วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติการ "ป้ายร้าย - ใส่สี" เขียนโดย พล.อ.อดุล อุบล


#10ปีพฤษภา53
#10ปีพฤษภา53ถามหาฆาตกร


ปฏิบัติการ "ป้ายร้าย - ใส่สี" เขียนโดย พล.อ.อดุล อุบล


ผมได้อ่านบทความเรื่อง บทเรียนจากการปฏิบัติการข่าวสาร กรณี ปปส. ในเมือง (มีนาคม-พฤษภาคม 2553) ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือเสนาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากบทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม อดไม่ได้ที่จะต้องเขียนมาเสนอความเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้กับ เพื่อนๆ และบุคคลทั่วไปครับ


ผมเชื่อว่าทุกคนเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ มีนาคม-พฤษภาคม 2553 และรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมากมายปานใด มันส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม สถาบันการเมืองการปกครอง และสถาบันความมั่นคงของประเทศ (ทหาร, ตำรวจ) อย่างไร


และที่สำคัญที่สุดคือ ความแตกแยกของพลเมือง (country men) ทุกหัวระแหงอย่างที่ผมไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต จนกระทั่งวันนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับไปเหมือนเดิมได้อีกหรือไม่


เห็นไหมล่ะครับว่าการใช้กำลังทหารซึ่งเป็นของทุกคนภายในชาติไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด สีใด ยากดีมีจนเพียงใด ออกมาจัดการกับประชาชนภายในชาติอีกฟากหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับผู้มีอำนาจในประเทศมันมีแต่ผลเสียเกินกว่าที่จะคาดคิดนัก


เพราะเหตุว่าในท้ายที่สุดแล้ว มันจะไม่มีฝ่ายใดชนะ มันจะมีแต่ความพ่ายแพ้ของทุกฝ่ายอย่างถาวร


เมื่อนำทหารถืออาวุธออกมา ความตึงเครียดของทุกฝ่ายย่อมทวีขึ้นแน่นอน เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้นจะส่งผลสำคัญให้ฝ่ายที่สูญเสียโกรธ เกลียด ชิงชัง เคียดแค้น ความต้องการหาความยุติธรรมให้ฝ่ายตนด้วยการแก้แค้นทุกวิถีทางก็จะเกิดขึ้น


สำหรับฝ่ายที่ทำให้สูญเสียจะเกิดความกลัวความผิดจากการกระทำของตนเองก็จะต้องป้องกันทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องพ้นความผิด


สถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อใดและอย่างไรคงยากที่ผู้ใดจะตอบได้เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องแสดงให้ทุกฝ่ายได้เห็น


บรรดาประเทศที่ศิวิไลซ์เขาจึงต้องกันกองทัพประจำการของชาติของเขาไว้ไม่ให้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เพื่อประกันไม่ให้กองทัพต้องตายไปจากหัวใจของประชาชนพี่น้องร่วมชาติ


เมื่อเรานำกองทัพถืออาวุธออกมาและสถานการณ์ได้พัฒนาตัวของมันเองไกลออกไปจนเกิดความรุนแรง กองทัพก็ต้องนำวิธีการทางทหารทุกประการออกมาใช้เพื่อให้ได้ชัยชนะ


โดยไม่ได้คิดว่าตามปกติแล้ววิธีการทางทหารนั้นเขาใช้กับข้าศึกที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนและประเทศชาติของเรา


เช่นเดียวกับการที่กองทัพ และ ศอฉ. ได้นำการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) หรือ IO มาใช้ในการสนับสนุนการสลายมวลชนใน มีนาคม-พฤษภาคม 2553 IO นั้นเป็นกระบวนการทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง ใช้ทั้งความดีและความชั่วร้าย ใช้ทั้งความจริงและการโกหกหลอกลวงที่ฝ่ายเรากระทำต่อข้าศึกเพื่อให้ได้ผลทั้งทางกายภาพและทางจิตวิทยา โดยเฉพาะต่อข้าศึก ทำให้ข้าศึกตกเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายเราในทุกด้านของการปฏิบัติการทางทหาร


เมื่อฝ่ายเรากระทำต่อข้าศึกมันไม่เป็นอะไรหรอกครับเพราะฝ่ายข้าศึกเขาก็ยอมรับกฎกติกาในเรื่องนี้ของการทำสงครามซึ่งฝ่ายเขาก็จะทำกับฝ่ายเราซึ่งเป็นข้าศึกของฝ่ายเขาเช่นกัน


เมื่อเสร็จสิ้นสงครามไม่ว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะก็จบกันไปไม่ได้มาเกี่ยวข้องกันหรือมีความสัมพันธ์กัน ต้องอยู่ด้วยกันในฐานะคนร่วมชาติเดียวกัน


แต่เมื่อฝ่ายกองทัพ และ ศอฉ. นำเรื่องของ IO ตามที่กล่าวมาแล้วมาใช้กับประชาชนซึ่งเป็นพี่น้องร่วมชาติ อะไรมันจะเกิดตามมาเมื่อจบเหตุการณ์แล้ว


และยิ่งไปกว่านั้น ผู้มีอำนาจของฝ่าย ศอฉ. ยังขยายความเจ็บแค้นต่อไปอีกด้วยการสั่งให้ฝ่ายตนเองวิเคราะห์บทเรียนแห่งความสำเร็จจากการหลอกลวงประชาชน ให้สังคมได้รับทราบอย่างภาคภูมิและมีเกียรติยิ่ง


มันเป็นเรื่องของเกียรติยศและน่าภาคภูมิใจมากนักหรือกับการที่ท่านป้ายความชั่วร้ายให้แก่อีกฝั่งฟากหนึ่งด้วยข้อหาร้ายกาจสุดโต่งที่ไม่ต้องการพิสูจน์และไม่ต้องมีหลักฐานและกับการที่ใส่สีสัน เพิ่มความรุนแรงน่ากลัวของสถานการณ์ลงไปด้วยการตัดต่อภาพนิ่งและภาพวิดีโอ (ตามที่ท่านได้ยอมรับไว้ในเอกสาร) เพื่อสร้างความเลวร้ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนในชาติยอมรับความจำเป็นในการปราบปราม


เนื่องจากสอนใน รร.เสนาธิการทหารบกมาหลายรุ่น ผมเข้าใจและรู้ว่าปัจจัยแห่งการได้รับชัยชนะในการทำสงครามนั้นประการสำคัญประการแรกคือ ความชอบธรรม (Legitimacy) ในการทำสงคราม


และสาเหตุแห่งความชอบธรรมนั้นมันสร้างกันได้ และบางครั้งก็ต้องสร้างขึ้นมาเองด้วย


ผมก็สอน นทน.รร.สธ.ทบ. ไปหลายรุ่น แต่ผมไม่เคยหวังให้พวกเขาเหล่านั้นนำมาใช้กับเพื่อนร่วมชาติ


ทหารในกองทัพชาติจะต้องเป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้ดี เป็นที่พึ่งของชนในชาติ ไม่มีวันที่พวกเขาจะโกหกพี่น้องร่วมชาติเพื่อความชอบธรรมได้ พวกเขาจึงจะสามารถประทับอยู่กลางใจมหาชน ไม่ใช่ตายไปแล้วจากหัวใจของประชาชนเหมือนบางคนทุกวันนี้


(เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2554)


จากหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลเอก อดุล อุบล
“ฝากไว้...ให้ตราตรึง”