วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : หัวใจไม่หยุดเต้น ep.41 ตอน ความเสียหายของประเทศเกิดจากอะไรมากกว่า "โรคติดต่อ" หรือ โรคติดตู่"


งบประมาณปกติของประเทศรับมือไม่ไหวล่ะครับ การกู้เงินจึงเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รับได้ แต่กู้มาแล้วจะบริหารจัดการอย่างไร จะมีกลไกตรวจสอบที่โปร่งใสไว้ใจได้แค่ไหน นี่คือสิ่งที่สังคมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านเขาทำหน้าที่ แล้วเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องอธิบาย

ถ้าให้ผมลงคะแนนต้องบอกว่าขาดความชัดเจนและน่ากังวลห่วงใยอย่างยิ่ง

จำเป็นที่จะต้องติดตามการทำงานและการบริหารงบประมาณส่วนนี้ของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านที่ให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้ก้อนใหญ่นี้

จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรขานรับ แต่ดูจากท่าทีนายกฯ ดูจากส.ส.พรรคพลังประชารัฐจะปฏิเสธไม่ยอมให้ตั้ง


คำถามข้อใหญ่จึงเกิดขึ้นนะครับว่า พฤติกรรมส่อเจตนาหรือเปล่า จะมาอ้างว่ากรรมาธิการสามัญในสภาเค้าทำหน้าที่ได้อยู่แล้ว

ไม่ใช่ครับ เรื่องนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ ยอดเงินกู้ขนาดนี้ไม่เคยมีมาก่อน จำเป็นที่จะต้องมีกรรมาธิการวิสามัญเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะมาติดตามตรวจสอบแบบลงลึก

ถ้ามั่นใจในความบริสุทธิ์ ถ้าตั้งใจจะใช้งบประมาณด้วยความโปร่งใส จะกลัวอะไรกับการมีกรรมาธิการวิสามัญ

ส.ส.พลังประชารัฐถึงขั้นอ้างว่าจะสิ้นเปลืองงบประมาณ กะอิแค่ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาชุดหนึ่ง จะเปลืองงบประมาณขนาดไหนกันเชียว เทียบกับรักษาผลประโยชน์ของประชาชนในวงเงิน 1 ล้านล้าน

และขอความกรุณาอย่าได้อ้างกลไกตรวจสอบปกติอย่าง สตง. กับ ป.ป.ช.นะครับ เพราะดูจากผลงานล่าสุดของป.ป.ช. ชี้แจงกรณีนาฬิกายืมเพื่อนของพล.อ.ประวิตรว่าเป็นการยืมใช้คงรูป นี่ก็บานไม่หุบแล้วครับ


ประธานป.ป.ช.คนนี้เคยเป็นเลขาฯ หน้าห้องของพล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี แล้ววันนี้มาชี้ประเด็นนาฬิกา เป็นการยืมใช้คงรูปอย่างที่ว่า ถ้าปล่อยป.ป.ช.ตรวจสอบเงินกู้ไปเพียวๆ เกิดมีการสวาปามคงที่ ภายใต้มาตรฐานการตรวจสอบการทุจริตที่เห็นนี้ประชาชนจะพึ่งใคร

พล.อ.ประยุทธ์ คิดใหม่เถอะครับ แค่ที่ผ่านมาทั้งเรื่องหน้ากากอนามัย ล่าสุดก็เรื่องเรียกเก็บค่าหัวคิวจากโรงแรมที่จะเป็นสถานที่กักตัว นี่เงินกู้ 1 ล้านล้านยังไม่มานะครับยังมีกรณีน้ำลายหกกันขนาดนี้

ไม่ใช่ผมไม่ไว้ใจท่านนะครับ แต่ผมไม่เชื่อใจท่านกับพวกเอาเสียเลยล่ะ และถ้าจะทำให้ประชาชนเชื่อ ไม่ใช่เพราะตัวบุคคล ต้องมีกลไกและวิธีการตรวจสอบที่สัมผัสจับต้องได้

- โรคติด ‘ตู่’

ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผมเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้ยกเลิก
มาถึงตอนนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเกินความจำเป็นในการรับมือกับโควิด-19 ไปแล้ว รัฐบาลอ้างว่าใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินป้องกันโรคติดต่อ แต่ผมเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี่ล่ะครับจะทำให้ประเทศไทยเป็นโรคติด ‘ตู่’

อะไร ๆ ก็ต้องลุงตู่ อำนาจทั้งหมดต้องไปอยู่ในมือลุงตู่ รัฐมนตรีทุกคนไม่ต้องทำงาน เอาปลัดกระทรวงมาเป็นลูกมือทำงานให้ลุงตู่ โรคติดต่อนี่มีวัคซีนก็ป้องกันได้ แต่โรคติดตู่ ท่าทางจะรักษาไม่หายครับ

โควิด-19 ทำให้ต้องมีหน้ากากอนามัยปิดปากประชาชนแต่พ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้ปิดปากเยาวชนและผู้คนที่เห็นต่างกับการทำงานของรัฐบาล ไม่ใช่ควบคุมไวรัสล่ะครับ ใช้ควบคุมวัยรุ่นโดยเฉพาะ

สถานการณ์หลังโควิด-19 จึงต้องดูนะครับว่าระหว่างโรคติดต่อกับโรคติด ‘ตู่’ อะไรจะทำให้ประเทศไทยเสียหายในระยะยาวมากกว่ากัน

- ถ้ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบวาระ

หลายคนถามว่า การเมืองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร พิจารณาจากเนื้อในของรัฐบาล ผมเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่าอย่างน้อยก็ปรับคณะรัฐมนตรี ถามว่าจะอยู่ไปถึง 4 ปีครบวาระได้หรือไม่

ตอบตรงไปตรงมาว่าก็คงได้ แต่จะเป็นไปด้วยความกระท่อนกระแท่น มีแรงกระเพื่อมจากความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายใน

ดังนั้น สิ่งที่อาจจะเป็นไปได้อีกทางหนึ่งก็คือการที่รัฐบาลกู้เงินก้อนใหญ่มา แล้วผลักดันเงินเหล่านี้ไปถึงมือประชาชนเป็นรูปโครงการจัดแจกต่างๆ โดยมีกลไกทางการเมืองของรัฐบาลเป็นตัวขับเคลื่อน ใช้เงินก้อนใหญ่ถึงมือประชาชนแล้วก็ตัดสินใจยุบสภาในสถานการณ์ที่ได้เปรียบสุดๆ

รัฐธรรมนูญก็เป็นโรคติด ‘ตู่’
ส.ว. 250 คนก็เป็นโรคติด ‘ตู่’
อำนาจรัฐทั้งหลายก็เป็นโรคติด ‘ตู่’
กระสุนดินดำในสนามเลือกตั้งมหาศาลก็เป็นโรคติด ‘ตู่’


แถมยังใช้พลังดูด ดูดส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านมาเสริมทัพพลังประชารัฐได้ด้วย พรรคร่วมรัฐบาลวันนี้ก็อยู่ในสถานะกระปลกกระเปลี้ยเพราะไม่มีพื้นที่ทำงาน

รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลถูกเบียดตกข้างทางโดยปลัดกระทรวง ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ด้วยสภาพการณ์ที่ได้เปรียบเต็มประตูแบบนี้ แทนที่จะอยู่ 4 ปี แบกรับแรงกระเพื่อมทุกทาง

ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ หลังแจกเงินเสร็จ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้นะครับ

แนวทางนี้จะทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องแก้ปัญหาหลายอย่าง ทั้งความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่ากลุ่มพล.อ.ประวิตร จะพลิกกลับมายึดการนำในพรรคได้ แต่ 4 กุมารที่ถูกเบียดพ้นไป นึกเหรอครับว่าจะไม่มีปัญหา

ดร.สมคิด มาถึงรถไฟเที่ยวสุดท้ายทางการเมืองแล้ว งานนี้คงไม่ยอมลงจากเวทีง่ายๆ เหมือนกัน

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครมีความสุขกับสภาพอย่างที่เป็นล่ะครับ เดินเข้าไปในกระทรวงวันนี้ ระหว่างปลัดกับรัฐมนตรี ไม่รู้ใครเป็นเบอร์ 1

บทบาทผลงานของรัฐมนตรีพรรคร่วมแต่ละคนนับวันหาดูยากเต็มที หัวหน้าพรรคร่วมบางคนคงต้องเปลี่ยนชื่อแล้วนะครับ อย่างคุณจุรินทร์ คงต้องเปลี่ยนเป็นจุลินทรีย์ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องเอากล้องจุลทรรศน์ส่อง

ส่วนคุณอนุทินคงไม่ต้องเปลี่ยนล่ะครับ เพราะว่าชื่อเนี่ยแปลว่าสมุดบันทึกรายวัน

ในยุคที่เค้าทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ สมุดบันทึกก็เลยดูบทบาทน้อยลงไป อย่าโกรธกันนะครับ แต่ด้วยสภาพที่เห็นก็ต้องกระเซ้ากันแบบนี้ล่ะ

- ขึ้นต้นเป็นลำไม่ไผ่ พอเหลาลงไปตัวใครตัวมัน

มาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาล หลังจากเงินกู้ 1 ล้านล้านมาถึงมือแล้ว ยังเป็นปัญหาว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน

บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติในสถานการณ์หลังจากนี้ ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งการกำกับดูแลธนาคารเอกชนที่จะต้องปล่อย soft loan ให้กับภาคเอกชนและธุรกิจ SME ทั้งหลาย และการออกซื้อตราสารหนี้หรือหุ้นกู้จากภาคเอกชนโดยตรง ซึ่งมีเสียงทักท้วงว่าแบงก์ชาติไม่เคยทำ และสุ่มเสี่ยงจะถูกแทรกแซงเล่นพรรคเล่นพวก จนเกิดความเสียหายครั้งใหญ่


แต่คุณวิรไท ผู้ว่าแบงก์ชาติ เข้าชี้แจงในสภา สนับสนุนแนวทางของรัฐบาลสุดลิ่มทิ่มประตู

ปรากฏว่าปีนี้ผู้ว่าแบงก์ชาติหมดวาระ คุณวิรไทคนเดิม มีคุณสมบัติลงสมัครใหม่ได้ แต่ตัดสินใจโบกมือลา ไม่สมัครทำหน้าที่ต่อไป จะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ถามใจประชาชนเถอะครับว่ารู้สึกยังไง


หลาย 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีสถานการณ์ไหนที่บทบาทแบงก์ชาติจะสำคัญเท่ากับสถานการณ์นี้

ผู้ว่าแบงก์ชาติที่ร่วมตั้งไข่มาตรการกับรัฐบาลเป็นคอหอยลูกกระเดือกกับรัฐบาลชุดนี้มาตลอด ถึงเวลาจะทำงานใหญ่ กลับ 'เท' ซะดื้อๆ คนใหม่ที่จะมายังไม่รู้ว่าเป็นใคร ถ้าได้คนใหม่แล้ว ไม่รู้ว่าในใจจะเห็นด้วยกับมาตรการที่กำหนดไว้หรือเปล่า

ตอนจีบ ตอบคบกันแรกๆ ก็หวานกันดี พอขันหมากมาถึงที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ หอบผ้าหอบผ่อนหนีไปซะดื้อๆ อย่างนั้น เข้าทำนองขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปตัวใครตัวมันหรือเปล่า

หันไปดูทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ถ้าหลังจากนี้มีการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ปรับคณะรัฐมนตรี 4 กุมาร พ้นจากตำแหน่งทั้งชุด ก็หมายความว่ารัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจที่ร่วมกำหนดมาตรการแก้ไขเยียวยาฟื้นฟูหลังโควิด ไม่มีใครได้อยู่ทำหน้าที่เลย เป็นชุดใหม่เข้ามาแทน

เหมือนกันกับที่แบงก์ชาติ


กลายเป็นว่า คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด แต่วิกฤตมันตกอยู่กับประชาชน เรื่องพวกนี้ล่ะครับถึงจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดและจำเป็นต้องมีกรรมาธิการวิสามัญไว้คอยตรวจสอบ

- ไม่ต้องห่วง เราจะเป็นหนี้เท่านายกฯ

ลีลาการชี้แจงของนายกรัฐมนตรีในสภาก็อย่างเดิมนะครับ บางวันก็เรื่อยๆ อารมณ์ดี บางวันก็โมโหโกรธาขึ้นมาซะอย่างนั้น วันก่อนประกาศกับประชาชนบอก ไม่ต้องห่วง ที่กู้เงินมามหาศาล ถ้าประชาชนเป็นหนี้


ไม่ได้ ท่านจะมาพูดแบบนี้ได้ยังไง ในเมื่อท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจกู้เงินมาเองและมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดการใช้เงิน จะให้ประชาชนสบายใจเพียงแค่หลังจากนี้นายกรัฐมนตรีกับผมจะมีหนี้เท่าๆ กัน ถ้าเอาอย่างนั้นใครก็เป็นนายกฯ ได้

คนเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่รับผิดชอบเท่ากับประชาชนทั้งประเทศ

คิดแบบนี้ อย่าว่าแต่บริหารบ้านเมืองเลย บริหารตู้ปันสุขก็ยังไม่ได้'นายณัฐวุฒิกล่าว

(ทีมงาน)