วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563


ธิดา ถาวรเศรษฐ อนาถ “แรงงานไทย” ในวันกรรมกร 1 พฤษภาคม 63

1 พฤษภาคม วันกรรมกรสากล (May Day) หรือที่เรียกกันในประเทศไทยว่า “วันแรงงาน” เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า “กรรมกร” ที่เป็นของแสลงตั้งแต่ยุคเผด็จการ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่การต่อสู้กับฝ่ายซ้ายและพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นสู่กระแสสูง


ในช่วงแรก ๆ เรามี “กรรมกร” น้อยกว่า “เกษตรกร” มาก ถ้าถอยหลังไปไกลกว่านั้นเราจะเห็นทุนนิยมนำเข้าของไทยที่นำเข้า “กรรมกรจีน” เป็นจำนวนมาก ทั้งขุดคลอง, ขนข้าว, ขนสินค้า ตามท่าเรือ กรรมกรโรงงาน ในระยะแรกล้วนเป็นคนจีน  แต่ไพร่ไทยนิยมทำนา ทำไร่ ทำสวน มากกว่า  คนจีนจึงทำหน้าที่ทั้งกรรมกร, พ่อค้า, นายทุน และเป็นมือไม้ของการค้าการหารายได้ของพระมหากษัตริย์กับขุนนาง ที่เปลี่ยนไปคือปัจจุบันกรรมกรจีนไม่มีอีกแล้ว วันแรงงานยุคก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีพลังทั้งเป็นปัญหาของทางด้านกรรมกรและการถูกปราบปราม สำหรับแรงงานไทยและรัฐวิสาหกิจในวัน May Day การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์กลุ่มตนเป็นหลัก ยิ่งกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ประชาชน


เมื่อเปรียบเทียบว่าการเดินขบวนชุมนุมในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 1 พฤษภาคม 1886 (พ.ศ. 2329) เพื่อเรียกร้องเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยชุมนุมทั่วประเทศนับแสนคน ในเวลานั้นประเทศไทยเพิ่งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากการสิ้นประชนม์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี 4 ปี เท่านั้น พัฒนาการของสังคมไทยเวลานั้น นอกจากยังไม่เข้าสู่ยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม ยังเป็นสังคมศักดินาเต็มรูปแบบ ที่ดินในประเทศซึ่งถือว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ ก็ถูกถือครองโดยประชาชนที่ต้องส่งส่วนสาอากร เป็นไพร่เข้าเดือนออกเดือน จนมาถึงการจ่ายเงินรัชชูปการทดแทนการถูกเกณฑ์เป็นไพร่ กระทั่งปัจจุบันเราก็ยังใช้การเกณฑ์ทหาร ซึ่งพัฒนาการมาจากการถูกสักเลขการเป็นไพร่สม ไพร่หลวง ในอดีตนั่นเอง


ตัดภาพมาถึงปัจจุบัน จากสังคมศักดินาเข้าสู่ยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เรามีกรรมกรในระบบของอุตสาหกรรมรวมกรรมกรในระบบจากภาคพาณิชย์, ภาคการเงิน และภาคบริการ น่าจะราว ๆ 16.4 ล้านคน ซึ่งตัวเลขที่สูงขึ้นนี้ส่วนใหญ่มาจากกรรมกรในภาคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม ส่วนแรงงานนอกระบบประมาณ 24.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 63.8 ของแรงงานทั้งหมด


ข้อมูลภาวะการทำงาน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2562
- มีกำลังแรงงาน 38.21 ล้านคน
- มีงานทำ 37.66 ล้านคน
- ว่างงาน 3.67 แสนคน
- รอฤดูกาลทำงาน 1.79 ล้านคน


ในจำนวน 37.66 ล้านคนที่มีงานทำ 43.69% เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33, มาตรา 39, มาตรา 40 จำนวน 16.45 ล้านคน


ส่วนอีก 56.31% คือ 21.21 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ


พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นแรงงานนอกระบบมากที่สุด พบ 26.3% หรือ 2.13 ล้านคน


กลุ่มอาชีพพนักงานบริการในร้านค้าและตลาดมีจำนวน 7.75 ล้านคน


คนที่โดนเต็ม ๆ ต่อความเสี่ยง ต่อการว่างงาน จึงเป็นจำนวนทั่วประเทศกว่า 20 ล้านคน เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีกว่า 2 – 3 ล้านคน ในวันนี้ที่มีการปิดประเทศ ปิดเมือง ร้านค้า และกิจการบริการ คนเหล่านี้ที่เป็นกรรมกรไร้หลักประกันใด ๆ ในชีวิต ส่วนหนึ่งจึงฆ่าตัวตายประท้วงรัฐไทยที่ไม่อาจดูแลประชาชนให้พอมีชีวิตอยู่ได้


พัฒนาการของสังคมไทยจากระบอบศักดินามาเป็นทุนนิยม ไม่ได้มีพัฒนาการจากความสามารถทางเทคโนโลยี, องค์ความรู้ และขับเคลื่อนไปทั้งสังคม แต่เป็นพัฒนาการจากระบบศักดินาที่ยังเข้มแข็ง ผนึกกำลังจากทุนนำเข้า, พ่อค้านำเข้า, เทคโนโลยีนำเข้า ระบบไพร่ยังดำรงอยู่ และการเกิดรัฐประหารอยู่จำนวนมาก จึงทำให้เกิดความอ่อนแอของระบบทุนนิยมไทยที่เข้าไปอยู่ในวงจรของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ จึงเปราะบางและเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ, ทางสังคม, ทางการเมือง อย่างหนัก สหภาพแรงงานที่เข้มแข็งก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเผด็จการอำนาจนิยมแต่ละยุค สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจจำนวนมากก็กลายเป็นสหภาพแรงงานที่เป็นกรรมกรขุนนาง อยู่เหนือประชาชน ไม่มีจุดยืนที่ประชาชน ยังร่วมกับรัฐอำนาจนิยม อนุรักษ์นิยม สูบเลือดเนื้อประชาชนและสนับสนุนระบอบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย


ดังนั้น “เมย์เดย์” ปี 2563 ของไทย จึงเป็นปีที่แสนเศร้าสำหรับกรรมกรไทย ผู้ใช้แรงงานไทย ที่ต้องว่างงาน ต้องเผชิญทุกข์เวทนาอย่างหนัก เพราะลำพังมีงานทำ ค่าแรงก็ไม่พอค่าใช้จ่าย มีหนี้สินอยู่แล้ว ประสบปัญหา COVID-19 ไม่มีงาน ไม่มีเงินใช้จ่าย สุดท้ายหลายคนเลือกจบชีวิตตนเอง


น่าเศร้าใจ แรงงานไทยในวันกรรมกร 1 พฤษภาคม 2563