#10ปีพฤษภา53
#10ปีพฤษภา53ถามหาฆาตรกร
ในวาระ
10 ปี เมษา-พฤษภา 53 เหตุการณ์ที่ประชาชนมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ "ยุบสภา" แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่
แต่รัฐบาลขณะนี้นกลับสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน
จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพและบาดเจ็บนับพัน
ในปฏิบั้ติการของเจ้าหน้าที่ทหารนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีการใช้
"พลซุ่มยิง" หรือ Sniper สังหารประชาชนด้วย
ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งศาลที่ไต่สวนการตายของผู้ชุมนุม
ยูดีดีนิวส์ขอเสนอบทความ
“พลซุ่มยิง (Sniper)”
เขียนโดย พล.อ.อดุล อุบล จากหนังสือ ฝากไว้...ให้ตราตรึง
เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบที่มาที่ไปของ "พลซุ่มยิง (Sniper)" และทหารอาชีพจริง ๆ คิดอย่างไรต่อปฏิบัติการที่ใช้ "พลซุ่มยิง"
ในการสลายการชุมนุมเมื่อ เมษา - พฤษภา 53
“พลซุ่มยิง (Sniper)” โดย พล.อ.อดุล อุบล
จากหนังสือ
“ฝากไว้...ให้ตราตรึง”
อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ
พล.อ.อดุล อุบล
เพื่อนพ้องน้องพี่และบุคคลพลเรือนจำนวนมากที่เคารพนับถือกันถามผมว่า
การใช้พลซุ่มยิงในการสลายมวลชนนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
เหมาะสมตามความชอบธรรมในการใช้กำลังทหารในการปฏิบัติการเช่นนี้หรือไม่
ผมเรียนตามตรงว่าผมไม่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้
แต่มันมีคนถามมามากเหลือเกิน โดยเฉพาะเพื่อน ๆ อาชีพอื่นที่อาจจะมองภาพของทหารเป็นแบบอย่างโลกตะวันตกในฐานะทหารอาชีพ
ผมก็เลยจะขอตอบตรงนี้ในรูปแบบของวิชาการก็แล้วกัน
นอกจากนั้นเป็นความรับผิดชอบของผู้อ่านจะคิดเอาเอง
ในหน่วยรบพิเศษ
ผมไม่รู้นะครับ แต่ในหน่วยทหารราบแล้ว
ผมเชื่อว่าผมเป็นคนแรกที่ได้เสนอแนวคิดในการจัดให้มีชุดพลซุ่มยิ่งแบบ Two – man team จำนวน 8 ทีม ในแต่ละกองพันทหารราบของกองทัพภาคที่ 1 แนวคิดนี้ผมเสนอต่อท่าน พล.ต.ไพศาล กตัญญู ซึ่งดำรงตำแหน่ง รอง มทภ.1 ในขณะนั้น
ผมเสนอแนวคิดนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการรบของหน่วยทหารราบเบาในการป้องกันอธิปไตยของชาติ
และรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นใด
และไม่เคยคิดเลยว่ามันจะมีผลออกมาในทางลบเช่นที่ผ่านมานี้
ผมได้ความคิดนี้จากประสบการณ์ในการฝึก
ศึกษา และดูงาน จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกผมไปศึกษาหลักสูตรชั้นนายพันทหารราบที่
กองทัพบกออสเตรเลีย เมื่อปี 2525 กองพันทหารราบของออสเตรเลีย
มีการจัดชุดพลซุ่มยิง ประจำอยู่ในอัตราการจัดและยุทโธปกรณ์ (TO & E) ของหน่วย และมีข้อพิจารณาในการใช้อย่างกว้างขวางในการปฏิบัติการรบ
ครั้งที่
2 เมื่อครั้งที่ผมเป็นล่ามให้ชุดครูฝึกจากกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล
ที่มาทำการฝึกชุดต่อต้านการก่อการร้ายให้แก่กำลังพลของ พล.1
รอ. เมื่อปี 2526
ซึ่งมีการใช้พลซุ่มยิงสังหารผู้ก่อการร้ายในขณะที่ชุดโจมตี (Assault team) เข้าชาร์จเพื่อช่วยตัวประกัน
ครั้งที่
3 เมื่อผมได้ไปเรียนหลักสูตรชั้นนายพันทหารราบของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา
เมื่อปี 2527 เช่นเดียวกัน กองทัพบกสหรัฐฯ
เองก็มีการใช้พลซุ่มยิงในหน่วยทหารราบเบา
ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันในหน่วยระดับหมู่ ปส. ของกำลังทหารสหรัฐฯ
ที่ปฏิบัติการอยู่ในอิรักและอัฟกานิสถาน
ยังมีชุดลำกล้องและโครงในส่วนบนที่ใช้ประกอบกับโครงปืนส่วนล่างของ ปลย.M.16 ทำให้ ปลย.M.16 นั้นกลายเป็น ปลย. ขนาด 7.62 มม. ใช้ยิงเป้าหมายที่อยู่ไกลเกินกว่าระยะหวังผลของ ปลย.M.16 ถึงแม้ว่าจะไม่มีประสิทธิภาพเหมือน ปืนพลซุ่มยิง
แต่ก็ให้ผลลัพธ์ในการสังหารฝ่ายตรงข้ามได้มากขึ้น โดยไม่ใช้พลซุ่มยิง
เพียงแต่ใช้กำลังพลในหมู่นั้น ๆ เอง อาวุธประเภทนี้จัดเป็น ปลย.ต่อระยะ (Extended
range rifle) ซึ่งบางกองทัพไม่มีความรู้จริง
จึงนำมาสับสนกับปืนพลซุ่มยิงของแท้ที่มีราคาแตกต่างกันมากในการจัดหา Sniper
rifle ไว้ใช้งาน
จากประสบการณ์ทั้ง
3 ครั้ง ทำให้ผลได้เรียนรู้เรื่องการใช้ Sniper team โดยสรุปได้ว่า
1.
ชุดพลซุ่มยิงมี 2 แบบโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว
แต่ประเภทของอาวุธที่ใช้คือ Anti personnel สำหรับสังหารบุคคลเป็นหลัก
และ Anti material ซึ่งใช้สำหรับยิงทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์
แต่ก็สามารถนำมาใช้สังหารบุคคลได้ด้วย
2.
หลักการใช้และภารกิจตามคุณลักษณะและขีดความสามารถของชุดพลซุ่มยิง
2.1 การรวบรวมข่าวสาร
เนื่องจากพลซุ่มยิงนอกจากจะเป็นทหารที่ยิงปืนได้แม่นยำเป็นเลิศแล้ว
พลซุ่มยิงจะต้องเป็นคนที่กล้าหาญ อดทน มุ่งมั่น มีความรอบรู้ในเรื่องการรบ
ยุทธวิธี และเทคนิคของการเคลื่อนที่ด้วยการแทรกซึมทั้ง 3
มิติ เป็นอย่างดี พลซุ่มยิงจึงสามารถเข้าเกาะข้าศึกได้ทั้งแนวหน้า และแนวหลัง
พร้อมที่จะรายงานข่าวสารเกี่ยวกับข้าศึกและพื้นที่การรบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 ใช้ในการยิงข่ม (Supression) ทั้งที่หมายและที่ตั้งอาวุธยิงของข้าศึก
ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกำลังส่วนน้อย แต่ได้ผลทั้งทางยุทธวิธีและทางจิตวิทยาสูง
2.3 ใช้ในการยิงสังหารบุคคลสำคัญ (Key man) ของข้าศึกทำให้การควบคุมการรบของข้าศึกต้องหยุดชะงักลง
หรือยิงทำลายชิ้นส่วนสำคัญของระบบอาวุธของข้าศึก (High value target) ทำให้เสียหาย
อาจถึงขั้นทำให้ข้าศึกชักช้าหรือต้องเปลี่ยนหนทางปฏิบัติใหม่ได้
2.4
ใช้ควบคุมพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้ข้าศึกเข้ามาใช้ประโยชน์ด้วยการยิงจากขีดความสามารถของอาวุธ
2.5 ใช้ในการต่อต้านพลซุ่มยิงของข้าศึก พลซุ่มยิงด้วยกันจึงจะรู้และเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง
จะสามารถคิดได้ว่าในสถานการณ์และภูมิประเทศแบบนี้
พลซุ่มยิงฝ่ายข้าศึกน่าจะอยู่บริเวณใดและกำลังคิดทำอะไรอยู่
2.6 ใช้ในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล คล้ายกับข้อ 2.3
ตามที่กล่าวมาแล้ว
ผมจึงได้เสนอแนวคิดให้มีการใช้พลซุ่มยิงในกองพันทหารราบของ ทภ.1
เมื่อปี 2545 แล้วก็เริ่มมีการคัดเลือกกำลังพล
เข้ารับการฝึกจากชุดครูฝึกพลซุ่มยิงของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ
เพื่อเป็นชุดครูฝึกนำไปขยายผลให้หน่วยในระดับกองพล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่ขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ผมไม่เคยมีความคิดใช้หรือจะนำประโยชน์ของหลักการใช้พลซุ่มยิงมาใช้ในการสลายมวลชน
และไม่แม้แต่จะฉุกคิดว่าจะมีผู้บังคับบัญชาบางคนนำมาใช้ในงานนี้
ก่อนเหตุการณ์
10 เมษา และ 19 พ.ค. 53
ผมไม่เคยได้รับทราบมาก่อนว่า มีกองทัพของประเทศใดในโลกประชาธิปไตย
นำกำลังทหารออกมาสลายมวลชน รวมทั้งมีการใช้พลซุ่มยิงสังหารประชาชน
ผมไม่เคยศึกษาและไม่เคยคิดที่จะศึกษาเรื่องเหล่านี้
ว่ามันเป็นการผิดกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎบัญญัติของสหประชาชาติหรือไม่
เพราะตัวผมเองไม่เคยมีความคิด อย่าว่าแต่ใช้พลซุ่มยิงกับมวลชนเลย
แม้แต่การใช้ทหารถืออาวุธสงครามออกมาปราบปรามประชาชนก็ไม่เคยมีอยู่ในหัวสมอง
ผมพอจำได้ในประเด็นสำคัญ
ๆ ของกฎการทำสงคราม ซึ่งเป็นวิชาที่ทหารโลกประชาธิปไตยทุกชาติเขาต้องศึกษากัน
ยกเว้นในประเทศไทย เช่น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์สงคราม
ทหารจะใช้อาวุธต่อประชาชน หรือเชลยศึก หรือทหารที่ยอมแพ้วางอาวุธของฝ่ายคู่สงครามไม่ได้
ดังนั้นคงไม่จำเป็นต้องพูดถึงการกระทำกับประชาชนของประเทศตนเอง
ผมคงตอบคำถามของพวกท่านทั้งหายได้เท่านี้
คงต้องเป็นหน้าที่ของพวกท่านพิจารณาด้วยตนเองว่ามันควรจะเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายทั้งในประเทศ
ระหว่างประเทศ หรือสากลโลก หรือไม่ และมันสมควรจะกระทำหรือไม่
ประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพต้องเป็นพลเรือน
ที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศผ่านการเลือกตั้ง ทหารทุกคน
ทุกชั้นยศ จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งและนโยบายของบุคคลนี้อย่างเคร่งครัด
ด้วยความเต็มใจอย่างภาคภูมิ เพราะพวกเขาเป็นทหารอาชีพของกองทัพของประชาชน
(กลับไปอ่านด้วยรักและห่วงใยตอน “Inside or outside oriented” และตอน
“กองทัพของประชาชน” ที่ผ่านมาแล้ว)
ประการสำคัญที่สุดที่ผมอยากจะกล่าวย้ำเตือนไว้
ณ ที่นี้ก็คือ กองทัพมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของประเทศชาติ
รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความเป็นเอกราช
ความมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีของประเทศ
แต่ในขณะเดียวกันกองทัพก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือในการบั่นทอนขัดขวางความเจริญของประเทศ
หรืออาจถึงขั้นเป็นศัตรูทำลายล้างประชาชนในชาติเสียเอง
อันเนื่องมาจากระบอบการควบคุมกำลังทหารที่ไม่เหมาะสม
การขัดเกลาทางสังคมในการสร้างผู้นำทางทหารทุกระดับไม่ถูกต้องตามวิวัฒนาการของโลก
รวมทั้งการได้มาซึ่งผู้บังคับบัญชาที่..................(เติมเอาเองตามต้องการครับ)
อดุล
อุบล
พลเอก, ทหารราบ
27
มี.ค. 54