วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : รำลึกเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553



"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รำลึกเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553

ไม่น่าเชื่อว่าหนึ่งทศวรรษแห่งความสูญเสียจะผ่านไปพร้อมกับการก้าวถอยหลังทางการเมืองของประเทศครั้งสำคัญ พูดได้เต็มคำว่าวันนี้ย้อนไปไกลกว่า 10 ปีก่อน และยากเย็นอย่างยิ่งที่จะกลับคืนสู่วิถีอันถูกต้อง

เรามีรัฐบาลสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีเป็นคนเดียวกับหัวหน้าคณะเผด็จการ มีส.ว.ลากตั้งที่มีหน้าที่เลือกคนตั้งเป็นนายกฯ และมีกติกาเลือกตั้งที่โลกไม่เคยรู้จักออกแบบมาเพื่อ”เขา”เท่านั้น

ในหลายประเทศ การต่อสู้และเสียสละของประชาชนคือแรงขับดันให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า แต่กรณี เมษา - พฤษภา 53 กลับได้มาซึ่งความเพิกเฉยของคนส่วนหนึ่ง และความยุติธรรมที่คนตายเกือบร้อยชีวิตไม่มีโอกาสย่างกรายเข้าถึง

นั่นคือห้วงเวลาหนักหนาที่สุดในชีวิตผม...

10 เมษายน 2553

รัฐบาลขณะนั้นเรียกร้องตลอดเวลาให้ยุติเวทีราชประสงค์ไปรวมกันที่เวทีผ่านฟ้า พวกเราประเมินตรงกันว่าราชประสงค์คือเป้าหมาย ผ่านฟ้าคือที่ปลอดภัย แกนนำหลายคนจึงปักหลักอยู่เวทีกลางเมือง อีกส่วนหนึ่งซึ่งน้อยคนกว่ายึดผ่านฟ้าชุมนุมคู่ขนานประสานภารกิจเรียกร้องประชาธิปไตย

สายวันนั้นเริ่มมีข่าวทหารเตรียมกำลัง ก่อนเที่ยงมีการเผชิญหน้ากันใกล้ประตูทางเข้ากองทัพภาคที่ 1 ต่อด้วยปฏิบัติการ”ขอคืนพื้นที่”ซึ่งเลี่ยงบาลีจากคำว่า”สลายการชุมนุม”

ใกล้เวลาเย็นเริ่มมีรายงานว่ากำลังทหารพร้อมอาวุธเพิ่มขึ้นจากทุกทิศทาง เฮลิคอปเตอร์บินวนเหนือเวทีและพื้นที่ชุมนุม แก๊สน้ำตาถูกโยนลงมาแบบไม่เลือกว่าจะตกลงกลางเวที ในกลุ่มผู้ชุมนุม หรือศรีษะร่างกายใคร บรรยากาศที่ได้รับรู้ทางโทรศัพท์ราวกับหนังสงคราม ต่างกันตรงที่ฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธสงครามประจำกาย อีกฝ่ายคือประชาชนที่มีสิบนิ้วครบมือ

ผมตัดสินใจไปรับมือเหตุการณ์ที่ผ่านฟ้า เมื่อไปถึงในช่วงค่ำได้ยินเสียงปืนแผดลั่นอยู่ทั่วบริเวณ เพื่อนแกนนำที่อยู่ตรงนั้นบอกว่ามีคนตายแล้วแต่พี่น้องเรายังยืนหยัดด้วยความกล้าหาญ ที่เจ็บก็อุ้มกันมา ที่ตายก็ตามไปเฝ้าศพกันอยู่ที่โรงพยาบาล

ผมขึ้นเวทีปลอบขวัญพี่น้อง ประกาศเรียกร้องรัฐบาลให้ยุติปฏิบัติการ ครู่หนึ่งก็ได้รับการติดต่อจนเกิดการเจรจาท่ามกลางเสียงปืนและความตายระหว่างผมกับตัวแทนรัฐบาล โดยคุณจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นตัวกลางให้ได้ต่อสายคุยกัน รัฐบาลตกลงสั่งถอนกำลัง ผมบอกแกนนำให้กระจายกันไปตามพี่น้องจากจุดเผชิญหน้าต่างๆมารวมกันที่เวที แล้วตัวเองก็ขึ้นประจำการสื่อสารจากเวทีใหญ่ทั้งคุยกับรัฐบาล บอกกล่าวสถานการณ์กับพี่น้อง และตัดสินใจในทุกคำถามที่ประดังเข้ามาท่ามกลางความโกลาหล

คนเจ็บหลายรายถูกพามาหลังเวที คนตายสองชีวิตถูกหามมาโดยเพื่อนร่วมอุดมการณ์วางร่างบนเวทีป้องกันการสูญหายทำลายหลักฐานอาชญากรรมโดยอำนาจรัฐ เวลาผ่านไปเท่าไหร่ไม่ทราบจนทุกอย่างเริ่มนิ่ง ผมฝากเวทีไว้กับแกนนำคนอื่นแล้วลงมาดูเหตุการณ์หลังเวที พบว่ากำลังวิกฤตหนัก

ร่างโชกเลือดกับเสียงโอดโอยของคนเจ็บ เสียงกรีดร้องของญาติมิตรผู้สูญเสียและสูญหาย คำถามมากมายที่พุ่งเข้าใส่ ข่าวสารสารพัดที่ไหลเข้ามา การฉุดดึงให้ผมไปยังมุมที่ต้องการ ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ทุกเรื่องต้องการการแก้ไขในทันที ในสภาพที่ทุกคนกำลังอกสั่นเสียขวัญ ผมไม่รู้ว่าตอบคำถามใครไปบ้าง กอดปลอบโยนใครไปกี่ครั้ง ออกคำสั่งให้คนหยิบโน่นโทรนี่ไปกี่หน มารู้ตัวอีกทีอกเสื้อก็ชุ่ม

สำรวจดูถึงรู้ว่าไม่ได้เปียกเหงื่อ แต่อกเสื้อเปียกน้ำตาประชาชน

สถานการณ์ยังสาหัสอยู่อย่างนั้นจนค่อนรุ่งก็เริ่มคลายตัวลง คนเจ็บหนักไปโรงพยาบาล เจ็บเล็กน้อยกลับบ้าน บางคนยืนยันสู้ต่อกลับไปนอนตามเต็นท์ ญาติคนตายไปดูตามจุดเก็บศพ ส่วนที่เหลือยังปักหลักอยู่หน้าเวทีราวกับความเป็นตายเมื่อช่วงค่ำเป็นเพียงสายลมพัดผ่าน ผมไม่เคยเห็นความกล้าหาญแบบนี้ อยากให้คนสั่งหรือคนลงมือกระทำต่อพวกเขาได้เห็นภาพได้สบตากับกลุ่มคนที่ข้ามพ้นความกลัวมาเผชิญหน้ากับความตายอย่างองอาจ แม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะมองพวกเขาเป็นแค่คนชั้นล่าง ไร้การศึกษา ไม่มีค่าพอจะสละเวลามารับรู้หรือเวทนาต่อชะตากรรม

เหตุการณ์ตั้งแต่คืนนั้นต่อเนื่องถึงวันยุติการชุมนุม 19 พฤษภาคม มีการประกาศเขตใช้กระสุนจริง ยังคงมีคนถูกยิงตายจากปืนติดลำกล้อง มีการปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบด้วยกำลังเกือบ 70,000 นาย เบิกกระสุนจริงกว่า 400,000 นัด กระสุนสไนเปอร์กว่า 2,500 นัด น่าสนใจว่าในห้วง 30 ปีที่ผ่านมามีศึกสงครามใด มีข้าศึกศัตรูชาติไหนที่ฝ่ายความมั่นคงไทยใช้สรรพกำลังถึงเพียงนี้

หลังผ่านพ้นเวลา 9 เดือนในเรือนจำ ผมและเพื่อนมิตรอีกหลายคนเฝ้าติดตามทวงถามความคืบหน้าเรื่องคดีความ ญาติคนเจ็บคนตายก็ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม รวมทั้งศิลปิน นักคิด นักเขียนส่วนหนึ่งต่างค้นหาและพร่ำพูดความจริง

แต่ความจริงที่จริงแท้และเจ็บปวดสำหรับเรื่องนี้คือ ทุกคนที่ถูกยิงตายเข้าไม่ถึงความยุติธรรม แม้แต่คดีที่ศาลไต่สวนสาเหตุการตายและวินิจฉัยแล้วว่าเสียชีวิตเพราะกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ก็หยุดนิ่ง พายเรือในอ่างไม่ต่างกัน

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ไปยื่นหนังสือ หรือสอบถามความคืบหน้า แทนที่จะได้รับคำตอบกลับได้ความบอบช้ำซ้ำเดิมกลับมา ล่าสุดไปที่ปปช.(ครั้งที่เท่าไหร่ไม่อาจจำ)นั่งฟังการแถลงข่าวผลการพิจารณาคำร้องของพวกเราให้เอาผิดผู้สั่งการ ข้อสรุปคือไม่ดำเนินคดี ผมนั่งน้ำตาเต็มเบ้าใช้เปลือกตาเป็นเขื่อนกั้นไม่ให้ไหลออกมาต่อหน้าเขา

ยืนยันว่าไม่ใช่ความ”โกรธแค้น” แต่”คับแค้น”

ที่ยังพูด ถาม ทำทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ด้วยใจอาฆาต แต่ต้องการคำตอบว่าเราจะจัดการอย่างไรต่อความตายของประชาชนมือเปล่าที่ 10 ปีผ่านไปยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี

สำคัญที่สุดคือ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังฝังรากลึกในสังคมไทย การสร้างความปรองดองที่ถูกใช้เป็นเพียงเครื่องสำอางค์ของผู้มีอำนาจ ไม่มีใครยืนยันได้ว่าวิกฤตใหญ่จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ผมฟันธงได้ว่าการเข่นฆ่าปราบปรามโดยรัฐจะยังคงเกิดขึ้นในวันเช่นนั้นหากความตายกลางเมืองหลวงของคนเกือบร้อยถูกปล่อยลอยนวล ไม่มีความจริง ไม่มีความยุติธรรม

จึงเป็นภาระหน้าที่ของยุคสมัยที่ต้องจัดการเรื่องแบบนี้ไม่ให้ตกทอดถึงคนรุ่นต่อไป

ผมปรารถนาสังคมที่คนเห็นต่างอยู่ร่วมกันโดยสันติ ไม่มีความชิงชังเป็นส่วนบุคคลระหว่างกัน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองถ้าความปรองดองนั้นยืนอยู่บนหลักการว่าคนเท่ากัน

ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยมีการฆาตกรรมใหญ่ต่อประชาชนก่อน 10 เมษายน 53 มาแล้ว 3 ครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่จำนวนคนตายมากเท่านี้ และเป็นความตายที่แผ่วเบาขนาดนี้ ไม่ต้องใช้กฎหมายพิเศษ ไม่ต้องมีกระบวนการแก้ไขใดๆ ปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปตามช่องทางปกติจนเกือบร้อยชีวิตที่เข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้กลายเป็นเรื่องปกติ

ทุกสนามการต่อสู้ผมลงจากเวทีเป็นคนสุดท้าย จนวันนี้ค่อนไปทางเป็นผู้ชมข้างเวที แต่กับเวทีการติดตามความยุติธรรมให้คนตายผมไม่เคยลงมา ผมยังอยู่ที่เดิมตรงนั้น

จนถึงวันที่มีคำตอบว่ารัฐไทยจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้

ขอคราวะต่อทุกชีวิตที่สูญเสียทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ ส่งความปรารถนาดีไปยังพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์ และส่งผ่านความจริงใจไปยังผู้เห็นต่างทุกท่าน เราหันหน้าเข้าหากันได้เสมอ ความชิงชังไม่อาจสร้างชาติความรักต่างหากที่ทำหน้าที่นั้น

หากแม้จะระงับความชิงชังนั้นไม่ได้ก็ขอให้อยู่บนความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน เพราะถึงที่สุดแนวคิดแบบทั้ง 2 ฝ่ายก็จะไม่มีวันหายไปจากสังคมไทย

เราต้องผ่านมันไปด้วยกัน

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
10 เมษายน 2563