าวจัดตั้งในค่ายทหาร แม้สภาจะยกมือให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ แต่กระบวนการก่อนวันนั้นมีอิทธิพลของกองทัพ และนายทหารคนสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน
การเกิดขึ้นของรัฐบาลอภิสิทธิ์ การชุมนุมต่อต้านของประชาชนจนนำมาสู่การปราบปรามด้วยกำลังจนมีการบาดเจ็บล้มตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่เรื่องที่ตัดตอนเฉพาะเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดรัฐบาลอภิสิทธิ์ จนถึงเหตุการณ์ 19 พ.ค.53 เท่านั้น
แต่เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด ตั้งแต่เกิดขบวนการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยกลุ่มพันธมิตรฯ การรัฐประหาร 19 ก.ย.49 การร่างรัฐธรรมนูญ 50 การชุมนุมต่อต้านนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ
การโค่นล้มรัฐบาลทั้งสองชุดแล้วจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จนมาถึงเหตุการณ์ 19 พ.ค.53 เป็นเรื่องเดียวกัน จนถึงปัจจุบันนี้สถานการณ์การเมืองในประเทศก็ยังคงเป็นเรื่องเดียวกันอยู่ ทั้งภาพใหญ่ของสถานการณ์ โครงสร้างทางอำนาจและตัวละครสำคัญๆ
ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงคือให้มีการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย เป็นข้อเรียกร้องที่เจียมเนื้อเจียมตัวที่สุดในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและอาวุธมากมายเข้าปราบปรามประชาชนด้วยยุทธิวิธีทางทหารเต็มรูปแบบ
สิ่งที่เราไม่ได้เห็นในวันนั้นขาดแต่เพียงอากาศยานรบ เรือรบ ยานยนต์หุ้มเกราะหรือรถถังที่ใช้ทำลายล้าง และสิ่งไม่คิดว่าจะได้เห็นกลับได้เห็น คือการใช้ปืนติดกล้องสำหรับยิงระยะไกลจนมีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก การประกาศเขตกระสุนจริงก็ไม่อาจเป็นความทรงจำที่ลบเลือนไปได้ แม้เกิดเหตุปราบปรามประชาชนมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลซึ่งอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนประกาศเขตกระสุนจริง
มีความพยายามสร้างสันติภาพบนข้อยุติโดยสันติระหว่างสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการนั้นมาตั้งแต่ต้น ยังหาคำตอบไม่ได้แน่ชัดว่าทำไมถึงไม่สำเร็จ ในใจมีคำตอบอยู่บ้างว่าเป็นเพราะผู้มีอำนาจเวลานั้นไม่จริงใจให้มีข้อยุติโดยสันติภาพ แต่อยากได้ความจริงที่แท้จริงกว่านั้นจากปาก อยากรู้ชัดๆ ว่าทำไม แม้กระทั่งเหตุการณ์ 10 เม.ย.เมื่อเวลาพลบค่ำ ทำไมผู้มีอำนาจถึงไม่สั่งหยุดปฏิบัติการทางทหาร
หลัง 10 เม.ย.ยังมีเหตุเผชิญหน้า การบาดเจ็บล้มตายของประชาชน ต่อเนื่องหลายวันหลายสิบชีวิต แทนที่ผู้มีอำนาจจะสั่งลดระดับปฏิบัติการหรือยุติเลย กลับเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นตลอดเวลา
ในวันที่ 19 พ.ค.ทั้งที่พวกผมเจรจาจนได้ข้อสรุปจากตัวแทนส.ว.ที่มาหารือในตู้คอนเทนเนอร์หลังเวทีชุมนุม ว่าวันรุ่งขึ้นผมจะเป็นแกนนำนปช.ที่ยังเหลืออยู่ ไปหารือกับรัฐบาลที่อาคารรัฐสภา โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา รับหน้าที่คนกลาง
เราได้รับคำตอบว่าประธานวุฒิสภารับทราบ ได้รับคำยืนยันว่า คุณอภิสิทธิ์ตอบรับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือเช้ามืดวันที่ 19 พ.ค.มีการใช้กำลังทหารเข้ากระชับวงล้อมสลายการชุมนุม เรื่องพวกนี้ในใจผมมีคำตอบหมด แต่อยากฟังจากปากผู้มีอำนาจตัดสินใจขณะนั้นว่าเขาคิดอย่างที่ผมคิดว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
แม้ว่ามีหลายคนพยายามสร้างวงเจรจา สร้างสันติ แต่สิ่งที่ผมพบจนเป็นความทรงจำด้วยคือความพยายามของกลุ่มคนเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากผู้มีอำนาจจริงๆ ผมคุย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.คนแรกซึ่งได้รับมอบหมายจากคุณอภิสิทธิ์ การเจรจาเดินหน้าด้วยบรรยากาศที่ดี จนวันหนึ่งมาบอกผมว่าคุณอภิสิทธิ์สั่งให้หยุดการเจรจา
ผมเจรจากับคุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ คนต่อมา ซึ่งได้รับมอบหมายจากคุณอภิสิทธิ์ ในที่สุดก็ยุติการเจรจา ผมเจรจากับ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ตัวแทนส.ว.ในที่สุดก็ยุติการเจรจาแล้วมีการใช้กำลังในวันที่ 19 พ.ค.
อีกเรื่องที่ยังจำไม่ลืมและอยากให้สังคมไทยจดจำไม่ให้ลบเลือน คือคนเจ็บ คนตาย ทั้งหมดยังเข้าไม่ถึงความยุติธรรม ยังไม่มีกระบวนการยุติธรรมใดๆ ที่ทำให้คดีความของคนเจ็บ คนตาย ได้รับการชำระสะสางตามพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริง มีคำพิพากษาว่าใครเป็นคนกระทำผิด มีบทลงโทษผู้กระทำความผิด ยังไม่มี
เหตุการณ์ในปี 53 เกิดคดีความมากมาย ตั้งแต่คดีพื้นฐานอย่างการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนคดีอุกฉกรรจ์โทษสูงสุดคือประหารชีวิตอย่างคดีก่อการร้าย คดีความเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผ่านไปสิบปีหลายคดีถึงที่สุดด้วยคำพิพากษาศาลฎีกา หลายคดีผ่านศาลชั้นต้น รอการอุทธรณ์ หลายคดีผ่านศาลอุทธรณ์รอการฎีกา
แต่มีคดีเดียวที่ยังไม่ถึงศาล คือคดีเสียชีวิตทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ รวม 100 ราย ไม่น่าจะเป็นความทรงจำของแกนนำนปช. ผู้ชุมนุมหรือผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ต้องเป็นความทรงจำของประเทศว่าเราจะปล่อยให้มนุษย์ถูกฆ่าตายโดยไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้
หลังเหตุการณ์ผ่านมาผมพยายามเปรียบเทียบกับหลายๆ เหตุการณ์ที่มีคนเจ็บคนตาย หมู หมา กา ไก่ ที่ถูกฆ่าก็จะมีคนในสังคมออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ดูเหมือนจะมีเหตุการณ์เดียวจริงๆ ที่คนตายกลางเมืองหลวง 100 ชีวิต แล้วเสียงสะท้อนจากสังคมที่ไม่ได้ เกี่ยวข้องกับการต่อสู้นั้นส่วนใหญ่เป็นความเงียบงัน
ในใจใครหลายคนอาจรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น ประชาชนไม่ควรถูกเข่นฆ่า แต่ด้วยเงื่อนไขอะไรก็ตามพวกเขาไม่พูดออกมา พวกเขาไม่แสดงออกมา
ทุกการเข่นฆ่าจะมีคำอธิบายตามหลังว่าฆ่าเพราะเป็นคนร้าย ต่อสู้เจ้าหน้าที่ ฆ่าเพราะล้างแค้น บุกป่าล่าสัตว์ก็ยังต้องการเนื้อหนัง ขน เขา แต่การตาย 100 ศพไม่มีคำอธิบายอะไร ไม่มีการแสดงออกจากฝ่ายอำนาจว่าต้องจัดการเรื่องนี้แม้ว่าต้องใช้วิธีการพิเศษ เพื่อให้มีคำอธิบายในประวัติศาสตร์ว่าจบแล้ว ซึ่งไม่มี
การปล่อยไปเฉยๆ แบบนี้ ความหมายคือการยิงทิ้ง ยิงคนที่ต้องการสิทธิ์เลือกตั้ง ยิงทิ้งคนที่ไม่ยอมทิ้งอำนาจอธิปไตยของตัวเองไปกับรัฐบาลที่ตั้งโดยกลไกนอกระบบในค่ายทหาร ไม่มีคำอธิบายอื่นนอกจากว่า 10 ปีมาแล้วเกิดเหตุยิงทิ้งกัน
หากช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ จะทำให้ชีวิตที่เสียไปป้องกันอีกหลายชีวิตที่เสี่ยงจะเสียอีก ด้วยการชำระประวัติศาสตร์ปี 53 จนถึงตอนนี้ใครกล้ายืนยันกับผมว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชน ปราบปรามนิสิตนักศึกษาอีก ในเมื่อสถานการณ์อยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา
จากเหตุการณ์การต่อสู้และการเสียสละของผู้คนที่ผ่านมา ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโครงสร้างความขัดแย้งทางการเมืองของไทยได้เลย การสูญเสียของประชาชนคราวนั้นไม่แม้แต่ จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะสั้น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ไม่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงระยะยาวคือการเก็บรัด ศึกษา เรียนรู้และมีข้อสรุปจากการสูญเสีย ช่วยกันนำพาบ้านเมืองไปในวิถีทาง ที่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็ไม่เกิดขึ้น
หลังเหตุการณ์ 19 พ.ค.53 ยังคงมีการตั้งคำถามเรื่องความยุติธรรมมาตรฐานเดียวตลอดเวลามาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นความทรงจำที่เจ็บปวด ถ้าบอกว่าการเสียชีวิตของคนจำนวนมากวันนั้นแทบจะสูญเปล่าหรือถูกทำให้ไม่มีค่า ผมจะไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น จะทำให้การสูญเสียนั้นถูกอธิบายอย่างมีคุณค่า มีความหมายต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย และถูกอธิบายอย่างซื่อๆ ง่ายๆ ว่าคนตายต้องได้รับความยุติธรรม
ต้องไม่มีใครทำให้บรรทัดประวัติศาสตร์นี้หายไปได้ง่ายๆ ด้วยเงื่อนไขของกาลเวลา แม้รู้ว่ายิ่งเดินหามันยิ่งห่างไกล ทุกครั้งที่เราทวงถามเรื่องนี้ สิ่งที่เราได้กลับมา คือความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าความยุติธรรม ยังไม่มี
วันที่ 19 พ.ค.53 หากรู้ว่าจะมีการใช้กำลังฆ่ากัน ผมจะไม่เดินไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมนึกว่าจะเป็นอย่างที่คุยกัน เหมือนเหตุการณ์ปี 2552 ที่ผมลงจากเวทีคนสุดท้าย เมื่อเราประกาศจะมอบตัวเจ้าหน้าที่บอกว่าจะมีรถมารับพี่น้องประชาชนที่อยู่หน้าเวทีและรอบๆที่ชุมนุมให้กลับภูมิลำเนา เจ้าหน้าที่จะดูแลเขาอย่างปลอดภัย
เขาบอกให้ประชาชนเดินทางไปที่ถนนเส้นทางไปสนามศุภชลาศัย จะมีรถคอยรับ มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้กลับบ้านได้ ผมลงจากเวที ก็เดินไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่เอาไมโครโฟนให้ผมประกาศบอกกล่าวพี่น้องให้สลายตัว
มารู้อีกทีว่าพี่น้องไม่ได้กลับบ้าน ต้องไปซ่อนตัว หนีตายอยู่ในวัดปทุมวนาราม แล้วมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 6 ศพหน้าวัดปทุมฯ ผมไม่ควรเดินไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้ายังไม่เห็นว่าพี่น้องกลับบ้านได้จริง
หลายคนถามผมว่าหลังการรัฐประหารปี 2557 ทำไมไม่ออกมาต่อสู้อีก เห็นน้องๆ นิสิต นักศึกษา คนหนุ่มคนสาวออกมาแล้วทำไมถึงไม่ออกมาช่วย ผมติดตามข่าวสารส่งกำลังใจไปช่วยตลอดเวลา
ผมไม่กลัวเจ็บหรือกลัวตาย ต้องพูดตรงๆ ว่าผ่านมาแล้ว 10 ปี การเป็นแกนนำมวลชนที่มีคนเจ็บคนตายแล้วเราทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ มันเจ็บปวดมาก มันน่ากลัว ไม่ใช่กลัวเรื่องชีวิตหรืออิสรภาพ แต่กลัวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากคนถืออาวุธ ซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน เกิดจากผู้มีอำนาจที่เป็นคนไทยด้วยกันออกคำสั่ง เกิดขึ้นจากการปฏิเสธการเรียกร้องอำนาจของประชาชนที่ต้องการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย เรื่องพวกนั้นทำให้คนฆ่ากันตายได้ แต่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่ได้
มันเป็นสิ่งที่ยังอยู่ในใจและหวังใจอยากให้ทุกคนทุกฝ่ายเกิดการเรียนรู้ ช่วยไม่ให้บ้านเมืองเดินไปสู่ตรงนั้น ไม่ควรมีการเข่นฆ่าใดๆ อีกในความขัดแย้งทางการเมือง ต้องให้การเข่นฆ่าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้คนทำผิดถูกดำเนินคดี อยู่ภายใต้คำพิพากษา
เป็นข้อน่าสังเกตว่าในการดำเนินคดี โดยเฉพาะการไต่สวนสาเหตุการตาย ศาลวินิจฉัยแล้ว 18 รายว่าประชาชนเสียชีวิตจากกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ อีกหลายสิบรายที่อยู่ในลำดับซึ่งต้องกระทำตามกระบวนการยุติธรรมเมื่อเกิดเหตุการตายผิดธรรมชาติ แต่ปรากฏว่าทุกคดีไม่มีการไต่สวนสาเหตุการตายอีกเลยหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.57 จนถึงปัจจุบัน
น่าสนใจอย่างยิ่งว่าคณะนายทหารที่มีอำนาจในปัจจุบัน เป็นผู้มีอำนาจและบทบาทสำคัญอย่างยิ่งใน ศอฉ.เมื่อคราวปฏิบัติการทางทหารปราบปรามประชาชน ผมไม่ได้กล่าวหาว่าใครไปทำอะไร แต่ความจริงมันปรากฏ เกิดคำถามขึ้นและยังหาคำตอบไม่ได้
ส่วนวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองที่ถูกปลุกขึ้นมาทุกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดงนั้น ส่วนตัวไม่รู้สึกเป็นปัญหามากนัก เพราะบริสุทธิ์ใจและเชื่อมั่นว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งการหรือก่อเหตุวางเพลิงใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ในทางประวัติศาสตร์การเมือง เป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายผู้มีอำนาจ ที่ต้องสร้างความชอบธรรม สร้างภาพให้ประชาชนเหยื่อที่ถูกปราบปรามเป็นขบวนการอะไรสักอย่าง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อำมหิต สังคมต้องเรียนรู้และอธิบายความจริงเพื่อไม่ให้วิธีการแบบนี้ ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
6 ตุลา 19 การปราบปราบประชาชนเกิดขึ้น จบลง และดำเนินไปด้วยวาทกรรมว่าใน มธ.มีอุโมงค์ลับ เป็นกองกำลังจากต่างชาติ ขบวนการคอมมิวนิสต์ ไม่ประสงค์ดีต่อสถาบันเบื้องสูง มีพฤติกรรมจาบจ้วง สิ่งเหล่านี้เป็นแบบพิมพ์เขียวเดิม ซึ่งถูกเอามาจับกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในปี 52 และ 53
ส่วนตัวอะไรที่ผมต้องแบกรับก็ไม่หวั่นไหว แต่ในมิติทางสังคมและการเมืองอยากให้ทุกฝ่ายทบทวนตระหนักว่านี่คือขบวนการปกติที่ผู้มีอำนาจใช้ทุกครั้งเมื่อมีการใช้กำลังเข่นฆ่าประชาชน
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 9 พ.ค. 63