วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ข้อสังเกตเป้าหมายการต่อสู้ของประชาชนไทยเพื่อประชาธิปไตย


ธิดา ถาวรเศรษฐ : ข้อสังเกตต่อเป้าหมายของการต่อสู้ของประชาชนไทยเพื่อประชาธิปไตย

จุดมุ่งหมายของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อสู้มาเป็นลำดับตั้งแต่ยุค ร.5, ร.6, ร.7 จนถึงปัจจุบันนี้ ล้วนมีเป้าหมายตรงกันคือ

ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

แล้วปัญหาอยู่ที่ไหนอยู่ที่ไหนเราอาจสรุปความขัดแย้งหลักในสังคมไทยได้ว่า ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตยจริง (ที่อำนาจเป็นของประชาชน) แต่ต้องการให้อำนาจยังอยู่ในมือขุนศึก ขุนนาง ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม นั่นเอง

ความไม่สมบูรณ์และข้ออ่อนของการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ก็มีส่วนทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยอ่อนแอในโครงสร้างการเมืองการปกครองที่ยังคงโครงร่างของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แม้เราได้พัฒนาให้เกิดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารที่มาจากประชาชน มาจากการเลือกตั้ง แต่ว่านอกนั้นแล้ว โครงสร้าง ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ตำรวจ ยังไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่อย่างใดมาแต่ไหนแต่ไร เพราะสองเรื่องนี้ อำนาจกองทัพ อำนาจตุลาการ ไม่เคยได้รับการแตะต้อง เปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่ 2475  ได้มาปรับปรุงบ้างในภายหลังการต่อสู้ปี พ.ศ. 2516, พ.ศ. 2535 แต่ก็ยังไม่ถือว่ามีการปฏิรูปใด ๆ อย่างจริงจัง

ภารกิจในการต่อสู้เพื่อให้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ องค์กรอิสระทั้งปวง และกองทัพ ขึ้นต่ออำนาจประชาชนและหรือยึดโยงกับประชาชนจริง จึงเป็นเรื่องจำเป็น  ถ้าประชาชนไม่ได้อำนาจจริง ป่วยการที่จะมีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจอมปลอม หรือมิฉะนั้นก็ถูกทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก

สรุปคือ พวกชนชั้นนำจารีตนิยมต่อสู้แข็งขันให้ได้ระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั่นเอง

ความแข็งแรงของระบอบนี้ก็ถูกทำให้เป็นความมั่นคงของประเทศชาติไป  ซึ่งก็คือความมั่นคงของขุนศึก ขุนนาง เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นชนชั้นปกครองที่มุ่งสืบทอดอำนาจให้ยาวนานที่สุด แม้นจะเป็นการหมุนทวนกงล้อประวัติศาสตร์ก็ตาม  ข้าราชการชั้นสูงยังคงเป็นเจ้านาย (เหลือนายเฉย ๆ ไม่มีเจ้า)

ยังเป็นระบบอุปถัมภ์จากชั้นบนลงสู่ชั้นล่างเหมือนอดีต กองทัพ, ตุลาการ เพิ่มองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ กลับเป็นอำนาจที่ควบคุมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร อีกที  ถ้าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไม่ถูกใจเครือข่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม (รัฐบาลและสภาฯ) ก็ถูกจัดการโดยทหารทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนใหม่จนกว่าจะถูกใจ 100% ดังเช่น รัฐธรรมนูญ 60 ฉบับนี้

โครงสร้างรัฐไทยที่ด้านหลักไม่ยึดโยงประชาชน ตั้งโดยจารีตประเพณี, กฎหมาย และรัฐธรรมนูญที่เป็นของฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม ทำให้การเมืองการปกครองไทยถอยหลังไปใกล้ ๆ กับยุคปลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นเอง  แสดงถึงความกล้าแข็งของรัฐจารีตนิยม อำนาจนิยม 

เมื่อพรรคจารีตนิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ้อน ๆ กัน พรรคการเมืองตัวแทนฝ่ายจารีตนิยมในเวทีรัฐสภาก็ยุติบทบาทในรัฐสภา นำไปสู่การลงท้องถนนเพื่อให้มีการทำรัฐประหารและสืบทอดอำนาจที่ยาวนานยิ่งขึ้น

การต่อสู้ประชาชนยุคใหม่จึงมุ่งเป้าไปสู่

1. การปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพของประชาชนจริง ไม่มีหน้าที่ทำรัฐประหารหรือคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

2. ปฏิรูปกฎหมาย, รัฐธรรมนูญ และผู้บังคับใช้กฎหมาย

ดังนั้น ยังมองไม่เห็นว่าความขัดแย้งหลักนี้จะยุติได้ง่าย มีแต่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ  ชัยชนะของประชาชนให้ได้อำนาจปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตย (ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกัน) อาจยังยาวไกล แต่ชอบธรรมและมีอนาคต  และจำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างหลักของสังคมไทย ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ได้รับการปฏิรูปให้ยึดโยงกับประชาชนจริง

อย่าหวังว่าระบอบประชาธิปไตยจะสถาปนาได้ในแผ่นดินนี้”

19 พ.ค. 63